โรคหนองในแท้ - เทียม

โรคหนองใน และสาเหตุการเกิดโรค

          โรคหนองใน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ โรคหนองในแท้ หรือ โกโนเรีย (Gonorrhoea) เกิดจากการติดเชื้อ Neisseria gonorrhoeae ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีรูปร่างค่อนข้างกลม อยู่กันเป็นคู่หันด้านเว้าเข้าหากัน ดูคล้ายเมล็ดกาแฟหรือเมล็ดถั่ว ย้อมสีแกรมติดสีแดง เชื้อนี้จะทำให้เกิดโรคเฉพาะเยื่อเมือก Mucous Membrance เช่น เยื่อเมือกในท่อปัสสาวะ ช่องคลอด ปากมดลูก เยื่อบุมดลูก ท่อรังไข่ ทวารหนัก เยื่อบุตา คอ เป็นต้น โดยเชื้อนี้มีระยะฟักตัวเร็ว คือประมาณ 1-10 วัน

          ส่วน โรคหนองใน อีกประเภท คือ โรคหนองในเทียม (Non Gonococcal Urethritis) หรือ NSU เป็นการอักเสบของท่อปัสสาวะที่เกิดจากเชื้อโรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่หนองในแท้

การติดต่อ โรคหนองใน
          โรคหนองใน ไม่ว่าจะ โรคหนองในแท้ หรือ โรคหนองในเทียม สามารถติดต่อกันจากการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะทางปาก ช่องคลอด หรือทางทวารหนัก รวมทั้งหากมีการร่วมเพศทางปาก ก็อาจทำให้ติดโรคที่ลำคอได้
          นอกจากนี้ โรคหนองในเทียม ยังเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ , การอักเสบของต่อมลูกหมาก, ท่อปัสสาวะตีบ, การอักเสบของหนังหุ้มอวัยวะเพศ หรือการใส่สายสวนปัสสาวะ
อาการของผู้ป่วย โรคหนองใน
           ผู้ชาย : ในผู้ชายที่เป็น หนองใน จะมีอาการปัสสาวะขัดอย่างรุนแรง และมีหนองสีเหลืองข้น ไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ มักเกิดอาการหลังรับเชื้อไปแล้ว 2-5 วัน ถ้าไม่รักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ลุกลามไปยังต่อมลูกหมาก ทำให้ต่อมลูกหมากอักเสบ อัณฑะอักเสบ ฯลฯ ซึ่งทำให้เป็นหมันได้
           ผู้หญิง :  ในผู้หญิงที่เป็น หนองใน ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ จนกระทั่ง 10 วันไปแล้ว จะมีอาการตกขาว มีกลิ่นเหม็น ปัสสาวะแสบขัด เพราะเกิดการอักเสบที่ท่อปัสสาวะ และปากมดลูก ถ้าไม่รีบรักษาเชื้อโรคจะลุกลาม ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ต่อมบาร์โธลินอักเสบ เป็นฝีบวมโต การอักเสบในอุ้งเชิงกราน ปีกมดลูกอักเสบ การอุดตันของท่อรังไข่ ซึ่งทำให้เป็นหมันหรือตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ นอกจากนี้ หากหญิงมีครรภ์เป็น โรคหนองใน เวลาคลอดอาจทำให้เด็กทารกติดเชื้อเกิดอาการตาอักเสบได้ และหากรักษาไม่ทัน จะทำให้เด็กตาบอดได้
          ส่วนอาการของ หนองในเทียม จะคล้ายกับอาการผู้ป่วย หนองในแท้ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า และระยะฟักตัวของ โรคหนองในเทียม จะนานกว่า โรคหนองใน

การวินิจฉัย โรคหนองใน
          การวินิจฉัยว่าเป็น โรคหนองใน หรือไม่นั้น แพทย์จะนำหนอง หรือปัสสาวะ มาตรวจ PCR จากนั้นจะนำมาย้อมหาเชื้อ และนำไปเพาะเชื้อ เพื่อตรวจสอบ ทั้งนี้แพทย์จะนำการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคอื่น ๆ ร่วมด้วย
          ส่วนการวินิจฉัย โรคหนองในเทียม จะต้องอาศัยการตรวจพิเศษทางห้องปฏิบัติการมาร่วมด้วย

การรักษา โรคหนองใน
          ผู้ที่เป็น โรคหนองใน มักจะเป็น โรคหนองในเทียม ด้วย ดังนั้นจึงต้องรักษาอาการไปพร้อม ๆ กัน โดยการใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Cephalosporin และ Quinolone อาจเป็นชนิดรับประทานหรือชนิดยาฉีด ยาที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ Cefixime, Ceftriaxone, Ciprofloxacin, Ofloxacin, Levofloxacin เป็นต้น
          ทั้งนี้ การรักษา หนองใน จะได้ผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ป่วย ที่จะต้องรับประทานยาให้ครบตามแพทย์สั่ง และปฏิบัติตน รวมทั้งตรวจซ้ำตามแพทย์แนะนำ และหากใครเป็น โรคหนองใน ควรพาคู่สามี และภรรยา ไปตรวจรักษาด้วย

โรคแทรกซ้อนที่สำคัญ
          ในผู้ชาย อาจเกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ คือ
            การอักเสบของอัณฑะ Epididymitis ซึ่งหากไม่รักษาอาจจะทำให้เป็นหมัน
            ข้ออักเสบ Reiter's syndrome (arthritis)
            เยื่อบุตาอักเสบ Conjunctivitis
            ผื่นที่ผิวหนัง Skin lesions
            หนองไหล Discharge

          ส่วนผู้หญิง อาจมีอาการดังต่อไปนี้
            อุ้งเชิงกรานอักเสบPelvic Inflammatory Disease (PID)อาจจะทำให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก
            ปวดท้องน้อยเรื้อรัง Recurrent PID อาจจะทำให้เป็นหมัน
            ท่อปัสสาวะอักเสบ Urethritis
            ช่องคลอดอักเสบ Vaginitis
            แท้ง Spontaneous abortion (miscarriage)

การป้องกัน โรคหนองใน
          การป้องกัน โรคหนองใน ที่ดีที่สุด คือ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ หากมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่แน่ใจว่า มีเชื้อหรือไม่ ให้สวมถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันตัวเอง นอกจากนี้ ควรมีสามีหรือภรรยาเพียงคนเดียว หรือลดปัจจัยเสี่ยงในการติดต่อ โรคหนองใน และ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก กระปุกดอทคอม

Report by LIV APCO
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่