ม.44ปลดล็อคผังเมือง ตั้งโรงงานได้ทุกพื้นที่ จับตาผุด โรงไฟฟ้าขยะ ปลอดอีไอเอ

21 ม.ค. 2016
“บิ๊กตู่” สะบัดปากกาลงนามในประกาศ คสช.ยกเว้น “ผังเมืองรวม” ใน 5 กิจการ ภาคประชาสังคมกังวล เอื้อให้โรงไฟฟ้าขยะผุดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ ด้าน เลขาฯ สผ.ยืนยัน มีกรอบ “ซีโอพี” ควบคุม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช. 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2559 โดยฉบับแรกให้ยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองรวมในกิจการบางประเภท ประกอบด้วย 1.โรงไฟฟ้า 2.โรงผลิตก๊าซซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ ส่งหรือจำหน่วยก๊าซ 3.โรงงานปรับปรุงคุณภาพของรวม (โรงบำบัดน้ำเสีย/เตาเผาขยะ) 4.โรงงานคัดแยกและฝังกลบ 5.โรงงานเพื่อการรีไซเคิล

นอกจากนี้ ให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดหลักเกณฑ์ และรายละเอียดของโครงการ หรือกิจการที่อยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 (พีดีพี2015) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ

สำหรับเหตุผลของการออกคำสั่ง คสช.เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาความมั่นคงในการจัดหาพลังงาน และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต และปัญหาขยะล้นเมือง

“ความพยายามดังกล่าวกลับปรากฏข้อขัดข้องหรืออุปสรรคจากข้อกำหนดทางกฏหมายบางประการ จึงจำเป็นต้องระงับและแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ระบุ

สำหรับคำสั่ง คสช.อีกฉบับ คือฉบับที่ 3/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้ยกเว้นกฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งให้ยกเลิกข้อบัญญัติท้องถิ่นต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัดของการห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย และใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร

นางสุนีย์ ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า หลังจากคำสั่งมาตรา 44 มีผลบังคับใช้ จะสามารถสร้างโรงงานประเภทต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในคำสั่งในพื้นที่ใดก็ได้ นั่นหมายความว่ากฎหมายผังเมืองที่ประชาชนพยายามผลักดันเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจะไม่มีความหมายอีกต่อไป โรงไฟฟ้าจะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่สีอะไรก็ได้

“คำสั่ง คสช.นี้เป็นเรื่องที่อันตรายมาก เป็นการปลดล็อกครั้งใหญ่ของประเทศ คำถามที่ตามมาก็คือหลังจากนี้จะมีการยกเว้นการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ด้วยหรือไม่” นางสุนีย์ กล่าว

นางสุนีย์ กล่าวอีกว่า สำหรับคำสั่งฉบับที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ได้ยกเว้นอำนาจขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เรื่องการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ในขณะที่นโยบายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่งเช่นกัน

น.ส.ดาวัลย์ จันทรหัสดี นักวิชาการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (Earth) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กฎหมายกำหนดไว้ว่าโรงไฟฟ้าทุกประเภทที่มีขนาดเกิน 10 เมกะวัตต์ จะต้องจัดทำอีไอเอ แต่ล่าสุดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ออกประกาศฉบับที่ 7/2558 ยกเว้นการจัดทำอีไอเอในโรงงานพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงทุกขนาด และจากคำสั่งมาตรา 44 ยิ่งทำให้สามารถสร้างโรงไฟฟ้าขยะขนาดใดก็ได้ในพื้นที่ใดก็ได้

“แม้ว่าจะเคยมีการปลดล็อกอีไอเอไปแล้ว แต่ในบางพื้นที่ก็ยังไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าขยะได้ เนื่องจากมีกฎหมายผังเมืองควบคุมอยู่ แต่หลังจากนี้มีการปลดล็อคทุกอย่างหมดแล้ว”น.ส.ดาวัลย์ กล่าว

น.ส.ดาวัลย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีความพยายามของทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาตั้งศูนย์จัดการขยะครบวงจร ซึ่งภายในพื้นที่โครงการจะมีทั้งโรงงานรีไซเคิล โรงงานคัดแยกและฝังกลบ โดยผู้ประกอบการจะรับซื้อขยะเข้ามาคัดแยก ก่อนจะนำวัสดุบางอย่าง เช่น อะลูมิเนียม หรือยาง เข้าโรงหลอมเพื่อผลิตเป็นสินค้าชนิดใหม่ ส่วนกากที่เหลือก็ต้องนำไปฝังกลบ ซึ่งกระบวนการผลิตทั้งหมดได้รับการปลดล็อกพื้นที่จากคำสั่งมาตรา 44 ทั้งสิ้น

“หากศูนย์จัดการขยะครบวงจรมีพื้นที่โครงการขนาด 1,000 ไร่ และจัดตั้งอยู่ในชุมชนหรือพื้นที่เกษตรกรรม ถามว่าผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจะรุนแรงขนาดไหน”น.ส.ดาวัลย์ กล่าว

นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ยืนยันว่า การปลดล็อคผังเมืองนั้นไม่มีส่วนกับการจัดทำอีไอเอ โดยโครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำอีไอเอก็ยังคงต้องทำเช่นเดิม ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำอะไรได้อย่างเสรี

นางรวีวรรณ กล่าวอีกว่า แม้ว่าโรงไฟฟ้าขยะจะไม่มีการทำอีไอเอ แต่ยังต้องอยู่ภายใต้ประมวลหลักการปฏิบัติ หรือ ซีโอพี (Code of Practice : CoP) ที่เป็นชุดของมาตรการขั้นต่ำที่ได้ประมวลผลมาจากอีไอเอไว้อย่างรัดกุมแล้วว่าโรงไฟฟ้าเหล่านี้จะต้องมีข้อกำหนดใดบ้าง ซึ่งนับรวมถึงขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นที่ยังคงเป็นหนึ่งในเงื่อนไขประกอบการขออนุมัติอนุญาต

“แต่ซีโอพีก็ไม่ได้สามารถใช้ได้กับทุกกรณี เพราะในบางพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม อย่างพื้นที่อนุรักษ์หรือพื้นที่ที่เป็นวิกฤติ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะก็ยังคงต้องทำอีไอเออยู่เช่นเดิม” เลขาฯ สผ.กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่