….เมื่อระยะทางระหว่าง “กรุงเทพฯ” กับ “ชนบท” เริ่มสั้นและแคบลงมา....

หลังการล่มสลายของอาณาจักรสุโขทัยแล้วถูกอยุธยาค่อยๆ กลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรแห่งอยุธยาแล้ว   สถานะของสุโขทัยในระยะแรกก็คือประเทศราช  การขยายอาณาจักรของอยุธยากว้างขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รูปแบบการปกครองของอยุธยาต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย     อยุธยาได้ให้ความสำคัญต่อหัวเมืองต่างๆ ที่อยู่นอกวงราชธานี(หรือจะใช้ภาษาชาวบ้านก็คือ “ชนบท”นั่นแหละครับ)เป็นอย่างมาก   เพราะยังหวังพึ่งหัวเมืองเหล่านี้ยามศึกสงครามและภาษีท้องถิ่น   จะเห็นได้จากการส่งพระราชโอรสชั้น “เจ้าฟ้า” ไปปกครองหัวเมืองเอก  หรือที่เรียกว่าเมืองลูกหลวง  และยังมีหัวเมืองรองลงมาอีกเช่นหัวเมืองชั้นโทหรือเมืองหลานหลวงเป็นต้น   การปกครองในรูปแบบนี้  จะเห็นว่า “ระยะห่าง” ในด้านความรู้สึกระหว่างประชากรของเมืองหลวงและเมืองลูกหลวง เมืองหลานหลวงไม่กว้างและไม่ไกลกันมากมายนัก(ตรงนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมล้วนๆ นะครับ: vajaranon)



การปกครองในรูปแบบเมืองลูกหลวง หลานหลวง และประเทศราช หยุดชะงักลงไปถึง 15 ปี   และเมื่อได้รับอิสระภาพจากพม่าสมเด็จพระณเรศวรทรงทำการปฏิรูปใหม่   โดยส่งขุนนางระดับเจ้าพระยาไปปกครองหัวเมืองรอบนอกแทนเชื้อพระวงศ์ซึ่งตรงนี้จะมีการทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา   มุมมองส่วนตัว  ผมเห็นว่า “ระยะห่าง” ระหว่างส่วนกลางกับชนบทเริ่มขยายขึ้นและขุนนางเริ่มมีอำนาจและอิทธิพลมากขึ้น (จะเห็นว่าอยุธยาตอนกลางและตอนปลาย  จะมีการช่วงชิงอำนาจและประลองอำนาจกันระหว่างราชสำนักกับขุนนางอยู่บ่อยครั้ง)  มองอีกในมุมหนึ่ง   ในยามที่ราชสำนักเข้มแข็ง   การส่งขุนนางชั้นผู้ใหญ่ออกไปปกครองหัวเมืองชั้นนอกก็ถือว่าเป็นการกำจัดเสี้ยนหนามและภัยต่อราชสำนักไปในตัว  เหมือนอย่างกรณีที่เจ้าพระยาเสนาภิมุขถูกย้ายจากฐานอำนาจในอยุธยาไปปกครองนครศรีธรรมราช    สถานะการปกครองและผู้ปกครอง(เจ้าเมือง)ในรูปแบบนี้ทำให้ระยะห่างระหว่างส่วนกลางกับชนบทห่างไกลกันด้านความรู้สึกขึ้นเรื่อยๆ.....ยิ่งมีพระราชกำหนดกฏมณเฑียรบาลห้ามไม่ให้เจ้าเมืองจากหัวเมืองต่างๆ เดินทางเข้าพระนครโดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต(ฝ่าฝืนคือประหารสถานเดียว)ก็ยิ่งรู้สึกได้ถึงความยาวไกลระหว่างส่วนกลางกับชนบท



รูปแบบการปกครองของอยุธยาถูกปฏิรูปอีกครั้งในรัชสมัยของร.๕ (ตรงนี้ผมนำมาพูดแบบรวมๆ นะครับ  รายละเอียดปลีกย่อยมเยอะกว่านี้)  คำว่า “มณฑล” และ “ปริมณฑล” ถูกนำมาใช้ในเชิงภูมิศาสตร์    สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงร.๕ ทรงหันนำรูปแบบการปกครองแบบเก่ามาปรับปรุง   คราวนี้ พระองค์ทรงแต่งตั้งเชื้อพระวงศ์ไปปกครองหัวเมืองสำคัญต่างๆ (มณฑล)  คงจะด้วยหลายเหตุผล  เช่นว่า  เป็นการลดทอนอำนาจขุนนาง   เป็นการหยุด “ระยะทาง” ด้านจิตใจระหว่างส่วนกลางกับชนบทไม่ให้ขยายไกลไปกว่านี้(จะเห็นว่าช่วงนี้มี “กบฏผีบุญ” ซึ่งมีชาวบ้านเป็นผู้นำเกิดขึ้นบ่อยครั้ง)  และอีกประการหนึ่งคงจะเป็นด้วยการพระราชทานงานให้เหล่าพระอนุชาต่างพระมารดารวมไปถึงพระราชโอรสของพระองค์ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อยด้วย    ซึ่งตรงนี้ก็นับว่าเป็นผลดีหลายส่วนทีเดียว


อย่างไรก็แล้วแต่   การรวบอำนาจการปกครองและการเก็บภาษีท้องถิ่นตามปริมณฑลและมณฑทลมาไว้ส่วนกลางนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นผลดีส่วนมาก    กระนั้นก็ยังมีผล “สะท้อนกลับ”(backfire) ในมุมกลับด้านความรู้สึกเล็กน้อย     นั่นก็คือเมื่อกรุงเทพฯ ได้กลายเป็น “จุดศูนย์กลาง”ของสยามที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน    ประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่หรือปริมณฑลรอบๆ ถูกมอง(จากคนนอกปริมณฑล) และมองตัวเอง(มโน)ว่าเป็นจุดศูนย์กลางของประชากรชาวสยามทั้งหมดไปด้วย    ประมาณว่านอกจากมองว่าตัวเองว่าเด่นแล้วยิ่งคนอื่นๆ มองเห็นว่าเด่นด้วย  ก็ยิ่งส่งเสริมอุปทานตรงนั้นให้พองโตขึ้น    และตรงนี้ได้กลายเป็น “กำแพงด้านจิตใจ” ระหว่างส่วนกลางกับส่วนชนบทอย่างสูงและหนาขึ้นเรื่อยๆ   คนระชั้นสูงระดับเจ้าดารารัศมีพระวรชายาแต่มาจากชนบทยังเคยถูกสาวใช้ในบางกอกมองว่าเป็นลาวโดนปาอุจจาระขึ้นพระตำหนักมาแล้ว   ตรงนี้ก็แสดงให้เห็นถึงดีกรีของการเป็น “จุดศูนย์” กลางของบางกอกและคนบางกอกว่าร้อนแรงขนาดไหนเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว?


ปัจจุบันนี้ “จุดศูนย์กลาง”ที่ว่านี้กำลังถูกทำลายลงอย่างช้าๆ   ไม่ใช่จากน้ำมือของคนที่มองตัวเองว่าเป็นจุดศูนย์กลางและไม่ใช่จากน้ำมือของคนที่อยากให้จุดศูนย์กลางนี้หายไป   แต่เป็นน้ำมือของเทคโนโลยี่    เทคโนโลยี่ที่สามารถนำ “จุดศูนย์”กลางหลายๆ อย่างไปที่แห่งหนตำบลใดก็ได้  ไม่ว่าจะการศึกษา  ข่าวสาร  ความรู้  หรือแม้แต่การซื้อสินค้า  และประชากรรอบนอกปริมณฑลก็สามารถปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้ดีอย่างแทบไม่น่าเชื่อ    ต่อไปคงเห็นจะเป็นหน้าที่ของคนที่เคยคิดว่าตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางว่าจะสามารถปรับจูน “อุปทาน” ที่เคยมีให้เล็กลงให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี่สมัยใหม่ได้มากน้อยเพียงไหน?    อย่าให้คนบ้านนอกปรามาสเอาได้ว่า "หลงยุค" ล่ะกันขอรับกระผม ยิ้มยิ้มยิ้ม
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่