ถอดบทเรียน ‘นกแอร์’ ผ่าวิถี ‘สไตรก์’ โลกการบิน VS ไทยแลนด์โอนลี่

กระทู้ข่าว
โดย ไทยรัฐออนไลน์ 19 ก.พ. 2559
"ทุกเที่ยวบินมีรอยยิ้ม" ครับ…นี่คือสโลแกนของสายการบินนกแอร์ ที่ให้คำมั่นกับผู้โดยสารว่าจะให้บริการด้วยความประทับใจ แต่…ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เมื่อจู่ๆ นักบินเกิด "ป่วย" พร้อมกัน! คำมั่นที่ให้ไว้ยังคงศักดิ์สิทธิ์อยู่หรือไม่ แล้วจะกอบกู้ศรัทธาคืนมาอย่างไร...?

ในวันนี้ "อาสาม ไทม์แมชชีน" อาสาย้อนเวลา ดูพฤติกรรม ของเหล่ากัปตัน นางฟ้า เทวดา อาชีพยอดฮิตที่หลายคนใฝ่ฝัน แต่เมื่อได้มาทำงานจริง บางคนอาจรู้สึกไม่โสภา จนต้องออกมาประท้วง ซึ่งผู้ให้บริการสายการบินในโลกหล้านี้ เขาเจออะไรบ้าง วิธีการเรียกร้องขอสิ่งต่างๆ เขาใช้วิธีการแบบนี้ วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะขอไล่เรียงให้ได้ทราบกัน!

ยกเลิกนับสิบเที่ยวบิน คนนับพันกระทบ “นกแอร์” ระส่ำ ซีอีโอ วิวาทะ นักบิน

ก่อนจะเริ่มย้อนเรื่องราวในอดีต "อาสามฯ" ขอปูพื้น "นกแอร์" เสียก่อน...

เรื่องของเรื่องเริ่มต้นเมื่อช่วงค่ำวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ เหตุการวุ่นวาย ณ สนามบินดอนเมืองเริ่มปะทุ จู่ๆ สายการบิน "นกแอร์" ก็ถูกยกเลิกใน 9 เที่ยวบิน ผู้โดยสารนับพันค้างเติ่ง ท่ามกลางอารมณ์งุนงง และฉุนเฉียว นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องที่เกิดมาจากสาเหตุนักบิน 10 คน ประท้วงหยุดบิน เนื่องจากไม่พอใจที่ทางบริษัท มีการปรับเพิ่มมาตรฐานการ Audit การบริหารงานของฝ่ายบิน โดยอิงมาตรฐานของเอียซ่า
พาที สารสิน สวมบทผู้นำการแก้ปัญหา

เอียซ่า...ที่ว่ามานี้ นายพาที บอกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา กำลังเดินหน้ายกระดับให้ไปถึง เอียซ่า และ ไอโอซ่า (หน่วยงานตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการบิน) จึงได้เชิญหน่วยงานที่เป็นพันธมิตรของนกแอร์ มาช่วยตรวจสอบ และพบว่า มีหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานการบิน พบว่า มีการใช้อำนาจผิดรูปแบบ เช่น ฝ่ายปฏิบัติการของนกแอร์ จะทำหน้าที่ตรวจสอบกันเอง จึงได้รับการแนะนำว่าฝ่ายตรวจสอบจะต้องเป็นฝ่ายอื่น ไม่ใช่ฝ่ายที่บิน ไม่ใช่แบบตัวเองตรวจสอบตัวเอง...นี่เป็นที่มาของปัญหา คือ กลุ่มนักบินไม่พอใจที่จะให้ฝ่ายอื่นมาตรวจสอบ ซึ่งนักบินบางคน ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ มีหน้าที่ตรวจสอบ จึงมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้ นักบิน มีหน้าที่ "บินอย่างเดียว" ไม่ต้องมาทำหน้าที่ "จัดการ"…

หลังสิ้นเสียงสัมภาษณ์ มาตรการเด็ดขาดก็ถูกงัดมาใช้ด้วยการสั่งสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ที่โดนหนักสุดมีเพียงรายเดียว คือ "ไล่ออก" คือ นายศานิต คงเพชร นักบินผู้ควบคุมอากาศยานสายการบินนกแอร์ ผู้ถูกกล่าวหาว่า "ตัวป่วน"
การบริหารงานสายการบิน "ความเชื่อมั่น" เป็นสิ่งสำคัญ

จากพนักงานกลายเป็นอดีต นายศานิต ก็ออกมาลากไส้ในทันที โดยกล่าวหา นกแอร์ กลับว่า ทางนกแอร์ บีบบังคับให้กัปตัน องค์กรบังคับให้ครูการบินรายหนึ่ง ปล่อยมาตรฐานการบินให้กับนักบิน 1 คน ขึ้นเป็นกัปตัน ทั้งที่ครูการบินยัง "ไม่เห็นสมควร" แต่กลับรีบเร่งให้เป็นกัปตันขึ้นบินในส่วนที่ขาดหาย เนื่องจากที่ผ่านมามีนักบินลาออกมาก

ขณะที่ข้อกล่าวหาจาก ซีอีโอ นกแอร์ ปม "ทุบหม้อข้าว จงใจหยุดบิน" นายศานิต ระบุแต่ว่า หากนักบินอึดอัดใจขึ้นบินไม่ได้...อึดอัดใจ เครียด ป่วย ขึ้นบินไม่ได้ กรณีที่เกิดขึ้นไม่ได้จงใจ แต่เขาอึดอัดใจ ให้ทำสิ่งที่ไม่อยากทำ...เหตุการณ์นี้ไม่ใช่การประท้วง หรือ สไตรก์ หากจะประท้วงต้องหยุดบิน 130 เที่ยวบิน!

สิ่งที่เกิดขึ้น เหตุผลแท้จริงแล้วคืออะไร คงต้องรอให้มีการสอบสวนกันภายในไปก่อน การไล่ออก ของนกแอร์ เป็นธรรม กับ นายศานิต หรือไม่ คงต้องให้สังคมตัดสิน และดำเนินคดีทางกฎหมายกันเอง  

มองย้อนอดีต ความขัดแย้งภายใน ทำเที่ยวบินดีเลย์ 4 ชั่วโมง!

แต่หากมองย้อนกลับไปในอดีต เรื่องวุ่นๆ ของเหล่านางฟ้า สจ๊วต หรือ นักบิน  ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น ในปี พ.ศ.2544 เกิดความขัดแย้งระหว่าง นักบิน กับ ลูกเรือ ที่มีตำแหน่งใน สหภาพแรงงานการบินไทย ครั้งนั้น 2 ฝ่ายงัดกันโดยใช้ผู้โดยสาร 300 คน ในเที่ยวบิน TG 401 ที่จะเดินทางไปประเทศสิงคโปร์ ในวันที่ 24 ส.ค. เวลา 19.20 น. มาต่อรอง โดยนักบิน เลือกที่จะลาป่วยแบบกะทันหัน ทั้งที่มีกฎว่า นักบินสามารถให้ลูกเรือคนดังกล่าวลงจากเครื่องได้ แต่กัปตันกลับเลือกที่จะลาป่วย
ตารางการบิน ที่ผู้โดยสารสามารถเช็กได้ก่อนขึ้นเครื่อง

เรื่องนี้ร้อนไปถึง นายสุเทพ สืบสันติวงศ์ รองกรรมการใหญ่ฝ่ายบริการลูกค้า (ขณะนั้น) ต้องมาสะสางเรื่องนี้เอง โดยได้เรียกกัปตันและผู้ช่วยนักบินสำรอง นอกจากน้ี ได้ขอให้ลูกเรือดังกล่าวงดบิน ซึ่งกว่าจะเสร็จสิ้นก็กินเวลาดีเลย์ไป 4 ชม.!!

ถ้าตอนนั้น มีโซเชียลมีเดียเข้าถึงมือทุกคนอย่างเช่นปัจจุบัน ไม่รู้ว่า "ผลลัพธ์" อาจจะแตกต่างไปจากเดิมก็เป็นได้

นักบิน ลูกเรือ ต่างชาติ ก็ สไตรก์ แต่จะนัดล่วงหน้า!

ในขณะที่มุมของต่างประเทศก็มีเช่นกัน วันที่ 23 ก.พ.53 พนักงานควบคุมหอการบินของสนามบิน 2 แห่ง ในปารีส คือ ชาร์ลส์ เดอ โกล และ ออร์ลี ได้หยุดงานประท้วง กรณีการท่าอากาศยานแห่งฝรั่งเศส มีแผนจะควบคุมการจราจรทางอากาศกับเบลเยียม เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก และสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้สหภาพแรงงานเกรงว่าจะเสียสถานะการเป็นลูกจ้างของรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งการหยุดงานเที่ยวนี้ ทำให้เที่ยวบินถูกยกเลิกจำนวนมาก...

ในช่วงเดียวกันนี้ พนักงานที่ทำหน้าที่บนเครื่องบินสายการบินบริติช แอร์เวย์ส ของอังกฤษ​ ก็ได้นัดล่วงหน้าเกือบ 1 เดือน ว่าจะ "ผละงาน" ประท้วง หลังจากต้นสังกัดมีแผนที่จะลดจำนวนพนักงานบนเครื่องบิน รวมทั้งจะไม่มีการขึ้นเงินเดือน ซึ่งผลก็เป็นดังนั้นจริงๆ เมื่อกลุ่มพนักงานสายการบินดังของอังกฤษ ได้นัดสไตรก์ หยุดงานเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งจากการประเมินของนักวิเคราะห์ คาดว่าสูญเสียเงินครั้งนี้กว่า 1,200 ล้านบาท
งานหินที่รออยู่ตรงหน้า ท้าทายความสามารถในฐานะ "ผู้นำ"

นอกจากนี้ สายการบินของเยอรมนี ก็เจอปัญหาคล้ายๆ กัน เมื่อนักบินของ สายการบินลุฟท์ฮันซา ออกมา "ขู่" ว่าจะหยุดงานเป็นเวลา 4 วัน ในอีก 4 วันข้างหน้า เพื่อเรียกร้องเรื่องสวัสดิการและความมั่นคงในการทำงาน ส่งผลให้สายการบินต้องงดเที่ยวบิน 2 ใน 3 หรือ รวม 3,200 เที่ยว ซึ่งการหยุดงานครั้งนี้ส่งผลให้สูญเสียเงินประมาณ 4 พันล้านบาท

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินธุรกิจสายการบินเป็นเรื่อง “ไม่ง่าย” ต้องเจอปัญหาการรวมตัว “ประท้วง” กันเป็นระยะ แต่ของเมืองนอกนั้นเลือกวิธีที่จะบอกล่วงหน้า เพื่อให้ผู้โดยสารเตรียมตัว แต่สำหรับบ้านเรา หากสิ่งที่เกิดขึ้นคือ “การจงใจละทิ้งหน้าที่” แล้วแบบนี้จะมี “ความเชื่อมั่น” ได้อย่างไรกับธุรกิจการบิน

สิทธิ 'กัปตัน' กับความปลอดภัยทางการบิน

นายปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด หรือบีเอซี บริษัทที่ผลิตนักบินชื่อดังในประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่กัปตันศานิต ย้ำว่าหากกัปตัน เครียด ป่วย ขึ้นบินไม่ได้ เพราะอาจจะพาผู้โดยสารไปตายได้ว่า อาชีพนักบิน เป็นอาชีพที่พิเศษ ไม่ว่าจะป่วยทางกาย ทางใจ ก็สามารถแจ้งลากับสายการบินได้ไม่จำกัดครั้ง ถ้ากำลังจะขึ้นบินแล้ว ตื่นมาชงนมให้ลูกกลางดึก แล้วพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็สามารถปฏิเสธขึ้นบินได้ เนื่องจากความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นเรื่องสำคัญ

ส่วนกรณี นักบินมีการลาพร้อมกัน ลักษณะคล้ายกับการประท้วง จนทำสายการบินได้รับความเสียหาย สายการบินก็จะมีการสอบสวนว่าเหตุมาจาก “ความจงใจ” หรือ “ความบังเอิญ” หากตรวจสอบแล้วพบว่า เกิดจากความจงใจ สายการบินก็สามารถทำโทษผู้ประท้วงได้ โดยหลักการลงโทษจะขึ้นอยู่กับสายการบินว่ามีกฎแบบใด พักงาน หรือ ไล่ออก ก็แล้วแต่สายการบิน

อาสาม ไทม์แมชชีน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน...

http://www.thairath.co.th/content/579248
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่