กฎหมายเศรษฐกิจ: เมื่อผู้ชนะไม่ชำระค่าประมูลคลื่นความถี่(1)


กฎหมายเศรษฐกิจ: เมื่อผู้ชนะไม่ชำระค่าประมูลคลื่นความถี่(1)
โดย : ภูริตา ธนโชคโสภณ

          จากกรณีที่บริษัท แจส บรอดแบนด์ โมบาย จำกัด ไม่ได้นำเงินประมูลงวดแรกมูลค่า 8,040 ล้านบาท

          พร้อมทั้งหนังสือค้ำประกันจากธนาคารมามอบให้แก่ กสทช. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 ซึ่งส่งผลให้แจสถูกริบหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลค่า 644 ล้านบาท รวมถึงแจสยังอาจจะต้องชำระค่าเสียหายอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการผิดนัดชำระเงิน รวมทั้ง กสทช. จะต้องจัดการประมูลคลื่น 900MHz อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข่าวในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมานี้ จะเห็นได้ว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยแปลกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะจากมูลค่าการประมูลของแจสที่สูงถึง 75,654 ล้านบาท ทำให้หลายฝ่ายมีความเห็นว่าแจสอาจจะไม่สามารถนำเงินมาชำระค่าประมูลในครั้งนี้ได้

          อันที่จริงแล้วปัญหาเกี่ยวกับความสามารถในการชำระค่าประมูลนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปก็มีความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการชำระค่าประมูลของผู้ชนะการประมูลอันเนื่องมาจากราคาประมูลคลื่นความถี่ที่มีมูลค่าสูงเกินไป ซึ่งผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่ผ่านเป็นเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ให้กับทุกท่านค่ะ

          ก่อนอื่นต้องเรียนว่า ระบบการประมูลคลื่นความถี่ที่ กสทช. นำมาใช้กับการประมูลคลื่น 900 MHz ในครั้งนี้ โดยกำหนดให้จำนวนช่วงคลื่นความถี่ที่เปิดประมูลมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนผู้เข้าร่วมประมูล เป็นวิธีที่หลายประเทศนิยมนำไปใช้เพราะเป็นวิธีที่กระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดการแข่งขัน อย่างไรก็ดีในสหรัฐอเมริกาก็มีความกังวลว่าการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการในการประมูลอาจกลายเป็นข้อเสียต่อผู้บริโภคได้ เนื่องจากโดยลักษณะของอุตสาหกรรมประเภทนี้ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องมีคลื่นความถี่ที่เพียงพอและเหมาะสมในการให้บริการ การไม่มีคลื่นความถี่อย่างเพียงพอจึงเสมือนกับเป็นกรณีที่ผู้ผลิตไม่มีวัตถุดิบในการผลิตสินค้าทำให้ไม่สามารถขายสินค้าได้ จนบางครั้งกลายเป็นความกดดันที่ผู้ประกอบการจะต้องพยายามประมูลคลื่นให้ได้

          ทำให้ในการประมูลแต่ละครั้ง จะพบว่าราคาประมูลถูกผลักดันให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นกำแพงกั้นไม่ให้ผู้ประกอบการรายเล็กหรือผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ได้คลื่นความถี่ไปประกอบธุรกิจ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคม กล่าวคือ มีการกระจุกตัวการให้บริการอยู่ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ Federal Communications Commission(FCC) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมในสหรัฐอเมริกาออกแบบระบบการประมูลที่เอื้อให้ผู้ประกอบการรายเล็ก (Small Business) มีโอกาสชนะการประมูลและนำคลื่นความถี่ไปให้บริการได้ โดยผู้ประกอบการรายเล็กที่มีคุณสมบัติครบตามที่ FCC กำหนด (เช่น เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีรายได้รวมทั้งหมดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาน้อยกว่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สามารถขอส่วนลด (Bidding Credits) ราคาที่ชนะการประมูลมาได้

          แล้วประเด็นนี้เกี่ยวอะไรกับการผิดนัดชำระเงินค่าประมูล? เมื่อ FCC เปิดการประมูลเมื่อช่วงต้นปี 2558 (AWS-3 Licenses in 1695-1710 MHz, 1755-0780 MHz, and 1255-2180 MHz-Auction 97) โดยมีผู้เข้าร่วมประมูลทั้งสิ้น 70 ราย ผลปรากฏว่ามีผู้ชนะการประมูล 31 ราย หนึ่งในนั้นมีบริษัท Northstar Wireless และ SNR Wireless เป็นผู้ชนะการประมูล โดยทั้งสองบริษัทได้ยื่นขอส่วนลดราคาประมูลในฐานะเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่ง FCC ก็ได้พิจารณาให้ส่วนลดร้อยละ 25 จากราคาที่ชนะการประมูลมา แล้วชำระเงินค่าใบอนุญาตตามยอดที่ลดลงจากการได้รับส่วนลดและตามระยะเวลาที่ FCC กำหนด ต่อมาภายหลัง FCC ตรวจพบว่าทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทในเครือของบริษัท DISH Network Cooperation ซึ่งเมื่อรวมแล้วทำให้มีรายได้มากกว่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ FCC จึงได้ออกบันทึกให้ Northstar Wireless และ SNR Wireless ชำระค่าประมูลในส่วนที่ยังขาดอยู่ 1,961 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในวันที่ FCC กำหนด แต่เมื่อสุดท้ายแล้ว Northstar Wireless และ SNR Wireless ไม่ชำระเงินค่าประมูลก็ถูกยึดคลื่นความถี่คืน และ FCC ก็ต้องจัดการประมูลคลื่นความถี่ใหม่อีกครั้งหนึ่ง

จากรายงานของ FCC (Memorandum Opinion and Order, released 18 August 2015) พบว่าปัญหาสำคัญของการนำระบบการประมูลแบบเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการรายเล็กมาใช้คือ ผู้ประกอบการรายใหญ่พยายามจะจัดตั้งบริษัทย่อยโดยการจัดโครงสร้างบริษัทที่มีความซับซ้อนสูงเพื่อนำมาเข้าร่วมประมูลในฐานะผู้ประกอบการรายเล็กและขอส่วนลดในการประมูลนั้น ในบางครั้ง FCC ไม่สามารถตรวจพบโครงสร้างที่แท้จริงได้ในวันที่มีการตรวจสอบคุณสมบัติ ทำให้มีการอนุมัติให้ส่วนลดไป แต่เมื่อภายหลังพบว่าผู้ขอส่วนลดไม่ได้มีคุณสมบัติอย่างแท้จริงก็จะกลายมาเป็นปัญหาว่า บริษัทเหล่านั้นไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ภายในกำหนดเวลา

ในกรณีของการผิดนัดชำระเงินค่าประมูลของ Northstar Wireless และ SNR Wireless ทำให้ทั้งสองบริษัทต้องคืนคลื่นที่ประมูลมาได้ให้แก่ FCC ชดใช้ค่าเสียหายให้กับ FCC โดยประกอบไปด้วย

(1) ส่วนต่างระหว่างราคาประมูลที่มีการผิดนัดและราคาประมูลที่ FCC นำคลื่นไปประมูลใหม่ และ

(2) เงินเพิ่มมูลค่าเท่ากับร้อยละ 15 ของราคาประมูลที่มีการผิดนัดหรือราคาประมูลใหม่ (แล้วแต่จำนวนใดจะน้อยกว่า)

แล้วพบกันใหม่ค่ะ

แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559 (หน้า 10)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่