เลือดเปื้อนปานามา (ตอนที่ 2)

(อ่านบทความเดิมตอนที่แล้วตามลิงก์นี้นะครับ http://ppantip.com/topic/34631379 )

…..ปานามาในปี ค.ศ. 1904 ถูกเรียกนำหน้าด้วยคำว่า"สาธารณรัฐ" อย่างเต็มภาคภูมิ เพราะความช่วยเหลือแบบหวังผลประโยชน์ จากเงินทุน อาวุธ และทหารรับจ้างที่สหรัฐฯ ส่งมาช่วยเหลือในสงครามประกาศอิสรภาพปานามา อันเป็นผลมาจากข้อตกลงอันผูกพันสิทธิ์ของทั้งสองฝ่าย ตามสนธิสัญญา Banau-Varila ซึ่งได้ลงนามกันไว้เมื่อ 18 พฤศจิกายน ปี 1903 ซึ่งบัญญัติไว้ถึง 25 ข้อ โดยบัญญัติในข้อที่ 1 ที่สหรัฐฯต้องรับประกันเสรีภาพของสาธารณรัฐปานามา นั้น เป็นผลให้ประเทศปานามา ต้องตกเป็นดั่งรัฐอาณานิคมของสหรัฐฯไปโดยปริยาย และจากข้อบัญญัติทั้งหมดในสนธิสัญญานี้ คงมีเพียง 4 ข้อเท่านั้น ที่ยังพอเอื้อประโยชน์ให้แก่ปานามา เช่น สิทธิที่จะใช้คลองร่วมโดยไม่ต้องจ่ายค่าบริการใดๆให้แก่สหรัฐฯ ข้อบัญญัตินอกเหนือจาก 4 ข้อนั้น ได้เอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายสหรัฐฯทั้งหมด ทั้งนี้สหรัฐฯยังได้ขอเช่าพื้นที่ขยายโดยรอบข้างคลอง อีก ในระยะ 5 ไมล์ โดยจ่ายให้รัฐบาลปานามาเป็นเหรียญทองคำ ซึ่งมีมูลค่าเป็นจำนวนเงินถึง 10 ล้านดอลล่าร์ โดยยังต้องจ่ายเงินภาษีต่อปีเพิ่มอีก 250,000 ดอลล่าร์ อีก 9 ปี นับจากวันที่เปิดใช้คลอง ถึงแม้ปานามาจะได้เงินมากมายมหาศาลก็ตาม แต่จากสนธิสัญญาดังกล่าวซึ่งเอื้อประโยชน์ให้สหรัฐฯอย่างมาก สร้างความขุ่นเคืองให้แก่ชาวปานามา โดยเฉพาะข้อบัญญัติที่ 22 ซึ่งว่าด้วยการเกิดกรณีพิพาทใดๆก็ตาม สหรัฐฯสามารถส่งกำลังทหารเข้าควบคุมพื้นที่ ที่ระบุไว้ว่าเป็นเอกสิทธิ์เหนือดินแดนตามสนธิสัญญาได้ทุกเมื่อ เล่นเอาชาวปานามาอึ้งกันทั้งประเทศ ต่อข้อตกลงที่มีแนวโน้มหยามเกียรติอธิปไตย และบั่นทอนเสถียรภาพในการบริหารจัดการคลองด้วยตนเอง อีกทั้งความขัดแย้งแตกต่างทางด้านชนชั้น และเชื้อชาติในพื้นที่อันเป็นสิทธิ์ของสหรัฐฯ ที่มีเค้าลางความบาดหมาง ซึ่งชาวยุโรปที่ย้ายเข้ามาพักอาศัยในย่านนี้ มองชาวพื้นเมืองเจ้าของบ้านด้วยสายตาไม่ค่อยจะเป็นมิตรเท่าใดนัก แต่รัฐบาลปานามาก็จำต้องรับและให้สัตยาบันตามข้อตกลงระหว่างกัน ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงของสนธิสัญญาดังกล่าว มีเพียงโคลัมเบียเท่านั้นที่คัดค้าน และมิยอมรับในเอกราชของปานามาด้วย จนสหรัฐฯเองต้องเอาเงินยัดปากให้รัฐบาลโคกำลังเพลียเสียเลย เพื่อให้ยอมรับสิทธิ์ของสหรัฐฯเหนือคลองปานามา ยินยอมให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาและเอกราชของปานามา ด้วยเงินจำนวน 25ล้านดอลล่าร์ รัฐบาลโคลัมเบียจึงค่อยๆสงบปากสงบคำในที่สุด (สหรัฐฯจ่ายเงินให้โคลัมเบียในปี ค.ศ.1921 ตามสนธิสัญญา the Thomson–Urrutia  เงินที่สหรัฐฯจ่ายให้รัฐบาลโคลัมเบียเพื่อยอมให้สัตยาบันจำนวน 25ล้านดอลล่าร์นั้น ก็เป็นเงินก้อนเดียวกันที่สหรัฐฯเคยปรับค่าปฏิกรณ์สงคราม จากกรณีที่โคลัมเบียแทรกแซงปานามาเมื่อก่อนนั้น จำนวนเงิน 25 ล้านดอลล่าร์เช่นกัน สรุป สหรัฐฯไม่ได้เสียเงินให้โคลัมเบียเลยแม้สักเหรียญเดียว)


ดังนั้น ในวันที่ 4 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1904 สหรัฐฯจึงได้เข้าควบคุมดำเนินโครงการอย่างเป็นทางการ โดยส่งนายช่างวิศวกรและนายแพทย์ทหารเข้าสำรวจพื้นที่ เพื่อเริ่มโครงการสร้างคลองตัดเข้าประเทศปานามาอีกครั้ง โดยได้ขอซื้อเครื่องมือจักรกลหนักสำหรับการขุดเจาะ (Culebra Cut) ต่อจากบริษัทเก่าของฝรั่งเศส ด้วยจำนวนเงิน 30 ล้านดอลล่าร์ และซื้อรถไฟและเส้นทางเดินรถสำหรับบรรทุกจากปานามาด้วยเงิน 40 ล้านดอลล่าร์ .....ก่อนลงมือขุดคลองใหญ่ตัดเข้าปานามานั้น ทางสหรัฐฯได้ศึกษาถึงความล้มเหลวต่อโครงการของฝรั่งเศส ทั้งยังให้กระทรวงสงครามเข้ามากำกับดูแลเรื่องการทุจริต อีกทั้งพิจารณาถึงข้อจำกัดทางกายภาพด้านภูมิศาสตร์เกี่ยวกับระดับน้ำทะเล และทางคณะวิศวกรสหรัฐฯเองได้เตรียมความพร้อมสำหรับเรื่องนี้ไว้อย่างดี และสาเหตุแห่งความล้มเหลวอีกอย่างหนึ่งคือ โรคภัยไข้เจ็บ ทางสหรัฐฯได้ส่งคณะนายแพทย์ทหาร นำโดยพันเอก วิลเลียม ซี. กอร์กัส ลงพื้นที่ โดยดร.กอร์กัส ดร. คาลอส ฟินเลย์ และ ดร. วอร์เตอร์ รีส ได้ศึกษาแผนงานและเฝ้าสังเกตถึงระบบกายภาพ ภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมซึ่งเอื้ออำนวยต่อการป่วย หรือการแพร่กระจายระบาดของเชื้อโรค ไม่นานนักเขาจึงพบสาเหตุของอาการป่วยของแรงงานนั้นมาจากยุง หรือ หนูรวมถึงสัตว์อันเป็นพาหะนำโรคอื่นๆ ซึ่งมีอยู่อย่างชุกชุมในป่าแห่งนี้ คณะแพทย์ทหารอเมริกันจึงฟันธงว่า สาเหตุของอาการป่วยและเสียชีวิตอย่างประหลาดของแรงงานจากเจ้าสัมปทานเดิม ไม่ใช่ฝีมือผีปอบ หรือ ผีแม่ม่าย อย่างที่คนงานของบริษัทฝรั่งเศสเข้าใจผิดแน่นอน
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
.....ดังนั้นกลุ่มนายแพทย์ประจำศูนย์สุขาภิบาลในโครงการ จึงเริ่มทำการตัดถางพงหญ้า ถมดินในที่เป็นแอ่งน้ำ เพื่อทำลายระบบวงจรชีวิตลูกน้ำยุงสายพันธุ์อันตรายต่างๆ ทั้งยังสั่งคนงานให้ทำการล้อมที่พักอาศัยด้วยตาข่ายมุ้งลวด และสั่งกักบริเวณและแยกบุคคลซึ่งป่วย ตรวจคัดผู้คนที่เดินทางผ่านมายังคลองปานามาเพื่อหาหรือตรวจคัดแยกผู้ป่วยออก ครั้งแรกกลุ่มนายแพทย์ประจำศูนย์ถูกมองว่าบ้า แต่เมื่อการปฏิบัติดังกล่าวนั้นสามารถลดจำนวนผู้ป่วย และการเสียชีวิตจากไข้ป่าได้อย่างเห็นผล ซึ่งใช้เวลาทั้งหมดเกือบ 2 ปี มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุและอาการป่วยด้วยโรคมาลาเรีย ไข้เหลือง หรือโรคอื่นๆ เพียง 5,600 คนเท่านั้น ระหว่างนี้เองที่ได้เริ่มการสร้างที่อยู่อาศัย, โรงอาหาร, โรงแรม, ระบบน้ำ, ร้านซ่อมโกดังและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่จำเป็นและถูกสุขลักษณะ เพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้าร่วมลงทุนกับโครงการเพ้อฝัน ที่วันหนึ่งมันจะกลายเป็นหนึ่งในแปดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในอนาคต.....

.....ในขณะที่การดำเนินงานด้านสุขาภิบาล ปราบยุงร้ายและสัตว์พาหะนำโรคต่างๆ ได้ดำเนินมาถึงช่วงปี 1905 - 1906 ทางฝ่ายวิศวกรรมเองก็ได้ลงมือสำรวจพื้นที่เพิ่มเติม ตามคำทัดทานจากวิศวกรชาวฝรั่งเศส ที่เคยกล่าวไว้ว่าในช่วงฤดูฝนนั้น เป็นช่วงเวลาที่ทางบริษัทเจ้าสัมปทานเก่าฝรั่งเศส มักประสบกับปัญหาน้ำท่วมไหลบ่าเข้ามายังพื้นที่ปฏิบัติงาน และยากต่อการดำเนินการก่อสร้าง แต่ด้วยเครื่องมือที่มีความทนทานทันสมัย และเหล่าวิศวกรสหรัฐฯ ซึ่งเป็นนายทหารเกือบทั้งคณะรวมถึงวิศวกรเดิมจากฝรั่งเศสและชาวญี่ปุ่นบางส่วน ได้ร่วมวางแผนจัดการปัญหาเหล่านี้ ด้วยวิธีการจัดทำระบบคั้นน้ำ ด้วยประตูขนาดใหญ่ สำหรับล็อคเพื่อเพิ่ม หรือ ลดระดับน้ำที่จะไหลผ่านคลองปานามา และมันก็ออกมาได้ผลเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างมาก เพราะด้วยวิวัฒนาการในด้านเทคโนโลยีวิศวกรรม ในช่วงคริสต์ศตวรรษ ที่ 19 นั้น เป็นช่วงที่โลกมนุษย์เราเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมต่างๆ และ ความก้าวหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้ มันรวมไปถึงวิวัฒนาการทางทหาร ที่เปลี่ยนจากการใช้ เรือกลไฟ ดาบ โล่ ปืนยาว ไปเป็นปืนกลอัตโนมัติ เครื่องบินปีกสองชั้น รถเหล็กขนาดมหึมา เรือเหล็กแล่นฉิว ที่ไม่ว่าจะแล่นไปทิศทางใด ก็มีโอกาสชนเข้ากับสนามทุ่นระเบิดน้ำตื้น,น้ำลึก และ หมอกควันประหลาดที่ทำให้มนุษย์และสัตว์ตายเอาได้ง่ายๆ ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะความขัดแย้งที่ซับซ้อนเรื่องจักรวรรดิ การฝักใฝ่พรรคพวก ผลพวงการปฏิวัติที่ฝรั่งเศส สร้างความตึงเครียดให้จักรวรรดิทั้งหลาย ต่างเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมทางทหารอย่างอุกฤษฏ์ แต่สิ่งที่สวนทางกันกับวิวัฒนาการที่กล่าวมานี้ กลับเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ วิธีการ หรืออุปกรณ์ที่จะช่วยรักษาชีวิต กลับไม่ได้รับการพัฒนาเลยแม้แต่น้อย ดังนั้น เมื่อการทหารและการแพทย์ไปด้วยกันไม่ได้ มหาโศกนาฏกรรมที่คร่าชีวิตมนุษย์ และสัตว์เป็นล้านๆชีวิต ก็อาจจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ ในขณะที่โลกภายนอกเริ่มทวีความร้อนระอุ ด้วยเค้าลางแห่งไฟสงครามใหญ่ที่ลามแผ่ไปทั่วยุโรป แต่วิวัฒนาการของคลองเล็กๆในปานามา กลับดูเชื่องช้าไปบ้าง โอกาสที่คลองเล็กๆจะเติบโตเป็นคลองขนาดใหญ่ที่น่าอัศจรรย์ใจ ขึ้นอยู่กับระยะเวลา กระแสน้ำขึ้นและลงตามแรงเหวี่ยงของดวงจันทร์เท่านั้นเอง
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
ลุ ถึงปี คริสต์ศักราช 1914 ในวันที่ 28 มิถุนายน ข่าวคราวการลอบปลงพระชนม์ "อาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์แห่งออสเตรีย" ลอยลมทะเลโบกมาแต่ไกล กลุ่มจักรวรรดิซึ่งเป็นพันธมิตร และศัตรูทั้งหลายซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อหลายทศวรรษก่อนถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องทันที ดังนั้น ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ มหาอำนาจทั้งหลายจึงอยู่ในภาวะสงคราม และความขัดแย้งได้ลุกลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วผ่านอาณานิคมต่าง ๆ ในขณะที่การก่อสร้างคลองปานามาเอง ก็จวนจะแล้วเสร็จ ทุกคนผู้มีส่วนร่วมในการก่อสร้างคลอง ต่างเร่งดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จทันก่อนมหาสงครามครั้งใหญ่จะปะทุขึ้น เพราะคลองปานามาแห่งนี้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างมาก จนแล้วจนรอดสงครามใหญ่ที่ใครๆก็ต่างวิตกกันก็ปะทุขึ้นจนได้ ในวันที่ 28 กรกฎาคม ความขัดแย้งเปิดฉากขึ้น เมื่อเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี รุกรานเซอร์เบีย ตามด้วยการรุกรานเบลเยียม ลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส และการโจมตีเยอรมนีโดยรัสเซีย หลังการบุกโจมตีห้ำหั่นกันทั้งสองฝ่าย ชะงักลงที่แนวรบด้านตะวันตก ด้วยแนวสนามเพลาะ แต่ในขณะที่สงครามคงดำเนินอยู่นั้น ฝ่ายสหรัฐฯเองก็มิได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด คงสงวนท่าทีไว้เพราะงบประมาณมหาศาลถูกทุ่มไปยังคลองปานามา และคลองนี้อาจเป็นกุญแจซึ่งสามารถพลิกสถานการณ์ความได้เปรียบ เพราะสหรัฐฯเองนั้น มีกองเรือที่เข้มแข็งไม่เป็นรองใครอยู่แล้ว จนในที่สุดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1914 คลองปานามาก็ถูกเปิดใช้อย่างเป็นทางการ และสามปีต่อจากนี้ในวันที่ 17 เมษายน ปี 1917 รัฐบาลปานามานำโดย ปธน.วาลเดส( Ramón Maximiliano Valdés) ได้ออกแถลงการณ์ถึงวิกฤตการณ์อันเลวร้ายที่สุดในโลก ซึ่งมีผลต่อเสรีภาพของปานามาและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งเหล่ามวลประเทศพันธมิตรทั้งหลาย ต่างต้องผจญต่อภัยสงครามอันเลวร้ายครั้งนี้ ประชาชนชาวปานามาทุกคนเองจำต้องเตรียมพร้อมเข้าสู่สงคราม ก็เพื่อผดุงไว้ซึ่งศรัทธาแห่งเสรีภาพ จากนั้นปานามาและสหรัฐฯ ก็กอดคอกันกระโจนเข้าสู่สงครามโลกอย่างเต็มตัว
บุคคลผู้กระโจนเข้าสู่สงคราม อุปมาดั่ง บุคคลนั้น ได้ก้าวล่วงลวดหนามแห่งความตายแล้ว
ผลแห่งมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่ว่าจักรวรรดิใดจะล่มสลาย หรือ ประเทศใดได้เกิดขึ้นใหม่ ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ใด จะได้ลิ้มรสกระสุนปืนแรงสูง หรือได้อบแก๊สพิษที่หนาเป็นหมอกทึบเป็นครั้งแรกก็ตาม สิ่งเหล่านั้นอาจคงไม่สำคัญ เท่ากับสิ่งที่หลงเหลือจากสงคราม ที่กลับเป็นประวัติศาสตร์อันน่าเจ็บปวด เมื่อมนุษย์นั้นสามารถกระทำกับมนุษย์ด้วยกันอย่างป่าเถื่อน และทารุณ หากพระเจ้าพระองค์ใดนั้นมีอยู่จริง พระองค์คงมิได้ทรงหลั่งน้ำตาให้เราหรอก เพราะเราเลือกที่จะหลั่งเลือดสังเวยอัตตาของพวกเราเอง สิ่งเดียวที่ดีที่สุดของการเยียวยาบาดแผลสงคราม คือเรียนรู้อย่าให้สิ่งนี้เกิดขึ้นมาอีกแต่......มันก็เกิดขึ้นมาอีกจนได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่