สะพานคอมโพสิต สะพาน 2 หอ 3 หอ และ อุโมงค์พระพุทธฉาย

สะพานคอมโพสิต  สะพาน 2 หอ   3 หอ   และ  อุโมงค์พระพุทธฉาย











สะพานสูงทั้ง 3 แห่งนี้ ได้ใช้งานมากว่า 50 ปีแล้ว และต่อมาน้ำหนักกดเพลาของรถจักรก็เพิ่มขึ้น ซึ่งแต่เดิมออกแบบให้รับน้ำหนักกดเพลาเพียง 10.5 ตันต่อหน่วยต่อเพลา แต่พอเมื่อได้เพิ่มน้ำหนักเพลาเป็น 15 ตันต่อหน่วยต่อเพลา จึงมีการพิจารณาตรวจสอบสะพานทั้ง 3 แห่งแล้วปรากฏว่าอยู่ในสภาพที่ไม่น่าจะปลอดภัยนัก ตัวสะพานเหล็กมีอาการล้าตัวและอ่อนตัว การพิจารณาเกี่ยวกับสะพานสูงทั้ง 3 แห่งนี้ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 ได้มีการพิจารณากันหลายครั้งหลายคราว และนำวิธีการต่าง ๆ มาพิจารณาเปรียบเทียบเพื่อให้การปรับปรุงสะพานทั้ง 3 แห่งเป็นไปโดยความเหมาะสมและประหยัด และได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากการรถไฟแห่งชาติญี่ปุ่นที่ได้เอื้อเฟื้อส่งวิศวกรญี่ปุ่นมาช่วยพิจารณาตรวจสอบ และให้คำแนะนำ เมื่อได้หยิบยกวิธีการต่าง ๆ มาพิจารณาทั้งข้อดีและข้อเสียแล้ว จึงได้ตกลงเลือกสร้างและปรับปรุงสะพานทั้ง 3 แห่งดังนี้




1.สะพานหอสูง 5 หอที่ กม. 676 + 754
เนื่องจากสะพานเหล็กเดิมมีสภาพล้าตัวอ่อนแอมาก จึงได้พิจารณายกเลิกใช้สะพานเดิมโดยสิ้นเชิง สร้างสะพานใหม่ขึ้นในแนวทางใหม่ใกล้เคียงสะพานเดิม เป็นสะพานแบบคอมโพสิต (Composite Girder) มีขนาดช่วง 15.00 + (3 + 30.00) + 15.00 เมตร มีตอม่อริมฝั่ง 2 ตอม่อ ตอม่อกลาง 4 ตอม่อ ตอม่อเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กภายในกลวง สะพานแบบนี้ก่อสร้างได้ง่าย สะดวกและมีความแข็งแรงดี ราคาก่อสร้างก็ถูก เป็นการประหยัดงบประมาณได้มาก การบำรุงรักษาก็สิ้นเปลืองน้อยเพราะตัวสะพานเหล็กมีแผ่นคอนกรีตวางปิดอยู่บ้างบน ไม่มีโอกาสถูกฝนหรือน้ำของเค็มจากขบวนรถได้ สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงิน 6,782,000 บาท สะพานแห่งนี้นับว่าเป็นสะพานแบบคอมโพสิต แห่งแรกของการรถไฟ

2.สะพานสูง 3 หอที่ กม. 677 + 903
สะพานแห่งนี้ตัวเหล็กโคงสะพานทั่วไปอยู่ในสภาพดี จุดอ่อนแออยู่ที่ปลายโครงเหล็กยื่น ที่ช่องกลางมีอาการอ่อนตัวมาก จึงได้พิจารณาเพื่อเสริมกำลังความแข็งแกร่งของสะพานนี้ โดยวิธีตั้งเสาหอเหล็กขึ้นใหม่ที่กึ่งกลางสะพาน ขึ้นไปรับปลายโครงการสะพานยื่นที่ช่องกลางทำการเสริมตัวโครงสะพานเหล็กโดยเพิ่มเนื้อที่หน้าตัดให้มีความแข็งแรงขึ้น ส่วนสะพานเหล็กช่วงกลางยาว 9.20 เมตร และสะพานเหล็กช่วงริมยาว 22.00 เมตร ต้องทำการใส่สะพานเหล็กใหม่เข้าแทน

3.สะพานหอสูง 2 หอที่ กม. 678 + 324
มีลักษณะและความอ่อนแอเช่นเดียวกับสะพานสูง 3 หอ การพิจารณาปรับปรุงจึงทำเหมือนสะพาน 3 หอ ค่าบูรณะปรับปรุงเสริมกำลังความแข็งแรงของสะพานสูง 3 หอ และ 2 หอเป็นเงิน 6,290,000 บาท

การดำเนินการสร้างสะพานคอมโพสิต และการบูรณะเสริมกำลังความแข็งแรงของสะพานสูง 3 หอ และ 2 หอ ได้เริ่มกระทำตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2508 เสร็จเรียบร้อย เปิดใช้การได้เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2510 และการเสริมกำลังความแข็งแรงสำหรับสะพานเหล็กขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญแห่งแรกของการรถไฟไทยและได้รับความสำเร็จเรียบร้อยดีทุกประการ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่