คอลัมน์ กระบี่ไร้สาย: อะไรคือ คลื่นความถี่ (1)


คอลัมน์ กระบี่ไร้สาย: อะไรคือ คลื่นความถี่ (1)
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559
โดย : วิเชียร เมฆตระการ

          ช่วงปลายปีที่แล้ว ผมมีโอกาสไปงานเลี้ยงรุ่นโรงเรียนเก่าสมัยที่เรียนตั้งแต่ประถมจนมัธยม รุ่นของ ผมเป็นรุ่นที่ 120 ใช่ครับ ผมเรียนรุ่นที่ 120 แล้ว วันนี้ผมอายุเลยวัยเกษียณแล้ว ด้วยเรานับรุ่นตามปีเกิดของโรงเรียน ปัจจุบันน่าจะเป็นรุ่นที่ 160 กว่าได้แล้วมังครับ ได้พบเพื่อนเก่าร่วมรุ่น 102 คน (จากประมาณ 400 เศษ) รุ่นเดียวนะครับไม่ใช่ทั้งโรงเรียน คำนวณอายุรวม ๆ กันแล้วได้มากกว่า 6,000 ปี หรือ 60 ศตวรรษ เอาล่ะครับเล่าเป็นเกร็ดพอหอมปากหอมคอ

          ที่เล่ามาเพื่อจะกล่าวถึงว่ามีเพื่อนหลายคนถามถึง การประมูลคลื่นความถี่ที่เพิ่งผ่านพ้นไป และเพื่อน ๆ ส่วนมากพูดถึงความสับสน และความไม่เข้าใจของคลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งในความรับรู้ของเราท่านก็จะมีตั้งแต่คลื่น 850, 900 บ้าง 1,800 บ้าง แล้วมันคืออะไรทำไมต้องแย่งชิงกันประมูลด้วยราคาที่สูงถึงหลายหมื่นล้านบาท และอยากให้ผมได้เล่าให้คนทั่วไปฟังด้วยภาษามนุษย์ธรรมดาให้มีความเข้าใจได้มากขึ้น

          ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับเทคนิคและธุรกิจการใช้คลื่นมาให้บริการลูกค้าในด้านโทรคมนาคม จึงเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะใช้เวทีนี้อธิบายถึงเรื่องคลื่นอีกสักครั้งหนึ่ง

          คลื่นที่เราส่วนใหญ่รู้จักคงหนีไม่พ้นคลื่นลม คลื่นในทะเล คลื่นเสียง "คลื่น" เกิดจากการเคลื่อนไหวความสั่นสะเทือนต่อเนื่องทำให้เกิดคลื่น หากท่านเอาเชือกยาว สัก 2 เมตรผูกกับลูกบิดประตูและถือปลายข้างหนึ่งไว้ ยืนห่างพอให้เชือกตกท้องช้าง แล้วขยับข้อมือที่ถือเชือกขึ้นลง ก็จะสร้างคลื่นจากการเคลื่อนไหวของเชือกได้ ถ้าสะบัดข้อมือขึ้น-ลงช้า ๆ ก็จะได้คลื่นที่ ขยับตามข้อมือเราช้า ๆ ถ้าสะบัดข้อมือ ขึ้นลงเร็วก็จะมีคลื่นเชือกจำนวนมากขึ้น การขึ้นลงของเชือกเคลื่อนไหวเร็วขึ้นด้วยการขยับข้อมือขึ้นลงเร็ว ๆ จะทำให้คลื่นเชือกเคลื่อนไหวขึ้นลงเร็วตามไปด้วย ซึ่งเราเรียกตรงนี้ได้ว่าเชือกเคลื่อนไหวขึ้นลงด้วยความถี่ที่มากขึ้น

          คลื่นเสียงที่ออกมาจากลำคอของเรา ก็เกิดจากการสั่นไหวของอวัยวะหลอดเสียงของเราในลำคอ เสียงนั้นก็จะสั่นสะเทือนผ่านอากาศเข้ามาสู่หูของคนฟัง ไดอะแฟรม ในหูคนฟังก็จะสั่นสะเทือน นั่นคือการ ได้ยิน

          "คลื่นวิทยุ" ก็เป็นคลื่นที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่จะสั่นสะเทือนในจำนวนมาก ๆ ครั้งต่อหนึ่งวินาที ซึ่งเกินกว่าที่หูของเราจะได้ยินหรือรับรู้ได้ ความสั่นสะเทือนของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านี่เองที่มีคุณสมบัติสามารถกระจายตัวไปในอากาศได้ดี และมีความเร็วในการกระจายตัวออกไปเท่ากับความเร็วของแสงเมื่ออยู่ในอากาศ

          คงเริ่มปวดหัวกับวิชาการแล้วนะครับ อดทนอีกนิด ! แน่นอนว่าเราจะไม่เคยเห็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแน่ ๆ อย่างเก่งก็เคยเห็นแต่แสงฟ้าแล่บและฟ้าผ่า ซึ่งก็เป็นคลื่นอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน แสงก็เป็นคลื่นที่เรามองเห็นได้ในบางช่วง เช่น แสงแดด และเราก็เคยเรียนวิทยาศาสตร์กันมาว่า แสงแดดนี่ความจริงคือแสงที่ผสมของคลื่นแสงสีต่าง ๆ หลาย ๆ สี เราจึงเห็นว่าเวลา แสงหักเหกับหยดน้ำฝนจึงมีสีสันของรุ้งกินน้ำ ให้เราเห็นนั่นเอง

          ถึงเราจะไม่เคยเห็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่เราอาจเคยได้ยินเสียงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าบ้าง เวลาเดินผ่านเสาไฟฟ้าริมถนนที่มีหม้อแปลงไฟฟ้าเป็นลูกกลม ๆ เหมือนถังหรือเป็นกล่องสี่เหลี่ยมมีสายไฟเชื่อมต่อ ที่หัวกล่อง และปล่อยเสียงครางหึ่ง ๆ หรือ มีเสียงฉี่ ๆ นั้นคือเราได้ยินเสียงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่ต่ำ ๆ (ต่ำอยู่ ในช่วงคลื่นที่หูมนุษย์ได้ยิน)

          เอาล่ะครับเมื่อมนุษย์เราศึกษาและทดลองจนพบว่า การสั่นสะเทือนของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านี่เราสามารถสร้างขึ้นมาได้ส่วนหนึ่งจากการทำให้กระแสไฟฟ้าวิ่งในเส้นลวดก็จะมีสนามพลังแม่เหล็กเกิดขึ้นมารอบ ๆ เส้นลวดนั้น ยิ่งนำมาขยาย นำมาเสริมกันด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็จะได้คลื่นที่มีความถี่ต่าง ๆ กัน และเมื่อเรานำข้อมูลต่าง ๆ ที่แปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้าแล้วผสมไปกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่สร้างขึ้น ส่งออกอากาศไปก็จะกลายเป็นระบบโทรคมนาคมไร้สายที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้

          เพื่อไม่ให้เสียเวลา ขอสรุปไปถึงจุดที่ว่า กฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์มีระบุไว้และยังเป็นจริงเสมอมาถึงทุกวันนี้ว่า ถ้าเราเอาความถี่ของคลื่นคูณกับความยาวคลื่นจะได้ค่าคงที่ค่าหนึ่งเสมอ ค่านั้นคือความเร็วแสง อย่าเพิ่งวางหนังสือพิมพ์ครับ อ่านต่ออีกหน่อย นั่นหมายความว่า ค่าสองค่าคูณกันแล้วได้ค่าคงที่ค่าหนึ่ง เช่น ก คูณกับ ข ได้ค่า ค ซึ่งเท่าเดิมเสมอ แสดงว่า ก กับ ข ต้องมีค่าที่สัมพันธ์ผกผันกัน เช่น ถ้าผลลัพธ์คือ 6 เสมอ ตัวแรกเป็น 3 อีกตัวต้องเป็น 2 แน่นอน ไม่เช่นนั้นคูณกันแล้วจะเป็น 6 ไม่ได้ แล้วถ้าตัวแรกเป็น 2 ล่ะ แน่นอน ตัวหลังก็ต้องเป็น 3 เพราะผลลัพธ์ต้องเป็น 6 เท่านั้น ดูแบบนี้ก็ง่าย ๆ ไม่มีอะไร แต่เนื่องจากความเร็วแสงนั้นไม่ใช่เลขตัวเดียวอย่างที่ยกตัวอย่างมาอธิบาย ความเร็วแสงที่เราประมาณการได้นั้นคือ 3 X 10 ยกกำลัง 8 เมตรต่อวินาที หรือเทียบได้เป็นความเร็ว 3 แสนกิโลเมตร ต่อวินาที หรือสมัยเด็กเราท่องกันปาว ๆ ว่าแสงเดินทางด้วยความเร็ว 186,500 ไมล์ต่อวินาที (ในระบบของไมล์ ซึ่งหนึ่งไมล์จะยาวประมาณ 1.6 กิโลเมตร) ซึ่งก็คือตัวเลขเดียวกันนั้นเอง

          ดังนั้น จำนวนของตัวเลขสองตัวคือความถี่ของคลื่นกับความยาวของคลื่นที่คูณกันแล้วจะออกมาเป็นค่าความเร็วแสงเสมอนั้นมีเป็นจำนวนมากมายมหาศาล แต่ไม่ว่าจะเป็นเท่าไรก็ตามเมื่อคูณกันแล้วต้องเท่ากับความเร็วของแสง

          อย่าเพิ่งยอมแพ้ครับอ่านตัวอย่างนี้ก่อน แล้วท่านจะกระจ่าง ถ้าท่านรู้จักวิทยุ FM เช่นสถานี จส.100 ที่ออกอากาศด้วยความถี่ 100 MHz (เมกะเฮิรตซ์ หรือ 1 ล้านเฮิรตซ์) เรารู้ความถี่แล้วคือ 100 ล้านเฮิรตซ์ เรารู้ว่าเมื่อมันคูณกับความยาวคลื่นของตัวมันจะได้ค่าความเร็วแสง เราก็หาค่าความยาวคลื่นได้ประมาณการ โดยการโยกย้ายสมการว่า ความยาวคลื่นของความถี่ FM จส.100 อยู่ที่ประมาณ 3 เมตร

          แล้วตัวเลขความยาวคลื่นนี้มีประโยชน์สำหรับการสร้างอุปกรณ์ภาครับยังไงครับ แล้วสายอากาศต้องยาว 3 เมตรด้วยไหมคำตอบคือ ใช่ แต่ความยาวอื่น ๆ ของสายอากาศที่ใกล้เคียงกับ 3 เมตรก็ใช้ได้ด้วย เพราะกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์หลังจากผ่านการทดลองทดสอบมามากมายพบว่า ความยาวของสายอากาศนั้นจะใช้เพียง แค่เศษหนึ่งส่วนแปดของความยาวคลื่นก็ใช้ได้แล้ว หรือหนึ่งส่วนสี่ก็ได้ เราจึงได้เห็นรถในยุคหนึ่งมีเสาหรือสายอากาศ รับคลื่นวิทยุ ทั้งแบบยืดหดได้และแบบยาวคงที่ติดอยู่ที่รถยนต์ในจุดต่าง ๆ มีความยาวประมาณหนึ่งเมตร ซึ่งมีความสามารถ ในการรับคลื่นวิทยุที่มีความยาวคลื่นตามการใช้สูตรคำนวณตามที่ยกตัวอย่างให้เห็นแล้ว

          นอกจากนั้นยังมีการออกแบบสายหรือเสาอากาศให้สั้นลงได้อีก เพื่อความเหมาะสมในการใช้งาน เช่น เอามาขดหรือม้วนรอบ ๆ แกนเสากลม ๆ ทำให้ความยาวหดลงมาได้อีกมาก เช่น โทรศัพท์ไร้สายในคลื่น 800 หรือ 900 ซึ่งมีความยาวคลื่น 37 เซนติเมตร และ 33 เซนติเมตร ตามลำดับนั้น ในยุคแรก ๆ มีสายอากาศยาวเกือบคืบ (ประมาณ 15-20 ซม.) หรือ ประมาณความยาวครึ่งหนึ่งของความยาวคลื่นของทั้งสองระบบ

แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559 (หน้า 10)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่