กบฎเงี้ยวเมืองแพร่ บาดแผลลึกทางประวัติศาสตร์ที่ได้ตีตราประทับให้แก่ “ชาวล้านนา” และ “คนเมืองแพร่”

กระทู้สนทนา
ประวัติศาสตร์ล้านนา ตอนที่ ๑๗/๒ เมืองแพร่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (มาอ่านกันค่ะ ว่าเหตุใดจึงไม่มีสายตระกูล ณ แพร่ เหลืออยู่เลย ทั้งๆที่แพร่ก็เคยมีเจ้าหลวงมาก่อน)

ระหว่างจุลศักราช ๑๑๔๗ - จุลศักราช ๑๒๒๙ (พ.ศ. ๒๓๒๘ - พ.ศ. ๒๔๑๐) จุลศักราช ๑๑๔๗ พ.ศ. ๒๓๒๘ พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนกล่าวว่ากษัตริย์พม่าแต่งให้กาละมังดีเป็นแม่ทัพมีกำลังหมื่นหนึ่ง ยกมาตีอาณาจักรลานนาแวะถึงเมืองเชียงแสนในเดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำวันเสาร์ เข้ายึดเมืองเชียงแสนได้แล้วยกทัพเข้าตีเมืองเทิง ฝ่ายเมืองเชียงใหม่และละกอนลำปาง ต่างพร้อมใจกันรวบรวมไพร่พลต่อสู้กับพม่าและ ป้องกันเมืองเอาไว้ได้ ฝ่ายพญาแพร่ พญาน่าน เห็นว่ากองทัพพม่าใหญ่หลวงนักเกรงจะสู้ไม่ได้ จึงบ่สู้บ่รบ ยอมอ่อนน้อมเป็นข้าของพม่าแต่โดยดี แม่ทัพพม่าคือ กาละมังดี จึงให้พญาแพร่ พญาน่าน ยกกองทัพไปแวดล้อมเมืองละกอนไว้ เมื่อพม่าไม่สามารถตีเอาเมืองใดได้ จึงล่าถอยทัพกลับไป จุลศักราช ๑๑๔๘ พ.ศ. ๒๓๒๙ เดือน ๕ เพ็ญ พญาแพร่พร้อมกับเจ้าเมืองฝ่ายเหนือ คิดกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า จึงยกทัพไปตีเมืองเชียงแสน มวยหวาน ซึ่งปกครองเมืองเชียงแสนหนีพ่ายไปเชียงราย พญาเชียงรายจับตัวได้ส่งไปยังเมืองละกอนลำปาง พญาละกอนส่งตัวมวยหวานไปยังกรุงเทพฯ ฝ่ายพญาละกอน เมื่อส่งมวยหวานไปกรุงเทพฯ แล้ว ก็ยกกองทัพไปเมืองเชียงแสนจับตัว พญาแพร่ใส่คา จองจำส่งตัวลงกรุงเทพฯ จุลศักราช ๑๑๖๘ พ.ศ. ๒๓๒๘ พม่าส่งกองทัพมาตีหัวเมืองอาณาจักรลานนา แต่เวลานั้นทางเมืองเชียงใหม่ยังร้างอยู่ไม่มีใครปกครอง จึงเลยลงไปตีเมืองลำปาง เจ้าเมืองลำปางคือพระยา กาวิละได้ต่อสู้ต้านทานทัพพม่า สามารถรักษาเมืองไว้ได้ พม่าจึงแต่งกองทัพให้ล้อมเมืองไว้ก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงทราบข่าวศึก จึงโปรดให้กรมหลวงเจษฎายกกองทัพขึ้นมาช่วย ฝ่ายพระยากาวิละ รู้ว่ากองทัพในกรุงขึ้นมาช่วยก็มีกำลังห้าวหาญยกกองทัพตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกจากเมือง ได้สู้รบกันตั้งแต่เช้าจนเที่ยง กองทัพพม่าจึงแตกพ่ายไป เมื่อกองทัพพม่าถูกไล่ออกจากอาณาจักรลานนาแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้โปรดพระราชทานบำเหน็จให้แก่เจ้านายฝ่ายเหนือโดยให้พระยากาวิละเจ้าเมืองลำปางขึ้นไปครองเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระยามังชัย เจ้าเมืองแพร่ พระองค์ทรงเห็นว่าถ้าจะให้ไปครองเมืองแพร่ก็ยังไม่ไว้วางพระราชหฤทัย เพราะพระยามังชัยเคยอยู่กับพม่ามานาน จึงโปรดให้ไปช่วยราชการอยู่ที่เมืองลำปางก่อน

จุลศักราช ๑๑๗๑ พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงโปรดให้ เจ้าเมืองฝ่ายเหนือยกกองทัพไปตีเมืองเชียงตุง พระยามังชัย เจ้าเมืองแพร่ ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่เมืองลำปางได้ร่วมไปกับกองทัพด้วย พระยามังชัยได้แสดงความห้าวหาญชาญศึกอาสาเป็นนายกองหน้าเข้าตีเมืองเชียงตุง และสามารถตีเมืองเชียงตุงจนได้ชัยชนะ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงเห็นความดีและความสามารถจึงโปรดให้กลับไปครองเมืองแพร่ดังเดิม หลังจากรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแล้ว ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเมืองแพร่ไม่มีกล่าวถึงจนกระทั่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมืองแพร่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ระหว่างจุลศักราช ๑๒๕๓ - จุลศักราช ๑๒๙๖ (พ.ศ. ๒๔๓๔ - พ.ศ. ๒๔๗๗)

จุลศักราช ๑๒๕๓ พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนระบอบการปกครองประเทศ เป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล มีข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลลดอำนาจเจ้าผู้ครองเมืองให้น้อยลงกว่าเดิ, เมืองแพร่ พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดมณฑลพิษณุโลก มาเป็นข้าหลวงกำกับการปกครองเมืองแพร่เป็นคนแรกในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ หนังสือการปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ พ.ศ. ๒๔๓๖ - พ.ศ. ๒๔๗๖ กล่าวถึงตอนนี้ว่า เมืองแพร่จัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลหลังจากพระยาทรงสุรเดช ได้ไปตรวจ ราชการในเมืองแพร่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ กล่าวคือ เมื่อพระยาทรงสุรเดชไปถึงเมืองแพร่ “พระยาพิริยวิไชย” เจ้าเมืองแพร่ได้ให้การต้อนรับพระยาทรงสุรเดชเป็นอย่างดี พร้อมกับแสดงความจำนงให้พระยาทรงสุรเดชทราบว่าต้องการให้จัด ราชการ ๖ ตำแหน่งขึ้นในเมืองแพร่ให้เหมือนกับแบบแผนราชการเมืองเชียงใหม่ เหตุที่พระพิริยวิไชยเสนอเช่นนั้นก็ประสงค์จะขอพระราชทานเลื่อนยศขึ้นเป็น “เจ้า”

พระยาทรงสุรเดชเห็นว่างานราชการทั้งหมดของเมืองแพร่ตกอยู่ในอำนาจของพระยาพิริยวิไชยทั้งสิ้น ดังนั้น เพื่อให้การปกครองของเมืองแพร่เรียบร้อย จึงให้ทำการทดลองจัดราชการ ๖ ตำแหน่งขึ้นในเมืองแพร่ พระยาทรงสุรเดชได้มอบหมายให้ นายราชาภักดิ์ ข้าหลวงเมืองแพร่ ทำหน้าที่เป็น ที่ปรึกษาของพระยาพิริยวิไชย จัดการราชการงานในเมืองแพร่ร่วมกัน แทรกกล่าว มีข้อน่าสังเกตว่าประวัติศาสตร์เมืองเหนือของ ตรี อมาตยกุล กล่าวว่า “โปรดเกล้าฯ ให้พระยาไชยบูรณ์ไปเป็นข้าหลวงกำกับการปกครองเมืองแพร่เป็นคนแรกปี พ.ศ. ๒๔๔๐” ส่วนปริญญานิพนธ์ของสรัสวดี ประยูรเสถียร ข้างต้นนี้กล่าวว่า พระยาทรงสุรเดชได้ มอบหมายให้ นายราชาภักดิ์ ข้าหลวงเมืองแพร่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของพระยาพิริยวิไชย จัดการ ราชการงานในเมืองแพร่ร่วมกัน จึงทำให้เป็นที่น่าสงสัยว่า นายราชาภักดิ์ หรือพระยาไชยบูรณ์เป็นข้าหลวงเมืองแพร่ คนแรกกันแน่

กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ จุลศักราช ๑๒๖๔ พ.ศ. ๒๔๔๕ ในขณะที่พระยาไชยบูรณ์เป็นข้าหลวงกำกับการปกครองเมืองแพร่อยู่นั้น ปรากฏว่ามีพวกเงี้ยวหรือไทยใหญ่ได้คบคิดกันก่อการจลาจลขึ้นในเมืองแพร่ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

วันศุกร์ที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ เวลาประมาณ ๗ นาฬิกา พวกไทยใหญ่นำโดย พะกาหม่องและสะลาโปไชย หัวหน้าพวกโจรเงี้ยวนำกองโจรประมาณ ๔๐ - ๕๐ คน บุกเข้าเมืองแพร่ทางด้านประตูชัย จู่โจมสถานีตำรวจเป็นจุดแรก ขณะนั้นสถานีตำรวจเมืองแพร่มีประมาณ ๑๒ คน จึงไม่สามารถต้านทานได้ กองโจรเงี้ยวเข้ายึดอาวุธตำรวจแล้วพากันเข้าโจมตีที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข โจรเงี้ยวได้ตัดสายโทรเลขและทำลายอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เพื่อตัดปัญหาการสื่อสาร ครั้นแล้วก็มุ่งหน้าสู่บ้านพักข้าหลวงประจำเมืองแพร่ แต่ก่อนที่กองโจรเงี้ยวจะไปถึงบ้านพักข้าหลวงนั้น พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่ สุวรรณบาตร) ได้พา ครอบครัวพร้อมด้วยคุณหญิงเยื้อน ภริยาหลบหนีออกจากบ้านพักไปก่อนแล้ว พวกโจรเงี้ยวไปถึงบ้านพักไม่พบพระยาไชยบูรณ์จึงบุกเข้าปล้นทรัพย์สินภายในบ้านพักข้าหลวง และสังหารคนใช้ที่หลงเหลืออยู่จนหมดสิ้น จากนั้นจึงยกกำลังเข้ายึดที่ทำการเค้าสนามหลวง ทำลายคลังหลวงและกวาดเงินสดไปทั้งหมด ๔๖,๙๑๐ บาท ๓๗ อัฐ หลังจากนั้นพวกโจรเงี้ยวก็มุ่งตรงไปยังเรือนจำเพื่อปล่อยนักโทษให้เป็นอิสระพร้อมกับ แจกจ่ายอาวุธให้แก่นักโทษเหล่านั้น ทำให้พวกกองโจรเงี้ยวได้กำลังสนับสนุนเพิ่มขึ้นอีกจนภายหลังมีกำลังถึง ๓๐๐ คน

ในระหว่างที่กองโจรเงี้ยวเข้าโจมตีสถานที่ราชการต่างๆ อยู่นั้น ราษฎรเมืองแพร่ตื่นตกใจกันมาก บางส่วนได้อพยพหลบออกไปอยู่นอกเมืองทันที กองโจรเงี้ยวจึงประกาศให้ราษฎรอยู่ในความสงบ เพราะพวกตนจะไม่ทำร้ายชาวเมืองจะฆ่าเฉพาะคนไทยภาคกลางที่มาปกครองเมืองแพร่เท่านั้น ราษฎรจึงค่อยคลายความตกใจลง และบางส่วนได้เข้าร่วมกับพวกกองโจรเงี้ยวก็มี ทำให้กองโจรเงี้ยวทำงานคล่องตัวและมีกำลังเข้มแข็งขึ้น ขณะเดียวกันพระยาไชยบูรณ์ซึ่งพาภริยา คือ คุณหญิงเยื้อนหลบหนีออกจากบ้านพักตรงไปยังคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ หวังขอพึ่งกำลังเจ้าเมืองแพร่หรือเจ้าหลวงเมืองแพร่ คือ พระยาพิริยวิไชย เมื่อไปถึงคุ้มเจ้าหลวง เจ้าหลวงเมืองแพร่กล่าวว่า “จะช่วยอย่างไรกัน ปืนก็ไม่มี ฉันก็จะหนีเหมือนกัน” พระยาไชยบูรณ์ตัดสินใจพาภริยาและหญิงรับใช้หนีออกจากเมืองแพร่ไปทางบ้านมหาโพธิ์เพื่อหวังไปขอกำลังจากเมืองอื่นมาปราบ ส่วนเจ้าเมืองแพร่นั้นหาได้หลบหนีไปตามคำอ้างไม่ ยังคงอยู่ในคุ้มตามเดิม ตอนสายของวันที่ ๒๕ กรกฎาคม เมื่อกองโจรเงี้ยวสามารถยึดเมืองแพร่ได้แล้ว พะกาหม่องและสะลาโปไชยก็ไปที่คุ้มเจ้าหลวง เพื่อเชิญให้เจ้าเมืองแพร่ปกครองบ้านเมืองตามเดิม ก่อนจะปกครองเมือง พะกาหม่องได้ให้เจ้าเมืองแพร่และเจ้านายบุตรหลานทำพิธีถือ น้ำสาบานก่อน โดยมีพระยาพิริยวิไชยเป็นประธานร่วมด้วยเจ้าราชบุตร เจ้าไชยสงครามและเจ้านายบุตรหลานอื่นๆ รวม ๙ คน ในพิธีนี้มีการตกลงร่วมกันว่าจะร่วมกันต่อต้านกองทัพของรัฐบาลโดยพวกกองโจรเงี้ยวเป็นกองหน้าออกสู้รบเอง ส่วนเจ้าเมืองและคนอื่นๆ เป็นกองหลังคอยส่งอาหารและอาวุธตลอดทั้งกำลังคน

วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พวกกองโจรเงี้ยวเริ่มลงมือตามล่าฆ่าข้าราชการไทยและคนไทย ภาคกลางทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือสตรีที่หลบหนีไปโดยประกาศให้รางวัลนำจับ เฉพาะค่าหัวพระยาไชยบูรณ์และพระเสนามาตย์ยกบัตรเมืองแพร่ คนละ ๕ ชั่ง หรือ ๔๐๐ บาท นอกนั้นลดหลั่นลงตามลำดับความสำคัญ แต่อย่างต่ำจะได้ค่าหัวคนละ ๔๐ บาท

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พระยาไชยบูรณ์ซึ่งอดอาหารมาเป็นเวลา ๓ วัน กับ ๒ คืน โดยหลบซ่อนอยู่บนต้นข่อยกลางทุ่งนาใกล้ๆ กับหมู่บ้านร่องกาด ได้ออกจากที่ซ่อนเพื่อขออาหารจากชาวบ้านร่องกาด ราษฎรคนหนึ่งในบ้านร่องกาดชื่อหนานวงศ์ จึงนำความไปแจ้งต่อพะกาหม่องเพื่อจะเอาเงินรางวัล พะกาหม่องนำกำลังไปล้อมจับพระยาไชยบูรณ์ทันที จับตัวได้ก็ควบคุมตัวกลับเข้าเมืองแพร่ และได้บังคับขู่เข็ญพระยาไชยบูรณ์ตลอดทาง พระยาไชยบูรณ์จึงท้าทายให้พวกโจรเงี้ยวฆ่าตนเสียดีกว่า ดังนั้นพอมาถึงทางระหว่างร่องกวางเคา (ปัจจุบันเรียกว่าร่องคาว) โจรเงี้ยวคนหนึ่งชื่อ จองเซิน จึงคิดฆ่าพระยาไชยบูรณ์ทันที นอกจากพระยาไชยบูรณ์แล้ว พวกโจรเงี้ยวยังได้จับข้าราชการไทยอีกหลายคนฆ่า ที่สำคัญได้แก่ พระเสนามาตย์ ยกกระบัตรศาล หลวงวิมล ข้าหลวงผู้ช่วย ขุนพิพิธ ข้าหลวงคลัง นายเฟื่อง ผู้พิพากษา นายแม้น อัยการ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ และสมุห์บัญชีอำเภอต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก นับเป็นการเข่นฆ่าข้าราชการไทยครั้งยิ่งใหญ่จริงๆ ในภาคเหนือ

ทางรัฐบาลไทยได้ส่งกองทัพจากเมืองใกล้เคียง เช่น พิชัย สวรรคโลก สุโขทัย ตาก น่าน และเชียงใหม่ เข้ามาปราบปรามพวกกองโจรเงี้ยวอย่างรีบด่วน โดยกำหนดให้ทุกเมืองระดมกำลังเข้าปราบปราม พวกกองโจรเงี้ยวในเมืองแพร่พร้อมกันทุกด้าน และยังได้มอบหมายให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) นำกองทัพหลวงขึ้นมาปราบปรามพร้อมทั้งให้ดำเนินการสอบสวนสาเหตุการปล้นครั้งนี้ด้วยและให้ถือว่าเป็น “กบฏ” ด้วย ดังนั้นจึงเรียกว่า กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ส่วนพวกกองโจรเงี้ยวเมื่อสามารถก่อการกบฏได้สำเร็จก็ไม่ได้ตระเตรียมกำลังป้องกันแต่อย่างใด จนกระทั่งวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ เมื่อทราบข่าวว่ากองทัพรัฐบาลจะมาปราบปรามจึงได้แบ่งกำลังออกเป็น ๒ กอง กองหนึ่งนำโดยสะลาโปไชย ยกกำลังไปทางด้านใต้เพื่อขัดตาทัพ รัฐบาลที่ส่งมา อีกกองหนึ่งนำโดยพะกาหม่อง ยกกำลังไปทางด้านตะวันตกเพื่อโจมตีนครลำปางหวังยึดเมืองเป็นฐานกำลังอีกแห่งหนึ่ง

การโจมตีนครลำปางนั้น พวกกองโจรเงี้ยวต้องประสบกับความผิดหวัง เพราะนครลำปางรู้เหตุการณ์และเตรียมกำลังไว้ต่อสู้อย่างรวดเร็ว เมื่อพวกเงี้ยวไปถึงนครลำปางในวันที่ ๓ สิงหาคม จึงถูกฝายนครลำปางตีโต้กลับทำให้ กองโจรเงี้ยวแตกพ่ายหนีกระจัดกระจายไป ตัวผู้นำคือ พะกาหม่องต้องสูญเสียชีวิตเพราะถูกยิงในระหว่างการต่อสู้ ส่วนพวกกองโจรเงี้ยวที่นำโดยสะลาโปไชยนั้น ในระยะแรกสามารถสกัดทัพเมืองพิชัยไว้ได้ชั่วคราว แต่ก็ไม่สามารถต้านทานทัพเมืองสวรรคโลกและสุโขทัยได้ จึงถอยกลับไปตั้งหลักที่เมืองแพร่ตั้งแต่วันที่ ๑๑ สิงหาคม แต่ในที่สุดพวกโจรเงี้ยวก็หนีกระจัดกระจายไปเพราะต่อสู้ไม่ไหว ดังนั้น ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพ เนติโพธิ์) ผู้ว่าราชการเมืองพิชัย จึงนำกองกำลังตำรวจภูธรและทหารจำนวนหนึ่งบุกเข้าเมืองแพร่ได้สำเร็จ

วันที่ ๒๐ สิงหาคม เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ก็นำทัพหลวงถึงเมืองแพร่ หลังจากเหตุการณ์สงบลงหลายวันแล้ว เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงทำการสอบสวนความผิดผู้ เกี่ยวข้องทันที ขั้นแรก ได้สั่งจับชาวเมืองแพร่ ราษฎรบ้านร่องกาด คือ หนานวงค์ ที่หวังเงินรางวัลนำจับพระยาไชยบูรณ์มาประหารชีวิตเป็นเยี่ยงอย่างก่อน ขั้นที่สอง สั่งให้จับตัว พญายอด ผู้นำจับหลวงวิมลมาประหารชีวิตอีกคนหนึ่ง จากนั้นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้สอบสวนพยานหลายคน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่