ปริศนาแห่งนามปากกา :
ใครคือ “เทพรัตน์” ผู้แปล เหมันต์มัจจุราช
นามปากกา “เทพรัตน์” ปรากฏช่วงสั้นๆ ระหว่างปี ๒๕๐๕–๒๕๐๘ และปรากฏเฉพาะในหนังสือแปลของสำนักพิมพ์ก้าวหน้าเท่านั้น โดยใช้กับเรื่องจารกรรม (spy story) เป็นหลัก เช่น บันได ๓๙ ขั้น (The Thirty-nine Steps) ของจอห์น บักคัน (๒๕๐๕), เหมันต์มัจจุราช (The Spy Who Came in from the Cold) ของจอห์น เลอ กาเร (๒๕๐๗) จอมมฤตยู 007 (Goldfinger) ของเอียน เฟลมิง (๒๕๐๘) มีเพียงเรื่องเดียวที่เป็นประวัติบุคคล คือ ชีวิตและการต่อสู้ของลินดอน บี. จอห์นสัน ประธานาธิบดีอเมริกา (๒๕๐๗)
น่าสังเกตว่า ในปี ๒๕๐๗–๒๕๐๘ ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายที่ปรากฏนาม “เทพรัตน์” นั้น มีนักแปลนาม “พ. พิทยา” ถือกำเนิดขึ้น และเน้นแปลเรื่องจารกรรมเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุด OSS 117 ของชอง บรูซ นอกจากนี้ยังมีเรื่องเชิงอัตชีวประวัติ ฮันซูหยิน (A Many-Splendored Thing) (๒๕๐๘) และเรื่อง ชุดสยองขวัญ (๒๕๐๙) ทั้งนี้นาม “พ. พิทยา” ปรากฏเฉพาะในหนังสือแปลของสำนักพิมพ์แพร่พิทยาเท่านั้น
ไม่มีข้อสงสัยว่า “พ. พิทยา” เป็นอีกหนึ่งนามปากกาของคุณสันต์ ท. โกมลบุตร หรือ “สันต์ เทวรักษ์” นักประพันธ์เรืองนามแห่ง “กลุ่มสุภาพบุรุษ” เพราะในหนังสืองานศพก็ระบุไว้ชัดเจน ทว่าดังที่เราทราบกันดี แม้หนังสืองานศพจะเป็น “หลักฐานชั้นต้น” อันควรแก่การเชื่อถือ แต่ก็ใช่ว่าจะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้ตายไว้ครบถ้วนเสมอไป
เช่นในขณะที่รวบรวมรายชื่อเรื่องแปลของชอง บรูซ ได้ทั้งหมด ๑๖ เรื่อง แต่เรื่องนักสืบ (detective story) ของเอิร์ล สแตนลีย์ การ์ดเนอร์ ซึ่ง “พ. พิทยา” แปลไว้ ๓ เรื่อง (๒๕๐๘) รวมทั้งเรื่อง ชุดสยองขวัญ (๒๕๐๙) ของนักเขียนคนอื่น กลับตกสำรวจอย่างเหลือเชื่อ ไม่ปรากฏรายชื่อในหนังสืองานศพแต่อย่างใด
เท่าที่ทราบ คุณสันต์แปลหนังสือในนาม “พ. พิทยา” ไว้ถึง ๒๑ เล่ม จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณสันต์หรือบุตรภรรยาจะจดจำนามนี้ได้ แต่ “เทพรัตน์” แปลหนังสือไว้เพียง ๙ เล่ม จึงอาจถูกหลงลืมเป็นธรรมดา
เมื่อพิจารณาว่า นาม “พ. พิทยา” นี้คุณสันต์คงตั้งใจให้มีนัยประหวัดถึงสำนักพิมพ์แพร่พิทยา ส่วนนาม “เทพรัตน์” นั้นผู้แปลคงตั้งใจให้มีนัยประหวัดถึงคุณสุเทพ ชูเชื้อ เจ้าของและบรรณาธิการบริหารของสำนักพิมพ์ก้าวหน้า ความพ้องกันทั้งในแง่ช่วงเวลาของผลงาน แนวเรื่องแปล และนามปากกาอันตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่สำนักพิมพ์หรือเจ้าของเช่นนี้ จึงมีความเป็นไปได้มากว่า “เทพรัตน์” เป็นอีกหนึ่งนามปากกาของคุณสันต์
อนึ่งนาม “เทพรัตน์” ยังอาจมีนัยประหวัดถึงโรงเรียนวัด “เทพศิรินทร์” ซึ่งคุณสันต์เป็นศิษย์เก่าด้วย นอกจากนี้คำว่า “เทพรัตน์” ยังมีรูปคำคล้ายกับ “เทวรักษ์”
น่าสังเกตว่า ช่วงเวลาที่ “เทพรัตน์” มีผลงานร่วมกับสำนักพิมพ์ก้าวหน้า ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่คุณสันต์ (ในชื่อและนามสกุลจริง) เริ่มแปลหนังสือชุดบันทึก-จดหมายเหตุของชาวต่างประเทศให้แก่สำนักพิมพ์ก้าวหน้าเช่นกัน คือ เล่าเรื่องเมืองไทย ของปาลเลอกัวซ์ และ ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ของแชรแวส ในปี ๒๕๐๖
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้ จึงนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า “เทพรัตน์” เป็นนามปากกาของคุณสันต์ อย่างไรก็ตาม หากสามารถติดต่อสอบถามคุณสุเทพ (ซึ่งน่าจะยังมีชีวิตอยู่) โดยตรงได้ (ผ่าน facebook) ก็จะทราบคำตอบที่ถูกต้องยิ่งกว่าการสันนิษฐานโดยพิจารณาจากบริบทดังที่ผมกระทำไปครับ
- ปวิตร ว่องวีระ [ เป็นผู้ค้นคว้าข้อมูลและเขียนบทความนี้ แล้วส่งต่อญาติน้ำหมึกเมื่อ วันพุธที่ 2 กันยายน 2015/2558 ]
ป.ล. หากหาหนังสือ เหมันต์มัจจุราช จากเอกชนหรือร้านหนังสือเก่าไม่ได้ ก็ยังมีที่พึ่งอีกแห่งหนึ่งคือหอสมุดแห่งชาติครับ (ตรวจสอบแล้ว ที่นั่นมีเล่มนี้ให้บริการ)
ปริศนาแห่งนามปากกานักแปล : “เทพรัตน์” คือ "สันต์ เทวรักษ์" ?
ใครคือ “เทพรัตน์” ผู้แปล เหมันต์มัจจุราช
นามปากกา “เทพรัตน์” ปรากฏช่วงสั้นๆ ระหว่างปี ๒๕๐๕–๒๕๐๘ และปรากฏเฉพาะในหนังสือแปลของสำนักพิมพ์ก้าวหน้าเท่านั้น โดยใช้กับเรื่องจารกรรม (spy story) เป็นหลัก เช่น บันได ๓๙ ขั้น (The Thirty-nine Steps) ของจอห์น บักคัน (๒๕๐๕), เหมันต์มัจจุราช (The Spy Who Came in from the Cold) ของจอห์น เลอ กาเร (๒๕๐๗) จอมมฤตยู 007 (Goldfinger) ของเอียน เฟลมิง (๒๕๐๘) มีเพียงเรื่องเดียวที่เป็นประวัติบุคคล คือ ชีวิตและการต่อสู้ของลินดอน บี. จอห์นสัน ประธานาธิบดีอเมริกา (๒๕๐๗)
น่าสังเกตว่า ในปี ๒๕๐๗–๒๕๐๘ ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายที่ปรากฏนาม “เทพรัตน์” นั้น มีนักแปลนาม “พ. พิทยา” ถือกำเนิดขึ้น และเน้นแปลเรื่องจารกรรมเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุด OSS 117 ของชอง บรูซ นอกจากนี้ยังมีเรื่องเชิงอัตชีวประวัติ ฮันซูหยิน (A Many-Splendored Thing) (๒๕๐๘) และเรื่อง ชุดสยองขวัญ (๒๕๐๙) ทั้งนี้นาม “พ. พิทยา” ปรากฏเฉพาะในหนังสือแปลของสำนักพิมพ์แพร่พิทยาเท่านั้น
ไม่มีข้อสงสัยว่า “พ. พิทยา” เป็นอีกหนึ่งนามปากกาของคุณสันต์ ท. โกมลบุตร หรือ “สันต์ เทวรักษ์” นักประพันธ์เรืองนามแห่ง “กลุ่มสุภาพบุรุษ” เพราะในหนังสืองานศพก็ระบุไว้ชัดเจน ทว่าดังที่เราทราบกันดี แม้หนังสืองานศพจะเป็น “หลักฐานชั้นต้น” อันควรแก่การเชื่อถือ แต่ก็ใช่ว่าจะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้ตายไว้ครบถ้วนเสมอไป
เช่นในขณะที่รวบรวมรายชื่อเรื่องแปลของชอง บรูซ ได้ทั้งหมด ๑๖ เรื่อง แต่เรื่องนักสืบ (detective story) ของเอิร์ล สแตนลีย์ การ์ดเนอร์ ซึ่ง “พ. พิทยา” แปลไว้ ๓ เรื่อง (๒๕๐๘) รวมทั้งเรื่อง ชุดสยองขวัญ (๒๕๐๙) ของนักเขียนคนอื่น กลับตกสำรวจอย่างเหลือเชื่อ ไม่ปรากฏรายชื่อในหนังสืองานศพแต่อย่างใด
เท่าที่ทราบ คุณสันต์แปลหนังสือในนาม “พ. พิทยา” ไว้ถึง ๒๑ เล่ม จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณสันต์หรือบุตรภรรยาจะจดจำนามนี้ได้ แต่ “เทพรัตน์” แปลหนังสือไว้เพียง ๙ เล่ม จึงอาจถูกหลงลืมเป็นธรรมดา
เมื่อพิจารณาว่า นาม “พ. พิทยา” นี้คุณสันต์คงตั้งใจให้มีนัยประหวัดถึงสำนักพิมพ์แพร่พิทยา ส่วนนาม “เทพรัตน์” นั้นผู้แปลคงตั้งใจให้มีนัยประหวัดถึงคุณสุเทพ ชูเชื้อ เจ้าของและบรรณาธิการบริหารของสำนักพิมพ์ก้าวหน้า ความพ้องกันทั้งในแง่ช่วงเวลาของผลงาน แนวเรื่องแปล และนามปากกาอันตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่สำนักพิมพ์หรือเจ้าของเช่นนี้ จึงมีความเป็นไปได้มากว่า “เทพรัตน์” เป็นอีกหนึ่งนามปากกาของคุณสันต์
อนึ่งนาม “เทพรัตน์” ยังอาจมีนัยประหวัดถึงโรงเรียนวัด “เทพศิรินทร์” ซึ่งคุณสันต์เป็นศิษย์เก่าด้วย นอกจากนี้คำว่า “เทพรัตน์” ยังมีรูปคำคล้ายกับ “เทวรักษ์”
น่าสังเกตว่า ช่วงเวลาที่ “เทพรัตน์” มีผลงานร่วมกับสำนักพิมพ์ก้าวหน้า ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่คุณสันต์ (ในชื่อและนามสกุลจริง) เริ่มแปลหนังสือชุดบันทึก-จดหมายเหตุของชาวต่างประเทศให้แก่สำนักพิมพ์ก้าวหน้าเช่นกัน คือ เล่าเรื่องเมืองไทย ของปาลเลอกัวซ์ และ ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ของแชรแวส ในปี ๒๕๐๖
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้ จึงนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า “เทพรัตน์” เป็นนามปากกาของคุณสันต์ อย่างไรก็ตาม หากสามารถติดต่อสอบถามคุณสุเทพ (ซึ่งน่าจะยังมีชีวิตอยู่) โดยตรงได้ (ผ่าน facebook) ก็จะทราบคำตอบที่ถูกต้องยิ่งกว่าการสันนิษฐานโดยพิจารณาจากบริบทดังที่ผมกระทำไปครับ
- ปวิตร ว่องวีระ [ เป็นผู้ค้นคว้าข้อมูลและเขียนบทความนี้ แล้วส่งต่อญาติน้ำหมึกเมื่อ วันพุธที่ 2 กันยายน 2015/2558 ]
ป.ล. หากหาหนังสือ เหมันต์มัจจุราช จากเอกชนหรือร้านหนังสือเก่าไม่ได้ ก็ยังมีที่พึ่งอีกแห่งหนึ่งคือหอสมุดแห่งชาติครับ (ตรวจสอบแล้ว ที่นั่นมีเล่มนี้ให้บริการ)