( บทความจากประชาไท ) Harvard กับทันตแพทย์หนีทุน : หรือเพราะ "วัฒนธรรมที่แตกต่าง" ทำให้ "หมดหวัง" ที่จะเอาเรื่อง?

เจอบทความอันนึงที่เว็บประชาไทครับ น่าสนใจดี เลยเอามาแปะให้อ่านกัน

--------------------------

Harvard ไร้จริยธรรม?: บทเรียนทางวัฒนธรรมจากมุมมองที่แตกต่าง

Tue, 2016-02-02 16:00

อธิพงศ์ พัฒนเศรษฐพงษ์

ผมเชื่อว่า ณ เวลานี้คงมีน้อยคนมากที่ยังไม่ได้ยินเรื่องของทันตแพทย์ที่รับทุนรัฐบาลผ่านมหาวิทยาลัยมหิดลไปเรียนต่อที่สหรัฐฯแล้วเลือกไม่กลับมาทำงานใช้ทุน หนำซ้ำยังไม่ชดใช้เงินเองจนกลายเป็นเรื่องเป็นราวให้ผู้คำประกันต้องมาจ่ายแทน

เรื่องที่ทันตแพทย์หญิงคนนี้ไม่ชดใช้เงินด้วยตัวเองนั้นผมคิดว่าไม่มีอะไรต้องพิจารณา เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน แต่จุดที่ผมไม่เห็นด้วยก็คือการที่มีกลุ่มคนบางกลุ่มออกมาโจมตีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บ้างก็บอกว่าไร้จริยธรรมที่รับคนผิดสัญญาเข้าตั้งแต่แรก บ้างก็บอกว่าไร้จริยธรรมที่พอรู้แล้วก็ยังไม่ไล่ทันตแพทย์คนนี้ออก ไม่มีธรรมาภิบาล ฯลฯ

เรามาใช้โอกาสนี้มาเรียนรู้กันดีกว่าว่าการมองโลกของเรานั้นถูกเคลือบสีไว้ด้วยวัฒนธรรมและความเชื่อของเรามากเพียงใด

คำถามสำคัญที่ผมคิดว่าเราต้องตอบมีสองคำถามด้วยกัน นั่นคือตอนรับเข้าทำงานนั้นฮาร์วาร์ดคิดว่าทันตแพทย์คนนี้ทำผิดหรือไม่? และเมื่อรู้แล้วว่าเธอเบี้ยวหนี้ฮาร์วาร์ดจะทำอย่างไร?


มาที่คำถามแรกกันก่อนเลย ตอนรับเข้าทำงานนั้นฮาร์วาร์ดคิดว่าเธอทำผิดหรือไม่?

จากที่ผมสังเกตก็พบว่าในกลุ่มคนที่โจมตีฮาร์วาร์ดนั้นจะบอกว่าทันตแพทย์คนนี้ทำผิดตั้งแต่ตอนที่ไม่กลับมาทำงานใช้ทุนคืน คนกลุ่มนี้จะบอกว่า ณ จุดนั้นฮาร์วาร์ดควรจะคิดได้แล้วว่าทันตแพทย์คนนี้ไม่รักษาสัญญา ดังนั้นฮาร์วาร์ดเองจึงทำไม่ถูกที่รับคนที่ยังติดสัญญาเอาไว้ทำงาน

การที่เราจะตีเรื่องนี้ให้แตกได้ก็คงต้องถอยออกมาซักก้าวแล้วลองใช้มุมมองของบุคคลภายนอกมองว่าวัฒนธรรมและความเชื่อของเรามันเคลือบสีสิ่งต่างๆให้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

แนวคิดที่สะท้อนออกมาจากคนกลุ่มที่โจมตีฮาร์วาร์ดนั้นคือ การได้รับทุนจากรัฐเป็นบุญคุณที่ประเทศชาติให้มา และการกลับมาทำงานชดใช้ทุนคือหน้าที่ที่พึงกระทำ ดังนั้นถ้ามองด้วยมุมมองนี้เมื่อรับทุนไปแล้วไม่กลับมาก็ย่อมเป็นคนเนรคุณและไร้ความรับผิดชอบ หน่วยงานไหนที่เลือกรับคนแบบนี้ไปก็ย่อมไร้ซึ่งจริยธรรมและสมควรถูกประณามเช่นกัน

แต่สิ่งที่คนกลุ่มนี้อาจลืมไปคือไม่ใช่ทุกคนจะมีมุมมองแบบนี้ เพราะมุมมองแบบนี้มันเป็นผลพวงมาจากแนวคิดและค่านิยมที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรมไทย

ลองมาดูตัวอย่างของสิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนเรื่องหนึ่งระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก วัฒนธรรมตะวันออกบอกว่าลูกมีหน้าที่ต้องกลับมาดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า คนที่ไม่ดูแลพ่อแม่ตัวเองหรือส่งพ่อแม่ตัวเองเข้าบ้านพักคนชราจะถูกมองว่าเป็นคนอกตัญญู ในขณะที่วัฒนธรรมตะวันตกนั้นการที่ลูกให้พ่อแม่ที่อายุมากอยู่กันเองหรืออยู่ในบ้านพักคนชราเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป คนที่ทำแบบนั้นก็คือ...คนธรรมดาในสังคม

ผมเคยเจอคนไทยหลายคนที่บอกว่าพฤติกรรมแบบตะวันตกนั้น "ไร้ซึ่งความรู้คุณ" และในขณะเดียวกันผมก็เคยเจอคนตะวันตกหลายคนที่บอกว่าพฤติกรรมแบบตะวันออกนั้น "ปิดกั้นโอกาสในการสร้างชีวิตของลูก"

เมื่อวัฒนธรรมหนึ่งให้ความสำคัญกับความกลมเกลียวของครอบครัวในขณะที่อีกวัฒนธรรมหนึ่งให้ความสำคัญกับโอกาสในการเติบโตของแต่ละปัจเจก ต่างคนต่างก็มีเหตุผลที่ฟังได้ แล้วใครจะตัดสินได้ว่าสิ่งไหนดีกว่า? ถ้าคุณอยู่ในแนวคิดแบบหนึ่งคุณอาจจะคิดว่าแนวคิดของคุณดีกว่า แต่หากคุณจะถอยกลับมาพิจารณาทั้งสองแนวคิดอย่างรอบด้านแล้วล่ะก็ คุณก็จะพบว่ามันเป็นสองสิ่งซึ่งมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างและไม่สามารถนำมาวางเทียบกันได้ว่าใครดีกว่า

กลับมาที่การที่ทันตแพทย์คนนี้เลือกไม่กลับมาทำงานใช้ทุน มุมมองของโลกตะวันตกต่อพฤติกรรมนี้คืออะไร?

โลกตะวันตกนั้นมองว่าสัญญาใดๆก็คือประโยชน์ต่างตอบแทน ไม่มีใครจะยอมทำสัญญาอะไรหากตัวเองไม่ได้ประโยชน์อะไร และในสัญญาทุนนั้นรัฐก็ได้ประโยชน์จริงๆคือได้โอกาสที่จะมีคนมีความสามารถมาทำงานให้ (อีกอย่างคือมีโอกาสได้เงินชดเชยสามเท่า แต่อันนั้นไม่ใช่เหตุผลหลัก) คิดง่ายๆคือถ้ารัฐไม่ให้ทุนก็ไม่มีใครมาทำงานให้ เมื่อมีทุนก็มีคนมาทำงานให้ ดังนั้นแก่นของสัญญาทุนก็คือประโยชน์ต่างตอบแทน รัฐได้คน คนได้เรียน

ด้วยมุมมองแบบนี้คำว่าบุญคุณจึงไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับสัญญาฉบับนี้เลย สัญญาฉบับนี้เป็นสิ่งที่บุคคลสองกลุ่มที่มีผลประโยชน์ตรงกันมาตกลงกัน ไม่ได้ต่างอะไรกับสัญญาในการค้าขายซึ่งเป็นเรื่องของความต้องการที่เข้ากันได้และไม่ได้มีบุญคุณเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อไม่ได้มีบุญคุณเข้ามาเกี่ยวข้องการกลับมาทำงานชดใช้ก็ไม่ได้ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบ และก็ไม่ได้มีตราบาปอะไรที่ติดมากับการเลือกชดใช้ด้วยเงิน

ด้วยเหตุนี้สัญญาทุนนี้จึงเป็นเหมือนสัญญายืมเงินที่เลือกชดใช้ได้สองทางคือทำงานหรือจ่ายเงิน และผู้ยืมย่อมสามารถเลือกชดใช้ทางไหนก็ได้ ในมุมมองของตะวันตกนั้น "บุญคุณ" หรือ "หน้าที่ความรับผิดชอบ" ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ด้วยมุมมองนี้การที่ฮาร์วาร์ดจะรับคนคนนี้ไว้จึงไม่มีความผิดใดๆในเชิงจริยธรรมเลย ทันตแพทย์คนนี้ไม่ใช่ "คนเนรคุณและไม่มีความรับผิดชอบ" แต่เธอเป็น "คนที่มีสัญญาทุนและเลือกที่จะชดใช้ด้วยเงิน"

(อย่าลืมว่า ณ เวลาที่รับเข้าทำงานฮาร์วาร์ดไม่ได้รู้ว่าในอนาคตเธอจะไม่จ่ายหนี้)

ถ้าคุณจะเชื่อว่ามุมมองแบบตะวันตกนั้นผิดก็ตามสบายครับ แต่สำหรับผมจิตใจมนุษย์นั้นไม่ได้เติบโตด้วยการคิดว่าสิ่งเดิมๆที่ตัวเองเคยทำและเคยเจอคือสิ่งที่ถูก ทว่าจิตใจมนุษย์เติบโตด้วยการเปิดรับแนวคิดใหม่ๆและเรียนรู้ที่จะเข้าใจความซับซ้อนของโลก

ในเวลาต่อมาเรื่องเกิดแดงขึ้นมาว่าเธอไม่จ่ายหนี้และปล่อยให้ผู้ค้ำประกันจ่ายแทน เมื่อเรื่องนี้เกิดขึ้นฮาร์วาร์ดจะทำอย่างไร?

นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่แนวคิดตะวันออกและตะวันตกมีความแตกต่างกัน มุมมองแบบตะวันออกนั้นมักจะขยายแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งของบุคคลออกไปให้ครอบทับทั้งตัวบุคคลนั้น ดังนั้นถ้าคนหนึ่งเบี้ยวหนี้แล้วนั่นก็หมายความว่าบุคคลนั้นเป็นคนตระบัดสัตย์ และย่อมขาดความน่าเชื่อถือในเรื่องอื่นด้วย แต่ในมุมมองตะวันตกนั้นบุคคลมีหลายแง่มุมซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกัน คนเบี้ยวหนี้ก็คือคนที่มีปัญหาเรื่องหนี้ (ซึ่งเป็นคดีแพ่งซะด้วย ไม่ใช่คดีอาญา) ไม่ได้หมายความว่าเค้าจะเป็นทันตแพทย์ที่ดีไม่ได้ ถ้าเรื่องพวกนี้ไม่ได้มีผลกับการทำงานมหาวิทยาลัยก็จะไม่ได้เอามาใส่ใจอะไรมาก อาจจะเก็บเอาไว้เป็นข้อมูลสำหรับอนาคต แต่จะไม่เอามาเป็นเรื่องใหญ่ในปัจจุบันแน่นอน

อีกประเด็นหนึ่งคือ ในโลกตะวันออกนั้นมีกฎทางสังคมที่ไม่ได้ถูกเขียนเอาไว้หลายอย่าง และกฎทางสังคมที่ไม่ได้เขียนไว้นี่แหละที่ทำให้ในประเทศไทยนั้นมหาวิทยาลัยอาจจะให้ทันตแพทย์คนนี้ออกได้ สังคมก็จะไม่ได้ว่าอะไร และการฟ้องร้องโดยทันตแพทย์คนนี้ก็คงจะไม่เกิดขึ้น แต่ในโลกตะวันตกนั้นจะปฏิบัติตามกฎที่ถูกเขียนไว้ ซึ่งการให้พนักงานออกด้วยเหตุผลเรื่องหนี้ส่วนตัวเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้อย่างแน่นอน มหาวิทยาลัยจะถูกฟ้องเละเทะถ้าให้ทันตแพทย์คนนี้ออกด้วยเหตุผลนี้

ดังนั้นฮาร์วาร์ดอาจจะคิดว่าเธอผิดอยู่บ้าง แต่มันก็เป็นเรื่องส่วนตัวไม่ใช่เรื่องของมหาลัย (ไม่ต่างอะไรกับคนเบี้ยวหนี้บัตรเครดิตเลย) ถ้ามันไม่ได้มีผลกับการทำงานก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเข้าไปยุ่ง และมหาวิทยาลัยก็ไม่มีอำนาจอันชอบธรรมตามกฎหมายที่จะไล่ทันตแพทย์คนนี้ออก

อีกครั้งนะครับ ถ้าคุณจะเชื่อว่ามุมมองแบบตะวันตกนั้นผิดก็ตามสบายครับ แต่สำหรับผมจิตใจมนุษย์นั้นไม่ได้เติบโตด้วยการคิดว่าสิ่งเดิมๆที่ตัวเองเคยทำและเคยเจอคือสิ่งที่ถูก ทว่าจิตใจมนุษย์เติบโตด้วยการเปิดรับแนวคิดใหม่ๆและเรียนรู้ที่จะเข้าใจความซับซ้อนของโลก

สรุปแล้วเรื่องนี้ก็เป็นดังนี้ เมื่อตอนรับเข้าทำงานนั้นในมุมมองของประเทศไทยเธอคือคนเนรคุณและไร้ความรับผิดชอบ แต่ในมุมมองของฮาร์วาร์ดนั้นเธอคือคนมีสัญญาทุนที่เลือกจะชดใช้ด้วยเงิน เมื่อตอนที่เรื่องแดงว่าเธอไม่ชดใช้เงินในมุมมองของประเทศไทยเธอคือคนตระบัดสัตย์เชื่อถือไม่ได้ แต่ในมุมมองของสหรัฐฯนั้นเธอคือคนที่มีปัญหาหนี้ส่วนตัวซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน และนั่นไม่ใช่สิ่งที่มหาวิทยาลัยจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้

คนที่ก่นด่าว่าฮาร์วาร์ดไร้จริยธรรม ไม่มีธรรมาภิบาล ลองคิดดูให้ดีๆเถอะครับว่ามันเป็นเพราะเราเอาค่านิยมและวัฒนธรรมของตัวเองไปเป็นมาตรวัดสิ่งที่อยู่ในสังคมอื่นรึเปล่า?

และถ้าลองคิดดูดีๆในทางกลับกันก็จะพบว่ามีหลายเรื่องที่คนไทยคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ยอมรับได้ ในขณะที่มุมมองตะวันตกเห็นว่าเราทำไม่ถูกต้อง ถ้าเราไม่ชอบใจเวลาเค้าเอามุมมองของเค้ามาตัดสินเรา แล้วเราควรจะเอามุมมองของเราไปตัดสินเค้าหรือไม่?

จะต่อว่าก็ต่อว่าทันตแพทย์คนนี้ แต่อย่าไปดึงฮาร์วาร์ดเข้ามาเกี่ยวด้วย

จะยืนกรานหัวชนฝาว่าเราถูกและเค้าผิด หรือจะเปิดโลกทัศน์ให้กว้างและทำความเข้าใจความซับซ้อนและความแตกต่างที่มีในโลก คุณเลือกเอง

ที่มา : http://www.prachatai.com/journal/2016/02/63839

-------------------------------

บทความนี้อ่านแล้วน่าคิดนะ..ด้านหนึ่งคนหนีทุนแล้วให้คนอื่นใช้หนี้แทนยังไงก็แย่อยู่แล้วละ
.
แต่ปัญหาอีกด้าน คือวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตก มองโลกกันคนละเรื่องแบบสุดขั้ว ทำให้หลายๆ อย่างเขาไม่สนเรา ( เช่นเดียวกับหลายๆ อย่างที่เราไม่สนเขา ) หรือเปล่า?
.
โลกแคบลง..ทุกอย่างเชื่อมถึงกันง่ายขึ้น การปะทะกันทางความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ ฯลฯ จึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดาไม่ว่างเว้นแต่ละวันนี่แล!!!
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่