วิจัยพบลด "ยาต้านไวรัส HIV" เหลือ 200 มก. ช่วยลดผลข้างเคียง

วิจัยพบลดปริมาณ "ยาต้านไวรัสเอชไอวี" ในคนไทยจาก 300 มก. เหลือ 200 มก. ช่วยลดเชื้อไวรัสได้ดี ผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดลงจาก 10% เหลือ 3% สธ.-สปสช.-สปส.เตรียมใช้ปรับเกณฑ์การรักษาของประเทศ
       
       ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเอดส์ในไทยนั้น ยังอิงฐานข้อมูลจากต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรป ทั้งที่สรีระคนไทยและคนต่างชาตินั้นแตกต่างกัน โดยคนยุโรปเฉลี่ยน้ำหนักตัวประมาณ 70-80 กิโลกรัม ส่วนคนไทยมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 60 กิโลกรัม แต่กลับรับประทานยาต้านไวรัสในปริมาณ 300 มิลลิกรัมเท่ากัน เท่ากับว่าคนไทยได้รับยาในปริมาณที่สูงกว่าถึงร้อยละ 30-40 ดังนั้น คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จึงได้ร่วมกับศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนการวิจัย (สกว.) ศึกษาขยาดยาที่เหมาะสมสำหรับคนไทยที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ดื้อต่อยาต้านไวรัสสูตรแรก ซึ่งพบว่ามีอยู่ประมาณ 30,000 คน
       
       ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า จากการศึกษาโดยให้กลุ่มตัวอย่าง 600 คนรับประทานยาต้านไวรัสเอทาซานาเวีย (Atazanavir) ในปริมาณ 200 มิลลิกรัม และกลุ่มตัวอย่างอีก 600 คน รับประทานยาตัวเดียวกันในปริมาณ 300 มิลลิกรัม ติดตามผล 1 ปี พบว่า กลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่มนั้นมีผลการรักษาที่ดีเหมือนกันร้อยละ 90 สามารถคุมเชื้อเอชไอวีอยู่ในประมาณ 50 ตัวต่อซีซี แต่คนที่รับประทานยาขนาด 200 มิลลิกรัมนั้น มีผลข้างเคียงในเรื่องตัวเหลือง ตาเหลือง หรือภาวะทนต่อยาไม่ได้จนทำให้ต้องเลิกรับประทานยาไปก่อนลดลง จากร้อยละ 10 เหลือเพียงร้อยละ 3 ส่วนที่ยังมีปัญหาคุมเชื้อไวรัสไม่ได้อีกร้อยละ 10 นั้น มีปัญหามาจากการรับประทานยาไม่ครบโดส ไม่ตรงเวลา เป็นต้น ทั้งนี้ การวิจัยดังกล่าวได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ และอยู่ระหว่างการนำไปสู่การจัดทำแนวปฏิบัติในการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้ในอนาคต
       
       “เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายพบว่า หากปรับการให้ยาต้านไวรัสสูตร 2 เหลือเพียง 200 มิลลิกรัม นอกจากจะให้ผลการรักษาที่ดีแล้ว ยังช่วยประหยัดงบประมาณได้ด้วย หากให้กับผู้ติดเชื้อจำนวน 5,000 คน จะสามารถประหยัดงบประมาณประเทศไทยได้ปีละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม องค์กรวิชาชีพ และสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย ได้นำเอาผลวิจัยดังกล่าวมาพัฒนาเป็นแนวทางการรักษาของประเทศต่อไป” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก    hed.go.th และ MGR Online

Report by LIV APCO
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่