อธิกรณ์ของพระ ญาติโยมไม่ควรยุ่งเกี่ยวจริงหรือ?

กระทู้สนทนา
หลายคนบอกว่า เรื่องอาบัติ ผิดวินัยของพระ ญาติโยมไม่ต้องยุ่ง  
เป็นเพียงผู้ครองเรือนจะไปตัดสินเรื่องของคนถือศีลมากกว่าได้อย่างไร?

โดยส่วนตัวคิดว่า หากสงฆ์มีกำลังเข้มแข็ง สามารถระงับอธิกรณ์ได้ตามธรรมวินัย ญาติโยมย่อมอนุโมทนา
แต่หากมีกำลังย่อหย่อน ญาติโยมก็ต้องเป็นฝ่ายแข็งขัน ช่วยดูแลสงฆ์ได้เช่นกัน ในฐานะพุทธบริษัท
พระมีศีลมีคุณธรรมสูงกว่าก็จริง แต่ก็ต้องอาศัยเลี้ยงชีพด้วยข้าวปลาจากญาติโยม
เช่นนี้ญาติโยมก็ย่อมมีสิทธิตรวจสอบตั้งคำถามความเป็นไปของพระสงฆ์ได้ ด้วยความเคารพ

ยกตัวอย่างเรื่องราวที่ชัดเจนเร็วๆนี้
1.กรณีพระเณรคำ
มีเรื่องอวดอุตริฯ และการสะสมทรัพย์สินมากมาย แต่ทางคณะสงฆ์ปกครองก็ไม่ได้จัดการอะไรเร่งด่วนเลย แถมมีภาพเณรคำนำรถยนต์ถวายท่านเจ้าคุณเจ้าคณะภาคอีกต่างหาก จนทุกคนสงสัยว่าที่เรื่องไม่ไปไหนมาไหนเพราะเกรงใจที่รับของเขามาแล้วหรือไม่
จนในที่สุดก็ได้ญาติโยมสืบเสาะทั้งรูปถ่ายและข้อมูลมากมายจนเจ้าตัวต้องหนีออกนอกประเทศไป โดยที่ไม่ได้รับโทษใดๆจากทางพระสงฆ์ฝ่ายปกครองเลยด้วยซ้ำ
2.กรณีพระเกษม
อันนี้มาสายเคร่ง ไม่รับเงิน ไม่กราบพระพุทธรูป
ท่านเล่นตวาดใส่สงฆ์ฝ่ายปกครองเลยว่า เจ้าคณะปกครองทั้งหลายก็ผิดพระวินัย รับเงินรับทอง จะมาปรับอาบัติท่านด้วยอย่างนั้นอย่างนี้ได้อย่างไร
อันนี้ก็ไม่มีใครไปดำเนินการอะไรเลยเหมือนกัน พระฝ่ายปกครองไม่กล้าเหยียบวัดเลยด้วยซ้ำอาจเพราะกลัวดังที่เขาหากล่าวจิงหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้
สุดท้ายปรากฏว่า ก็ได้ญาติโยมเนี่ยแหละ นั่งพนมมือกราบไหว้ ไต่สวนประดุจพระวินัยธรวินิจฉัยอธิกรณ์ จนท่านพ่ายแพ้ยอมรับว่าเสพเมถุน ปาราชิกจนต้องสึกไป

หากคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองมีกำลังเข้มแข็ง มีศีลบริสุทธิ์ พระเณรคำก็จะไม่สามารถซื้อพระสงฆ์ด้วยอามิสสินจ้างได้เลย และไม่ต้องกลัวคำกล่าวหาของพระเกษม ก็จะสามารถระงับอธิกรณ์ได้ด้วยความเรียบร้อยสง่างาม
แต่การณ์กลับกลายตรงข้าม คณะสงฆ์ฝ่ายปกครองก็มีแผลตามตัวอยู่เดิม จะให้ไปสมานแผลคนอื่นก็กลายเป็นเรื่องลำบากไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่