Review: Trainer Akino 3 ลูกกลิ้ง + ขาจับตะเกียบหน้า One Ride Stand + Zwift

กระทู้สนทนา
วันนี้มารีวิวสินค้าและบริการให้ฟังกันครับ เผื่อไว้เป็นไอเดียสำหรับท่านที่ไม่ค่อยมีเวลาปั่นจักรยานในสนาม แล้วอยากลองปั่นเทรนเนอร์แบบไม่เบื่อนะครับ..

ผมเริ่มปั่นจักรยานเข้าปีที่สอง ในปีแรก พอเข้าช่วงหน้าฝน ก็มีปัญหา ไม่ได้ปั่น เพราะไม่อยากเลอะ ไม่อยากล้าง พอทิ้งช่วงไปนาน ๆ ก็อ้วนอืด ขี้เกียจปั่น กว่าจะปัดสนิมกลับมาปั่นได้ ในตอนนั้นก็คิดว่าจะซื้อเทรนเนอร์แหละแต่ติดว่าเคยมีลู่วิ่งไฟฟ้าแล้วก็เบื่อ เอามาตากผ้าเปล่า ๆ เลยคิดว่าถ้าซื้อเทรนเนอร์มาคงได้ตากผ้าเหมือนเดิม แต่พอมาเดือนนี้มีเหตุให้คิดเรื่องซื้อเทรนเนอร์ขึ้นมาอีก หลังจากหาข้อมูลพอหอมปากหอมคอ ก็ตัดสินใจเลือกเทรนเนอร์แบบสามลูกกลิ้งด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่อยากมีล้ออีกล้อ เฟืองอีกชุด ยางอีกเส้นเพื่อขึ้นเทรนเนอร์โดยเฉพาะ ส่วนที่เพื่อน ๆ เตือนกันว่ามันปรับหนืดไม่ได้ก็ไม่ได้สนใจอะไรเพราะไม่เคยใช้เทรนเนอร์มาก่อน และก็มองว่าคงไม่จำเป็นม๊าง ปรับเกียร์หนักเอาก็ได้....ซึ่งจริง ๆ มันไม่พอครับ เดี๋ยวเล่าให้ฟังทีหลัง

หลังจากตัดสินใจได้ ก็ไปถอยเทรนเนอร์สามลูกกลิ้ง ยี่ห้อ Akino มาในราคา 3,800 บาท คิดว่ามันคงง่ายดาย ไม่มีอะไรยาก เราก็ปั่นจักรยานเก่งออก... ที่ไหนได้ ขึ้นไม่ได้ครับ คือเทรนเนอร์แบบสามลูกกลิ้งนี่ มันจะทรงตัวบนลูกกลิ้งได้ก็ต่อเมื่อน้ำหนักเรากดลงบนจักรยานจากบนอาน ถ้าคุณไปคร่อมท่อนอน แล้วเหยียบบันไดขึ้นไปปั่นมันอาจจะพุ่งออกนอกเทรนเนอร์ได้ ต้องกดเบรคไว้ด้วย แล้วการขึ้นไป โดยไม่มีอะไรจับยึดมันก็ยากพอสมควรครับ เคยดูคลิปคนที่เขาคล่อง ๆ เขาก็ขึ้นกันได้นะ แต่ผมก็ล้มไปสองที - -" สุดท้ายเลยต้องใช้วิธีเอาเทรนเนอร์ไปวางในช่องประตูครัว แล้วก็ค่อย ๆ ...ปีนขึ้นอานไป เริ่มปั่นแบบไหล่พิงขอบประตูไว้ พอมันเริ่มอยู่ตัวถึงจะพอปั่นได้ ความรู้สึก..มันก็สนุกดีนะ แต่วุ่นวายชีวิตไปหน่อย ก็ลองปั่นไป 20 โล ใช้เวลาไป 41 นาที ได้เหงื่อดีทีเดียว


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ปัญหาที่เจอนอกจากเรื่องการขึ้นลงลำบากแล้ว ก็คือ หัวใจไม่ค่อยขึ้นครับ เวลาเราปั่นถนนจริง ยิ่งเราปั่นเร็วขึ้น มันก็มีแรงต้านจากแรงกดบันไดลงไปบนถนน แรงต้านจากลมที่เพิ่มขึ้น ทำให้ HR เราเพิ่มขึ้นตามความเร็ว หรือน้ำหนักแรงกดที่ออกไป แต่สำหรับเทรนเนอร์แบบลูกกลิ้ง แรงต้านพวกนั้นคงที่เท่ากันหมดทุกเกียร์ ผมสามารถกดไปจนหมดเกียร์ได้ รอบขายังประมาณ 90 โดยหัวใจอยู่แค่ zone 2 ปลาย ๆ เท่านั้นเอง เรียกว่าถ้าจะเอามาฝึก Interval อาจจะไม่สามารถลากหัวใจไปถึงเป้าได้ ถึงจุดนี้...อยากได้ที่ปรับหนืดขึ้นมาจับใจ แต่ก็นะ ช่างมันเถอะ เอาเหงื่อเอาแรงไปแทนละกัน ^^

ปล. เทรนเนอร์สามลูกกลิ้งฟรีขาได้นะครับ แต่ได้แป๊บเดียวล้อมันจะหยุด คือไม่ถึงกับหยุดปั่นแล้วรถหยุดทันที ลองดูในคลิกได้ครับ ฟรีได้ประมาณนั้นแหละ

เทรนเนอร์มันน่าเบื่อ เราก็หาวิธีทำให้มันไม่น่าเบื่อ ก็เลยอยากจะลอง Zwift ซะหน่อยครับ  Zwift เรียกให้เข้าใจง่าย ๆ มันก็คือเกม Online ที่เราสร้าง Account เข้าไป แล้วก็ไปปั่นจักรยานในเกมพร้อม ๆ กับผู้เล่นคนอืน ๆ ทั่วโลก โดยเกมจะใช้ข้อมูล Speed/Cadence/HR/Power (Power ไม่มีก็ได้) จากจักรยานเราที่รองรับ  ANT+ ไปเป็นข้อมูลในการจำลองการปั่นในเกม (รู้สึกจะรองรับ Bluetooth Smart ด้วย) ผมใช้ชุดไมล์ Cateye Stealth ซึ่งเป็น Ant+ อยู่แล้ว ขาดแค่ตัว USB Ant+ Stick มาต่อคอมเพื่อให้รับสัญญาณ Speed/Cadence จากจักรยานเท่านั้น ก็เลยไปถอยมาตัวนึงจากร้าน Online ใน Facebook ครับ ราคา.. 750 บาท



ได้มาแล้วก็ไม่รอช้า เสียบกะคอม ลง Driver Automatic นิดหน่อย จากนั้นลงโปรแกรม Zwift..

สำหรับ Zwift นั้น เขาให้เล่นฟรีได้ 14 วัน แต่ไม่เกิน 50km ครับ เกินกว่านั้นต้องจ่ายเดือนละ $9.99 แต่เดี๋ยวก่อน!!! ถ้าคุณเป็นสมาชิก Strava Premium หลังหมดช่วงทดลองเล่นของ Zwift คุณจะได้รับบริการใช้ Zwift ฟรีอีก 2 เดือนทันที!!! ซึ่งผมก็..ได้สิทธิ์นั้นด้วย ^^

การติดตั้ง Zwift ไม่ได้ยุ่งอยากอะไรครับ หลังติดตั้งเสร็จต่อ USB Ant+ Stick ระบบจะให้เราเลือกว่าเรามี Power Meter หรือไม่ ถ้าไม่มีก็เลือกเป็นใช้ Speed/Cadence จำลองเอาแทน จากนั้นก็เลือกว่ามี HR หรือไม่ เลือก Speed/Cadence Sensor แล้วก็เลือกเทรนเนอร์ซึ่งมีรุ่นมาตรฐานทั่วไปให้เลือกครบครันครับ ในส่วนของ Roller หรือลูกกลิ้งก็เลือกอันล่างสุดเลย พร้อมแล้วก็เข้าเกมกัน




เลือกสนามที่ชอบ หรือจะบอกว่าชอบแบบทางเรียบ แบบเนิน ๆ เขา ๆ อะไรก็ได้


พอขึ้นจอนี้ก็เริ่มปั่นกันได้เลย


เมื่อเราเริ่มปั่นเทรนเนอร์ ตัวละครในเกมก็จะปั่นตามเราครับ รอบขา หัวใจ แสดงที่มุมบนซ้าย ส่วนความเร็ว จะอยู่ตรงกลางจอด้านบน ความชันอยู่ขวาสุด ในส่วนของความเร็วที่แสดงในเกมนั้น มันไม่ได้เอาความเร็วจากตัววัด Speed ของเราไปแสดงตรง ๆ แต่มันจะคำนวณความเร็วเอง โดยมี factor หลายอย่างเช่น นน.ตัวเรา รอบขา หัวใจ ความชันของถนนในเกม ดังนั้น ถ้าจะเล่น Zwift ไม่ต้องไปดูไมล์จักรยานครับ ถอดออกได้เลย ไม่งั้นงง ผมเล่นครั้งแรก กดหน้าไมล์โชว์ไป 40 ในเกมยังแค่ 23 เซ็งไปเลยทีเดียว มาอ่านจาก Forum เลยเข้าใจ คิดว่าตอนนั้นคงกำลังขึ้นเนินอยู่ เลยซอยเท่าไหร่ Speed ก็ไม่ขึ้น... พอเข้าใจมัน ถอดไมล์ออก ก็เริ่มจะดีขึ้นหน่อย... นอกจากนี้ Zwift ยังมี Mobile App ให้ลงในมือถือ เพื่อใช้ควบคุมเกมครับ พอลง app เสร็จ เปิดเกมแล้วเปิด app บนมือถือ มันจะ Sync กัน เวลาเราปั่นถึงทางแยก เราสามารถกดเลือกในมือถือได้ว่าจะเลี้ยวหรือตรง หรือเราสามารถกดปุ่มในมือถือเพื่อเปลี่ยนมุมมองได้ เช่น มองหลังตัวเรา มองแบบ 1st person ส่งการทักทาย โบกไม้โบกมือให้นักปั่นแถวนั้นได้ เป็นต้น



ถึงตรงนี้สามลูกกลิ้งมีปัญหาครับ เราอยากจะมองจอ แต่มันจะไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ เพราะต้องมาพะวงเรื่องการทรงตัวด้วย อาจจะเพราะผมยังไม่ค่อยชินด้วยมั๊ง แต่รู้สึกไม่สนุกเอาซะเลย แถมถ้าจะหยิบมือถือมากดปุ่มใน Mobile App นี่แทบเป็นไปไม่ได้ ลอง 3 ลูกกลิ้งกับ Zwift ไปสี่ห้าโล ..ไม่ happy...แอบผิดหวังเล็ก ๆ...

ผมคิดว่าถ้าเอา Zwift มาต่อทีวีจอใหญ่ที่บ้าน แล้วปรับมุมมองเป็นแบบบุคคลที่ 1 น่าจะปั่นได้สนุกดี แต่ถ้าจะปั่นสามลูกกลิ้งหน้าทีวีคงไม่เหมาะ เทรนเนอร์ Akino รุ่นสามลูกกลิ้งมีอุปกรณ์เสริมครับ เรียกว่า One Ride Stand หรือ ขาจับตะเกียบหน้านั่นเอง



วัสดุเป็นโครโมลี่ ให้ตัวได้ มีสามขนาดสำหรับจักรยานสามแบบ ผมก็ไปสอยมาตัวนึง ราคา 1,250 บาท เสร็จแล้วก็จัดแจง ถอดลูกกลิ้งอันหน้าออก ใส่เจ้า One Ride Stand เข้าไปแทน แล้วก็เอาแกนปลดสำรองมาใส่เข้าไป (ไม่แถมนะ) จากนั้นประกอบจักรยาน เอา Notebook มาต่อทีวี เปิด Zwift ปรับมุมมองเป็นบุคคลที่หนึ่ง



แล้วก็ลองปั่นดู
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
สรุปว่า..สนุกดีครับ มันส์กว่าเดิมมาก เพลิน ๆ พอ ๆ กับไปปั่นข้างนอก มีนักปั่นคนอื่นให้ดู ให้แซง ให้หมก (หมกได้นะ) มีวิวทิวทัศน์ให้ชม มีปลาโลมาว่ายไปมา (ในอุโมงค์ใต้น้ำ) ความเร็วก็โอเคนะครับ ทำได้ดีทีเดียว เวลาลงเนินนี่ความเร็วก็เพิ่ม ขึ้นเนินก็ปรับเกียร์หนัก ๆ ช่วยให้มันหนืดขึ้นหน่อย แต่ก็ได้ลองไปแค่สิบโลครับ เพราะแฟนนอนหลับอยู่หน้าทีวีพอดี ^^

หลังจากปั่นเสร็จแล้ว Zwift สามารถ Sync ข้อมูลการปั่นของเราในรอบนั้นขึ้น Strava ได้เลยครับ มี Stat สวยงามเหมือนไปปั่นบนเกาะ Zwift เลย ลองดูจากตัวเลขก็ถือว่า ใกล้เคียงกับที่ผมปั่นในชีวิตจริงนะ ยกเว้น HR ต่ำไปหน่อย






สรุป:
       1. ถ้ากำลังมองหาเทรนเนอร์สักตัว เพื่อจะเอามาฝึก การปรับหนืดได้ถือว่าค่อนข้างสำคัญครับ ถ้ามีรีโมทปรับที่แฮนด์ได้ยิ่งดี แต่ถ้าไม่ได้สนใจเรื่องนั้น กะปั่นเอาสนุกสนาน สามลูกกลิ้งก็สนุกบันเทิงดีครับ ข้อดีอย่างนึงของ Akino คือ คุณเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างสามลูกกลิ้งหรือสองลูกกลิ้งจับขาหน้าได้ ตอนซื้อเลือกได้ว่าจะเอาสามลูกกลิ้ง แล้วมาซื้อขาจับเพิ่ม หรือเอาแบบสองลูกกลิ้งบวกขาจับ แล้วมาซื้อลูกกลิ้งหน้ากับสายพานเพิ่ม
       2. ถ้าจะปั่น Zwift ผมแนะนำว่าควรใช้แทรนเนอร์แบบที่ไม่ต้องทรงตัวดีกว่า จะเอาแบบจับดุมหลัง หรือใช้แบบ 2 ลูกกลิ้ง + จับตะเกียบหน้าก็ได้
       3. ถ้าจะเล่น Zwift ถอดไมล์จักรยานออกไปเลยครับ ดูความเร็วบนจออย่างเดียว จะได้ไม่สับสนงุนงง เวลาขึ้นเนินในเกม ก็ปรับหนืดเพิ่มหน่อย ทางเรียบก็ปรับลงมาระดับปกติ อะไรประมาณนั้น
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่