ทำไมกรดและด่างถึงไม่สามารถกัดกร่อนแก้วได้

กระทู้คำถาม
คือตั้งแต่เด็กก็เห็นมาตลอดว่าภาชนะบรรจุของเหลวหรือวัตถุเคมีที่มีฤทธิ์รุนแรงมักจะทำด้วยแก้ว จึงอยากทราบเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ว่าทำไมแก้วถึงสามารถสัมผัสกับวัตถุต่างๆได้มากมายโดยไม่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวภาชนะที่ทำจากไม้,หิน,โลหะหรือวัสดุอื่นๆ

ขอบคุณมากครับ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 4
ขอแบ่งคำตอบเป็น 2 ส่วน
1. เพราะแก้วมีโครงหลักเป็น Silicate หรือ ซิลิกอนจับกับออกซิเจน 4 ตัวด้วยพันธะโควาเลนท์
2. เพราะพันธะโควาเลนท์ระหว่างซิลิกอนกับออกซิเจนนั้นเสถียรมากๆ

และแก้วไม่ทนเบสครับ โดยเฉพาะเบสออกซิเจนแรงๆเช่นโซดาไฟเข้มข้น

1. พันธะแต่ละชนิดนั้นมีลักษณะการเกิดปฏิกิริยาไม่เหมือนกัน
เช่น พันธะโลหะนั้น โดยเนื้อแท้แล้วเป็นเหมือน"ทะเล"ของอิเล็กตรอน ซึ่งทำหน้าที่ยึดโครงสร้างไว้ได้ก็จริง แต่ก็อนุญาตให้อิเล็กตรอนเคลื่อนไปมาได้อย่างเสรีทั่วทั้งก้อนของโลหะ
ดังนั้นพอมีตัวรับอิเล็กตรอนที่ดี เช่น H+ ในกรดเข้ามา โลหะที่ชอบจ่ายอิเล็กตรอน(เช่นพวกหมู่1) ก็จะสามารถจ่ายอิเล็กตรอนไปทำปฏิกิริยาได้โดยสะดวก
อันนี้ต่างกับพันธะโควาเลนท์ที่มีธรรมชาติคือการ"ตรึง"อิเล็กตรอนให้อยู่ในพันธะระหว่างอะตอมสองอะตอม อิเล็กตรอนจึงไม่สามารถกระโดดไปมาได้ตามใจชอบ ไม่สามารถเอาไปทำปฏิกิริยากับ H+ เฉยๆได้โดยง่าย

ส่วนเรื่องหินก็ต้องถามว่าหินชนิดไหน เพราะมีหลายชนิดมาก บางชนิดถ้าเกิดจากแร่ที่ทนกรดก็อาจจะไม่ทำปฏิกิริยาก็ได้
ถ้าพูดถึงหินพวกหินปูน จุดที่มันทำปฏิกิริยาคือตัวคาร์บอเนตในแคลเซียมคาร์บอเนต
แคลเซียมคาร์บอเนตนั้นยึดกันด้วยพันธะไอออนิกซึ่งมีธรรมชาติคือแรงระหว่างประจุบวกกับประจุลบ
ดังนั้นการสลับตัวประจุบวกจึงเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น พอเจอH+ ในกรด ก็จะมีการแลกเปลี่ยนระหว่างแคลเซี่ยม Ca2+ กับไฮโดรเจนของกรด เกิดเป็นกรดคาร์บอนิก H2CO3
ซึ่งเจ้ากรดคาร์บอนิกนี้ไม่เสถียรและสลายตัวให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำ
ซึ่งจะอธิบายต่อไปเพราะมันเกี่ยวกับพลังงานพันธะโควาเลนท์

2. พันธะโควาเลนท์แต่ละแบบเองก็มีความแข็งแรงไม่เท่ากัน
ถ้ามองพลังงานพันธะของซิลิกอนกับธาตุอื่นๆจะพบว่าพลังงานพันธะของซิลิกอนออกซิเจนนั้นเยอะเป็นอันดับ 2 รองลงมาจากซิลิกอน-ฟลูออรีน
(Si-O: 452 kJ/mol, Si-F: 565 kJ/mol) ref: http://www.wiredchemist.com/chemistry/data/bond_energies_lengths.html
ซึ่งถ้าเอาไปเทียบกับพันธะอื่นๆแล้วจัดว่าสูงมากๆ
ดังนั้น การจะสลายพันธะ Si-O เพื่อไปสร้างพันธะอื่นนั้นจึงทำได้ยากมากในเชิงเทอร์โมไดนามิกส์ เพราะผลิตภัณฑ์ที่ได้นั้นส่วนมากจะเสถียรน้อยกว่าสารตั้งต้นทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ด้วยสาเหตุเดียวกัน ถ้าใช้กรดไฮโดรฟลูออริก (HF) ทำปฏิกิริยากับแก้ว ซิลิกอนในแก้วที่ชอบทำพันธะซิลิกอน-ฟลูออรีนอันแข็งแรงก็จะทำปฏิกิริยากับกรดและย้ายมาจับกับฟลูออรีนแทน

ด้วยสาเหตุคล้ายๆกัน กรดคาร์บอนิก ซึ่งมีพันธะเดี่ยวระหว่าง C-O ถึงสองพันธะ ซึ่ง C ชอบทำพันธะคู่กับ O มากกว่า เนี่องจากพลังงานพันธะคู่ C=O 1 พันธะมีค่ามากกว่าพลังงานพันธะเดี่ยว C-O 2 พันธะรวมกัน ปฏิกิริยานี้จึงเกิดขึ้นได้ง่าย
นอกจากนี้ปฏิกิริยานี้ยังทำให้เกิดก๊าซ CO2 ซึ่งในทางจลศาสตร์แล้ว ปฏิกิริยาจะมีสมดุลมาทางฝั่งที่เกิดก๊าซมากกว่า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่