พระราชทานเพลิงพระศพพระสังฆราช ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ


พระราชพิธียิ่งใหญ่กำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 15-20 ธันวาคมนี้ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนและประชาชนชาวไทยร่วมในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในส่วนของการเตรียมการนั้น ทุกสิ่งอย่างได้รับการตระเตรียมไว้พร้อมพอสมควรแล้วสำหรับการร่วมแรงร่วมใจกันแสดงความกตัญญูต่อพระองค์ด้วยการจัดงานพระราชพิธีให้สมพระเกียรติยศ

ริ้วขบวนพระอิสริยยศแห่พระโกศพระศพ
ขั้นตอนหนึ่งในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านายที่ได้รับความสนใจมากที่สุด การแห่พระศพไปยังพระเมรุเพื่อรอพระราชทานเพลิงพระศพ ซึ่งจะต้องมีการจัดริ้วขบวนแห่พระศพให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณีและถูกต้องตามพระอิสริยยศ สำหรับริ้วขบวนเชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระสังฆราช จากตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร ไปยังพระเมรุวัดเทพศิรินทราวาสนั้น มีความยาวของริ้วขบวนถึง 456 เมตร ผู้ร่วมในริ้วขบวน 1,383 คน ใช้เวลาเคลื่อนขบวนประมาณ 2 ชั่วโมง ในเส้นทาง 3.7 กม. จากวัดบวรนิวเวศวิหารเคลื่อนไปตามถนนพระเมรุ เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปตามถนนหลานหลวง เลี้ยวขวาไปตามถนนกรุงเกษม เลี้ยวขวาเข้าถนนหลวง เข้าสู่ถนนกลางสุสานหลวง พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส


ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกฯ ให้ความรู้ว่า ริ้วขบวนแห่พระศพจัดตามโบราณราชประเพณี โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นขบวนทหารนำ เป็นกองทหาร 3 เหล่าทัพ 3 กองพัน พร้อมวงดุริยางค์บรรเลงเพลงพญาโศก ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงนิพนธ์ขึ้นโดยดัดแปลงเพลงไทยเดิมมาเป็นเพลงดุริยางค์เพื่อใช้ในงานพระศพ อย่างไรตาม เนื่องจากริ้วขบวนยาวถึง 456 เมตร จึงได้มีการติดตั้งลำโพงตามเสาไฟฟ้าตลอดเส้นทางแห่พระศพเพื่อถ่ายทอดเสียงจากต้นทาง

ส่วนที่ 2 เป็นขบวนพระอิสริยยศ นำโดยธงสามชาย เครื่องประโคม ได้แก่ กลองชนะ แตร สังข์ และคู่แห่ซึ่งแต่งตัวเป็นเทวดาตามคติความเชื่อว่า ผู้ล่วงลับจะกลับสู่สรวงสรรค์จึงต้องมีเทวดาในริ้วขบวน ถัดมาเป็นรถพระนำ ตามด้วยราชรถเชิญพระศพ และขบวนเครื่องสูงและเครื่องยศ สำหรับริ้วขบวนส่วนที่ 3 เป็นขบวนตาม นำโดยเครื่องประกอบสมณศักดิ์ และขบวนพระประยูรญาติและศิษยานุศิษย์

ริ้วขบวนเคลื่อนพระศพ ได้มีการซ้อมใหญ่เหมือนจริงในเส้นทางจริงไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน และซ้อมใหญ่อีก 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 7 และ 10 ธันวาคม ที่ผ่านมา

พระเมรุในพระราชพิธี
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชนั้น ไม่นิยมสร้างพระเมรุขึ้นมาใหม่ที่ท้องสนามหลวงดังเช่นพิธีของเจ้านาย แต่จะใช้เมรุที่วัดเทพศิรินทราวาสซึ่งเป็นสุสานหลวงแทน และในพระราชพิธีครั้งนี้ก็จะใช้พระเมรุเก่าของวัดเทพศิรินทราวาสเช่นกัน โดยสำนักพระราชวัง สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการซ่อมแซมพระเมรุร่วมกับทางวัดเทพศิรินทร์ ส่วนการประดับตกแต่งพระเมรุในวันงานนั้น สวนนงนุชรับเป็นผู้ดำเนินการ

นอกจากนั้น กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ก็ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการซ่อมแซมอาคารจำนวน 2 หลังซึ่งใช้เป็นซ่าง (อาคารที่อยู่ของพระสงฆ์ที่มาเจริญพระพุทธมนต์) ซึ่งการบูรณะซ่อมแซมอาคารทั้ง 2 หลัง แล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว

สิ่งของประกอบราชพิธี
ในงานพระราชพิธีครั้งนี้ นอกจากกรมศิลปากรจะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการบูรณะราชรถทั้ง 2 องค์ที่ใช้ในริ้วขบวน และบูรณะอาคารซ่างแล้ว ยังรับหน้าที่ออกแบบอื่นๆ ที่ใช้ในงานพระราชพิธีด้วย โดยเฉพาะการออกแบบซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ ซึ่งจะก่อสร้าง 2 จุดที่วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดเทพศิรินทราวาส และการออกแบบช่อไม้จันทน์


การออกแบบซุ้มถวายดอกไม้จันทน์จะใช้การลดรูปและสัญลักษณ์อันแสดงถึงพระเกียรติยศสมเด็จพระสังฆราช และการจัดวางองค์ประกอบสื่อถึงงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพตามราชประเพณี โดยใช้รูปแบบ “พระโกศทองน้อย” พร้อมตราประจำพระองค์พระนาม ญ.ส.ส. สีขาว ภายใต้เศวตฉัตร 3 ชั้น เป็นฉัตรขาวระบายขลิบทองซ้อน 2 ชั้น ห้อยอุบะจำปาทอง ข้างพระโกศซ้าย-ขวา ทำเป็นรูปพัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ อันเป็นพัดยศตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และรูปพัดแฉกงาพิเศษประดับพลอย ถัดลงมาจากพระโกศ เป็นกรอบซุ้มพระรูปสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พร้อมฉัตรประกอบเกียรติยศซ้ายขวา ที่อิงรูปแบบจากฉัตรทองแผ่ลวด เบื้องหน้าทำเป็นรูปแท่นประดิษฐานพระรูป เตรียมสำหรับตั้งเครื่องบูชา

กรมศิลปากร โดยสำนักช่างสิบหมู่ ยังได้รับมอบหมายให้ออกแบบ “พัดรอง" เพื่อนำมาถวายแด่พระที่มาร่วมพิธี โดยออกแบบ 2 ลาย แบบที่ 1 สำหรับกองพระราชพิธีเพื่อใช้ในการงานพระราชพิธี ออกแบบพัดรองผูกเป็นพระนาม ญ.ส.ส. ภายใต้เศวตฉัตร 3 ชั้น มีรัศมีเรือนแก้ว มีเทพยดาประคองเชิญอยู่ซ้าย–ขวา ประกอบช่อดอกไม้ทิพย์บนพื้นสีฟ้าหม่น อันเป็นวันประสูติ ส่วนนมพัด ออกแบบเป็นเศียรช้างไอราวัต (เอราวัณ) จากนามพระสกุลเดิม คชวัตร ทั้งนี้พัดรองแบบที่ 1 ได้จัดสร้างพัดรองสำหรับพระไทย จำนวน 50 ด้าม สำหรับพระจีน และพระญวน ซึ่งมีรูปทรงของพัดรองที่ต่างกันอีกอย่างละ 10 ด้าม

แบบที่ 2 สำหรับวัดบวรนิเวศวิหารเพื่อใช้ในการพระศพ โดยจัดสร้างพัดรอง และย่าม จำนวน 1,000 ชุด พัดรอง ออกแบบผูกเป็นพระนาม ญ.ส.ส. ภายใต้เศวตฉัตร 3 ชั้น อันมีมหาชนมาชุมเพลิงถวายเป็นปัจฉิมบูชา นอกแผงโพยมากาศ มีรัศมีพรรณกระจ่างอยู่หมายว่า พระเกียรติคุณ พระธรรมคุณ พระกรุณาคุณ พระเมตตาคุณในพระองค์นั้น ยังรุ่งเรืองอยู่มิสิ้นสุด ปักด้วยไหมทอง เงิน นาก และขาว บนพื้นสีฟ้าหม่นลง ส่วนนมพัด ผูกเป็นพระนาม “เจริญ” อยู่ในรูปทรงพระโกศประดิษฐานอยู่บนเศียรช้างไอราวัต (เอราวัณ) จากนามพระสกุลเดิม คชวัตร ในส่วนของย่ามได้ออกแบบให้มีความสอดคล้องกับพัดรอง

สำหรับประชาชนทั่วไปที่มาร่วมงาน กรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้ออกแบบที่คั่นหนังสือที่ระลึก โดยนำคำว่า “การออกพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจริญ สุวฑฺฒโน วัดบวรนิเวศวิหาร” แยกเป็นคำย่อย ออกเป็นจำนวน 16 คำ จัดทำเป็นที่คั่นหนังสือ จำนวน 16 แบบ จำนวนพิมพ์ 3,650,000 แผ่น ซึ่งได้ดำเนินการจัดพิมพ์และจัดส่งที่คั่นหนังสือไปยังสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร กรมศิลปากร วัดบวรนิเวศวิหาร จังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เพื่อแจกเป็นที่ระลึกให้ผู้ร่วมงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ และผู้ร่วมงานทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนั้น ทางวัดบวรนิเวศวิหารยังได้จัดทำหนังสือที่ระลึกในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ แจกผู้มาร่วมพิธีและประชาชนทั่วไปที่มาร่วมวางดอกไม้จันทน์ในวันที่ 16 ธันวาคมด้วย ได้แก่ หนังสือบวรธรรมบพิตร(พระประวัติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก) จัดพิมพ์ 1 แสนเล่ม ซึ่งพิมพ์เสร็จแล้วและหนังสือบวรธรรมบพิตร ฉบับประมวลพระรูป จัดพิมพ์ 2 แสนเล่ม ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดพิมพ์
ในวันที่ 16 ธันวาคม สำนักการสังคีต ยังได้เตรียมจัดการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนนางลอย และตอนศึกแสงอาทิตย์-พรหมาสตร์ จัดแสดงบริเวณหน้าพระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาสด้วย

กำหนดการพระราชพิธี
งานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ ณ ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร วันที่ 16 ธันวาคม เวลา 08.00 น. จะมีการเคลื่อนขบวนพระอิสริยยศแห่เชิญพระโกศพระศพ จากวัดบวรนิเวศวิหารไปยังพระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส จากนั้น เวลาประมาณ 17.30 น. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราช

วันที่ 17 ธันวาาคม เวลา 07.00 น. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการเก็บพระอัฐิ วันที่ 19 ธันวาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชกุศลพระอัฐิและบรรจุพระสรีรางคาร ณ ตำหนักเพ็ชร และเปิดให้พุทธศาสนิกชนมาถวายสักการะพระอัฐิ ตั้งแต่เวลา 08.00-14.00 น. และวันที่ 20 ธันวาคม เวลา 10.30 น. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชกุศลพระอัฐิและบรรจุพระสรีรางคารณ พระวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศวิหาร

เลื่อนขั้นเครื่องประกอบพระศพสังฆราช
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนชั้นเครื่องเกียรติยศประกอบพระศพสมเด็จพระสังฆราช จากพระโกศกุดั่นใหญ่เป็นพระโกศทองน้อย

สำนักราชเลขาธิการออกหนังสือถึงสมเด็จพระวันรัต ผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเลื่อนชั้นเครื่องเกียรติยศประกอบพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) จากพระโกศกุดั่นใหญ่เป็นกรณีพิเศษนั้น บัดนี้ถึงวาระการพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สวุฑฺฒโน) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เลื่อนชั้นเครื่องเกียรติยศประกอบพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) จากพระโกศกุดั่นใหญ่ เป็นพระโกศทองน้อยในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม 2558 เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศ และบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างสมเด็จพระสังฆราชในอดีต ด้วยทรงดำรงอยู่ในครุฐานียะ เป็นที่ตั้งแห่งพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนประชาชนทุกหมู่เหล่าโดยตลอดพระชนม์ชีพ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่