*** งานเข้า BJC แบกรับหนี้ 2.2 แสนล้าน ซื้อบิ๊กซี ***



"เสี่ยเจริญ" สับสวิตซ์ใช้ BJC เข้าฮุบ BIGC แทน TCC บอร์ด BJC ขานรับอนุมัติให้เตรียมกู้เงินระยะสั้น 12 เดือน วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท รองรับเข้าถือ BIGC สัดส่วน 58% และเทนเดอร์ออฟเฟอร์อีก 41% ในราคาหุ้นละ 252.88 บาท พร้อมจ่อเพิ่มทุนเพื่อนำเงินคืนหนี้ดังกล่าว วาดฝันใช้ BIGC เป็นช่องทางเจาะค้าปลีกทั้งในประเทศ-AEC หวังหนุนกำไรในอนาคตโต ด้านโบรกฯไม่ปลื้ม แนะเลี่ยงลงทุน BJC เหตุซื้อในราคาแพงเกินมูลค่าเหมาะสม และหุ้นไดลูทหลังเพิ่มทุน

          ข่าวดังก่อนหน้านี้ บริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือTCC ของเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี ประกาศซื้อหุ้นบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด(มหาชน) หรือBIGC จากกลุ่มคาสิโน แต่ปรากฎว่าเสี่ยเจริญ เพียงใช้TCCเป็นคนออกหน้าทำสัญญาซื้อขายเบื้องต้นเท่านั้น คนทำธุรกรรมตัวจริงกลับเป็นบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือBJC

***BJCประกาศซื้อหุ้นBIGC พร้อมทำเทนเดอร์
          นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือBJC กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 59 ที่ผ่านมา เห็นชอบให้เข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งทางตรงและทางอ้อมในบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด(มหาชน) หรือBIGC จำนวนรวมทั้งสิ้น 483,077,600 หุ้น คิดเป็น 58.56% ในราคาหุ้นละ 252.88 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 122,160,663,448 บาท ตามเงื่อนไขของสัญญาจะทำการขายหุ้น ซึ่งบริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือTCC ได้ทำกับGeant International BV
          ทั้งนี้ BJC จะทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญส่วนที่เหลือทั้งหมดในBIGC เป็นจำนวนทั้งสิ้น 341,922,400 หุ้น คิดเป็น 41.44% ในราคาเกินกว่าต้นทุนราคาซื้อขายหุ้นBIGC พร้อมกันจะเข้าซื้อหุ้นสามัญของ C- Distribution Asia Pte Ltd. (C-Distribution Asia) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,700,000 หุ้น (คิดเป็น 60% ของหุ้นทั้งหมดของ C-Distribution Asia)จาก CdiscountInternation BV (บริษัทในกลุ่มเดียวกันกับ Geant) ในราคาซื้อขายเป็นเงินรวมทั้งสิ้นจำนวน 856,000,014 บาท โดยจะชำระราคาให้แก่ผู้ขายเป็นเงินสกุลยูโร

***TCCออกหน้าทำสัญญาซื้อBIGC แทนBJC
          นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือBJC กล่าวว่า รายการเข้าซื้อหุ้น BIGC ไม่เข้าข่ายเป็นรายการเกี่ยวโยงกัน เนื่องจากการยื่นข้อเสนอเข้าร่วมประมูลและเข้าทำสัญญาจะทำการขายหุ้น BIGC ในคราวนี้เป็นกรณีที่บริษัทอาศัยชื่อของ TCC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ให้ดำเนินการยื่นประมูลและเข้าทำสัญญาไปก่อนแทนบริษัท จึงเป็นกรณีที่ TCC กระทำไปตามที่ได้รับมอบหมายในฐานะตัวแทนของบริษัท ซึ่งบริษัทในฐานะตัวการจึงมีสิทธิเข้าซื้อหุ้นและ/หรือให้บริษัทย่อยของบริษัทเข้าซื้อหุ้นตามสัญญาจะทำการขายหุ้น BIGC จากผู้ขายได้โดยตรงตามเงื่อนไขของกฎหมายและหลักการของสัญญาที่ทำขึ้นไว้ ดังนั้น ธุรกรรมของบริษัทข้างต้นจึงไม่ใช่การเข้าทำธุรกรรมกับ TCC อันจะถือเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกัน และ TCC ไม่ถือเป็นผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสีย
          นอกจากนี้ BJC ยืนยันว่าการทำธุรกรรมดังกล่าวไม่เข้าข่ายการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อม(BackDoor Listing) เนื่องจากธุรกิจของBIGC มีลักษณะคล้ายคลึงหรือเสริมกันกับธุรกิจของบริษัท และไม่มีนโยบายจะเปลี่ยนแปลงสำคัญในธุรกิจหลักของบริษัท นอกจากนี้ ภายหลังการได้มาหุ้น BIGC จะยังคงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

***BJCจ่อเพิ่มทุนใช้คืนวงเงินกู้ระยะสั้น 2.2 แสนลบ.เข้าซื้อBIGC
          นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือBJC กล่าวว่า คณะกรรมการบริษัทอาจพิจารณาให้เพิ่มทุนของบริษัท ในจำนวนและสัดส่วนที่มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อชำระคืนหนี้กู้ยืม ซึ่งคณะกรรมการมีมติอนุมัติให้บริษัทกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนระยะสั้น ไม่เกิน 12 เดือน ในการเข้าซื้อหุ้นสามัญและทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ BIGC รวมถึงการเข้าซื้อหุ้นในกิจการที่เกี่ยวข้อง ในวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 220,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ มติเพิ่มทุนจะต้องนำเสนอขออนุมัติที่ประชุมผู้ถือหุ้นอีกครั้ง ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 21 มี.ค. 59 นี้
          พร้อมกันนี้ แต่งตั้งบริษัท หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือMBKET และ บริษัท เจดีย์ พาร์ทเนอร์ จำกัด ให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระของบริษัทเพื่อร่วมกันให้ความเห็นการเข้าทำรายการดังกล่าวต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น

***BJCปลื้มซื้อBIGCคุ้มสุด ๆ ใช้เป็นช่องทางเจาะค้าปลีกในประเทศ-AEC
นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือBJC กล่าวว่า บริษัทคาดว่าการเข้าซื้อหุ้นBIGC จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัท เพราะจะทำให้บริษัทมีช่องทางในการเข้าสู่ตลาดค้าปลีกขนาดใหญ่ในประเทศไทย มีช่องทางในการกระจายสินค้าของบริษัท การเข้าซื้อหุ้นBIGC เป็นการดำเนินการสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทในส่วนของธุรกิจค้าปลีก รวมถึงเพื่อขยายขนาดของบริษัทให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้มีจุดยืนที่ดีในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ที่สำคัญเพื่อสร้างโอกาสในการทำกำไรในอนาคตให้กับบริษัท รวมทั้งการเริ่มต้นสร้างธุรกิจด้านอื่น ๆ ของบริษัท
          ทั้งนี้ BIGC เป็นผู้นำด้านกิจการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศ รูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต 125 สาขา ซุเปอร์มาร์เก็ต 55 สาขา ร้านสะดวกซื้อ 391 สาขา ร้านขายยา 164 สาขา และห้างสรรพสินค้า 162 ห้าง บนพื้นฐานให้เช่า 773,000 ตร.ม. BIGC มีส่วนแบ่งการตลาด 43% ซึ่งเป็นอันดับ 2 รองจากเทสโก ประเทศไทย

***โบรกฯแนะเลี่ยงลงทุนBJC เหตุซื้อBIGCแพงเกิน-ดันหนี้อ่วม-เสี่ยงเพิ่มทุน
          นายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสายงานวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เลี่ยงลงทุนหุ้น BJC เนื่องจากมองว่าราคาหุ้นใกล้เต็มมูลค่า โดยบริษัทให้ราคาเหมาะสมที่ 36.50 บาท อีกทั้งการเข้าซื้อหุ้น BIGC ในราคา 252 บาทนั้น เป็นระดับราคาสูงกว่าราคาเหมาะสม ซึ่งบล.บัวหลวงประเมินไว้อยู่ที่ 204 บาท และBJC มีความเสี่ยงจะต้องเพิ่มทุน ซึ่งจะก่อให้เกิด dilution effect และมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มจากการกู้เงิน
          ปัจจุบัน BJC มีส่วนทุนระดับ 1.8 หมื่นล้านบาท ทำให้ความสามารถในการกู้เงินจากสถาบันการเงินไม่สูงนัก ส่วนใหญ่น่าจะเป็นการออกหุ้นกู้ระยะยาวมากกว่า ซึ่งจะทำให้หนี้สินต่อทุน (D/E) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ต้องมีการเพิ่มทุนในสัดส่วนที่สูง
อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อBIGC จะทำให้ กำไรสุทธิของ BJCเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าเมื่อรวมกับงบการเงินของBIGC ตามสัดส่วนการถือหุ้น จะเพิ่มเป็น 5,900 ล้านบาท แบ่งเป็น กำไรในส่วนของBJCเอง จำนวน 2,400 ล้านบาท ลดลงจากปี 2558 ที่คาดมีกำไรสุทธิ 2,700 ล้านบาท และ กำไรจาก BIGC ที่ 3,500 ล้านบาท
          ด้านนายเกรียงไกร ทำนุทัศน์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน)หรือ AEC กล่าวว่า บริษัทแนะหลีกเลี่ยงการลงทุน BJC จนกว่าดีลซื้อBIGC จะสำเร็จ เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก เพื่อซื้อหุ้น BIGC หนี้สินต่อทุน (D/E)จะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง และมีความเสี่ยงที่ราคาหุ้นลดลงจากผลกระทบการเพิ่มทุน (dilution effect )

Cr: efinancethai

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่