รักษาจุดร่วม สงวนจุดต่าง - ศ.ดร.อุทิส ศิริวรรณ

กระทู้สนทนา
อีกมุมมองที่น่าสนใจจาก ศ.ดร.อุทิส ศิริวรรณ
อ่านแล้วเลยขอมาแบ่งปันกัน
========

มุมมองผม (ศ.ดร.อุทิส ศิริวรรณ) ต่อประเด็นความขัดแย้งในวงการพระพุทธศาสนา

"รักษาจุดร่วม สงวนจุดต่าง"
เพื่อต่อสู้กับ "กลุ่มสมคบคิดภัยนอก"

มีเวลาผมแนะนำให้ "เปิด" ชมรายการต่างคนต่างคิด
วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๙ ประกอบ

วันนี้ "พุทธศาสนาสายเถรวาท" ในไทย กำลังสั่นคลอน
ด้วย "ภัยใน" และ "ภัยนอก"

ภัยในเท่าที่สรุป คือ "ความขัดแย้ง"  และ "ต่อสู้กันทางความคิด"
ระหว่างกลุ่มที่ "ไม่เอา" สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์และธรรมกาย
กับกลุ่มที่ "เอา" หลวงพ่อสมเด็จฯ  แต่ไม่เอา "ธรรมกาย"
กับกลุ่มที่ "เอา" หลวงพ่อสมเด็จฯ และเอา "ธรรมกาย"

ความขัดแย้ง "ศึกใน" แตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่าเป็นพวกๆ
คล้ายเรื่อง "โกสัมพี" ในคัมภีร์ธรรมบทภาค ๑

เดิมก็แตกแยกและถกเถียงกันถึงแนวคิดและคำสอน
"นิพพาน" เป็น "อัตตา" หรือ "อนัตตา"

ต่อมาก็กลายเป็นเรื่อง "ที่มา" ของเงินทุนสนับสนุนกิจกรรมวัดพระธรรมกาย

ต่อมาก็กลายเป็นความพยายามที่จะใช้ "กฎหมาย" จัดการกับ
ท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายอีกครั้ง

และลามไปถึงการใช้ "กฎหมาย" เล่นงาน "หลวงพ่อสมเด็จ"
และกรรมการมหาเถรสมาคมด้วย !

โดยตอนนี้ อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนเชื่อมโยง "คดี"
ให้หลักฐานพันไปถึง "ท่านเจ้าอาวาส" วัดพระธรรมกาย
และหลวงพ่อสมเด็จฯ ให้จงได้

ทฤษฎีนี้ ผมเรียกว่า "ทฤษฎีเด็ดหัว"
เน้นทำให้ "องค์กร" ขาดผู้นำ ขาดหัว
เมื่อองค์กรไร้หัว คนในองค์กรก็ระส่ำระสาย !

ผมใช้หลัก  Input-Process-Output
วิเคราะห์ "กรณีธรรมกาย" ในรอบนี้
ก็พอที่จะประมวลและวิเคราะห์โดยย่อได้ดังนี้

"วัดพระธรรมกาย" เป็นองค์กรที่เข้มแข็ง มีผู้นำที่มีคุณภาพจากหลากหลายสาขาอาชีพ

ดูรายชื่อ "คณะกรรมการบริหาร" สายบรรพชิต ล้วนเป็น "ผู้นำ" ที่มีคุณภาพ
คุณวุฒิและคุณสมบัติไม่ธรรมดา

เป็น "รัฐมนตรี" หรือ "นายกรัฐมนตรี" ปกครองประเทศไทยได้สบายๆ
หมายถึงถ้าให้ "พระ" เป็นรัฐมนตรี

แต่ปัญหาคือ "การครอบงำ" ทางความคิด เป็นสิ่งที่อีกฝ่าย "ระแวง" "ระวัง"
และ "กดดัน" ทุกวิถีทางเช่นกันที่จะมิให้มามีอำนาจ "ปกครอง" คณะสงฆ์

ผมมองปรากฏการณ์ "กรณีธรรมกาย" ในคราวนี้ว่า
ถ้ายึดหลัก "ทองแท้ไม่กลัวไฟลน อดทนและกล้าที่จะพิสูจน์" ข้อกล่าวหาทั้งที่ "ยัดเยียด" และ "ปรักปรำ" รวมถึง "ใส่ร้าย" ที่หลากหลาย
ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่เคยเผชิญ วัดเองก็เคยเจอมาแล้ว
ซึ่งก็ได้มีการรวบรวมและนำเสนอมาแล้วในอดีต

ทุกวันนี้ ก็ยังคงเป็นเรื่องเก่าๆ เดิมๆ
ข้อหาก็ยังคงเดิมๆ เหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน

ทุกวันนี้ ที่เอ่ยถึง "กรณีธรรมกาย" แล้วเกิดกระแสจุดไฟติด เพราะคนที่ไม่ได้ไปรู้ ไปเห็น ไปทราบ ไปสัมผัส "วัดธรรมกาย" ก็จะ "มโน" สนุกนึก คิดและนึกกันไปต่างๆนานา

แต่ก็อย่างว่า "มูลนิธิธรรมกาย" ทำกิจกรรมใหญ่โต เมื่อคิดและทำการใหญ่
ช่องทางและที่มารายได้ก็มาจากการระดมทุน การบริจาค

ศิษย์ต่างๆ ก็คิดและทำด้วยวิธีการที่ไม่เป็นทางการ จนบางกิจกรรมบางโครงการก็ส่งผลเสียถึงทางวัด

ซึ่งที่สังคมสงสัยก็คือ "ผู้นำ" ในวัด "รู้" หรือ "ไม่รู้"

ผมว่า "ประเด็น" ที่ฝ่ายตรงข้ามกำลังตรวจสอบเข้มข้น ก็คงเน้นที่ "รู้เห็นเป็นใจ" หรือ "ไม่รู้เห็นเป็นใจ"  

เพียงแค่นี้เอง  ก็อย่างที่บอก เท่าที่สดับตรับฟัง พระสงฆ์ส่วนใหญ่ก็หนุนหลวงพ่อสมเด็จช่วงเป็น "สมเด็จพระสังฆราช" แต่จำนวนอีกไม่น้อยเช่นกันที่ยังรู้สึกคลางแคลงใจกับ "ความสัมพันธ์ใกล้ชิด" กับวัดพระธรรมกาย

เพราะหลายท่าน "เอาวัดปากน้ำ" แต่ "ไม่เอาธรรมกาย"

เรื่องราวของ "วัดพระธรรมกาย"
ผมเองรู้จักเคารพและนับถือพระในวัดหลายรูป
เท่าที่เห็นแต่ละท่านก็ทำงานเพื่อพุทธศาสนามีอุดมการณ์กันเข้มแข็ง

แต่เรื่อง "ต้นธาตุต้นธรรม" หรือ "นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา" ผมไม่เคยละลาบละล้วงตั้งคำถาม

ท่านก็รู้เห็นทราบเท่าที่ผมรู้นั่นแหละว่า คนส่วนหนึ่ง จำนวนล้านคนขึ้นไปทีเดียวที่เกลียดและไม่เอาธรรมกาย

แต่คนอีกหลายสิบล้านคนก็ชื่นชมศรัทธาและนิยมชมชอบ "ธรรมกาย"

ถ้าจะเทียบเคียง ผมประมาณการว่า "ฝ่ายที่สนับสนุนและชื่นชอบ"
มีมากกว่า "ฝ่ายที่ต่อต้าน"

แต่ฝ่ายที่ต่อต้าน เข้าถึง "อำนาจ" ได้ดีกว่า "ฝ่ายที่สนับสนุน"

ทฤษฎี "ระแวง" ก็เลยทำงาน

ทีนี้เรื่อง "ปัญหาพระพุทธศาสนา" เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่เหมือนเรื่องพรรคการเมือง

นักการเมืองรวมกลุ่มกันเพื่อแสวงหา "ผลประโยชน์"

แต่พระสงฆ์ส่วนใหญ่ ท่านรวมกลุ่มรวมตัวกันทำงานเพื่อ "พระพุทธศาสนา"

ประเด็นนี้ "ละเอียดอ่อน"  ใครคิดจะจัดการปัญหาคณะสงฆ์ต้องมอง "อุดมการณ์" พระให้ออก ต้องตีโจทย์นี้ให้แตก มิฉะนั้น "บูมเมอแรง" จะตีกลับ !

แน่นอนว่าพระก็มีบ้าง "ส่วนน้อย" ที่ชอบการเมือง สนใจการเมือง ฝักใฝ่พรรคการเมือง

แต่ยังมี "จำนวนน้อย" เมื่อเทียบกับสงฆ์ส่วนใหญ่ที่บวชมาเพื่อพระพุทธศาสนา

ถ้ารัฐบาลจะตั้งโจทย์ "ปฏิรูปพระพุทธศาสนา"  ผมเรียนด้วยความเคารพว่า อย่าถึงกับ "ผลักดัน" ให้ "วัดต่างๆ" และ  "วัดพระธรรมกาย" ตกเหว

น่าที่จะมี "จุดยืน" ที่เรียกว่า "รักษาจุดร่วม สงวนจุดต่าง"

วัดกว่าสามหมื่นวัด วัดพระธรรมกาย และวัดในนิกายอื่นๆ
ก็จะอยู่ช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาตามความเชื่อที่แตกต่าง
แต่เน้น "สันติสุข" เป็นที่ตั้ง

เก็บคำพูดผมไปคิดกันเล่นๆ  "รักษาจุดร่วม สงวนจุดต่าง"

เก็บไป "ตีความ"  ให้ทะลุมิติ "รักษาจุดร่วม สงวนจุดต่าง"

ถ้าเข้าใจคำนี้ ก็แก้ปัญหาพระสงฆ์ได้ง่าย และไม่ยุ่งยากดังที่คิด

ส่วนผมคนหนึ่งล่ะ ที่พูดให้ตายก็ไม่เชื่อว่า "วัดพระธรรมกาย"
จะสามารถครอบงำ "พรรคการเมือง" พรรคใดพรรคหนึ่งได้สำเร็จเบ็ดเสร็จ

เพราะเท่าที่สังเกต ที่นั่น "คนหลากสี" ไปชุมนุมกัน ด้วยกิจกรรม
"ทาน-ศีล-ภาวนา" ไม่พบเห็นกิจกรรมอื่นๆ ที่จะแบ่งแยกค่ายนั้นสีนี้

ไม่เชื่อก็ถาม คุณบุญชัย เบญจรงคกุล หรือ ดร. ประกอบ จิรกิตติ
หรือฝั่งอื่นๆ เช่น คุณอนันต์ อัศวโภคิน ก็จะพบคำตอบว่า
"วัด" แยกจาก "พรรคการเมือง"  ชัดเจน

แต่ "กรรมการวัด" อยู่ใต้ "กรรมการพระ" ก็เป็นเรื่องจริง
ก็เป็นเรื่องปกติเพราะ "วัด" และ "พระ" ก็ต้องการมีอำนาจทำงานตาม
เป้าหมายที่ตั้งไว้ จะให้ "ชาวบ้าน" ครอบงำ "พระ" ก็เป็นเรื่องแปลก!

เปิดใจ "อ่าน" คำสอนสำนักธรรมกาย ยกเว้นเรื่อง "อัตตา" ซึ่งผม
จะละไว้ไม่ขอพูดถึง  คำสอนของท่านเจ้าคุณธัมมชโยก็ดี
คำสอนของท่านเจ้าคุณทัตตชีโวก็ดี รวมถึงคำสอนท่านพระครูปลัดฯ
ดร.พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ  ล้วนเป็นข้อคิด  ข้อเขียนที่ดี
หากสามารถนำมาคิด นำมาจินตนาการ นำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

ก็จะยกระดับความคิด ระดับฐานะ มีคุณภาพชีวิต มีความสุขแบบปุถุชนได้ตามประสา

ผมเดาว่าที่ "ปัญญาชน" จากหลากหลายสาขาอาชีพเข้าวัดพระธรรมกาย
เพราะ "ศรัทธา" ในวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อต่างๆ ในวัดนี้ รวมถึง "คำสอน"
คือ "ทาน-ศีล-ภาวนา" ซึ่งเป็นหลักธรรมขั้นพื้นฐาน

การที่วัดถูกระแวง สงสัย จับตามอง ในแง่มุมต่างๆ  เพราะเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก

สมัยโบราณ พระแบบท่านธัมมชโย ท่านทัตตชีโว และท่านฐานวุฑโฒ
เรียกว่า "ตนบุญ"  นั่นเป็นกรณีที่ "อำนาจรัฐ" ยอมรับและรับรอง

แต่ถ้า "อำนาจรัฐ" ไม่รับรอง ก็จะถูกเรียกว่า "ผีบุญ"

ซึ่ง "ครูบาศรีวิชัย" ก็เคยกลายเป็น "ตนบุญ" และ "ผีบุญ" มาแล้ว
กว่าจะพิสูจน์ทราบได้ ก็ต้อง "ผจญมาร" ถูกเรียกตัวลงมากักบริเวณเป็นเดือนๆ
ถึงปล่อยตัวไป

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) วัดมหาธาตุ ก็เคยเผชิญสภาวะ
"ตนบุญ" และ "ผีบุญ"  และต้องพิสูจน์ทราบผจญมารนานหลายปี
กว่าจะพ้น "วิบากกรรม" ที่ติดมาได้

"กรณีธรรมกาย"  ผมคิดว่าเป็นเรื่องของ "วัฏฏะ" คือการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของลาภ-เสื่อมลาภ-ยศ-เสื่อมยศ-สุข-ทุกข์-สรรเสริญ-นินทา

"ทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟลน"   คนจริงย่อมไม่กลัวความจริง

ผมเองเชื่อว่า หลวงพ่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ และท่านเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ก็จะพิสูจน์ทราบความจริงและผ่านพ้นไปได้ในท้ายที่สุด

ศึกนี้ ผมใช้คำว่า "ผจญมาร" ซึ่งเป็นคำที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ) คิดขึ้น

แต่ภัยที่ผมกลัว และหวั่นก็คือ "ภัยนอก"

เพราะหลวงพ่อสมเด็จช่วงฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราชก็ดี
ท่านเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเป็นใหญ่เป็นโตก็ดี

ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับผมหรือ "พุทธบริษัท" คนอื่นๆ

ภัยนอกที่น่ากลัวคือ "กลุ่ม" ที่ใช้ทฤษฎี "สมคบคิด"

ทฤษฎีนี้ กลุ่มจะพยายามอาศัยจังหวะเวลาสถานการณ์
ทำให้ "สถาบันพุทธศาสนา" อ่อนแอ แล้วฉวยโอกาสที่จะ
"ควบคุม" และ "สั่งการ" สถาบันพุทธศาสนาแบบเบ็ดเสร็จ

ซึ่งกลุ่มสมคบคิดมีทั้ง "พุทธ" ด้วยกัน "พุทธกับศาสนิกศาสนาอื่นๆ"
ซึ่งมีอำนาจอยู่ในระดับ "สภา" ต่างๆ รวมถึง "แวดวงการเมือง"
และบุคคลชั้นนำของประเทศหลายคน

มีร่องรอยให้เห็นว่า มีคนกลุ่มหนึ่ง ต้องการ "อำนาจ" "เงินทุน"
และ "เกียรติยศ" ในการปฏิรูปพระพุทธศาสนา

ทุกคนในแวดวงชาวพุทธ รู้กันดีว่า "ธรรมกาย" เป็นองค์กรเดียว
ที่มีผู้นำ-ทีม-ทุน-เทคโนโลยี รู้เท่าและรู้ทัน "ภัยนอก"
และ "มหาเถรสมาคม" สามารถ "ฝากผีฝากไข้" ให้ช่วยกันต่อสู้ต่อต้าน
ร่วมด้วยช่วยกันเอาชนะ "ภัยนอก"

กลุ่ม "ภัยนอก" มองเกมการเมืองนี้ออก จึงพยายาม "ตัดแขน"
และ "ตัดขา" ของมหาเถรสมาคม ทั้ง"ธรรมกาย" และ "มหาวิทยาลัยสงฆ์"
ดังที่ปรากฏข่าว

แต่เราก็ต้องยอมรับความจริงว่าผู้ที่เป็น "แขน" และ "ขา"
มหาเถรสมาคม ส่วนมากก็เป็น "ดั่งคำเขาว่า"

คือ  บางส่วนยังมี "ภาพลักษณ์" เชิงลบ ที่ต้องคัดกรอง
และควร "คัดสรร" ผู้ที่ซื่อตรง มือสะอาด และฝีมือดีไปสู้กับ "กลุ่มสมคบคิดภัยนอก"

ตอนนี้ ผมมองว่า ถึงเวลาต้องปิดพุทธมณฑล
ประชุม "ผู้นำชาวพุทธ" ทั้งพระและฆราวาส
ทั้งมหานิกาย-ธรรมยุติ-ธรรมกาย

ก่อนที่ "กลุ่มสมคบคิดภัยนอก" จะรู้ทัน และสายเกินแก้

เพราะ"มหาเถรสมาคม" ไม่มีเงิน ไม่มีอำนาจ ไม่มีใดๆ
ที่จะเจรจาต่อรองหรือเป็นต่อหรือได้เปรียบกับทางรัฐบาล
ที่กุมอำนาจในเวลานี้

เหลือเพียง "พลังบริสุทธิ์" ของพุทธบริษัททุกหมู่เหล่าเท่านั้น

"สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา"
พุทธบริษัททั้งมวล ต้องเลิกคิดต่าง เห็นต่าง ทำต่าง
ต้องเลิกทะเลาะกัน สถาบันพุทธศาสนากำลังมีภัย
ต้องร่วมคิด ร่วมเห็น ร่วมด้วย ช่วยกัน
ร่วมกันสนับสนุนและประคอง "สถาบันพุทธศาสนา" ให้
ล่วงพ้น "ภัยใน" และ "ภัยนอก" ให้จงได้

วันนี้ จะมี "มหาเถรสมาคม" หรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น
ประเด็นสำคัญคือ อย่าให้ "สถาบันพุทธศาสนา"
ถูก "อำนาจ" ที่มาจาก "ภัยใน" และ "ภัยนอก" ครอบงำ
ควบคุมและสั่งการ !

-----------------
ศ.ดร.อุทิส ศิริวรรณ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่