เข้าค่ายสะพานแดง ๒๐ ม.ค.๕๙

เข้าค่ายสะพานแดง


ผมรู้จัก สื่อสารสะพานแดง มาตั้งแต่ยังอยู่ที่ กรมพาหนะทหารบก สมัยที่ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมการขนส่งทหารบก และดัดแปลงเครื่องหมาย เหล่าทหารขนส่งของสหรัฐอเมริกามาใช้อย่างในปัจจุบันนี้ เพราะผมเป็นเจ้าหน้าที่ ของร้านสหกรณ์ ซึ่งตั้งคล่อมคูริมรั้วตรงหัวมุมสี่แยก ตรงข้ามกับสโมสรนายทหารสื่อสาร เพียงข้ามคลองเปรมประชากร และถนนพระรามที่ ๕ เท่านั้น

สถานที่แห่งนี้ต่อมาได้กลายเป็นสถานีรถประจำทางที่มีชื่อว่า รถยนต์โดยสารทหารบก เป็นรถประจำทางสายแรก ที่กล้าหาญใช้ผู้หญิงเป็นกระเป๋า หรือพนักงานเก็บค่าโดยสาร แม้ว่าในตอนเริ่มแรกจะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร คุมด้านท้ายรถทุกคันก็ตาม

ผมเพิ่งได้เข้ามาสัมผัสกับสื่อสาร ในค่ายสะพานแดงนี้ ก็เมื่อผมสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายสิบทหารสื่อสาร ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๙๗ เพราะไม่รู้จะเลือกเหล่าใด ในจำนวนที่มีให้เลือกเพียงสามเหล่า นอกจากแพทย์ และปืนใหญ่เท่านั้น โรงเรียนนายสิบทหารสื่อสารนั้น ตั้งอยู่ในกรมการทหารสื่อสาร ใกล้กับโรงเรียนของบุตรข้าราชการที่มีชื่อว่า โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์สื่อสารสงเคราะห์ ทั้งโรงเลี้ยงและห้องเรียนของพวกผม เป็นโรงไม้เตี้ย ๆ ชั้นเดียว ติดกับโรงนอนและที่ทำการกองบังคับการโรงเรียน ซึ่งใน พ.ศ.๒๕๓๖ นี้ ทั้งหมดได้ถูกรื้อทิ้ง เพื่อก่อสร้างอาคารกองบัญชาการโรงเรียนทหารสื่อสาร สูงห้าชั้นขึ้นแทนที่

กองโรงเรียนทหารสื่อสาร แบ่งออกเป็นสองกองร้อย กองร้อยที่ ๒ มี หมวดที่ ๓ และหมวดที่ ๔ อยู่รวมกันที่อาคารดังกล่าว แต่กองร้อยที่ ๑ อยู่บนอาคารซึ่งเป็นที่ตั้งของกองการสื่อสาร ด้านทิศใต้ของเสาธงใหญ่หน้ากองบัญชาการ กรมการทหารสื่อสาร หมวดที่ ๑ ของผมอยู่ทางด้านทิศเหนือของมุขกลาง หมวดที่ ๒ อยู่ทางด้านใต้ เวลาจะกินข้าว ต้องเดินแถวตบเท้าจากกองร้อยไปโรงเลี้ยง ซึ่งอยู่ห่างกันพอสมควร ถ้าเดินไม่ถูกใจครูฝึกก็สั่งกลับหลังหันมาเดินใหม่ ถ้าเกิดมีปฏิกริยาต่อต้าน เช่นมีเสียงไอหรือจามมากผิดสังเกต หรือมีการทำช้อนส้อมหรือแก้วน้ำที่ถือติดมือมาด้วย หล่นลงบนถนน เสียงดังโพล้งเพล้ง ก็เลยกลายเป็นวิ่งไปเสียอีก กว่าจะได้กินก็เล่นเอาลมสว้านตีขึ้น กลืนข้าวไม่ค่อยจะลงเสียแล้ว

อาหารของโรงเลี้ยงมีแม่ค้ารับเหมาทำประจำ มีกับข้าวสองอย่างกินวงละสี่คน มีเพื่อนร่วมรุ่นอยู่คนหนึ่งหรือสองคน ที่ไม่ค่อยมีใครอยากเข้าแถวใกล้ เพราะจะต้องไปนั่งกินร่วมวงด้วย และปรากฏว่าไม่เคยมีใครกินทันเขาเลย หมอตั้งหน้าตั้งตากินกับเสียจน พวกที่เหลือต้องกินข้าวกับน้ำปลาทีเดียว อาหารหลักที่จำขึ้นใจก็คือ ผัดพริกขิงถั่วฝักยาวกับกากหมูเหม็นหืน ภายในอาทิตย์จะต้องเจอ ไม่น้อยกว่าสองมื้อ แต่ที่จำได้ติดตาก็คือ ผัดสับปะรดกับหมูสามชั้น อย่างบางมีแต่หนังกับมัน พอกินหมดก็ปรากฏว่า มีจิ้งจกนอนยิ้มอยู่ก้นชาม เล่นเอาวางช้อนส้อม อยากจะขออนุญาตไปแอ้ก แต่ก็ยังอดเสียดายไม่ได้กลัวว่ากลางคืนจะหิว

นักเรียนนายสิบรุ่นนี้มีจำนวนมาก เกือบสองร้อยคน เพราะเรียนรวมกับนักเรียน นายสิบเร่งรัด ซึ่งได้งบประมาณจาก หน่วยช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐอเมริกาสนับสนุน ที่เรียกว่านักเรียน MDAP แบ่งห้องเรียนออกเป็นสองห้องยาวเหยียด

ตอนเช้าวิ่งออกกำลังแล้วฝึกในสนามฟุตบอล ถ้าวิ่งไม่ดีก็ไม่ต้องฝึก วิ่งกันตั้งแต่ตีห้าจนถึงสองโมงเช้าเคารพธงชาติ แล้วก็ไปอาบน้ำกินข้าวเข้าห้องเรียน ตอนบ่ายกินข้าวกลางวันแล้วลงฝึกในสนามจนถึงห้าโมงเย็น จึงไปอาบน้ำกินข้าวเย็น ค่ำหนึ่งทุ่มอบรมหนึ่งชั่วโมง พักซื้อขนมแม่ค้ากินครึ่งชั่วโมง สองทุ่มครึ่งสวดมนต์แล้วก็เข้านอน หลังเป่าแตรนอนสามทุ่ม ต้องนอนให้หลับ ทั้งหมดเป็นกิจวัตรประจำวัน ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาหกเดือน

เดือนธันวาคมปีนั้นหนาวมากเป็นประวัติการณ์ เรียกว่าเด็กในกรุงเทพสมัยนี้จะนึกไม่ออกเอาเลยทีเดียวว่ามันหนาวเจ็บกระดูกแค่ไหน พวกเรานักเรียนนายสิบ และพลทหารสมัยนั้น ไม่มีเสื้อกันหนาวอย่างที่เรียกว่าแจ็คเก็ตฟิลด์เหมือนเดี๋ยวนี้ ท่านผู้บังคับกองร้อยคนหนึ่งอายุมากแล้ว ท่านคงจะสงสารพวกเรา ที่ต้องลุกขึ้นมาวิ่งตอนตีห้าทั้ง ๆ ที่คางสั่นงั่ก ๆ ก็เลยขออนุญาต ผู้บังคับบัญชา เอาผ้าห่มสำลีในคลัง มาตัดเป็นเสื้อกันหนาวสำหรับพวกเรา ดู ๆ คล้ายเสื้อปานโจ ของพวกแม็กซิกันแต่ตัวเล็ก คือเอาผ้าห่มมาตัดเป็นชิ้นยาว แล้วก็พับครึ่งให้เท่ากับความยาวตั้งแต่ไหล่ถึงเอว แล้วก็เย็บด้านข้างทั้งสองข้างให้ติดกัน โดยเว้นรูไว้สามรู ให้ศีรษะและแขนทั้งสองข้าง โผล่ออกมาเท่านั้น มองดูเพื่อนกันเองแล้วก็ขำดี บางคนบอกว่าเหมือนเสื้อเกราะของทหารโรมัน ที่เราเคยเห็นในหนัง

การอาบน้ำก็ใช้คูหน้ากองร้อยที่ ๑ นั้นเอง สมัยก่อนลึกแค่คอ มีน้ำพอสำหรับนักเรียนนายสิบ และพลทหารอาบได้สบายวันละสองครั้ง แม้ในเวลาที่อากาศหนาวมาก ตอนฝึกเสร็จก็ต้องอาบ เพียงแต่โดดตูมแล้วรีบขี้นก็ยังดี เพราะเหงื่อโชกไปทั้งตัว ใครขืนเข้าเรียนทั้งยังงั้นก็คงจะเหม็นแย่

ในช่วงเวลาที่เป็นนักเรียนนายสิบอยู่นั้น นอกจากการฝึกอย่างหนักในสนามและการเรียนอย่างเคร่งเครียดในชั้นแล้ว เรายังต้องผจญกับกาารทดสอบกำลังใจ อีกมากมายหลายประการ ท่านผู้บังคับกองโรงเรียนนายสิบ เป็นนายทหารยศพันโทที่ดุ ที่สุดคนหนึ่งในชีวิตรับราชการของผม ใบหน้าของท่านไม่เคยมีใครเห็นรอยยิ้ม สีหน้าของท่านก็ธรรมดา แต่นักเรียนส่วนมากต้องหลบตา เวลาท่านมองตรงหน้าแทบทุกครั้ง ท่านสูบบุหรี่จัดเรียกว่ามวนต่อมวน ตลอดเวลาที่เข้ามาสอนในชั้น แต่ท่านก็ไม่ค่อยจะลงโทษนักเรียน

ถ้าใครเรียนไม่รู้เรื่องท่านก็เพียงแต่ด่าว่า โง่เหมือนสากกระเบือดิน หรือถ้าโง่แล้วยังเซ่อไม่เอาไหนก็เพิ่มเป็น สากกระเบือแช่เลน ซึ่งเป็นคำด่าที่แปลกจนฝังจำติดอยู่ในใจของนักเรียนทุกคน บังเอิญท่านโชคร้าย ต้องถึงแก่กรรมเสียตั้งแต่เมื่อครั้งที่ กองพันนักเรียนนายสิบ ได้ย้ายไปอยู่ที่เขาชะโงก จังหวัดนครนายก เพียงไม่กี่ปี ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ ถ้าได้อยู่ต่อมาท่านอาจจะเป็นเจ้ากรมที่ดุที่สุด ของเหล่าทหารสื่อสาร ก็ได้

ในเดือนแรกที่เข้ามาอยู่กองโรงเรียนนายสิบนี้เอง พวกเราถูกสั่งให้ขนกรวดหินป่นขนาดเล็ก มาโรยตามถนนหนทางที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ระหว่างกองบัญชาการหลังเก่า ไปยังตึกสถานีวิทยุกระจายเสียง จส.๑ ด้านหลัง ไม่ทราบว่าผู้ใหญ่ท่านใดจะมาเยี่ยม กว่าจะรู้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรกิจการของสถานีวิทยุ จส.๑ ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยนั้น

เวลาก็ไได้ล่วงมาถึงยี่สิบกว่าปีภายหลัง เมื่อได้เห็นรูปในหนังสือทหหารสื่อสาร เพราะขณะนั้นไม่มีวาสนาได้ไปตั้งแถวรับเสด็จกับเขา เนื่องจากเป็นนักเรียนใหม่ ยังไม่ได้รับจ่ายเครื่องแบบปกติ คงมีแต่เสื้อคอกลมสีขาวตุ่น กับกางเกงขาสั้นสีกากี และรองเท้าไอ้โอ๊บสีน้ำตาล เป็นอาภรณ์ประดับกายเท่านั้น

เราผ่านความหนาวร้อนด้วยการฝึกการเรียนอย่างหนักเพียง ๖ เดือนก็โดนไล่ออกจากกองโรงเรียนนายสิบ เพราะเขาจะเอาอาคาร ไว้รับนักเรียนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาอีก เนื่องจากขณะนั้นเป็นเวลาที่จะต้องผลิตนายสิบอย่างเร่งรัด ให้ทันกับการขยายตัวของกองทัพ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ผมก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ช่วยครูฝึกรุ่นถัดมาด้วย จบแล้วจึงได้บรรจุไปช่วยราชการตามหน่วยต่าง ๆ ในกรมการทหารสื่อสาร

ผมมาฝึกงานอยู่กับกองกำลังพล ตั้งแต่ยังไม่ได้ติดบั้ง ตื่นเช้ากินข้าวที่โรงเลี้ยงแล้วก็มาทำงานที่กอง เย็นลงเลิกงานก็กลับไปเข้าระเบียบ และนอนที่กองร้อยโรงเรียนทหารสื่อสาร ซึ่งเป็นที่รวมของนักเรียนที่ฝึกงาน ในกรมการทหารสื่อสาร ค่ายสะพานแดง ประมาณ ๓๐ คน งานที่ทำตอนนี้ก็เหมือนเมื่อเป็นลูกจ้าง อยู่ที่กรมพาหนะทหารบก คือเป็นผู้ช่วยภารโรงเปิดปิดประตูหน้าต่างสำนักงาน เดินรับส่งหนังสือ แล้วยังทำหน้าที่เป็นลูกมือ เสมียนธุรการเสมียนพิมพ์ดีด อีกด้วยตามแต่จะมีเวลา ปรากฏว่าผมมีประสบการณ์มาก่อนแล้ว เรียกง่ายใช้คล่องใคร ๆ ก็ชอบใจ ทั้งนายทหารนายสิบ ก็ใช้ผมเพลินไปเลย

ตอนฝึกงานมีเรื่องตื่นเต้นอยู่เรื่องหนึ่ง คือกองกำลังพลนั้นตั้งอยู่ตรงมุมตึกด้านขวาของกองบัญชาการ ต่อจากกองร้อยที่ ๑ ของผม ข้างล่างใต้ถุนเตี้ยเป็นที่เก็บเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของหน่วยไหนก็ไม่ทราบ วันหนึ่งเขาลองเครื่องยนต์แต่เช้า ก่อนที่จะเปิดสำนักงาน ทำอีท่าไหนไม่รู้ไฟลุกไหม้เครื่องยนต์ทำไฟถึงขนาดดับไม่อยู่ ผมยืนอยู่หน้ากองร้อย มีสนามหญ้าคั่นกลาง เป็นห่วงกองกำลังพลที่อยู่ข้างบน จึงรีบวิ่งมาไขกุญแจห้อง ตั้งใจจะขนของออก ปรากฏว่าพื้นกระดานที่เป็นร่องห่าง ๆ มีไฟแลบขึ้นมาแปลบปลาบ พอเห็นเข้ามืออ่อนตีนอ่อนยกของไม่ไหว กลัวพื้นมันจะยุบลงไปกลางกองไฟ ต้องโดดหนีตาลีตาเหลือกออกมา ปรากฏว่าเขาระดมกัน ขนเครื่องน้ำยาดับเพลิงจากที่อื่น ๆ มาฉีดจนไฟสงบ โดยยังไม่ได้ไหม้ตัวอาคารหรือวัสดุอะไรเลย นอกจากเครื่องนั้นเครื่องเดียว เรามันตาแหกไปเอง ตั้งแต่นั้นก็เห็นใจคนที่ประสบอัคคีภัยมาจนทุกวันนี้ ว่ามันจะตื่นเต้นตกใจขวัญหนีดีฝ่อสักเพียงไหน ในเมื่อมันไหม้คึ่ก ๆ กันเป็นชั่วโมง แล้วดันแบกตุ่มมาได้ เพียงใบเดียวเท่านั้น

เรื่องที่เกี่ยวกับไฟไหม้ในสื่อสารนี่ยังมีอีก นึกขึ้นได้ก็อยากเอามาเล่ารวมกันไว้ เมื่อผมออกรับราชการเป็นนายสิบแล้ว ประมาณ พ.ศ.๒๕๐๑ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือ หลวงพิบูลสงคราม ชื่อเดิม แปลก ขิตตะสังคะ มีบทลงโทษผู้ประมาททำให้เกิดไฟไหม้อย่างหนัก จนทำให้ไฟที่เคยไหม้กรุงเทพในเทศกาลต่าง ๆ ซาลงไป ขณะนั้นมีการประกาศกฎอัยการศึก ผมต้องเข้าเวรนอนเฝ้ากองกำลังพล ซึ่งตอนนั้นย้ายมาอยู่ตรงมุมตึก ด้านซ้ายของเสาธงที่เป็นกองโครงการและงบประมาณเดี๋ยวนี้ ผมต้องตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะไฟไหม้อาคารคลังพลาธิการ ชั้นล่างของสถานีวิทยุ จส.๑ ซึ่งพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรนั้นเอง ผมยืนขนลุกขนชันดูจากหน้าต่างกองกำลังพล ไม่รู้ว่าจะช่วยเขาได้อย่างไร

ในสมัยนั้นสถานีดับเพลิงดุสิตยังตั้งอยู่ในกรมการทหารสื่อสาร ตรงข้ามกับโรงเรียนสื่อสารสงเคราะห์ มีรถดับเพลิงอยู่คันเดียว ดันสตาร์ทเครื่องไม่ติด จนรถดับเพลิงหน่วยอื่นแล่นเข้าช่องทาง ๑ ด้านถนนพระรามที่ ๕ มาแล้ว รถของเราก็ยังไม่ถึงที่เกิดเหตุ ไฟไหม้เครื่องอาภรณ์ภัณฑ์ในคลังหมดไปตั้งครึ่งตั้งค่อน ต่อมามีการจำหน่ายกันอย่างไรไม่ทราบ จึงมีผู้เคราะห์ร้าย ต้องเข้าไปนอนกินข้าวแดงแกงชืด ของมณฑลทหารบกที่ ๑ กันหลายคน อาคารหลังนั้นปัจจุบันเป็น ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์กรมการทหารสื่อสาร

คราวต่อมาห่างกันอีกนาน จนผมเป็นนายทหารแล้ว ปฏิบัติหน้าที่นายทหารเวรกรมอย่างเรียบร้อย ตลอดเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง ตอนกลางวันก็ไปกินข้าวแกงที่ใต้ถุน สถานีวิทยุ วปถ.๑ ซึ่งแม่ค้าเป็นภรรยานายทหารชั้นนายพัน ของกองการสื่อสาร เสร็จแล้วก็ออกเวรบ่ายโมง กลับบ้าน พอรุ่งขึ้นเช้าไปทำงานตามปกติ ก็ปรากฏว่าร้านข้าวแกงรวมทั้งสถานีวิทยุ วปถ.๑ เหลือแต่เสาดำโด่เด่ เพราะไฟไหม้ในตอนกลางดึก นายทหารเวรคนที่รับช่วงจากผมเลยซวยไปไม่ได้หลับได้นอนเลย ที่ตรงนั้นต่อมาเป็น กองโรงงาน ของ สำนักอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิคส์ทหาร หรือ ออท. ผู้ผลิตวิทยุและโทรทัศน์ทั้งขาวดำและสีให้ทหารทั้งสามเหล่าทัพ เซ็นกันเป็นว่าเล่น

ผมออกรับราชการเป็น สิบโท ในกรมการทหารสื่อสาร เมื่อได้เป็นนักเรียนนายสิบครบหนึ่งปี ตั้งแต่ ๑ ธันวาคม ๒๔๙๘ แล้วก็อยู่เรื่อยมาจนถึง ๓๐ กันยายน ๒๕๓๕ โดยไม่ได้ย้ายไปไหนเลย จึงพอจะมีเรื่องสนุก ๆ ในรั้วสีม่วงเม็ดมะปรางนี้ มาเล่าสู่กันอ่าน ตามแต่จะแคะออกมาได้ จากสมองที่กำลังจะเสื่อมคุณภาพแล้ว ก่อนที่จะลืมไปจนหมดสิ้น ตามกฎอนิจจังของพระบรมศาสดา.

##########

นิตยสารทหารสื่อสาร
มกราคม ๒๕๓๗
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่