ไฟเย็น : ไฟแห่งพลังวรรณศิลป์ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์

ผมมีโอกาสได้ไปฟังปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ไฟเย็น : ไฟแห่งพลังวรรณศิลป์ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์”  โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร  ซึ่งเป็นการบรรยายเกี่ยวกับพัฒนาการวรรณกรรมของเสนีย์ เสาวพงศ์ ใน 5 ทศวรรษในมุมมองนวประวัติศาสตร์ (New Historicism)  ซึ่งเป็นกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 104 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข  พนมยงค์  ที่จัดขึ้นเมื่อวันเสารที่ 2 มกราคม 2559 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์  ผมจึงนำประเด็นที่ได้รับฟังมาเขียนสรุปเป็นรายละเอียดสำหรับท่านผู้ที่สนใจ

ในงานเริ่มต้นด้วยคุณสินธุ์สวัสดิ์  ยอดบางเตย กล่าวระลึกถึงท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ หลังจากนั้นเป็นปาฐกถาพิเศษโดย รองศาสตราจารย์ ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ (บางส่วนอาจขาดตกบกพร่องไปบ้าง  เนื่องจากผมฟังและจดเชลเลอร์มาเขียนสรุป ไม่ใช่การเขียนจากการถอดเทปคำบรรยาย ดังนั้นถ้าส่วนใดผิดพลาดไปบ้าง ผมขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย)







อ.ตรีศิลป์บอกว่า

-สาเหตุที่เลือกเลือกงานของเสนีย์ เสาวพงศ์มาพูดก็เพราะว่า  เสนีย์  เสาวพงศ์มีความผูกพันกับครอบครัวพนมยงค์มาโดยตลอด  อีกทั้งทัศนคติ อุดมคติและอุดมการณ์ของเสนีย์ เสาวพงศ์นั้นเชื่อว่าท่านได้รับแรงบันดาลใจมาจากท่านปรีดี พนมยงค์

-เสนีย์ เสาวพงศ์ สร้างผลงานวรรณกรรมมาต่อเนื่องยาวนานเกิน 6 ทศวรรษ  ส่วนใหญ่เป็นแนวนวประวัติศาสตร์ (นวนิยาย+ประวัติศาสตร์)  คือเป็นงานเขียนที่พูดถึงประวัติศาสตร์  มีรายละเอียดหรือแนวความคิดที่อยู่ในช่วงเวลานั้น ๆ โดยไม่ใช่แค่งานบันเทิงเริงรมย์แต่เพียงอย่างเดียว

-นวประวัติศาสตร์ (New Historicism)  เป็นวรรณกรรมที่บันทึกประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้ยึดติดอยู่กับมิติของเวลาและสถานที่อย่างชัดเจน  ซึ่งอาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมดแต่เชื่อว่าเป็นความเคลื่อนไหว,ความนึกคิด,วาทะกรรม ฯลฯ ซึ่งเกิดขึ้นในบริบทของคนในยุคสมัยนั้น ๆ

-ในการปาฐกถาครั้งนี้  อ.ตรีศิลป์ ให้หัวข้อว่า “ไฟเย็น : ไฟแห่งพลังวรรณศิลป์ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์” ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยงานของเสนีย์ เสาวพงศ์  โดยใช้คำว่า “ไฟ” เป็นคำที่มีพลัง  เป็นไฟที่ส่องทางให้แสงสว่างไม่ใช่ไฟที่ล้างผลาญแต่อย่างใด

-นวนิยายเรื่องแรกของเสนีย์ เสาวพงศ์ ในปี 2489 เรื่อง “ชัยชนะของคนแพ้”   เป็นผลงานวรรณกรรมแนวโมเดิร์น

-“ไฟเย็น” และ “บัวบานในอะมาซอน” เป็นวรรณกรรมในยุคอนานิคม (โพสโคโลเนียน)  เป็นยุคที่คนขาวแสวงหาประโยชน์ด้วยการเข้าไปรังแกคนพื้นเมือง

-“คนดีศรีอยุธยา” เป็นนวนิยายแนวประวัติศาสตร์  เป็นประวัติศาสตร์ภาคประชาชน  ซึ่งเป็นเรื่องราวของชาวบ้านที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อกู้เอกราช  หลังจากนั้นต่างคนก็ต่างแยกย้ายกันไป

-ถือได้ว่าเสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นผู้บุกเบิกหลาย ๆ กระแสในวงการวรรณกรรมไทย

-การศึกษาวรรณกรรมจะทำให้เราเข้าใจความคิดของคนในยุคนั้น ๆ  ทำให้เข้าใจความรู้สึกของคน  และนักเขียนก็จงใจบอกเราว่าคนเขานี้คิดอย่างไร? และมีพฤติกรรมอย่างไร?  จึงอาจกล่าวได้ว่า  วรรณกรรมไม่ใช่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์  แต่เป็นชุดความคิดของคนในช่วงเวลานั้น ๆ

-งานของเสนีย์  เสาวพงศ์ ส่วนใหญ่เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของประชาชนตัวเล็กที่ตอบโต้อำนาจทางสังคมละการเมือง

-เริ่มต้นจากในทศวรรษแรก เรื่อง “ชัยชนะของคนแพ้” นั้นเป็นเรื่องราวการต่อสู้ของคนตัวเล็ก ซึ่งเป็นใครสักคนที่มีบทบาทในสังคม  ชื่อเรื่องเป็นการเปรียบเทียบที่ย้อนแย้ง (พาราด็อก คือ มีความขัดแย้งในตัวเอง) เป็นการเล่นกับภาษาเพื่อตอบโต้นโยบายในสมัยรัฐนิยมของจอมพล ป.  ที่สั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น การเขียน ที่เปลี่ยนแปลงอักขระอักษรไทย , การใช้สรรพนาม ฯลฯ

-ในเรื่อง “ชัยชนะของคนแพ้”  2486  เป็นเรื่องราวของตัวละครที่แพ้ในความรักแต่ชนะในอุดมการณ์

-มีเรื่องที่คล้ายคลึงกันคือเรื่อง “นักบุญ-คนบาป” ของอิสรา อมันตกุล ที่เขียนในลักษณะภาษาสะวิงเพื่อตอบโต้นโยบายรัฐนิยมเช่นกัน

-เสนีย์ เสาวพงศ์ ได้สร้างตัวละครหญิงที่เป็นอุดมคติขึ้นมา  คือเป็นผู้หญิงที่เป็นต้นแบบทางความคิด  เป็นการให้เกียรติผู้หญิง โดย มาเนีย เป็นตัวละครหญิงตัวแรกของเสนีย์ เสาวพงศ์  เป็นการเปิดประวัติศาสตร์ใหม่ให้แก่สตรี

-งานวรรณกรรมส่วนใหญ่ของเสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นไพรัชนิยาย  คือนวนิยายที่มีฉากอยู่ในต่างประเทศ

-เรื่อง “ชีวิตบนความตาย” เป็นนิยายขนาดสั้น  เป็นเรื่องของเสรีไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  เสนีย์ เสาวพงศ์ จงใจเขียนขึ้นให้มีขนาดสั้นเป็นแบบพ็อกเก็ตบุ๊คส์ (ขนาดเล็กเสียบกระเป๋าหลังได้) ที่ต่างประเทศกำลังนิยมกัน  การเขียนใช้เทคนิคการเขียนแบบโค๊ตอัพ (ซูมเข้าไปใกล้ ๆ ) เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน  เป็นเรื่องที่เขียนสำหรับนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ได้

-เรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์นั้น  เป็นสิ่งที่เสนีย์ เสาวพงศ์ ให้ความสำคัญเสมอ

-ในทศวรรษที่ 2 เป็นเรื่องอุดมการณ์ของหนุ่มสาว ในเรื่อง “ปีศาจ” 2496  เป็นนวนิยายแนวเพื่อชีวิตแนวสัจจะนิยม , เรื่อง “ความรักของวัลยา” 2495 เป็นเรื่องความรักของคนหนุ่มสาว  เป็นไพรัชนิยายที่เป็นฉากในต่างประเทศ  เป็นเรื่องวาทะกรรมของคนที่รักในงานศิลปะ (วัลยาไปเรียนศิลปะที่ต่างประเทศ)

-ในเรื่อง “ปีศาจ” นั้น หนุ่มสาวคือปีศาจของการเปลี่ยนแปลง

-นวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมแห่งชาติแล้ว  ในเรื่องพูดถึงพลังของหนุ่มสาวในหลายชนชั้นที่ตะหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น ความหวังของสังคมอยู่ที่คนหนุ่มคนสาวนี้เอง

-ตัวละคร รัชนี ในเรื่อง “ปีศาจ” เป็นต้นแบบอุดมคติของนักศึกษาในเวลาต่อมา

-ในเรื่อง “ปีศาจ” มีการพูดถึงปัญหาของชาวนา พูดถึงเรื่องความกตัญญูกับความยุติธรรมของคนในชนบท  ในเรื่องหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475  กลุ่มคนข้าราชการมีความเข้มแข็งทางสังคมขึ้นมาแทนกลุ่มศักดินาเก่า (กลุ่มเจ้าฟ้าเจ้านาย)  จึงเกิดมีปีศาจที่เป็นคนรุ่นใหม่ขึ้นมาขัดทานอำนาจ

-ในทศวรรษที่ 3  หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ทำการปฏิวัติ (ปี 2500)  เสนีย์ เสาวพงศ์ ไปเป็นนักการฑูตอยู่ในประเทศแถบอเมริกาใต้  ดังนั้นจึงได้เกิดผลงานคู่ขนานระหว่างสังคมไทยกับสังคมอเมริกาใต้ขึ้นมา  ในเรื่อง “ไฟเย็น” และ “บัวบานในอะมาซอน”  ถือว่าเป็นงานในยุคโพสต์โคโลเนียน ยุคอนานิคม

-ที่บอกว่าเป็นเรื่องคู่ขนานกันนั้นคือ เป็นเรื่องของคนที่มีอำนาจในสังคม  ในเรื่องของอเมริกาใต้มีคนผิวขาวเข้าไปทำลายล้างพวกอินเดียนแดงที่เป็นคนพื้นถิ่นเก่า , ในไทยมีการทำรัฐประหาร  มีการทำร้ายและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

-ในเรื่อง “ไฟเย็น” เป็นเรื่องพลังของคนหนุ่มสาว  เรื่องการปฏิวัติในอาเจนติน่า  เรื่องที่ชาวอินเดียนแดงถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

-ในทศวรรษที่ 4 เป็นผลงานนวประวัติศาสตร์ เรื่อง “คนดีศรีอยุธยา” 2524  ในเรื่องพูดถึงประวัติศาสตร์บางส่วนที่ชาวบ้านอยุธยามีบทบาทในการต่อสู้กอบกู้เอกราชจากพม่า  เรื่องนี้ถือว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ในเชิงวรรณกรรม

-เรื่อง “ใต้ดาวมฤตยู” 2526  เรื่องนี้มีคนอ่านกันน้อย  เป็นเรื่องการรื้อสร้างประวัติศาสตร์ของสงครามโลกครั้งที่ 2  โดยสาเหตุที่เกิดสงครามขึ้นก็เพราะว่าชนชาติหนึ่ง(เยอรมัน) เชื่อว่าตัวเขาเหนือกว่าอีกชนชาติหนึ่ง(ยิว) จึงต้องมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อแย่งสิทธิในการปกครองโลก ในเรื่องมีการบันทึกประวัติศาสตร์เอาไว้มากพอสมควร

-ในทศวรรษที่ 5 ในเรื่อง “ดิน น้ำและดอกไม้” 2532  เป็นเรื่องของสตรีกับเสรีไทย  เป็นการเสียสละเพื่อชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2   นางเอกของเรื่องชื่อรสสุคนธ์  เป็นเรื่องที่สตรีร่วมสร้างประวัติศาสตร์สามัญชน  ที่เขียนโดยกรรมวิธีแห่งนวนิยาย

-ในทศวรรษที่ 6 มีเรื่อง “เงาคน-บนเวลา และปฏิมาการ” 2555  เป็นเรื่องของแผ่นดินแม่ซึ่งภูมิลำเนาเดิม  เป็นการกลับไปที่รากเหง้าแห่งชีวิตอีกครั้ง   พูดถึงลุ่มแม่น้ำภาคกลางที่เสนีย์ เสาวพงศ์ ได้เกิดและเติบโตมา

-ดังนั้นอาจจะสรุปได้ว่า  สิ่งที่พบในผลงานของเสนีย์ เสาวพงศ์ คือ

1. เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อตอบโต้รัฐนิยมด้วยภาษาสำนวนสะวิง

2. ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่บันทึกโดยคนตัวเล็ก (คนธรรมดาในสังคม)  ที่ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจที่จะมาครอบงำ

3. ให้ความสำคัญกับคนหนุ่มคนสาวเสมอ โดยเฉพาะพลังของสตรี ตัวละครเอกที่เป็นผู้หญิง มีบุคลิกและอุดมการณ์ที่เฉพาะตัว ถือว่าเป็นการให้เกียรติผู้หญิง

4. เห็นมิติของความรักในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ความรักของคนหนุ่มสาว , ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ , ความรักที่ไร้พรมแดน . ความรักที่เป็นมากกว่าความรักของของหนุ่มสาวธรรมดา ฯลฯ

5. ปฏิเสธอคติทางเชื้อชาติและการรุกรานจากประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ

6. เป็นนักเขียนที่มีพันธะกิจเป็น “คันฉ่องและโคมฉาย” ให้กับสังคมด้วย

7. ใช้พลังทางวรรณศิลป์เพื่อสะท้อนปัญหาสังคมด้วยสติปัญญา


อ.ตรีศิลป์ สรุปว่า

-พลังทางวรรณศิลป์ไม่ได้เป็นเพียงแค่พลังความรื่นรมย์ แต่สามารถส่องสะท้อนปัญหาและสามารถปลูกปัญญา  สร้างจิตสำนึกและอุดมการณ์ที่ดีกว่าได้  วรรณกรรมของเสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นวรรณศิลป์ที่ละเมียดละไม ภาษานั้นโดดเด่นด้วยลีลาและลุ่มลึกด้วยแนวคิดอันทรงพลัง  เป็นพลังวรรณศิลป์ที่เปรียบได้ดั่งไฟเย็น เป็นไฟที่ไม่มีวันดับเพราะ “มันเย็นเหมือนไฟและหลั่งไหลเหมือนหิน ... เหมือนไฟของภูเขาที่จมลึกอยู่ใต้ดิน  สงบเงียบและไร้ปากเสียง แต่มันคุโชนอยู่โดยฝนฟ้าพายุไม่อาจจะกล้ำกลายหรือเปลี่ยนสภาพของมันได้” (บางส่วนจากเรื่อง “ไฟเย็น”)

-วรรณกรรมของเสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นเหมือนไฟเย็นที่ไม่ดับลงตามกาลเวลา  เพราะเป็นไฟที่ส่องฉายข้ามเวลาให้เราได้เรียนรู้,ซึมซับและเห็นปัญหาซึ่งเป็นเหตุแห่งการเกิดขึ้นต่าง ๆ  ถือว่าเป็นวรรณกรรมที่บันทึกปัญญาลงผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ควรค่าสำหรับทุกคน









คุณสินธุ์สวัสดิ์  ยอดบางเตย กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า

-สำหรับการเสวนาในวันนี้หวังว่าจะมีประโยชน์ในเชิงวรรณกรรม เมื่อได้เผยแพร่ออกไปผู้ที่สนใจในด้านวรรณศิลป์และวรรณกรรมคงจะได้ตามศึกษา  ประเด็นของเสนีย์ เสาวพงศ์คงมีคนนำไปต่อยอดเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ในมุมมองต่าง ๆ  ในลำดับต่อไป  เพื่อเป็นประโยชน์แก่แนววรรณกรรมเพื่อสังคมเพื่อชีวิตเพื่อประชาชน



ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาชมกระทู้นี้  ขอให้ท่านมีความสุขมาก ๆ ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่