หนังสือ “ความยุติธรรม” มาถูกที่ถูกเวลาเป็นอย่างยิ่ง สำหรับคนไทย

กระทู้สนทนา


หนังสือแห่งปี “ความยุติธรรม” (Justice: What’s the Right Thing to Do?) วางแผงแล้ว

หนังสือขายดีทั่วโลกที่ openworlds ภูมิใจเสนอวางแผงแล้ว … “ความยุติธรรม” (Justice: What’s the Right Thing to Do?) เขียนโดย Michael J. Sandel ศาสตราจารย์ปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล ลูกศิษย์สายตรง

หนังสือเล่มนี้เป็นการยกวิชา “ความยุติธรรม” มาไว้บนหน้าหนังสือ วิชาดังกล่าวได้รับความนิยมสูงสุดของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมานานกว่า 2 ทศวรรษ มีนักศึกษาลงเรียนกว่าพันคนทุกภาคเรียน และได้รับการบันทึกเทปเพื่อเผยแพร่ทางยูทูบ มีผู้เข้าชมกว่า 4 ล้านคลิก

นี่เป็นหนังสือที่ทุก ‘นัก’ ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง


………………………………



คำนำผู้แปล



ความขัดแย้งแบ่งสีในสังคมไทยปะทุขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 บานปลายสืบเนื่องนานหลายปีโดยยังไม่มีวี่แววว่าจะสร่างซา ประเทศไทยเดินดุจเรือไร้หางเสือผ่านรัฐประหาร รัฐบาลนอมินี รัฐบาลอำมาตย์ พลิกกลับมาเป็นรัฐบาลโคลนนิ่ง จนถึงปี พ.ศ. 2554 ความยุติธรรมในสังคมยังดูเป็นอุดมคติอันไกลโพ้น ขณะที่ความอยุติธรรมชัดแจ้ง ฝากรอยแผลทางกายและในใจคนอย่างท่วมท้นขึ้นเรื่อยๆ จนคำกล่าวที่ว่า “คุกไทยมีไว้ขังคนจน” ดูจะเป็นสัจธรรมอันยากสั่นคลอน

อย่างไรก็ดี คุณูปการประการหนึ่งของความอึมครึมและแตกแยกในสังคม คือ คำว่า “ความยุติธรรม” ถูกพูดถึงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในแทบทุกระดับชั้น ตั้งแต่ผู้นำประเทศจนถึงคนเดินดิน แม่ค้าถกเรื่อง “ตุลาการภิวัตน์” กับลูกค้าระหว่างตักข้าวแกงใส่จาน คนทั่วไปโดยเฉพาะผู้ใส่เสื้อสีที่ “ตื่นตัวทางการเมืองอย่างฉับพลัน” ตามวาทะของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ถกเถียงเรื่องความยุติธรรมทางสังคมอย่างหน้าดำครํ่าเครียด และบางทีก็ถึงขั้นลงไม้ลงมือ

แต่ไม่ว่าเราจะถกเรื่องความยุติธรรมกันมากเพียงใด สิ่งที่ยังพบเห็นน้อยมากในทัศนะของผู้แปลคือ การถกเถียงอย่างรอบด้าน เคารพซึ่งกันและกัน และพยายามให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อันล้วนเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการเดินสู่ “ความยุติธรรม” ที่แท้จริง

การถกเถียงเรื่องความยุติธรรม ตั้งแต่เรื่องระดับชาติจนถึงเรื่องในครอบครัว ยังดูจะมุ่งไปที่การชักโวหารเหตุผลจากแม่นํ้าทั้งห้ามาสาธยายว่าทำไม “ฉันถูก แกผิด” และ “ความยุติธรรม” ก็มักถูกใช้ในความหมายว่า อะไรก็ตามที่ทำให้ฉันหรือพวกของฉันได้ประโยชน์ โดยไม่สนใจว่าคนอื่นได้รับผลกระทบอย่างไร กระทั่งไม่อยากฟังเพราะปักใจเชื่อไปแล้วว่าคนอื่นไม่ควรค่าแก่การรับฟัง เพราะเป็นสลิ่ม / เป็นควายที่ถูกซื้อ / เป็นชนชั้นกลางดัดจริต / เป็นพวกล้มเจ้า ฯลฯ

การเที่ยวแขวน “ป้าย” ง่ายๆ เหล่านี้ให้กับผู้คิดต่าง ทำให้คนจำนวนมากไม่ถกกันอย่างเปิดใจและตรงไปตรงมา หมกมุ่นกับการใช้วาทศิลป์สร้างวาทกรรมด้านเดียวมาสนับสนุนการต่อสู้ทางการเมือง อาทิ เศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนเข้มแข็ง ประชานิยม ทุนโลกาภิวัตน์ ฯลฯ ทั้งที่ในโลกแห่งความจริง สิ่งที่คำเหล่านี้อธิบาย ไม่ได้มีแต่ด้านบวกหรือด้านลบเพียงด้านเดียว และคำหลายคำที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้เป็นอาวุธทางความคิดนั้น แท้จริงสามารถใช้ร่วมกันได้อย่างไม่เคอะเขินเพื่ออธิบายความจริง เช่น กลุ่มการเงินชุมชนหลายกลุ่มใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงช่วยเหลือ
ชาวบ้านที่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัวได้สำเร็จ เสร็จแล้วก็นำเงินกู้ในนโยบาย “ประชานิยม” อย่างเช่นกองทุนเอสเอ็มแอล มาช่วยให้พวกเขาได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาใหม่

ความยุติธรรมจะบังเกิดได้อย่างไร ในเมื่อเรายังไม่เข้าใจกัน

เราจะเข้าใจกันได้อย่างไร ในเมื่อเรายังไม่ให้ความยุติธรรมแม้กับถ้อยคำ ล่ามโซ่ตีกรอบความหมายของมันอย่างคับแคบด้วยวาทกรรมที่ใช้ฟาดฟันทางการเมือง แบ่งโลกออกเป็นขาว – ดำ ทั้งที่โลกจริงหลากหลายกว่านั้น ซับซ้อนกว่านั้น และมีความหวังมากกว่านั้น

ในห้วงยามที่สังคมเป็นเช่นนี้ ผู้แปลคิดว่าหนังสือ “ความยุติธรรม” มาถูกที่ถูกเวลาเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้เขียน – ไมเคิล แซนเดล – เป็นนักปรัชญาการเมืองร่วมสมัยที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในโลกวิชาการ ยิ่งกว่านั้นคือ อาจารย์เป็นปัญญาชนสาธารณะที่มีความสุขกับการใช้ปรัชญาทางการเมืองหลากสำนักตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเป็นแว่นขยายส่องประเด็นสาธารณะต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน การเกณฑ์ทหาร การโก่งราคาในภาวะฉุกเฉิน โบนัสมหาศาลของผู้บริหารธนาคาร การเก็บภาษีคนรวยมาช่วยคนจน การอุ้มบุญ การุณยฆาต สิทธิส่วนบุคคลกับประโยชน์สาธารณะ ฯลฯ

ผู้แปลโชคดีที่เคยนั่งเรียนวิชา “ความยุติธรรม” กับอาจารย์ วิชานี้เป็นวิชาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดติดต่อกันนานกว่าสองทศวรรษ มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนมากกว่าหนึ่งพันคนทุกภาคเรียน มากจนต้องไปเรียนกันในโรงละครแซนเดอร์ส ซึ่งจุคนได้มากที่สุดในมหาวิทยาลัย

สิ่งที่ทำให้ผู้แปลทึ่งที่สุดไม่ใช่ความรอบรู้ของอาจารย์แซนเดล หากแต่เป็นความเอื้ออาทร อ่อนโยน และเคารพอย่างจริงใจในความคิดเห็น
ของนักศึกษาทุกคน กระทั่งกับคนที่ดันทุรัง – ดื้อดึง – ด่าทอเพื่อนร่วมห้อง หรือพูดจาถากถางอาจารย์ด้วยความเชื่อมั่นเกินขีดความสามารถของตัวเอง อาจารย์แซนเดลก็จะรับฟังอย่างตั้งใจ ใจเย็น และใจกว้าง ชี้ชวนให้ผู้คิดต่างเสนอความเห็นและถกเถียงกันในชั้นเรียน โดยสอดแทรกความคิดเห็นของตัวเองให้น้อยที่สุด

อาจฟังดูเหลือเชื่อว่า ในชั้นเรียนซึ่งมีนักเรียนยัดทะนานนับพัน ล้นห้องจนบางคาบนักศึกษานับร้อยต้องนั่งพื้นตรงทางเดิน อาจารย์กลับสามารถถามคำถามและดำเนินบทสนทนาระหว่างนักเรียนได้อย่างมีชีวิตชีวาและท้าทายความคิด (“เอ้า หนุ่มน้อยเสื้อหนาวสีขาวใส่แว่น ชั้นสามจากบนสุดคิดอย่างไรครับ”)

แต่อาจารย์แซนเดลทำได้ หนังสือเล่มนี้เป็นการถ่ายทอดบทสนทนาและการโต้วาทีในชั้นเรียน ระหว่างนักศึกษาด้วยกัน และระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา ราวกับยกวิชาในตำนวนวิชานี้ทั้งวิชามาอยู่บนหน้ากระดาษ

นอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความคิดและปรัชญาการเมืองในโลกตะวันตกแล้ว แซนเดลพยายามจะบอกเราว่า ความยุติธรรมนั้นถึงที่สุดแล้วเป็นเรื่องของการ “ให้คุณค่า” กับสิ่งต่างๆ และด้วยเหตุนี้ ทั้ง “เหตุผล” และ “ศีลธรรม” จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังเนื้อความตอนหนึ่งว่า

“การขอให้พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยทิ้งความเชื่อทางศีลธรรมและศาสนาไว้เบื้องหลังเมื่อพวกเขาเดินเข้าสู่วงอภิปรายสาธารณะนั้น อาจดูเป็นวิธีสร้างหลักประกันว่าคนจะอดทนอดกลั้นและเคารพซึ่งกันและกัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นอาจตรงกันข้าม การตัดสินคำถามสำคัญๆ ใประเด็นสาธารณะขณะแสร้งทำตัวเป็นกลาง ทั้งที่เป็นกลางจริงๆ ไม่ได้นั้น คือสูตรสร้างปฏิกิริยาโต้กลับและความไม่พอใจ การเมืองกลวงเปล่าอันสิ้นไร้การโต้เถียงทางศีลธรรมอย่างหนักแน่นทำให้ชีวิตพลเมืองของเราแร้นแค้น นอกจากนี้มันยังเชื้อเชิญลัทธิคลั่งศีลธรรมอันคับแคบและไม่อดทนอดกลั้น นักรากฐานนิยมวิ่งเข้าสู่พื้นที่ซึ่งนักเสรีนิยมไม่กล้าย่างเท้าเข้าไป”

ผู้แปลคิดว่าหนังสือเล่มนี้ฉายภาพอย่างแจ่มชัดว่า เหตุใด “การใช้เหตุผลทางศีลธรรม” จึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือไม่ควรทำ หากแต่เป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ผู้แปลหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นส่วนเล็กๆ ในการส่งเสริม ขยับขยาย และยกระดับการถกเถียงประเด็นสาธารณะในสังคมไทยให้พ้นไปจากมุมมองอันคับแคบ ไม่ว่าจะเป็นแบบเข้าข้างตัวเอง แบบยึดติดกับตัวบทกฎหมาย หรือแบบ “ลัทธิคลั่งศีลธรรม” ก็ตามที

หนังสือเล่มนี้เป็นตัวอย่างของปัญญาปฏิบัติ เป็นการใช้เหตุผลสาธารณะ เพื่อถกมิติทางศีลธรรมในประเด็นสาธารณะ เพื่อชีวิตและประโยชน์สาธารณะ

เป็นหนังสือที่ทุก ‘นัก’ ไม่ควรพลาดด่วยประการทั้งปวง

นอกจากนี้ ผู้แปลยังหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะชี้ให้เห็นคุณูปการของการ “ฟัง” อย่างเปิดใจและอ่อนโยน ดังที่อาจารย์แซนเดลทำอย่างเสมอต้นเสมอปลายตลอดมา

เพราะการฟังอย่างตั้งใจนั้น นอกจากจะยากกว่าการพูดหลายเท่าตัวแล้ว ยังจำเป็นต่อการเอื้ออำนวยให้เกิดความยุติธรรมที่แท้จริง หรืออย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาความอยุติธรรมที่ตอกตรึงความรู้สึก “น้อยเนื้อตํ่าใจทางการเมือง” ตามวาทะของคุณโตมร ศุขปรีชา

ผู้เขียนขอขอบคุณ ปกป้อง จันวิทย์ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา พลอยแสง เอกญาติ แอลสิทธิ์ เวอร์การา กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล และ
วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ผองเพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ส สำหรับกำลังใจและมิตรภาพที่มอบให้เสมอมา ขอขอบคุณ กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์ บรรณาธิการเล่ม ที่ได้ตรวจสอบความถูกต้องและขัดเกลาสำนวนภาษาของผู้แปลอย่างพิถีพิถัน เหนือสิ่งอื่นใด ขอขอบคุณอาจารย์ ไมเคิล แซนเดล ผู้ฉายไฟให้เห็นความสำคัญของปรัชญาในชีวิตจริง ความสนุกสนานของการถกประเด็นสาธารณะ และความงดงามของการครุ่นคิดถึง “ชีวิตที่ดี” อย่างยากจะลืมเลือน

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่าน

สฤณี อาชวานันทกุล
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่