หมอมินบานเย็น รีวิวเรื่อง "ดาว" ในคีตราชนิพนธ์ เอามาแบ่งปันครับ (สปอยล์หนักมาก)

‎ความฝันอันสูงสุดของเด็กคนหนึ่ง‬

จะผู้ใหญ่หรือเด็กก็มีความฝัน

ความฝันของเด็กคนหนึ่ง อาจจะไม่ใช่ของสิ่งของ ของเล่นที่มีราคา แต่อาจจะเป็นการที่พ่อแม่ มองเห็นคุณค่า ภูมิใจและยอมรับในความเป็นตัวตนของเขา

เมื่อคืนนี้ เป็นครั้งแรกที่หมอได้ดูภาพยนตร์ชุด คีตราชนิพนธ์ มีความประทับใจกับทุกๆตอน จึงอย่างมาแบ่งปันประเด็นที่ตัวเองได้รับกับคนอ่านของหมอทุกคน สำหรับโพสต์นี้หมอจะเขียนถึงเรื่อง "ดาว" ที่เหลืออีกสามตอนจะค่อยๆทะยอยเขียน

ข้อความข้างล่างนี้มีสปอยล์เนื้อหาของหนัง

.

สำหรับหนึ่ง เด็กชายวัยประถมต้นคนหนึ่ง ดูเหมือนว่าความฝันอันสูงสุดของเขา ก็คือการได้เป็นตัวแทนโรงเรียนในการเชิญธงชาติในวันพ่อแห่งชาติ ที่กำลังจะมาถึง

พ่อของหนึ่ง เป็นทหาร ต้องทำงานและไม่ค่อยได้กลับบ้าน แต่วันพ่อปีนี้ พ่อสัญญาว่าจะลางานมาเพื่อร่วมงานวันพ่อ ทั้งหนึ่งและหนุ่ย(น้องชาย)ดีใจและตื่นเต้นมาก ทั้งคู่ต่างก็เฝ้ารอวันพ่อของปีนี้

เมื่อคุณครูประกาศหาตัวแทนมาเชิญธงชาติในวันพ่อ หนึ่งจึงไม่ลังเลที่จะลงสมัครแต่นอกจากเขาแล้ว ก็มีเพื่อนอีกคนคือยศกร ซึ่งอยากจะเชิญธงชาติด้วย ครูจึงคิดวิธีตัดสินว่าจะให้ใครได้เชิญธงชาติ ด้วยการใช้ชาร์ตทำความดี โดยถ้าใครทำความดีหนึ่งครั้งจะได้สติ๊กเกอร์ดาวหนึ่งดวง สะสมไปจนถึงวันพอ ใครที่ได้สติ๊กเกอร์ดาวมากที่สุดก็จะได้เชิญธงชาติ หนึ่งตั้งใจมากว่าจะได้เชิญธงชาติ

วันหนึ่งแม่ก็ถามว่าเพราะอะไรจึงอยากจะเชิญธงขนาดนี้ แต่หนึ่งไม่ตอบ หนึ่งเหมือนมีความต้องการลึกๆบางอย่าง ที่เก็บเอาไว้

เด็กทั้งคู่พยายามแย่งกันทำความดี เพียงเพื่อจะได้ดาว เช่น ยกสมุดไปไว้ในห้องพักครู สอนเพื่อนๆเตะบอล หนึ่งก็ทำไม่ค่อยได้ดีเท่าไหร่ อย่างเตะบอลก็ไปโดนกระจกแตก ทำให้ครูว่า ส่วนยศกรให้แม่ทำกล้วยบวชชีมาให้เพื่อนและคุณครูทานกัน หนึ่งจึงอยากจะทำบ้าง แต่พอไปบอกแม่ ให้แม่ทำพิซซ่ามาให้เพื่อนที่โรงเรียน แม่กลับถามหนึ่งว่า

"ทำไมจึงคิดว่าการทำความดี คือการเอาของไปแจกคนอื่น"

แม่บอกว่าความดีจะทำอะไรก็ได้ กวาดบ้านอย่างที่พี่ข้างบ้านทำนั่นก็เป็นความดีแล้ว อย่างการทำความสะอาดโรงเรียน ก็เป็นการทำความดี

หลังจากที่คุยกับแม่ วันต่อมาทั้งหนึ่งและยศกรก็แข่งกันเก็บขยะที่โรงเรียน จนเมื่อครูนับคะแนน พบว่าทั้งหนึ่งและยศกรได้ดาวเท่ากัน

จนวันก่อนหน้าวันพ่อมาถึง หนุ่ยน้องชายของหนึ่ง ก็เสนอว่าให้หนึ่งเอาขยะในถังขยะที่โรงเรียนไปให้คุณครูดูซัก 10 ชิ้น ก็จะได้ 10 ดาว แบบนั้นก็น่าจะชนะแน่ๆ แต่หนึ่งก็ตัดสินใจไม่ทำเพราะคิดว่ามันไม่ถูก ถึงอยากเชิญธงชาติแค่ไหน เขาก็ไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นคนขี้โกง

สุดท้ายหนึ่งก็ไม่ได้เชิญธงชาติ พ่อที่มางานวันพ่อ ถามคำถามที่ทำให้หนึ่งสะอึกว่า

"ไหนว่าจะได้เข้าเชิญธงชาติไงลูก พ่อก็รอดูอยู่"

อยู่ดีๆ หนึ่งก็ร้องไห้

เมื่อพ่อถามว่า ร้องไห้ทำไม หนึ่งตอบว่า

"ผมแค่อยากทำอะไรให้พ่อภูมิใจในตัวผมบ้าง
ผมสัญญากับพ่อว่าจะเรียนให้เก่งแต่ผมก็สอบไม่ได้ที่ 1
ผมจะเป็นนักฟุตบอล ผมก็เล่นฟุตบอลไม่ได้เรื่อง
เชิญธงชาติแค่นี้ ผมยังทำไม่ได้"

แต่คำตอบของพ่อก็ทำให้ความรู้สึกของหนึ่งเปลี่ยนไป

"ไม่เป็นไรหรอกลูก ทำดีที่สุดแล้วนะ หนุ่ยเล่าให้พ่อฟังแล้วว่า หนึ่งไม่ยอมเก็บขยะที่หนุ่ยทำหกไว้ให้ เลยอดได้10ดาวใช่ไหม...
งั้นเอาดาวพ่อไปแทน พ่อภูมิใจในตัวหนึ่งมาก" พ่อพูดพร้อมกับแกะดาวที่ติดบนบ่าชุดเครื่องแบบ เอาไปติดไว้ที่ปกเสื้อของหนึ่ง

แล้วทั้งหนึ่งและพ่อก็ยิ้มให้กัน

.

จริงๆแล้วความฝันอันสูงสุดของหนึ่ง ไม่ใช่การที่ได้เชิญธงชาติ แต่คือ การที่พยายามเป็นลูกชายที่พ่อภูมิใจ ถึงจะเรียนไม่ได้ที่หนึ่ง เล่นฟุตบอลไม่เก่งเหมือนน้องชาย หนึ่งตั้งใจว่า การได้เชิญธงชาตินี่แหละ ก็คงทำให้ตัวเองมีอะไรดีๆให้พ่อเห็น และภูมิใจบ้าง

ส่วนความฝันอันสูงสุดของพ่อก็อาจจะไม่ใช่การที่ลูกเรียนเก่ง เล่นฟุตบอลเก่งๆ แต่คือ การเห็นลูกเป็นคนดีและมีความสุข

หมอคิดว่าคำพูดของคำถามของพ่อแม่ก็มีผลกับความคิด ความรู้สึกของลูก เมื่อพ่อเฝ้าถามแต่เรื่อง เรียน อย่างเวลาที่พ่อโทรมาคุยกับหนึ่ง สิ่งที่พ่อต้องถามทุกๆครั้ง ก็คือ "ผลสอบออกหรือยัง สอบได้ที่1หรือเปล่าลูก" หนึ่งจึงคาดว่าพ่อคงอยากให้ตัวเองสอบได้ที่1 ทั้งที่จริงก็อาจจะไม่ใช่แบบนั้น พ่อก็อาจจะแค่ถามด้วยความเป็นห่วง อะไรแบบนั้น

.

สิ่งที่หมอชอบมากในภาพยนตร์เรื่อง "ดาว" ก็คือ ถึงแม้ว่าเด็กอย่างหนึ่งจะมีความต้องการจะเชิญธงชาติแค่ไหนเพื่อที่จะทำความฝันให้เป็นจริง แต่หนึ่งก็ไม่ยอมให้ตัวเองทำในสิ่งที่ผิด ไม่ยอมขี้โกงเพื่อจะได้ในความต้องการของตัวเอง แม้ว่าหนึ่งจะเป็นเด็กเล็กๆ แต่หนึ่งก็มีบางอย่าง ที่ผู้ใหญ่บางคนขาดแคลน นั่นก็คือ คุณธรรมจริยธรรม

ในสังคมที่มีการแก่งแย่งชิงดี แข่งขัน บางครั้งการหลงไปสู่ด้านมืด เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการเป็นเรื่องที่ทำง่าย เพราะการทำความดีนั้น ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตัวเองนาน

เหมือนพระราชดำรัสของในหลวง ความว่า

"การทำความดีนั้นยาก และเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ ความชั่วที่ทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูกขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่ละคนจึงต้องตั้งใจและเพียรพยายามให้สุดกำลัง ในการสร้างเสริมและสะสมความดี"

ขอให้ทุกคนจงหนักแน่นในความดีงาม ถ้าผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ การเป็นแบบอย่างนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก เพราะเด็กจะเรียนรู้จากสิ่งที่เห็นจากผู้ใหญ่ มากกว่าคำสอนที่ออกมาเป็นคำพูด

‪#‎หมอมินบานเย็น‬


ที่มา https://www.facebook.com/kendekthai/photos/a.468916916480833.98758.468898189816039/1001557313216788/?type=3&theater
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่