ดื่มแล้วขับ...นับเป็นฆาตกร สร้างสำนึก ทุกเทศกาลปลอดภัย

ดื่มแล้วขับ...นับเป็นฆาตกร สร้างสำนึกปีใหม่ปลอดภัย


ภาพgoogle
“ต้องอยู่ในห้องไอซียู 3 เดือน แม่ต้องลาออกจากงานมาดูแล เพราะผมช่วยตัวเองไม่ได้ กะพริบตา เอียงคอได้นิดหน่อย กว่าจะนั่งรถเข็นคล่องใช้เวลาถึง 5 ปี” สันห์ สอนรักษ์ ผู้ประสบเหตุจากคนดื่มเมาแล้วขับ บอกเล่าถึงอุบัติเหตุที่ประสบกับชีวิต ในช่วงใกล้วันปีใหม่ ตอนนั้นยังเป็นนักศึกษาฝึกงานด้านวิศวกรรม ระหว่างขับรถมอเตอร์ไซค์ขับจากกรุงเทพฯกลับบ้านที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ระหว่างขึ้นสะพานมีรถกระบะตามหลังเปิดเพลงเสียงดัง ดื่มสุรามาทั้งคันรถมีการส่งจากกระบะท้ายรถให้คนขับ รถกระบะขับจี้เมื่อมาถึงทางลงสะพานทางโค้ง

ระหว่างที่รถมอเตอร์ไซค์ที่ขับชะลอตัว แต่รถกระบะยังไม่ลดความเร็วทำให้รถกระบะชน ตัวเขาได้รับแรงกระแทกไปกับราวสะพาน ศีรษะยุบตัว กระดูกแตกทับเส้นประสาทไขสันหลัง ได้รับความพิการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปรากฏว่าคนขับหนีไป ตอนนั้นอายุ 19 ปี พ่อเป็น ตร.แต่ไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เพราะอายุเกิน ปัจจุบันพ่อหาเลี้ยงครอบครัวคนเดียว

“ฝากไว้ว่า ท่านสามารถมาพิการอย่างผมได้ แต่ผมไม่สามารถกลับมาเป็นปกติอย่างท่านได้อีก ผลของการดื่มแล้วขับเป็นการไม่รับผิดชอบต่อสังคม เพราะการดื่มแล้วขับนับเป็นฆาตกร นั่นคือคุณทำให้เกิดผลเสียกับคนคนหนึ่ง สิ่งที่ได้รับคือ เจ็บ พิการ เท่ากับชีวิตหนึ่งและรุนแรงกว่านั้นคือเสียชีวิต ชีวิตคนหนึ่งกว่าจะเติบโตขึ้นมาได้อย่างมีคุณภาพนั้นเป็นสิ่งที่ยาก แต่ต้องมาได้รับผลกระทบจากคนดื่มแล้วขับ กลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิต มันไม่ใช่แค่ฆ่าคุณคนเดียว แต่คุณได้ฆ่าคนทั้งครอบครัว” เหยี่อของคนเมาแล้วขับร้องขอ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ได้ประสานความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน ร่วมผลักดันให้เกิดกระแสสังคมร่วมใจกันป้องกันพฤติกรรมการขับขี่ ด้วยการรณรงค์ “ดื่มแล้วขับ นับเป็นฆาตกร”

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่าองค์การอนามัยโลกได้เปิดเผยข้อมูลประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิต 36.2 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน สูงเป็นอันดับสองรองจากลิเบียที่เสียชีวิตถึง 73.4 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน นอกจากนี้สถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ย้อนหลัง 5 ปี (2554-2558)พบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 15,937 ครั้ง บาดเจ็บ 16,916 ราย และเสียชีวิต 1,786 ราย และเทศกาลปีใหม่ 2558 ระหว่างวันที่ 30 ธ.ค. 57-5 ม.ค. 58 เกิดอุบัติเหตุทางถนน 2,997 ครั้ง เสียชีวิต 341 รายและบาดเจ็บ 3,117 คน สาเหตุหลักคือ เมาสุราสูงถึงร้อยละ 37.3 คน

เทศกาลหยุดยาวปีใหม่นี้มาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาลประกาศทำตามกฎหมายขั้นเด็ดขาดหากพบคนขับรถเมาแล้วขับในถนนสายหลักและสายรอง ตามคำสั่ง คสช. จะขอยึดรถและใบอนุญาตขับขี่ไว้ก่อน และจะเอาผิดผู้ทำผิดตามกฎหมายต่อไป

นายนนทจิตร เนตรพุกกณะ ผู้อำนวยการกองกิจการชุมชนและบริการสาธารณะ กรมคุมประพฤติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตัวเลขของผู้ถูกดำเนินคดีเมาแล้วขับไม่มีแนวโน้มลดลง เสมอตัวทั้ง ๆ ที่มีมาตรการจำกัดอิสรภาพ คนที่เมาแล้วขับเมื่อศาลตัดสินต้องมารายงาน และทำงานบริการสังคมตามศาลสั่ง จากการเก็บข้อมูลคนที่ถูกดำเนินคดีมักเป็นลูกค้าหน้าใหม่ แต่คนที่ถูกตัดสินแล้วไม่กลับมาอีกเพราะเริ่มเข็ด เพราะเรามีมาตรการช็อกด้วย ให้ลองไปอยู่ในที่มืดจำลองชีวิตให้เป็นผู้พิการตาบอด ให้คนทำผิดรู้สึกว่าเมาแล้วขับทำให้เกิดความพิการ

นายสุรสิทธิ์ ศิลปงาม ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวเสริมว่า คนดื่มแอลกอฮอล์ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม ปัจจุบันมีทางเลือกหากดื่มแอลกอฮอล์แล้วสามารถใช้บริการบริษัทรับจ้างขับรถให้คนเมา ขณะนี้มีผู้ให้ความสนใจมาก ในช่วงแรกที่เปิดบริการ มีคนใช้บริการเสาร์อาทิตย์วันละ 20 คน แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 600 คน นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ที่มีโครงการรับส่งคนเมากลับบ้านสามารถโทรฯไปใช้บริการได้ หรือการเลือกใช้บริการรถสาธารณะแท็กซี่ เป็นต้น

หากพบคนดื่มแล้วขับมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและควบคุมความประพฤติ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ถูกคุมประพฤติให้พักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือนและทำงานบริการสังคม

ร่วมสร้างสำนึกไทย “เมาไม่ขับ” เพราะคุณเสี่ยงต่อการเป็นฆาตกร. http://www.dailynews.co.th/article/369717
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่