หวุดหวิด “สงครามโลกครั้งที่ 3” : Thirteen Days 13 วัน ปฏิบัติการหายนะโลก

เมื่อช่วงต้นปี 2015 ที่ผ่านมา มีข่าวการต่างประเทศเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมสนใจเป็นพิเศษ  นั่นคือข่าว “การคืนดีกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและคิวบาหลังจากที่โกรธกันมากว่า 50 ปี”  หลายคนอาจเห็นว่าเป็นแค่ข่าวทั่วไปและไม่ได้ให้ความสนใจสักเท่าไร  แต่บังเอิญผมเคยได้ยินเรื่องราวความขัดแย้งของ 2 ประเทศนี้มาก่อน  ซึ่งมันหวุดหวิดจะเป็น “สงครามโลกครั้งที่ 3”  ผมจึงรู้สึกว่าข่าวนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่ายินดีในโลกของเรา

          Thirteen Days 13 วัน ปฏิบัติการหายนะโลก  เป็นหนังที่เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อ 50 กว่าปีก่อน  ในช่วง 14-28 ตุลาคม ค.ศ. 1962  ซึ่งถูกเรียกว่า “วิกฤตการณ์คิวบา”   โดยตัวหนังพูดถึงเหตุการณ์ได้ละเอียดมาก เรียกว่าแทบจะเล่าเป็นรายชั่วโมงทีเดียวว่าเกิดอะไรขึ้น และทุกตัวละครผู้เกี่ยวข้อง (ซึ่งมีตัวตนจริงๆ) เป็นอย่างไรบ้างในการตัดสินใจต่อเหตุการณ์ระดับโลกนี้

          

           เรื่องราวโดยย่อๆ คือ  เหตุการณ์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดการแข่งกันสะสมอาวุธนิวเคลียร์(สงครามเย็น) ระหว่างค่ายประเทศเสรีนิยมนำโดย สหรัฐอเมริกา ซึ่งตอนนั้นมีประธานาธิบดีชื่อว่า จอห์น เอฟ. เคนเนดี  กับ ค่ายประเทศสังคมนิยมนำโดย สหภาพโซเวียต ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีชื่อว่า นิกิตา ครุสชอฟ

         ในตอนนั้นทั้ง 2 ประเทศต่างก็มีนิวเคลียร์กันมากมาย  แต่ก็ไม่มีใครกล้ายิง เพราะต่างรู้กันดีว่าสงครามนิวเคลียร์นั้นไม่มีฝ่ายใดที่จะเป็นผู้ชนะ มีแต่จะตายกันทั้งโลก   ทั้ง 2 ประเทศจึงใช้สงครามจิตวิทยาเข้าสู้กัน  โดยสหรัฐได้ติดตั้งหัวรบไว้ที่ประเทศพันธมิตรที่ใกล้โซเวียตมากนั่นคือ ตุรกี   ทางฝ่ายโซเวียตก็โต้กลับด้วยการเริ่มที่จะไปติดตั้งหัวรบที่ ประเทศคิวบา ศัตรูคนสำคัญของสหรัฐในตอนนั้น  แต่เมื่อสหรัฐรู้ตัวกลับไม่ยอม  จึงเกิดเหตุการณ์  “วิกฤตการณ์คิวบา”  ขึ้นมา

          แน่นอนว่าพออ่านข้อความด้านบนแล้ว เหมือนผมเอนเอียงไปเชียร์ประเทศใดประเทศหนึ่ง
แต่ผมไม่ได้คิดแบบนั้นแน่นอน เพียงแค่มองแบบตรงๆเท่านั้น   ตัวหนังได้เล่าไว้อย่างละเอียด (ในมุมของสหรัฐ) ถึงความลำบากใจของคนที่ต้องตัดสินใจในตอนนั้น ซึ่งก็คือ  ประธานาธิบดีเคนเนดี   เพราะในเวลานั้นมีแต่คนเชียร์ว่าให้ยิงกันไปเลยโดยเฉพาะพวกนายพลทหารของสหรัฐ  ส่วนสายพิราบ (รักสันติ) ก็ไม่มีปากมีเสียงอะไรได้มากนัก   และอีกเรื่องที่น่าปวดหัวก็คือทั้ง 2 ฝ่ายต่างต้องมานั่งเดาใจกันในทุกๆเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าอีกฝ่ายคิดยังไง จะยิงหรือรอให้ฝ่ายตรงข้ามยิงก่อน (ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่า ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ทำไมไม่โทรคุยกันไปเลย ศักดิ์ศรีจะเยอะกันทำไม)
            
            สรุปสุดท้ายหนังจบแบบ Happy ending  เพราะไม่อย่างนั้นโลกเราก็คงแหลกและไม่มีทุกวันนี้  สำหรับผมสิ่งที่เรียนรู้ได้จากประวัติศาสตร์เรื่องนี้ก็คือ  โลกของเราโชคดีมากที่ตอนนั้นผู้นำทั้ง 2 ฝ่าย มีความรับผิดชอบและคิดถึงผลที่จะตามมา จึงได้ถอยกันคนละก้าว เพราะในความเป็นจริงเวลาเกิดสถานการณ์ขัดแย้งเช่นนี้ จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้อารมณ์คอยสนับสนุนอยู่ตลอดเวลาว่าให้ใช้ความรุนแรงเข้าตัดสิน (เพราะตัวเองไม่ใช่คนรับผิดชอบในการตัดสินใจ และไม่คิดถึงผลที่จะตามมา สะใจไว้ก่อน)  และหากคนตัดสินใจไม่มีวุฒิภาวะพอ ตัดสินในตามเสียงเชียร์แล้ว  ผลสุดท้ายก็มักจะจบไม่สวยสักราย

             ...... ไม่เชื่อลองหันกลับมาดูเรื่องราวต่างๆ ที่กำลังเป็นกระแสใน Social network ในทุกวันนี้สิครับ ว่าคนส่วนใหญ่มีปฏิกิริยากันอย่างไร  บางเรื่องราว ทั้งที่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงอะไรเลยด้วยซ้ำ เพียงแค่ดูคลิปหรืออ่านบทความผ่านๆ  ซึ่งบางทีเป็นเรื่องราวที่ผู้ post ตั้งใจบิดเบือนเพื่อสร้างกระแสอยู่แล้ว   แต่คนส่วนใหญ่ (รวมถึงตัวเรา) ก็ยังใช้อารมณ์ความรู้สึก comment(เชียร์) กันไปต่างๆ จนเรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่(ที่ไร้สาระ)ไปได้ ... บางทีความขัดแย้งส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นบนโลกตอนนี้  อาจไม่ได้เกิดจากผู้มีอำนาจปกครองเช่นในอดีตแล้วล่ะครับ  แต่มันเกิดจากการไม่ได้ควบคุมด้านมืดในจิตใจของเราทุกคนต่างหาก

ฝากติดตามและติ-ชมด้วยนะครับ
www.facebook.com/rpggroups
http://rpggroups.wix.com/rpggroups
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่