ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำ "คีตกวี"

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำ "คีตกวี"
.............................................................................................
ศาสตราจารย์พิเศษ เรืออากาศตรี ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญการแต่งเพลง การดนตรี
จนได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาดนตรีสากลประจำปี ๒๕๓๕
(เจ้าของเพลง “รักเอย”..รักเอย จริงหรือที่ว่าหวานหรือทรมานใจคนฯลฯ..)
เคยกรุณาให้ความรู้ผู้เขียนว่า

คำว่า “คีต”นั้นไม่ได้หมายถึงการดนตรีโดยตรง
หากหมายถึง ”เพลงขับ”หรือ “การขับร้อง”

ฉะนั้น การที่มีคนมาใช้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็น “คีตราชัน” นั้นออกจะไม่ตรง
เพราะพระองค์ท่านมิใช่นักร้อง พระองค์ท่านไม่ทรงขับร้อง หากแต่ทรงแต่งทำนองเป็นส่วนใหญ่
(อาจารย์แมนรัตน์ท่านเป็นหนึ่งในบรรดานักดนตรีวง อ.ส.ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
อะไรที่ควรบอกกล่าวให้ถูกต้อง ท่านจึงบอกโดยตรง)

ผู้เขียนจำเรื่องนี้ไว้เป็นความรู้อย่างแม่นยำ และพยายามระวัดระวังว่า
จะไม่ด่วนเรียกใครที่เป็นนักแต่งเพลงว่าเป็น “คีตกวี” อีก

ต่อมาอ่านสกุลไทยฉบับที่ ๒๗๐๗ (สำหรับ ๕ กันยายน ๒๕๔๙ แต่วางตลาดเมื่อ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๙)
เห็น คุณหมอโชติศรี ท่าราบ
(หรือผู้ใช้นามปากกา จิ๋ว บางซื่อ เขียนวิจารณ์ดนตรีใน “ชาวกรุง”ยุคกระเดื่องกรุง
หรือที่ใช้นามปากกา “เนือง” เขียนคอลัมน์ “ทีวีวาที”
ในหน้า ๗๙ ของ “มติชนสุดสัปดาห์” ทุกสัปดาห์ตอนนั้น)
กรุณาให้ความรู้ ผศ.ดร.ญาดา (อรุณเวช) อารัมภีร ว่า

การที่มีคนเรียกนักแต่งเพลงอย่าง เบโธเฟน หรือ โชแปง
ว่าเป็น “คีตกวี” นั้นไม่ถูกต้อง เพราะสองท่านนั้นไม่ได้แต่งเพลงขับร้อง
ป้าเนืองให้ความรู้ว่า ควรใช้คำว่า “ดุริยกวี” จะถูกกว่า

ผู้เขียนขอโดยสารขอบพระคุณคุณป้าหมอ
ตามอาจารย์ดญาดามา ณ ที่นี้ด้วย
.................................................
จากเฟซบุ๊กของ ประยอม ซองทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์
๙ ก.พ. ๕๙
https://www.facebook.com/messages/?action=read&tid=mid.1425620596454%3A039f793d7ac736bd52#!/permalink.php?story_fbid=912707572178451&id=100003176507983&pnref=story
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่