กสทช.ชี้ 'โปรลับ' ผิดกฎหมายสร้างปัญหาผูกขาดระยะยาว แนะผู้บริโภคจ่ายแพง ร้องเรียนรักษาสิทธิ


กสทช.ชี้ 'โปรลับ' ผิดกฎหมายสร้างปัญหาผูกขาดระยะยาว
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

          "ประวิทย์" ติงค่ายมือถือออก "โปรลับ" ดึงลูกค้า 4จี ให้อยู่ในระบบ เป็นการจงใจปิดบังรายการส่งเสริมการขายแก่ กสทช. ชี้ตามกฎหมายต้องส่งแพ็คเกจโปรโมชั่นให้ตรวจสอบทุกเดือน ระบุโปรใต้ดิน สมนาคุณเกินกว่าเหตุ ผิดกฎหมาย กีดกันการค้ารายอื่น

          นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวถึงกรณีที่กระแสข่าวผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือบางราย บังคับให้ผู้บริโภคที่จะโทรไปศูนย์บริการของเครือข่ายอื่น ต้องฟังข้อความประชาสัมพันธ์ของเครือข่ายตนก่อน ทำให้เกิดคำถามว่ามีความเหมาะสมและถูกกฎหมายหรือไม่ว่า หากจงใจขัดขวางการโทรออกของผู้บริโภคไม่ว่าด้วยเหตุใด ย่อมผิดกฎหมายอย่างแน่นอน

          ส่วนการที่ผู้ประกอบการบางรายใช้มาตรการเชิงบวก คือ การยื่นข้อเสนอที่ดีขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคสมัครใจไม่ย้ายเครือข่าย ทั้งการลดราคา การเพิ่ม
สิทธิประโยชน์ ซึ่งตามหลักธุรกิจแล้วถือว่าทำได้ เนื่องจากเป็นการสมนาคุณแก่ลูกค้า อย่างไรก็ตามหากมีสภาพเป็นโปรโมชั่นย่อมไม่มีคำว่า ลับ เพราะ กสทช. กำหนดให้ค่ายมือถือต้องรายงานรายการส่งเสริม การขายต่อสำนักงาน กสทช. ทุกเดือน

          "การปกปิดรายการส่งเสริมการขายย่อมผิดกฎหมาย แต่หากเป็นการสมนาคุณเฉพาะบุคคลโดยไม่มีลักษณะเป็นรายการส่งเสริมการขายก็อาจเป็นคนละกรณีกัน"

          อย่างไรก็ตาม การกำหนดอัตราค่าบริการให้แตกต่างกันในบริการโทรคมนาคมลักษณะและประเภทเดียวกัน เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ผู้บริโภคที่ต้องจ่ายแพงกว่าในบริการแบบเดียวกันสามารถร้องเรียนเพื่อจ่ายในอัตราเดียวกับคนอื่นได้

          "ผู้ให้บริการควรคำนึงถึงหัวอกผู้บริโภคที่ยังภักดี ไม่ขอย้ายเครือข่ายด้วยว่า เหตุใดในที่สุดต้องจ่ายแพงกว่าคนอื่น และที่สำคัญสำหรับสถานการณ์ภายหลังการประมูลคลื่น 4จี  เมื่ออุตสาหกรรมมีผู้ให้บริการรายใหม่ หากเครือข่ายเดิมเสนอโปรโมชั่นลับในราคาที่ต่ำกว่าทุน ย่อมเป็นการกีดกันการค้า  และระยะยาว จะก่อให้เกิดการผูกขาดแบบเดิมๆ นับเป็นเรื่อง ผิดกฎหมาย ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ระยะสั้น เท่านั้น"

          นายประวิทย์ กล่าวว่า หลังสิ้นสุดการประมูล คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ตั้งแต่ 19 ธ.ค. 2558 ความสนใจของประชาชนคือผู้ชนะใบอนุญาตทั้ง 2 ราย ยังไม่มาชำระค่าใบอนุญาตและวางหนังสือรับรองทางการเงิน (แบงก์ การันตี) แม้ว่าตามหลักเกณฑ์แล้วเอกชนทั้ง 2 รายมีเวลาชำระได้ถึง 90 วันหลังการรับรองผลการประมูลคือวันที่ 21 มี.ค.นี้

          โดยทั้ง 2 ราย ยังอยู่ระหว่างกระบวนการประสานวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน โดยยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าสถาบันการเงินปฏิเสธการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ เพียงแต่ต้องพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบและต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ซึ่งเชื่อว่าทุกอย่างจะมีข้อสรุปก่อนครบกำหนด

          นอกจากนี้ ในมุมมองของผู้บริโภคมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ลูกค้าเดิมที่ใช้งานในระบบ 2จี บนคลื่นความถี่ 900 เดิม ซึ่งอยู่ในช่วงมาตรการเยียวยาจะใช้งานได้ถึงเมื่อใด และต้องเตรียมการรับมืออย่างไร จะขยายระยะเวลาเยียวยาออกไปอีกหรือไม่

          ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ใช้บริการในระบบ 2จี ตามข้อมูลของผู้ให้บริการมีประมาณ 1 ล้านราย และมีผู้ใช้บริการที่ย้ายเครือข่ายไป 3จีแล้ว แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนเครื่องให้รองรับทำให้ต้องใช้งานโรมมิ่งบนระบบ 2จี อีกประมาณ 10 ล้านราย หากปิดระบบ 2จีบนคลื่นดังกล่าว ทันทีที่ชำระเงินค่าใบอนุญาต อาจส่งผลต่อลูกค้าหากเกิดปัญหาซิมดับ

          "ทางออกของผู้บริโภคที่ยังไม่ย้ายเครือข่าย หากต้องการใช้บริการต่อเนื่องหรือใช้งาน หมายเลขเดิมต่อไป ก็จะต้องย้ายเครือข่าย มิเช่นนั้นจะเจอเหตุการณ์ซิมดับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการย้ายเครือข่ายอาจย้ายไปเครือข่ายเดิมบนระบบ 3จี หรือเปลี่ยนไปเครือข่ายอื่นเลย ก็ได้ เป็นสิทธิของผู้บริโภค แต่ต้องคำนึงถึงอุปกรณ์ว่ารองรับหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันหลายค่ายออกโปรโมชั่นแจกเครื่อง หรือขายราคาถูก"

          ส่วนการที่มีผู้เสนอให้ขยายระยะเวลาเยียวยาบนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ออกไป โดยคงบริการ 2จี อีกระยะหนึ่ง เพื่อให้ผู้บริโภคมีเวลาย้ายค่ายนั้น ทางเทคนิคแต่ละค่ายมีความสามารถในการย้ายได้วันละประมาณ 6 หมื่นราย ตามความสามารถของศูนย์บริการคงสิทธิเลขหมาย (นัมเบอร์พอร์ททิบิลิตี้) หากย้ายอย่างจริงจังหลังสิ้นสุดการประมูลคลื่น จะทำให้ขณะนี้ในระบบ 2จี จะไม่มีลูกค้าคงค้างเลย โดยไม่ต้องขยายเวลา

          ดังนั้นปัญหาจึงอยู่ที่การลงมือปฏิบัติของ ผู้ประกอบการบางรายว่าจริงจังมากแค่ไหน ตั้งแต่ การแจ้งเตือนผู้บริโภค การเตรียมระบบรับมือกับการย้ายค่ายปริมาณมาก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ระยะเวลาไม่เพียงพอ แต่เพราะผู้ประกอบการไม่แจ้งเตือนอย่างทั่วถึงและจริงจังดังนั้นแม้จะขยายระยะเวลาก็ยังมีผู้บริโภคตกค้างและ เกิดปัญหาซิมดับเช่นกัน

แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่