นางอันเป็นที่รักยิ่งของจักรพรรดิยงเจิ้ง

หากจะถามว่าในสมัยราชวงศ์ชิงตอนต้นช่วง ๕ รัชกาลต้นๆ นับแต่จักรพรรดิซุ่นจื๊อ ฮ่องเต้องค์ใดมีพระภรรยาเจ้าและพระสนมน้อยที่สุด คงกล่าวได้ตรงกันว่า ฮ่องเต้ยงเจิ้งหรือหยงเจิ้งนั่นเอง และหากถามอีกว่า ฮ่องเต้องค์ใดมีพระภรรยาเจ้าและพระสนมเป็นชาวฮั่นมากที่สุด ก็กล่าวได้อีกว่านั่นต้องเป็นหยงเจิ้งนั่นเอง ยงเจิ้งมีทั้งพระภรรยาเจ้า และพระสนมเป็นชาวฮั่น สาเหตุหลักก็คงจะเป็นเพราะต้องการผูกมิตรกับแม่ทัพชาวฮั่น ซึ่งมีกองกำลังมากกว่าชาวแมนจู สำหรับพระภรรยาเจ้าและพระสนมชาวฮั่นก็อย่างเช่น
      ๑. ตุ้นซุ่นหวงกุ้ยเฟย เป็นน้องสาวของเหนียนเกิงเหยา ซึ่งได้อภิเษกสมรสเป็นชายารองคนที่ ๒ ของยงเจิ้งเมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งหยงชินหวาง เมื่อหยงชินหวางครองราชสมบัติเป็นหยงเจิ้งฮ่องเต้ จึงวถาปนาชายารองผู้งดงามนี้ ให้เป็น พระภรรยาเจ้าตำแหน่ง กุ้ยเฟย หรือถ้าจะเทียบแบบไทย ก็คงจะตรงกับคำว่า พระราชเทวี เพียงแต่เพราะเป็นชาวฮั่น ดังนั้นหยงเจิ้งจึงไม่ได้พระราชทานราชทินนามประกอบตำแหน่งให้ พระราชเทวีผู้ล้ำค่าผู้นี้ เพราะหากสตรีนางนี้ได้ราชทินนามด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้นางมีศักดิ์สูงกว่าเดิม แต่เพราะมีกรรมบัง ในปีหยงเจิ้งที่ ๔ เหนียนกุ้ยเฟยได้ประชวรหนัก หยงเจิ้งต้องการแก้เคร็ดให้นาง ถึงกับสถาปนานางให้เป็น หวงกุ้ยเฟย แต่เหนียนหวงกุ้ยเฟยก็เสด็จทิวงคตในอีก ๑ เดือนต่อมา หยงเจิ้งอาลัยนางมากถึงกับประกาศหยุดงานราชการ ซึ่งพิธีแบบนี้ทำแต่เพียงเฉพาะ ฮองไทเฮา หรือฮองเฮาสวรรคต
      ๒. หยูเฟย เป็นอีกหนึ่งพระภรรยาเจ้าที่มาจากตระกูลชาวฮั่น นางกำเนิดในสกุล เกิ่งเป็นหลานสาวของใต้เท้าเกิ่งฉีฝู แต่เพราะบิดาเป็นขุนนางขั้น ๔ จึงทำให้นางไม่สามารถอยู่ในฐานะ ชายารองได้ นางได้รับยศ ซู่ฝูจิ้น หรือจะเรียกแบบไทยว่า หม่อมก็ได้ แต่นางยังพอมีวาสนาตรงที่ให้กำเนิดพระโอรสองค์หนึ่ง คือ องค์ชาย ๕ หงโจ้ว ในโอกาสที่หยงเจิ้งครองราชย์ นางได้รับการสถาปนายศเป็น หยูผิน ๒ ปีต่อมาจึงได้รับการสถาปนา เป็น หยูเฟย ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน หงลี่ได้ครองราชย์เป็นเฉียนหลงฮ่องเต้ ได้สถาปนาผู้ที่มีศักดิ์เป็นพระราชวิมาดา(แม่เลี้ยงกษัตริย์) ให้เป็น หยูกุ้ยไท่เฟย ซึ่งทำให้นางมีศักดิ์สูงขึ้น และในวาระดิถีครบรอบพระชนมายุ ๖๐ ปี เฉียนหลงฮ่องเต้ได้สถาปนานางเป็น หวงกุ้ยไท่เฟย พระราชทินนามว่า ฉุนเชวี่ย
      ๓. ฉีเฟย กำเนิดใน สกุลหลี่ อันเป็นสกุลเชื้อพระวงศ์สมัยราชวงศ์ถัง และอยู่ในศักดิ์ฐานะของชายารอง ก่อนชายารองและหม่อมคนอื่น นางมีวาสนามากโข ด้วยบารมีที่นางมีมากกว่าพระชายา สกุล อูลาน่ารา เพราะนางให้กำเนิดองค์ชายถึง ๓ องค์ คือ หงหยุน หงเฝิน และหงสือ แต่ต่อมาหงสือได้งัดข้อกับพระราชบิดาจนถูกถอดยศ ทำให้บุญวาสนาที่ฉีเฟย คิอว่าจะได้เป็น ฮองไทเฮา หลุดลอยไปอย่างไม่มีวันกลับ
      ๔. หนิงเฟย กำเนิดใน สกุลอู่ (สกุลเดียวกับพระนางบูเช็คเทียน) นางเข้าถวายการปรนนิบัติหยงเจิ้งใน ๑๗๒๓ ตำแหน่งแรกที่ได้รับคือ อู่กุ้ยเหริน ๓ ปีต่อมาได้รับตำแหน่ง หนิงผิน และ ๒ ปีต่อมาได้รับตำแหน่ง หนิงเฟย และดำรงพระชนมายุมาได้จนถึงปี ๑๗๓๔ ก่อนจะสิ้นพระชนม์ในตำหนัก เสียนฝูกง
      ๕. เฉียนเฟย กำเนิดใน สกุลหลิว สกุลเชื้อพระวงศ์สมัยราชวงศ์ฮั่น พระมเหสีองค์นี้ ดำรงพระชนม์ยืนที่สุดในบรรดาพระภรรยาเจ้าและสนมของหยงเจิ้ง เฉียนเฟยนั้นเป็นหลานสาวของ แม่ทัพใหญ่เช่นกัน ดังนั้นนนางจึงเข้าถวายการปรนนิบัติหยงเจิ้งโดยการคัดเลือก สาวงามในปีที่ ๒ ราวๆ ปี ๑๗๒๖ โดยได้รับตำแหน่งกุ้ยเหริน พร้อมพระราชทินนามว่า เฉียน แปลว่า มองการไกล และนางได้ให้กำเนิดพระโอรสองค์หนึ่ง คือ องค์ชาย ๖ หงเอี้ยน จึงได้รับตำแหน่ง เฉียนผิน ในี ๑๗๓๔ พอเฉียนหลงฮ่องเต้ครองราชย์ได้สถานาพระสนมเอกเฉียน เป็นเฉียนไท่เฟย
***** นอกจากนี้แล้วยังมีพระสนมชาวฮั่นอีก ๑๕ กว่าคน ซึ่งได้รับการจารึกชื่อไว้ในสมุด แต่ได้รับตำแหน่งสูงสุดแค่กุ้ยเหริน

      ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นชาวฮั่น แต่ยังมีพระมเหสีอีก ๒ องค์ซึ่งมาจากสกุลชาวแมนจูที่สูงส่ง ดังนี้
     ๑. อี้ชิวฮองเฮา สกุล อูลาน่ารา ทรงมีพระนามอย่างเป็นทางการว่า สมเด็จพระจักรพรรดินีเซี่ยวจิ้งเซี่ยน เมื่อครั้งที่หยงเจิ้งยังเป็นแค่          หยงชินหวัง พระนางทรงอยู่ในศักดิ์ของพระชายา ออกเสียงแบบจีนว่า ฝูจิ้น และอยู่ในศักดิ์พระชายามาก่อนภรรยาคนอื่น นางมีพระโอรสอยู่องค์หนึ่งคือ องค์ชายใหญ่ หงฮุ่ย แต่สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ ๗ ขวบกว่า นับแต่นั้นมานางจึงไม่มีโอรสของตนเอง ในปี ๑๗๒๒ จักรพรรดิคังซีทรงสวรรคต จักรพรรดิยงเจิ้งจึงครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา พระชายาสกุลอูลาน่าราได้รับการสถาปนาเป็น ฮองเฮา และดำรงตำแหน่งประมุขแห่งวังหลังมาจนปี ๑๗๓๑ ได้สวรรคตลงด้วยพระชนมายุเพียง ๕๑ พระชันษา
     ๒. ซีกุ้ยเฟย สกุล หนิ่วฮู่ลู่  เมื่อครั้งที่หยงเจิ้งยังเป็นแค่หยงชินหวัง พระนางทรงอยู่ในศักดิ์ของอนุชายา ออกเสียงภาษาจีนว่า ซู่ฝูจิ้น หรือจะเรียกแบบไทยก็คงตรงกับคำว่า หม่อม หม่อมหนิ่วฮู่ลู่ผู้นี้ถวายการปรนนิบัติสามีจนมีพระโอรส ๑ องค์ คือ องค์ชาย ๔ หงลี่ แต่เพราะนางมิได้เป็นบุตรของขุนนางที่มีอำนาจทางทหาร ดังนั้นนางจึงไม่เป็นที่เคารพยกย่องของสามีเท่าที่ควร แต่คาดว่าที่พระนางไม่ถูกยกย่องมากมายอะไรในตอนที่เป็นหม่อมก็คงเป็นเพราะพระนางเป็นอนุภรรยาเพียงคนเดียวที่กำเนิดในกองธงแมนจู และพระนางคงเป็นผู้ที่หยงเจิ้งเลือกแต่แรกแล้วว่า จะให้เป็นมารดาของรัชทายาท เพราะในปี ๑๗๒๒ พระนางถูกสถาปนาพร้อมกับพระชายาและอนุภรรยาทุกคน โดยพระนางมีตำแหน่งเป็นพระภรรยาเจ้าขั้น เฟย ราชทินนามว่า ซี แปลว่า สวยงามงดงาม คาดว่าหยงเจิ้งคงอยากให้พระนางมีชีวิตที่สวยงามและงดงาม อีกประการหนึ่งโดยปกติแล้ว อนุภรรยาตำแหน่ง ซู่ฝูจิ้น มักจะถูกยกให้เป็น ผิน (สนมเอก) ไม่ใช่เฟย แสดงให้เห็นว่านางข้ามขั้นมา ๑ ขั้น และเมื่อฮองเฮาสิ้นไป นางก็ถูกยกให้เป็นกุ้ยเฟย ในทันที โดยที่ไม่ต้องรอไปก่อน ๒ ปีตามกฎ แสดงให้เห็นว่า หยงเจิ้งรักและเมตตานางแต่กลัวว่านางและโอรสจะเป็นอันตรายถึงไม่ได้ให้ความสำคัญต่อนางเท่าที่ควร และพระนางเป็นภรรยาเพียงคนเดียวที่มาจากสกุลแมนจู สามารถขึ้นเป็นไทเฮาได้ ต่อให้มีกำเนิดไม่สูงแต่ก็เป็นบุตรขุนนางในกองธงแมนจู ขณะที่สตรีนางอื่นกำเนิดในกองธงฮั่นทุกคน ในปี ๑๗๓๕ พระโอรสของนางได้ครองราชย์ ใช้รัชศกที่ขึ้นครองราชย์ว่า เฉียนหลง พร้อมทั้งสถาปนาพระนางเป็น ฉงซิ่งฮองไทเฮา เสวยสุขอยู่จนถึงปี ๑๗๗๗ พระนางก็ได้สวรรคตด้วยพระชนมายุ ๘๕ พระชันษา
*****
นอกจากนี้แล้ว คาดว่าจักรพรรดิยงเจิ้งน่าจะมีพระภรรยาเจ้าสกุลชาวแมนจูอีก แต่บันทึกอาจจะสูญหายหรือถูกทำลายไปแล้ว
เช่น สกุล โป๋เอ่อร์จี้จี้เท่อ สกุล ฟู่ฉา เป็นต้น ทั้งนี้ตัวเลขที่พอจะนับได้สำหรับพระภรรยาเจ้า พระสนมของยงเจิ้ง คงราวๆ ๓๖ คน
(แล้วคราวหน้าจะมาพูดถึงนางอันเป็นที่รักของจักรพรรดิเฉียนหลงบ้างนะครับ ถ้าใครดูองค์หญิงกำมะลอ คงจำพระสนมลิ่งได้)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่