ชะตากรรม"แจสโมบาย"จะโดนแค่คดีแพ่ง หรือพ่วงคดีอาญา?


ชะตากรรม"แจสโมบาย"จะโดนแค่คดีแพ่ง หรือพ่วงคดีอาญา?

          อะไรคือแรงจูงใจให้คณะกรรมการบริษัท จัสมินฯมีมติที่ต้องใช้เงินกว่า 8,140 ล้านบาทไปในด้านอื่นๆ ยามที่บริษัทต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการลงทุน การตัดสินใจดังกล่าวเกี่ยวข้องราคาหุ้นของบริษัทืหรือไม่ อย่างไร ถ้าใช่ ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์?

          หลังจากที่ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ (JASMBB)ไม่สามารถนำเงินประมูลงวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาทและหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน 72,000 ล้านบาทชำระให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ได้ภายในวันที่ 21 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา จนทำให้ บริษัท แจสโมบาย สิ้นสิทธิการที่จะเป็นผู้รับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ตามที่ทราบกันดีอยู่แล้วนั้น

          นอกจาก บริษัท แจสโมบาย ต้องถูกริบเงินค้ำประกันการประมูลจำนวน 644 ล้านบาทแล้ว นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ยังยืนยันว่า จะเรียกร้องค่าเสียหายในการจัดการประมูลใหม่ประมาณ 160 ล้านบาท และค่าเสียหายหรือ"ส่วนต่าง” ในกรณีที่มูลค่าการประมูลใหม่ ได้ราคาต่ำ 75,654 ล้านบาทตามที่บริษัท แจสโมบาย ได้เสนอราคาไว้ ยังไม่รวมถึงค่าเสียโอกาสในทางเศรษฐกิจหากการประมูลต้องล่าช้าออกไปอีกหนึ่งปี

          อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน)ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท แจสโมบาย แจ้งตลาดหลักทรัพยแห่งประเทศไทยว่า ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัท แจสโมบาย ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทให้ความเห็นว่า ต้องถูกริบเงินประกันการประมูล 644 ล้านบาทเท่านั้นซึ่งไม่มีผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

          สำหรับเหตุผลที่ บริษัท แจสโมบาย อ้างว่า ไม่สามารถนำหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินมอบให้สำนักงาน กสทช.ได้ ทางบริษัทจัสมินฯระบุว่า เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่แห่งหนึ่งของจีน(ซึ่งสนใจร่วมลงทุนในแจสโมบายและได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ของประเทศจีน)ติดข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาการขออนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องของประเทศจีนซึ่งคาดว่า จะแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนเมาษยน 2559 ซึ่งไม่ทันกำหนดระยะเวลา 90 วันตามที่ระบุในประกาศ กสทช.

          ไม่ว่า ข้ออ้างของบริษัทจัสมินฯจะเป็นอย่างไร น่าเชื่อถือหรือไม่ แต่มีการคาดการณ์ต่างๆนานาถึงชะตากรรมของบริษัท แจสโมบายและผู้บริหารบริษัท เพราะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า การที่แจสโมบายประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในราคาที่สูงเกินศักยภาพของบริษัทที่จะชำระเงินได้ว่า มีเบื้องหน้าเบื้องหลังมากกว่าไปกว่า การไม่สามารถหาผู้ร่วมทุนได้ทันตามข้ออ้างเท่านั้น

          มีรายงานข่าวจาก กสทช. ระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) วันพุธที่ 23 มีนาคม 2559 มีวาระเพิ่มเติมกรณีแจสโมบาย นอกจากเพื่อหาทางออกที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งในเรื่องที่ว่าจะมีการจัดสรรคลื่นความถี่ย่านนี้อย่างไรต่อไป การกำหนดกฎกติกาการประมูลที่รัดกุมขึ้นเพื่อป้องกันปัญหากรณีที่ผู้ชนะการประมูลไม่ชำระเงินประมูล ตลอดจนมาตรการลงโทษบริษัท แจสโมบาย ฐานสร้างความเสียหายให้กับรัฐและอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

          ที่สำคัญคงต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นถึงเจตนาการเข้าร่วมประมูลของบริษัท แจสโมบาย ในครั้งนี้ รวมทั้งพฤติกรรมการเสนอราคาว่า มีความไม่ชอบพากลและมีวัตถุประสงค์เป็นการกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมด้วยหรือไม่

          ขณะเดียวกันนายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)ได้เรียกร้องให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตรวจสอบการซื้อขายหุ้นและธุรกรรมอื่นๆ ของบริษัทที่เกี่ยวข้องว่า มีธุรกรรมใดผิดปรกติในลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือไม่ เพราะในช่วงที่ผ่านมา บางบริษัทมีธุรกรรมจำนวนหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ถือหุ้นกลุ่มต่างๆ ได้

(อ่านประกอบ: ข้อคิดเห็นต่อการจัดประมูลคลื่น 900 MHz ใหม่หลังแจสทิ้งใบอนุญาต)




          จากข้อวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว ลองมาตรวจสอบข้อกฎหมาย พฤติกรรมในการเคาะราคาประมูลของบริษัทแจสโมบายฯและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องเพื่อดูว่า หาก กสทช.ตรวจสอบเจตนาในการเสนอราคาประมูลสูงถึง 75,654 ล้านบาท ผู้บริหารระดับสูงและแจสโมบายจะเผชิญชะตากรรมอย่างไรบ้าง

          ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือที่เรียกสั้นๆว่า กฎหมายป้องกันการฮั้วประมูล บัญญัติไว้ใน มาตรา 8 ว่า

          "ผู้ใดโดยทุจริตทำการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐโดยรู้ว่าราคาที่เสนอนั้นต่ำมากเกินกว่าปกติจนเห็นได้ชัดว่าไม่เป็นไปตามลักษณะสินค้าหรือบริการ หรือเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐสูงกว่าความเป็นจริงตามสิทธิที่จะได้รับ โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและการกระทำเช่นว่านั้น เป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี และปรับร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคา หรือของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

          "ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาได้ตามวรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้หน่วยงานของรัฐต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการดำเนินการให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ของสัญญาดังกล่าว ผู้กระทำผิดต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายให้แก่หน่วยงานของรัฐนั้นด้วย

          "ในการพิจารณาคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ถ้ามีการร้องขอ ให้ศาลพิจารณากำหนดค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องรับภาระเพิ่มขึ้นให้แก่หน่วยงานของรัฐตามวรรคสองด้วย"

จากบบบัญญัติดังกล่าว ต้องพิจารณาว่า ราคาประมูลที่แจสโมบายนำเสนอนั้น

          1.แจสโมบายจงใจ(โดยทุจริต?)สนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐสูงกว่าความเป็นจริงตามสิทธิที่จะได้รับ โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมหรือไม่

          และ 2.การกระทำเช่นว่านั้น เป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาได้

          สำหรับข้อ 2. นั้นชัดเจนแล้วว่า แจสโมบาย ไม่สามารถปฏิบัติตาทมให้ถูกต้องตามสัญญาได้ แต่การพิจารณาว่า แจสโมบายจงใจที่จะเสนอราคาสูงเพื่อกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเเป็นธรรมหรือไม่ ต้องดูองค์ประกอบหลายประการ

          หนึ่ง พฤติกรรมการเสนอราคาหรือเคาะราคาประมูลที่มีกระแสข่าวว่า แจสโมบายเคาะราคาทับราคาตัวเองจนทำให้ราคาสูงโด่งเกินกว่าที่ 2 คือ ดีแทคกว่า 5,000 ล้านบาทกล่าวคือ ดีแทคหยุดเคาะราคาในรอบที่ 181 ที่ 70,180 ล้านบาท แต่แจสโมบายยังเคาะราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยทื่ไม่มีคู่แข่งจนถึงรอบ 199 หรือ 18 รอบจนถึงราคา 75,654 ล้านบาท

อะไรคือแรงจูงใจให้แจสโมบาย เคาะราคาไปสูงโด่งโดยที่ไม่มีคู่แข่งขัน


          สอง นายเดชา ตุลานันท์ รองประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพยอมรับว่า แจสโมบายขอวงเงินกู้ไว้ 40,000 ล้านบาท แต่เสนอราคาประมูลสูงถึง 75,000 ล้านบาท โดยไม่มีแผนธุรกิจและแผนการเงินรองรับถึงรายได้ในอนาคต ทางธนาคารจึงขอให้แจสโมบายนำเสนอแผนธุรกิจเข้ามาใหม่

          นอกจากนั้นข้ออ้างว่า มีการเจรจากับผู้ลงทุนในประเทศจีนนั้น ต้องพิจารณาด้วยว่า มีการเริ่มเจรจาตั้งแต่เมื่อใด มีความตั้งใจจริงแค่ไหนเพราะการลงทุนที่ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล ต้องใช้ระยะเวลามากพอสมควร แต่กลับอ้างเงื่อนไขในการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศจีน ทำให้ไม่ทันตามเงื่อนไขเวลาที่ กสทช.กำหนดไว้ 90 วัน

          สาม ขณะที่แจสโบมาย ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลในการลงทุน หากได้รับใบอนูญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz แต่คณะกรรมการบริษัท จัสมินฯกลับมีมติเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 ให้จ่ายเงินปันผลเพิ่มเติมแก่ผู้ถือหุ้น ในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท เป็นเงินประมาณ 2,140 ล้านบาท และมีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 ให้ใช้เงินของบริษัทซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นรายย่อยในราคาหุ้นละ 5 บาท เป็นเงิน 6,000 ล่านบาท รวมเป็นเงินถึง 8,140 ล้านบาท (มากกว่า เงินที่ต้องจ่ายงวดแรกให้ กสทช.8,040 ล้านบาท)

          อะไรคือแรงจูงใจให้คณะกรรมการบริษัท จัสมินฯมีมติที่ต้องใช้เงินกว่า 8,140 ล้านบาทไปในด้านอื่นๆ ยามที่บริษัทต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการลงทุน การตัดสินใจดังกล่าวเกี่ยวข้องราคาหุ้นของบริษัทืหรือไม่ อย่างไร ถ้าใช่ ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์?

          คำถามนี้สอดคล้องกับข้อเสนอของประธานทีดีอาร์ไอที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นและธุรกรรมอื่นๆ ของบริษัทที่เกี่ยวข้องว่า มีธุรกรรมใดผิดปรกติในลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือไม่

          ประเด็นต่างๆเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการพิสูจน์เจตนาในการเข้าร่วมประมูลของบริษัท แจสโมบาย ได้เป็นอย่างดี

          นอกจากนั้น หากพิจารณา พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 281/2 ที่ระบุว่า

          "กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทผู้ใดไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ตามมาตรา 89/7 จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายหรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินจำนวนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาท

         "ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          ส่วน มาตรา 89/7 ระบุว่า "ในการดำเนินกิจการของบริษัท กรรมการและผู้บริหารต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท และมติคณะกรรมการ ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น"

          บทบัญญัติตามกฎหมายเหล่าดูเมื่อพิจารณาอย่างผิวเผินแล้ว อาจค่อนข้างเป็นนามธรรม แต่ถ้าพิจารณาจากข้อเท็จจริง เช่น การไม่มีแผนธุรกิจรองรับอย่างเหมาะสมในกรณีที่เสนอราคาสูงกว่า 75,000 ล้านบาท ขณะที่ได้รับวงเงินกู้เพียง 40,000 ล้านบาท การเจรจากับผู้ลงทุนต่างประเทศในระยะเวลากระชั้นชิด จนไม่ทันเงื่อนเวลาตามที่ กสทช.กำหนด ก็บ่งบอกได้ระดับหนึ่งว่า ผู้บริหาร "ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง "หรือไม่

          อย่าไงรก็ตาม ชะตากรรมของผู้บริหารระดับสูงหรือแจสโมบาย จะเป็นอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับการตรวจสอบ การรวบรวมข้อเท็จจริง แรงจูใจและพยานหลักฐานต่างๆว่า เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายหรือไม่

หมายเหตุ ภาพ พ.อ.รศ. ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค.และนายพิชญ์ โพธารามิก

แหล่งข่าว
สำนักข่าวอิศรา วันอังคาร ที่ 22 มีนาคม 2559 เวลา 18:37 น
http://www.isranews.org/isranews-article/item/45716-parsong_52147.html
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่