เปิดรายงานพิเศษ "คนหายในไฟใต้"

ข้อมูลจากรายงานพิเศษ "คนหายในไฟใต้"ตอน 2
โดย ทีมข่าวพิเศษ ผู้จัดการรายวัน

บัญชีคนหายพิสูจน์เหตุ "อุ้ม"


เดือนสิงหาคม ปี 2548 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลงชื่อในคำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง "คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือ กยต. โดยมี จาตุรนต์ ฉายแสง เป็นประธาน โดยมีภารกิจในการกำหนดนโยบายให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ พร้อมจัดทำฐานข้อมูลและประสานงานหน่วยงานราชการเข้าช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้เร็วที่สุด ภายหลังที่ภารกิจในทำนองนี้ยังไม่มีการรวมศูนย์และเป็นระบบ มีผู้สูญเสียตกหล่นจำนวนมาก


กยต. มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบภารกิจที่แตกต่างกันออกไป ในจำนวนนี้ได้มีการแต่งตั้ง "คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อประสานการติดตามผู้สูญหายและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เฉพาะกรณี" หรือ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจคนหายฯ ซึ่งมี จิราพร บุนนาค รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน ระบุภารกิจในการรวบรวมข้อมูลบุคคลสูญหายทั้งที่ยังมีชีวิตและเสียชีวิตไปแล้วเพื่อเสนอ กยต.ให้มีการช่วยเหลือเยียวยา


รองเลขาธิการ สมช. ระบุว่า แนวคิดในการจัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าว เกิดจากการถกเถียงในวงประชุม กยต. ครั้งแรกๆ ถึงประเด็นที่มีการกล่าวกันในชุมชนหรือในการรับรู้ของชาวบ้านในพื้นที่ชายแดนใต้ว่ามีคนที่หายไปและยังไม่กลับมาอีกหลายราย ซึ่งที่ประชุมต่างเห็นตรงกันว่าครอบครัวของคนที่สูญหายก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีความทุกข์ที่ไม่ต่างกับครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากเหตุความไม่สงบ และควรที่จะต้องได้รับการดูแล


"เป็นความเจ็บปวดที่น่าจะมากกว่าการที่ญาติเขาตายก็ว่าได้ เพราะความไม่รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ แม้แต่ร่างก็ไม่ได้เห็น"


หลักเกณฑ์ที่ของคณะอนุกรรมการฯ ระบุกรอบของการให้ความช่วยเหลือไว้ 2 ประการ คือ หนึ่ง จะต้องเป็นบุคคลที่สูญหายหรือขาดการติดต่ออย่างน้อย 1 ปี และสอง จะต้องเป็นบุคคลที่สูญหายก่อน 4 ม.ค.2547 ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุปล้นปืนที่กองพันทหารพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส อันเป็นกรอบเวลาทีใช้กำหนดเป็นเกณฑ์


อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ จิราพร ระบุว่า มีหลายรายที่แจ้งว่าหายตัวไปก่อนเกิดเหตุปล้นปืนในวันดังกล่าว บางรายหายไปเมื่อช่วงต้นปี 2545 หรือปี 2546 ก็รับเข้าบัญชีการช่วยเหลือ ซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป


ประธานคณะอนุกรรมการฯ ระบุว่า การตรวจสอบว่าคนเหล่านี้หายไปจริงๆ จะทำโดยการตรวจสอบฐานข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมและหลักฐานในการแจ้งความของเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ อีกทั้งยังตรวจสอบจากปากคำของญาติพี่น้องในครอบครัวนั้นๆ รวมทั้งมีคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบจากชุมชน ผ่านผู้นำชุมชน อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู เป็นต้น เพื่อลงความเห็นว่าเขาเหล่านั้นได้หายตัวไปและมีความเหมาะสมที่จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยา


จากข้อมูลอย่างเป็นทางการของคณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าวระบุว่า มีการยืนยันว่ามีผู้สูญหายแล้ว 23 ราย รวมทั้งกรณีของทนายสมชายด้วย ที่เหลือเป็นเป็นประชาชนที่มีสัญชาติไทย ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้


ก่อนการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน กยต.ได้นำกรณีคนหายทั้ง 23 ราย เข้าสู่ขั้นตอนเยียวยา ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูล เรื่อยไปสู่การจ่ายเงินค่าชดเชยแก่ญาติพี่น้องของผู้สูญหายรายละ 1 แสนบาท ซึ่งขณะนี้ ดำเนินการชดเชยเงินเยียวยาไปแล้ว 17 ราย ยังเหลือการช่วยเหลือในด้านชุมชนบำบัด ทุนการศึกษา และการส่งเสริมอาชีพที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ส่วนในกรณีของทนายสมชายนั้น นางอังคณา นีละไพจิตร ผู้เป็นภรรยาปฏิเสธที่จะรับการช่วยเหลือดังกล่าว   


แต่เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนอำนาจที่กรุงเทพฯ กยต.ในสถานะที่เป็นคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทักษิณจึงต้องถูกยกเลิก ทำให้การทำงานของ กยต.ในระดับพื้นที่ชะงักไปกว่า 2 เดือน ล่าสุด พล.อ.สุรยุทธ์ ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง กยต.ชุดใหม่ โดยมีนายอารีย์ วงศ์อารยะ เป็นประธาน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่ากรอบการทำงานจะเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด


เปิดบัญชี  "23 เหยื่ออุ้ม"


เมื่อพิจารณาจากข้อมูลการให้ความช่วยเหลือเยียวยาของ กยต. ระบุว่ามีผู้สูญหายอยู่ในบัญชีโดยแยกตามภูมิลำเนาของผู้สูญหายใน จ.ยะลา 6 คน จ.นราธิวาส 8 ราย และ จ.ปัตตานี 8 ราย รวมกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเชื่อมโยงกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ด้วยรวมเป็นทั้งหมด 23 ราย (ตามตารางประกอบ)



จากตารางข้อมูลเหล่านี้เท่ากับเป็นการยืนยันว่าบุคคลที่สูญหายจากพฤติกรรม "อุ้ม" มีอยู่จริง แม้มีจำนวนไม่มากดังคำข่าวลือและการรับรู้ของชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งระบุว่ามียอดเป็นร้อยเป็นพันคน แต่ก็เป็นข้อมูลจากคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลเอง

รายงานฉบับเต็ม http://www.deepsouthwatch.org/node/51
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่