'วิกฤตินกแอร์' ซ้ำๆ จากประตูพัง นักบินลาออก หรือเจอปีชงเข้าเต็มเปา?!

กระทู้ข่าว
โดย ไทยรัฐออนไลน์ 1 มี.ค. 2559
เมื่อเดือนที่ผ่านมา หากถามถึงเหตุการณ์ที่เป็นกระแสที่สุดกระแสหนึ่งในวงการคมนาคมของไทย คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ที่สายการบินราคาประหยัด อย่าง "นกแอร์" ประกาศยกเลิกเที่ยวบิน เรียกได้ว่าเป็นเหตุความวุ่นวายภายใน ระหว่างบอร์ดบริหาร กับตัวนักบิน ที่มีผู้โดยสารเป็นตัวประกัน!
วันนี้ "ไทยรัฐออนไลน์" จะพาย้อนไทม์ไลน์เหตุการณ์สำคัญของสายการบินนกแอร์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน...

จุดกำเนิดสายการบินนกสีเหลือง ราคาประหยัด

วันที่ 10 ก.พ. 47 สายการบิน "นกแอร์" ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อ บริษัท สกายเอเชีย จำกัด โดยมีบทบาทเป็นสายการบินราคาประหยัดของไทย

วันที่ 16 ม.ค. 49 หลังจากดำเนินธุรกิจมาได้ 2 ปี บริษัท สกายเอเชีย จำกัด ก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "สายการบินนกแอร์ " ด้วยชื่อที่สั้น เป็นเอกลักษณ์ จดจำง่าย ทำให้นกแอร์ เป็นสายการบินที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี
นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์

ปัจจุบัน สายการบินนกแอร์ มีทีมผู้บริหารหลัก ประกอบด้วย นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายปิยะ ยอดมณี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส นายวิทัย รัตนากร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบัญชีและการเงิน และ กัปตันสรรใจ บุญมา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการบิน

ในส่วนของผู้ร่วมลงทุน ได้มีการเปลี่ยนแปลงกันไปบางส่วนจากในอดีต โดย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงทุนสมัยก่อตั้ง ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 39.2% ลดลงจากเดิมที่ถือ 49% รองลงมาเป็นของ บริษัท เอวิเอชั่น อินเวสต์เมนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือหุ้นอยู่ 10.0%

ขณะที่ บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด (สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ที่ร่วมลงทุนมาตั้งแต่แรกเริ่ม ลดการถือหุ้นจาก 6% เหลือ 4.8% ส่วน บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด ที่เป็นหนึ่งในบริษัทที่ถือหุ้นในยุคก่อตั้งเช่นกัน ปัจจุบันถือครองอยู่ 4.0% ลดลงจากเดิมที่ถืออยู่ 5.0% เท่ากันกับ นายพาที สารสิน และ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

จุดประเด็นกังขาด้านความเชื่อมั่น เพราะประตูบานเดียว
เมื่อนกแอร์ถูกตั้งข้อสงสัย เรื่องมาตรฐานความปลอดภัย

ปี 2558 "นกแอร์" ถูกตั้งข้อสงสัย เรื่องมาตรฐานความปลอดภัย จากเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปี

วันที่ 6 ก.พ. 58 เครื่องบินโดยสาร 80 ที่นั่ง ซึ่งเป็นเครื่องบิน 2 ใบพัดของสายการบินนกแอร์ เที่ยวบินลำปาง-ดอนเมือง เที่ยวบินที่ DD8505 ที่จะขึ้นบินในเวลา 11.35 น. ไม่สามารถบินตามกำหนดได้ เนื่องจากประตูด้านซ้ายท้ายเครื่องบินลำดังกล่าวไม่สามารถปิดสนิทได้ จนเป็นเหตุให้การเดินทางของผู้โดยสารลำดังกล่าวต้องล่าช้าออกไปราว 3 ชั่วโมง


วันที่ 18 ก.พ. 58 เป็นเหตุการณ์ที่ครึกโครมอย่างมากในเวลานั้น หลังจากที่ เครื่องบินนกแอร์ไฟลต์ DD8819 บินจากสนามบิน จ.น่าน มุ่งสู่สนามบินดอนเมือง จ.กรุงเทพฯ ได้เกิดการดีเลย์ราว 3 ชั่วโมง เนื่องจากประตูเครื่องขัดข้องไม่สามารถปิดได้ แต่สิ่งที่ทำให้คนสนใจ เพราะในไฟลต์นั้นมีบุคคลระดับวีไอพีร่วมโดยสารหลายคน พร้อมกับสื่อมวลชนอีก 40 ชีวิต 


จากเหตุการณ์ครั้งนั้น นายพาที สารสิน และ มร.แฟรงค์ ไบสทรอกี้ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการขาย ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท บอมบาร์ดิเอร์ บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องบิน Q400 ต้องออกมาชี้แจงเป็นการด่วน พร้อมประกาศแนวทางแก้ไขโดยทำการอบรมพนักงาน ทั้งฝ่ายบริการบนเครื่องบินและภาคพื้นทั้งหมด เกี่ยวกับวิธีการปิดและการเซตระบบประตู รวมถึงข้อปฏิบัติต่างๆ ของการใช้เครื่องบิน

วันที่ 29 มี.ค. 58 สายการบินนกแอร์ เที่ยวบินที่ DD7105 หาดใหญ่-ดอนเมือง มีกำหนดเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ ในเวลา 11.30 น. มีปัญหาประตูใหญ่ของเครื่องไม่สามารถปิดได้ แถมก่อนหน้านั้นเพียง 3 วัน มีรายงานว่า เครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ของสายการบินนกแอร์ เที่ยวบินที่ DD7805 นครศรีธรรมราช–กรุงเทพฯ ไม่สามารถทำการบินได้ เนื่องจากเกิดเหตุขัดข้อง กระจกค็อกพิต หรือห้องนักบินด้านซ้ายแตกร้าว ทำให้ผู้โดยสารในเที่ยวบินนี้รวมกว่า 170 คน ต้องเร่งเปลี่ยนเที่ยวบินเป็นสายการบินอื่นแทน เพื่อความปลอดภัย

นกแอร์ ปรับหลังบ้าน ปม ซีอีโอปะทะนักบิน!

ช่วงค่ำ วันที่ 14 ก.พ. 59 เกิดเหตุวุ่นวาย ณ สนามบินดอนเมือง เมื่อจู่ๆ สายการบิน "นกแอร์" ยกเลิก 9 เที่ยวบิน ทำให้มีผู้โดยสารนับพันตกค้าง ท่ามกลางอารมณ์งุนงง ฉุนเฉียว
จากเหตุการณ์ยกเลิกเที่ยวบิน ส่งผลให้ผู้โดยสารตกค้างเป็นจำนวนมาก


กระทั่งในเวลาต่อมา นายพาที ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า มีสาเหตุมาจากการที่นักบิน 18 คน ประท้วงหยุดบิน เนื่องจากไม่พอใจที่ทางบริษัทปรับเพิ่มมาตรฐาน IOSA การบริหารงานของฝ่ายบิน โดยอิงมาตรฐาน ขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) หรือ เอียซ่า

ปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นอีกหนึ่งเคส ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากผลกระทบกรณีที่กรมการบินพลเรือน หรือ บพ.เดิม ถูกปักธงแดงด้านมาตรฐาน IOSA และในขณะนี้ ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. ต้องแก้ไขใน 2 เรื่อง เพื่อนำไปสู่การปลดธงแดง คือ ต้องทยอยทบทวนการออกใบรับรอง หรือใบอนุญาตใน 2 ส่วน คือ ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก ที่จะมีนักบิน 2,100 คน เข้าข่ายต้องมีการตรวจสอบใหม่ และทบทวนการออกใบรับรองการเดินอากาศใหม่ ให้กับสายการบินต่างๆ ของไทย


ขณะนี้ สายการบินต่างๆ ของไทยเกือบจะทุกสาย และตัวนกแอร์เองก็ต้องหันมาพึ่งการเข้าร่วมโครงการตรวจสอบของกลุ่มสายการบิน อย่าง "โครงการ IOSA-IATA Operational Safety Audit" ของ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เพื่อการันตีความปลอดภัยในการบิน

จากจุดนี้ เมื่อนกแอร์จะเข้าการตรวจสอบในโครงการ จึงต้องเคลียร์หลังบ้าน และจัดระเบียบใหม่ ทำให้ตัวนักบินเอง หรือผู้เกี่ยวข้องต้องได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนเนื้องานหรือถูกลดสถานภาพ และนำไปสู่การประท้วงของนักบินบางส่วนในที่สุด
สายการบินนกแอร์

วันที่ 15 ก.พ. 59 นายพาที ก็ได้ลงนามในเอกสารลงโทษ และสอบสวนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา โดยได้ออกคำสั่งพักงานและสอบสวน นายวุฒิพร มฤทธิดา รองผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายปฏิบัติการบิน/นักบินผู้ควบคุมอากาศยาน และ นายสุชาติ ภักดีพงษ์ ผู้อำนวยการแผนกมาตรฐานการบินและนิรภัยการบิน/นักบินผู้ควบคุมอากาศยาน เป็นเวลา 7 วัน มีผลตั้งแต่ 15 ก.พ.-23 ก.พ. 59

นอกจากนี้ ยังได้ออกคำสั่งสอบสวน นายกมล แสงหิรัญ ผู้อำนวยการแผนกปฏิบัติการบิน นายสัญญา ลิ้มประเสริฐ ผู้อำนวยการแผนกทดสอบและพัฒนาการบิน นายวิรุณ มหิธิกุล ผู้อำนวยการแผนกเอกสารการบินและรัฐสัมพันธ์ นายสหภูมิ ศรสิงห์โฉม หัวหน้านักบินส่วนโบอิ้ง นายจิรเดช เทียนทอง ผู้จัดการส่วนงานควบคุมเอกสารการบิน

ส่วนที่รุนแรงที่สุดคือ การสั่งเลิกจ้าง นายศานิต คงเพชร ผจก.แผนกรักษามาตรฐานการบิน และนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน เนื่องจากจงใจกระทำความผิดร้ายแรงต่อบริษัท จึงมีคำสั่งให้เลิกจ้าง โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและเงินใดๆ ทั้งสิ้น แต่ นายศานิต ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหา เป็นแกนนำพากลุ่มนักบินประท้วง พร้อมชี้แจงว่าก่อนหน้านั้นตนมีอาการป่วย และเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารจึงไม่ควรขึ้นบิน แต่ก็ยอมรับว่า เคยมีปัญหากับทางผู้บริหารจริงจนถึงขั้นเกือบชกต่อย ซึ่งในปัจจุบันนี้อยู่ในขั้นฟ้องร้อง จึงยังไม่พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติม
ขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหว ขีดเส้นให้นกแอร์เร่งแก้ปัญหา อย่าให้มีเหตุการณ์เช่นนี้อีก ส่วน นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม ได้เรียก 14 สายการบินเข้าหารือ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสายการบินนกแอร์ แต่ทางฝั่งนกแอร์กลับไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วม โดยอ้างว่า ติดการประชุมภายในของบริษัท

วันที่ 23 ก.พ. 59 ผลกระทบที่ตามมาจากเหตุการณ์ "แบล็กวาเลนไทน์" ทำให้ชั่วโมงบินของนกแอร์ รวนอย่างหนัก จนต้องมีการประกาศยกเลิกเที่ยวบิน ซึ่งทางนายพาที ได้ออกมาชี้แจงว่า เป็นเหตุการณ์ปกติของสายการบินที่กำลังมีการปรับโครงสร้าง พร้อมปฏิเสธข่าวว่านักบินลาออกจำนวนมาก

วันที่ 25 ก.พ. 59 ข่าวลือเรื่องนักบินลาออกกลายเป็นเรื่องจริง กดดันให้ผู้บริหารนกแอร์ออกมายอมรับ แต่ยังคงยืนยันว่าเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ และได้เตรียมหานักบินมาเสริมทัพเพิ่ม ซึ่งในเวลาต่อมาทาง นกแอร์ ก็ได้ประกาศยกเลิกอีก 4 เที่ยวบิน
นกแอร์ต้องใช้เที่ยวบินเช่าเหมาลำมาช่วยให้บริการแก่ผู้โดยสาร

เนื่องจากปัญหาที่คาราคาซังไม่จบ นกแอร์ ก็ได้จัดการแจ้งยกเลิกไปอีก 20 เที่ยวบิน จนถึงวันที่ 10 มี.ค. ซึ่งในระหว่างนั้น จะมีการใช้เที่ยวบินเช่าเหมาลำมาช่วยให้บริการ พร้อมเร่งหานักบินเพิ่ม 10 คน เป็นนักบินและครูฝึกจากสหรัฐอเมริกาที่เป็นพันธมิตรกับทางโบอิ้ง และมีนักบินบางคนที่ตัดสินใจลาออกไปก่อนหน้า เปลี่ยนใจกลับมาร่วมงานต่อ ส่งผลให้จำนวนเพิ่มขึ้น 15 คน จากเดิมที่มี 190 คน

เชื่อว่าปัญหาภายในของนกแอร์ คงไม่ใช่เรื่องที่แก้กันได้ง่ายๆ ไหนจะการประกาศรับสมัครนักบินเพิ่มเติม ในสภาวะที่ผู้ประกอบอาชีพนักบินขาดแคลนกันทั่วโลก และถ้าหากรับนักบินต่างชาติเข้ามาก็ต้องแบกรับต้นทุนเรื่องค่าจ้างที่สูงขึ้น ไหนจะต้องปรับฐานค่าแรงให้กับนักบินคนไทยที่มีอยู่ ซึ่งสุดท้ายก็เป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภคที่อาจจะต้องเจอราคาค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้น

ผลกระทบที่นอกเหนือจากความเชื่อมั่นของผู้โดยสารแล้ว ราคาหุ้นของสายการบินเองก็รับผลกระทบไปไม่น้อย มีรายงานเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา หรือหลังเกิดเหตุการณ์ได้เพียงวันเดียว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการเปิดเผยหุ้นของนกแอร์ ที่ปรับตัวลดลงทันทีที่เปิดตลาด ต่ำสุดถึง 5.5% และปิดตลาดที่ 6.90 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือ 4.17%

จากตัวเลขดังกล่าว ถือว่าเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 1 เดือน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า เป็นเพราะนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในพื้นฐานและเทขายทำกำไรออกมาเป็นระยะ ซึ่งเมื่อนำไปประกอบกับผลการดำเนินงานของบริษัทประจำปี 58 ที่พบว่ามีผลขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมสำหรับงวด 1,662.29 ล้านบาท
เร่งแก้ปัญหาภายใน เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นโดยด่วน!

จากภาพรวมทั้งหมดที่กล่าวมา ยิ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่า ทางผู้บริหารของนกแอร์ ต้องรีบแก้ปัญหาภายในนี้เป็นการด่วน ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพของการให้บริการ ส่วนจะเรียกคืนความเชื่อมั่นได้หรือไม่? เรียกคืนได้เร็วแค่ไหน? คงต้องให้ผู้โดยสารเป็นผู้ตัดสิน...

http://www.thairath.co.th/content/583969
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่