Zootopia หนังที่กระทบกระเทียบสังคมด้วยการกระทบกระเทียบตัวหนังเอง

(ยกมาจาก http://tinyurl.com/hal6vbd ค่ะ)

(มีเนื้อหาที่ spoil ตัวหนังค่ะ)
สวัสดีค่ะ มาวันนี้มาเขียนบทความสั้น ๆ เนาะ ที่จริงอยากเขียนตั้งแต่ตอนดูจบละ แต่ตัวขี้เกียจเข้าสิง ~_~ เลยเพิ่งจะมาทำเอาป่านนี้ (ฮา)

บทความวันนี้จะไม่ว่ากันด้วยเรื่องจิตวิทยา เนื่องจากผู้เขียนค่อนข้างมั่นใจว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้เน้นปมจิตวิทยา จิตใจที่โดนทำร้าย แผลเก่าในวัยเด็ก หรืออะไรแบบนั้น แต่ตั้งใจที่จะชี้ให้เป็นถึงประเด็นทางสังคม ซึ่งมีผู้วิเคราะห์ไว้หลายหลาก (อย่างเช่นประเด็นเรื่องเพศหญิงกับการกดทับทางสังคม ในบล็อกของ https://medium.com/@himatako_th/zootopia-aa4233a14444#.av8jbxdis เป็นต้น)

แต่ตัวผู้เขียนเองกลับมองไปถึงว่า ผู้ผลิตหนังต้องการจะเสียดสีสังคมถึงระดับที่ว่า ตัวสังคมเองไม่มีความตระหนักรู้ถึงเรื่องพวกนี้ในชีวิตประจำวันเลย แม้จะบอกว่าตนเองเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียม และไม่มีอคติแบ่งแยกทางสังคม แต่บางครั้งในชีวิตประจำวันกลับปฏิบัติตรงกันข้ามด้วยความเคยชิน

ดิสนีย์ได้ใส่แนวคิดดังกล่าวลงในหลายที่ของหนัง แต่แทนที่เราจะรู้สึกขัด ๆ กลับรู้สึกว่าน่าเอ็นดู เหมาะสมแล้ว เสียมากกว่า ตัวอย่างเช่น

— — — — —

- ตัวเลมมิ่งก์ทำอะไรตาม ๆ กันอย่างไม่มีข้อแม้



เมื่อปี 1958 สารคดีชื่อ White Wilderness (สารคดีของดิสนีย์นั่นแหละ — แฮ่ม) ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอตัวเลมมิ่งก์ต่อแถวกันกระโดดลงจากหน้าผา เหมือนการฆ่าตัวตายหมู่ และบอกว่าเมื่อเลมมิ่งก์จ่าฝูงทำอะไรทุกตัวก็จะทำตามหมดโดยไม่สงสัยใด ๆ — ที่จริงแล้วเลมมิ่งก์ไม่ได้มีพฤติกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด เลมมิ่งก์เป็นสัตว์ฟันแทะชนิดหนึ่ง และมีพฤติกรรมเหมือนสัตว์ฟันแทะอื่น ๆ ขยายพันธุ์รวดเร็ว กระจายถิ่นที่อยู่ไปตามที่ต่าง ๆใน snopes กล่าวไว้ว่า ช่างภาพของสารคดีนี้ไม่ได้ไปถ่ายชีวิตเลมมิ่งก์มาจริง ๆ แต่ว่าซื้อเลมมิ่งก์มาถ่ายในสถานที่ที่ต้องการ และไล่ให้เลมมิ่งก์กระโดดลงไปในน้ำเอง

อย่างไรก็ตาม การตายของเลมมิ่งก์ระหว่างอพยพมีอยู่จริง เมื่อสมาชิกในฝูงมากเกินไป สมาชิกจำนวนหนึ่งจะตัดสินใจแยกฝูงไปตั้งรกรากที่ใหม่ ในระหว่างเดินทางก็มีพลัดตกหน้าผาหรือตกน้ำบ้าง แต่ไม่ใช่การฆ่าตัวตายอย่างแน่นอน

ความเชื่อผิด ๆ ดังกล่าว มีการใช้เป็นการเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของคนที่หลับหูหลับตาทำอะไรอย่างหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ทำ โดยไม่เคยตั้งคำถามใด ๆ แค่ทำตาม ๆ เขาไป และบ่อยครั้งที่การกระทำดังกล่าวส่งผลเสียตามมา

ชมคลิปของ White Wilderness ได้ที่ http://www.snopes.com/disney/films/lemmings.asp

— — — — —

- กระต่ายต้องกินแครอท ส่วนฮิปโปก็ต้องแช่น้ำ แฮมสเตอร์นั้นหรือต้องปั่นจักร



บ้านจูดี้เป็นฟาร์มแครอท และท่าทางกระต่ายในพื้นที่อื่น ๆ ก็ทำฟาร์มแครอทเหมือนกันค่ะ สังเกตจากบทพูดตอนที่นิคไล่จูดี้กลับบ้าน ขายกันเป็นล่ำเป็นสัน กระต่ายก็ซื้อกินกันประหนึ่งเรากินข้าวทุกมื้อ

ที่จริงแล้วกระต่ายกินแต่แครอทแบบนั้นไม่ได้นะคะ ตายนะคะตาย และมันก็ไม่ได้ชอบแครอทด้วยค่ะ กระต่ายกินหญ้าแห้งและผักเขียว ผลไม้ก็ได้แค่บางอย่างเท่านั้น คนเลี้ยงกระต่าย (ที่เลี้ยงถูกวิธี) จะไม่ให้กระต่ายกินผลไม้น้ำเยอะ น้ำตาลเยอะ พืชหัว เด็ดขาดค่ะ สรุปว่าแครอทเป็นอาหารขยะสำหรับกระต่าย (ซึ่ง — มาจากบั๊คส์บันนี่ของ Warner Bros กับหนังโบราณอีกเรื่องค่ะ ชื่อ It Happens One Night ฉายเมื่อปี 1934 - ขอบคุณคุณแมวตัวมอมที่ทักท้วงค่ะ)

อ่าน myth ผิดๆเกี่ยวกับสัตว์เพิ่มเติมได้ที่ http://www.cracked.com/article_19527_5-ridiculous-animal-myths-that-you-probably-believe.html

นอกจากนั้น ตอนที่เดินทางด้วยรถไฟ ที่สถานีมีฮิปโปที่ผึ่งเสื้อผ้าให้แห้งเพราะขึ้นจากน้ำอยู่ใช่ไหมคะ — อันที่จริง สาเหตุที่ฮิปโปต้องแช่น้ำนั้น เป็นเพราะแดดที่แอฟริกามันร้อนมาก กลางวันมันเลยต้องอยู่ในน้ำตลอดเวลาเพื่อรักษาอุณหภูมิ ก็เลยทำให้มันวิวัฒนาการขึ้นมาแบบนั้นจนเป็นผู้ล่าในน้ำไปละนะคะ แต่ดังนั้นเมื่ออยู่ใน Zootopia ที่ปรับอุณหภูมิแล้ว (ฮิปโปเดินทางเข้ามาในเมือง ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ของตัวเอง) ก็ไม่น่าจะจำเป็นต้องแช่น้ำเนอะ… // หรืออย่างตอนที่ฉายภาพใน rodent town ในยิมของเหล่าหนู ก็จะเห็นแฮมสเตอร์กำลังออกกำลังกายด้วยการปั่นจักร — แหมมมมม จะปั่นจักรทำม๊ายยยยย วิ่งบนลู่ก็ได้ คิดว่าดิสนีย์เพียงแค่ต้องการจะเล่นกับภาพที่ติดอยู่ในหัวคนดูเท่านั้นเอง (รวมถึงการใช้ท่อยาวแทนลิฟท์ด้วย หนูมีความสามารถในการปีนรู แต่ในเมืองที่มีลิฟต์ ไม่ใช้รูก็ได้นะ..)

— — — — —

- แบบฟอร์มสมัครเข้าทำงานของ Zoopopia มีช่องสำหรับติ๊กว่าเป็น ‘ผู้ล่า’ หรือ ‘เหยื่อ’



ตลกมาก — Zootopia เป็นมหานครที่สัตว์ทุกตัวเท่าเทียมกัน และแน่นอนว่าสัตว์ทั้งหลาย evolve แล้ว ดังนั้นการเป็นผู้ล่าหรือเหยื่อย่อมไม่ส่งผลต่อการทำงาน

ข้อนี้กระแทกสังคมจริงจังมาก เวลาที่พวกเรากรอกแบบฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะสมัครเรียน สมัครงาน สมัครสมาชิกร้านต่าง ๆ สมัครอีเมล ทุกสิ่งทุกอย่าง จะมีช่องให้กรอกว่า ‘เพศอะไร’ ทั้งที่เพศของเราไม่ได้ส่งผลอันใดเลยยยยยยยยยย ต่อสิ่งที่เรากำลังสมัครนั้น

บ้างก็บอกว่า ‘อ้าว ก็เอาไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจไงว่าเหมาะกับงานหรือเปล่า’ นั่นแหละคืออคติอย่างมากเลย มันเป็นความคิดแบ่งแยกว่า ผู้หญิงทำได้แต่งานแบบนี้ ผู้ชายถึงจะเหมาะกับงานแบบนั้น จริง ๆ แล้วถ้าจะตัดสินให้ยุติธรรมที่สุด ควรจะดูแต่เรซูเม่ ดูผลงาน โดยไม่พิจารณาว่าผู้สมัครมีเพศอะไร

— — — — —

- เป็นสลอธแล้วเร็วไม่ได้เหรอ? ที่นี่ Zootopia นะ



อันนี้ขำมาก….. นิคจิกกัดสังคมตัวเองแล้วก็จิกกัดจูดี้ จิกกัดคอนเซปต์ของตัวหนังเองด้วย จะกล่าวถึงด้านล่างนะคะ

— — — — —

เรื่องพฤติกรรมสัตว์ เราว่าดิสนีย์ตั้งใจทำให้มันเจ็บ ๆ คัน ๆ มากค่ะ เพราะทั้งเรื่องนี้จะมีการพูดตลอดว่า

(1) ‘nurture not nature’ คือลักษณะทางกายภาพไม่ได้มีผลกับพฤติกรรมสัตว์เลย แต่กลับใส่เรื่องที่ carrot is to rabbit, banana is to monkey อะไรแบบนี้เข้ามา (กระต่ายกินแครอท หนูต้องปั่นจักร เลมมิ่งก์ต้องเดินตามกันแบบไร้สมอง) คือตอกย้ำว่า “สัตว์ชนิดนี้ก็ต้องมีภาพลักษณ์แบบนี้แหละ” ตลอดทั้งเรื่องเลย นี่มันไม่ได้ด้อยไปกว่าภาพลักษณ์ว่า “หมาจิ้งจอกต้องขี้โกงเชื่อถือไม่ได้” เลย (เป็น misconceptions เหมือนกันด้วย)

(2) ‘เราวิวัฒนาการแล้ว เราไม่ดิบเถื่อน เรามีอารยธรรม เราไม่ให้ดีเอนเอมาควบคุมพฤติกรรมเรา’ แต่ดันใส่เรื่องแบบ ฮิปโปต้องนอนแช่น้ำ สลอธต้อง…ช้…..า…….. ซึ่งมันสื่อตรง ๆ ว่า ‘ก็สายพันธุ์มันเป็นแบบนี้ จะให้ทำไงได้’ ซะงั้น ซึ่ง…เราไม่เถียงความจริงข้อนี้นะ แต่ละสายพันธุ์มันมีลักษณะเฉพาะที่แก้ไขไม่ได้หรอก แต่มันขัดกับธีมเรื่องโดยสิ้นเชิงเท่านั้นเอง

(3) ‘หนังเรื่องนี้มีจุดประสงค์ให้ทุกคนลอกอคติของตัวเองออก ปอกมันออกซะ อย่าใช้อคติมาบังตาเอาไว้เวลามองคน’ แต่ในแบบฟอร์มสมัครงานดันล้อแบบฟอร์มของโลกจริง ที่แม้จะพูดปาว ๆ ว่าส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ แต่กลับไม่มีบริษัทไหนเลยที่ไม่ให้กรอกเพศเวลาสมัครนู่นนี่นั่นต่าง ๆ

— — — — — — —

เขียนยาวมาก… ขอจบกะทันหันก่อน คิดว่าคงจะมีตรงที่ต้องเพิ่มเติม จะมาแก้ใส่ทีหลังนะคะ~
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่