บทวิเคราะห์ ซาอุฯ กำลังเพลี่ยงพล้ำ อาจส่งผลเสื่อมอิทธิพลในตะวันออกกลาง

13 พ.ย. 2558 คอนน์ แฮลลินัน คอลัมนิสต์ของเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ Foreign Policy In Focus (FPIF)
เขียนบทความถึงเรื่องความเป็นไปได้ที่ประเทศพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางอย่างซาอุดิอาระเบีย
กำลังเพลี่ยงพล้ำอยู่ในช่วงขาลง




                                แฮลลินันระบุว่ประเทศเศรษฐีน้ำมันอย่างซาอุดิอาระเบีย  ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพลในละแวกนั้น
ด้วยการแพร่กระจายแนวคิดแบบอิสลามอนุรักษ์นิยมสุดโต่งไปยังประเทศโลกมุสลิม   คอยบ่อนทำลายรัฐบาลที่ไม่ฝักใฝ่ศาสนา
ในภูมิภาคนั้น คอยซุ่มอยู่ในเงามืดในขณะที่ประเทศอื่นๆ ต่อสู้และล้มตาย   นอกจากนี้ยังเป็นผู้ให้เงินทุนแก่กลุ่มติดอาวุธมูจาฮิดีน
ในอัฟกานิสถาน  สนับสนุนให้ซัดดัม ฮุสเซน รุกรานอิหร่าน  และให้เงินสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่มตั้งแต่ที่อยู่ในเทือกเขาคอเคซัส
ไปจนถึงเทือกเขาฮินดูกูช



ซาอุฯ ดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างระมัดระวังเช่นนี้โดยยังคงอยู่มาได้มากกว่า 80 ปี แต่แฮลลินันก็ระบุในบทความว่า
ในปัจจุบันราชวงศ์ซาอุฯ เริ่มอยู่ในสภาพที่เปราะบางมากขึ้นและมีหลายเหตุผลที่ทำให้ซาอุฯ ซึ่งแม้จะมีความมั่งคั่งมากมาย
มหาศาลก็อาจจะเพลี่ยงพล้ำได้




แฮลลินันชี้ว่าการเสียศูนย์ในทางยุทธศาสตร์อย่างแรกของซาอุฯ คือการพยายามทำลายคู่แข่งด้วยการเพิ่มการผลิตน้ำมัน
ทำให้ราคาน้ำมันโลกต่ำลง   จากการที่ในยุคสมัยนี้ซาอุฯ มีคู่แข่งการผลิตน้ำมันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากสหรัฐฯ หรือบราซิล
ทำให้พวกเขาคิดว่าการทำให้ราคาต่ำลงจะบีบคู่แข่งของพวกเขาได้   นอกจากนี้ยังเป็นการพยายามสร้างความเสียหายต่อ
ประเทศที่พึ่งพาน้ำมันของพวกเขาอย่างรัสเซีย เวเนซุเอลลา เอกวาดอร์ และอิหร่าน    ถึงแม้ว่าวิธีการของซาอุฯ จะส่งผลตามที่
พวกเขาคาดหมายจริงแต่มันก็ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงด้วยจนทำให้มีอุปสงค์ลดลงและทำให้ราคาลดต่ำลงกว่าเดิม
ซึ่งเป็นเรื่องที่ซาอุฯ ไม่ได้คำนึงถึง


บทความของแฮลลินันระบุต่อไปว่าราคาน้ำมันตกลงมากกว่าที่ซาอุฯ ต้องการทำให้พวกเขาขาดดุลบัญชีและไม่กี่เดือนต่อมา
ก็เริ่มมาใช้เงินจากทุนสำรองระหว่างประเทศและเงินทุนกู้ยืมจากนานาชาติเพื่อกลบการขาดดุล ทำให้ถึงแม้ว่าราคาน้ำมัน
มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นภายในอีก 5 ปีข้างหน้าแต่ซาอุฯ ก็จะมีหนี้สินเพิ่มขึ้นและมีการขาดดุลงบประมาณในปี 2558 ราว 130,000 ล้าน
ดอลลาร์ ซึ่ง มาซุด อาห์เหม็ด ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่าซาอุฯ จะใช้เงินทุนสำรอง
ระหว่างประเทศหมดภายใน 5 ปี ถ้าไม่มีการปรับลดงบประมาณ




แต่แฮลลินันก็ชี้ว่าซาอุฯ ไม่สามารถปรับลดงบประมาณได้เนื่องจากนับตั้งแต่มีปรากฎการณ์อาหรับสปริงเมื่อปี 2554
พวกเขาทุ่มงบประมาณลงไป 130,000 ล้านดอลลาร์ในส่วนของเศรษฐกิจ โดยการขึ้นค่าแรง พัฒนาบริการสาธารณะและสร้างงาน
เพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มมากขึ้นโดยซาอุฯ ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรรุ่นเยาว์สูงมากในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มประชากร
ที่ขาดการศึกษาและไม่มีงานทำ   มีราวร้อยละ 25 ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ยากจน   แฮลลินันตั้งคำถามว่าถึงแม้ทางการซาอุฯ จะทุ่มเงิน
เพื่อเอาใจไม่ให้คนลุกฮือแบบประเทศอื่นได้และมีการปราบปรามฝ่ายต่อต้านอย่างรุนแรงแต่ซาอุฯ จะห้ามปรามการต่อต้านไปได้นานสักแค่ไหน







ในขณะเดียวกันซาอุฯ ก็ใช้งบประมาณไปกับการแทรกแซงต่างชาติเช่นกรณีความขัดแย้งในเยเมนช่วงเดือน มี.ค. เนื่องจากอิหร่าน
มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งเป็นการแทรกแซงที่แม้แต่สหรัฐฯ ยังไม่เห็นด้วย และแม้แต่ประเทศพันธมิตรสำคัญของซาอุฯ อย่างปากีสถานก็เตือนว่า
พวกเขากำลังจะก่อปัญหา แต่ซาอุฯ ก็คำนวนพลาดว่าการสนับสนุนด้านกำลังอาวุธจากสหรัฐฯ จะทำให้พวกเขาชนะได้อย่างรวดเร็ว
แต่กลายเป็นว่าการสู้รบในเยเมนตอนนี้อยู่ในสภาวะคุมเชิงกันแต่ก็สร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองและประชาชน มีประชาชนเสียชีวิต
5,000 คน (เป็นเด็กมากกว่า 500 คน) ทั้งนี้ยังได้สร้างปัญหาวิกฤติอาหารและยารวมถึงเปิดโอกาสให้กลุ่มก่อการร้ายไอซิสและอัลกออิดะฮ์
ยึดครองพื้นที่ทางใต้ของเยเมน อีกทั้งการพยายามสืบสวนเรื่องอาชญากรรมสงครามก็ถูกคัดค้านโดยสหรัฐฯ และซาอุฯ


บทความของแฮลลินันเปิดเผยว่านอกจากสงครามในเยเมนแล้ว ซาอุฯ รวมถึงกาตาร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังยื่นมือเข้าไปยุ่งกับสงครามซีเรียผ่านกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ซึ่งถึงแม้ว่ารัฐบาลเผด็จการของบาชาร์ อัลอัสซาด ของซีเรียจะเลวร้าย แต่ชนกลุ่มน้อยศาสนาและนิกายต่างๆ ก็หวาดกลัวกลุ่มติดอาวุธอย่างอัลกออิดะฮ์และไอซิสมากกว่า ซึ่งสงครามกลางเมืองยาวนานกว่า 4 ปีก็ทำให้คนเสียชีวิตไปราว 250,000 คนแล้ว


แฮลลินันระบุว่าซาอุฯ ประเมินพลาดในเรื่องการแทรกแซงเหล่านี้ ไม่เพียงแค่อีกฝ่ายหนึ่งจะอยู่ทนกว่าที่คิดแต่ยังเป็นการดึงเอาอิหร่าน
และรัสเซียเข้ามาร่วมวงด้วยทำให้ความพยายามแทรกแซงโดยตรงผ่านกองกำลังฝ่ายต่อต้านอัสซาดถูกตัดตอน


นอกจากนี้สงครามที่เกิดขึ้นยังทำให้เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยเข้าส่ยุโรปจำนวนมากทำให้สหภาพยุโรปหันไปรับฟังรัสเซียที่เปิดเผย
ว่าการโค่นล้มรัฐบาลโดยไม่มีแผนการว่าจะจัดการให้ใครนำต่อหลังจากนั้นทำให้เกิดผลเช่นไร



แฮลลินันชี้ว่าแผนการของซาอุฯ ที่จะทำให้อิหร่านถูกโดดเดี่ยวก็ล้มเหลวเช่นกันเมื่อเหล่าตัวแทนจากประเทศต่างๆ อย่างสหรัฐฯ จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี สามารถหารือทำข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์ร่วมกับอิหร่านได้แม้ว่าซาอุฯ และอิสราเอลจ้องจะเล่นงานอยู่ อีกทั้งสหรัฐฯ ก็ยังเปลี่ยนท่าทียอมให้อิหร่านเข้าร่วมเจรจาสันติภาพในซีเรียด้วย


นอกจากปัญหาทางการเงินและปัญหาที่ตัวเองก่อขึ้นจากการพยายามแทรกแซงเยเมนและซีเรียแล้ว แฮลลินันระบุว่าซาอุฯ กำลังประสบปัญหาภายในเรื่องความไม่สงบจากนิกายชีอะฮ์ซึ่งเป็นคนชายขอบในประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื้อฉาวจากโศกนาฏกรรมจากการเหยียบกันของผู้เข้าร่วมพิธีฮัจญ์ของปีนี้ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,100 คน ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ทางการซาอุฯ เสื่อมเสียแม้ว่าทางการซาอุฯ จะประเมินตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 769 คน แต่ประเทศอื่นก็ไม่ยอมรับตัวเลขนี้ ทั้งนี้ยังมีข่าวลือด้วยว่าสาเหตุที่คนเหยียบกันจนเสียชีวิตเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจซาอุฯ ปิดพื้นที่บางส่วนเพื่อรองรับการมาเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในซาอุฯ




แฮลลินันกล่าวว่านอกจากความผิดพลาดของซาอุฯ จะทำให้ราชวงศ์ของซาอุฯ และกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ที่มาจากการแต่งตั้งมีปัญหา ความเพลี่ยงพล้ำของซาอุฯ ยังส่งผลสะเทือนต่อความเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด


บทความของแฮลลินันวิเคราะห์ว่าอิหร่านมีโอกาสขึ้นมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลางเนื่องจากอิหร่านเริ่มถูกโดดเดี่ยวน้อยลง ประชากรของพวกเขาก็มีการศึกษาดีขึ้น มีฐานอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งและมีทรัพยากรพลังงานเหลือเฟือ ส่วนตุรกีกำลังอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองจากการที่พวกเขาเข้าไปมีส่วนกับสงครามกลางเมืองซีเรียและมีการต่อต้านรัฐบาลจากกลุ่มชาวเติร์กมากขึ้น


เมแกน แอล โอซัลลิแวน ผู้อำนวยการโครงการภูมิศาสตร์การเมืองเรื่องพลังงานของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคยกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อนิวยอร์กไทม์ว่าราชวงศ์ซาอุฯ กับประชาชนชาวซาอุฯ จะต่อกันติดได้ต้องอาศัยทรัพยากรแพงขึ้นเรื่อยๆ และจะเป็นไปไม่ได้เลยในขณะที่ราคาน้ำมันดิ่งลงเช่นนี้


แฮลลินันระบุว่าผู้นำซาอุฯ ก็ไม่มีทางเลือกอื่นเลยนอกจากจะต้องเพิ่มการผลิตน้ำมันเพื่อเอามากลบหนี้จากสงครามซึ่งมีแต่จะทำให้ราคาน้ำมันดิ่งลงไปอีก และถ้าหากมีการยกเลิกคว่ำบาตรกับอิหร่านแล้วสถานการณ์น้ำมันสำหรับซาอุฯ ก็จะยิ่งแย่ลง และถึงแม้ว่าซาอุฯ จะยังมั่งคั่งแต่ภาระรายจ่ายทั้งหลายก็ชวนให้สงสัยว่าพวกเขาจะสามารถจ่ายได้หรือไม่



เรียบเรียงจาก

The Saudis Are Stumbling. They May Take the Middle East with Them, Conn Hallinan, FPIF, 11-11-2015


http://prachatai.org/journal/2015/11/62457
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่