….เกณฑ์การตัดสิน “ความดี/คนดี” ในบริบทของการเมืองไทย....

กระทู้คำถาม
ในฐานะที่ได้มีโอกาสบวชเรียนมาบ้าง   ผมจะยึดเอาเกณฑ์และทัศนะคิตของศาสนาพุทธมาอธิบายตรงนี้   และเพื่อเป็นการประหยัดเนื้อที่ผมจะเน้น “ความดีและคนดี” เป็นหลัก   โดยไม่พูดถึง “ความชั่วและคนชั่ว” เพราะอะไรก็แล้วแต่ที่ตรงข้ามกับความดีและคนดีก็คือชั่วนั่นเอง  เชื่อว่าทุกท่านคงเปรียบเทียบเองได้


ผู้ที่ประพฤติความดีย่อมชื่อได้ว่า “คนดี” และความดีมีหลากหลายรูปแบบ  เช่น  จูงคนแก่ข้ามถน  บริจาคทาน  สร้างสะพาน  รักพ่อแม่เพื่อนฝูง   ตั้งใจเรียนหนังสือ  ฯลฯ  เหล่านี้ถือว่าเป็นความหลากหลายของ “ความดี”ในสังคมพุทธของคนไทย   และจริงๆ แล้วความหลากหลายที่ว่านี้ก็มีความเป็นเอกภาพของมัน   คงเหมือน “แม่สี” ที่เป็นต้นตำหรับของสีสันอันหลากหลายล้านๆ สีนั่นเอง   ความดีก็เช่นกัน...แม้จะมีหลากหลาย  แต่เมื่อพยายามรวบและขมวดเข้าเป็นหมวดหมู่   เราก็จะเห็นความดีชัดเจนยิ่งขึ้น  และรวมไปถึงการวาง “เกณฑ์” เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินของกระทำนั้นๆ ว่าดีหรือชั่วอย่างไร?


พระพุทธศาสนาไม่ได้เขียนเกณฑ์การตัดสินความดีความชั่วไว้อย่างตรงไปตรงมาในพระไตรปิฏก   แต่อาศัยพุทธพจน์บ้างและคำสั่งสอนตามสถานที่ต่างๆ บ้าง   ก็สามารถช่วยในการตัดสินความดีความชั่วได้ในระดับที่เรียกได้ว่าสังคมส่วนใหญ่หรือแม้แต่โลกตะวันตกยอมรับได้เลยทีเดียว    พระพุทธศาสนาเชื่อว่าการกระทำที่ชื่อว่า “ดีหรือชั่ว” นั้นต้องเป็นการกระทำที่มีความจงใจหรือเจตนา  และยังเชื่ออีกต่อไปว่าการกระทำที่ใดๆ ไม่มีเจตนาการกระทำนั้นไม่ชื่อว่าดีหรือชั่ว   การกระทำนั้นสามารถแสดงออกได้สามทางคือ  กาย  วาจา  และใจ   โดยทั่วๆ ไป...การกระทำใดๆ ที่เกิดจาก “กุศลมูลจิต” คือจิตอันเป็นกุศลคือคุณธรรมหรือความดีนั่นเอง  ตรงกันข้ามการกระทำที่เกิดจาก”อกุศลมูลจิต” (โลภ  โกรธ หลง อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน)ก็คือความชั่ว   แต่ก็มีบ่อยครั้งที่การกระทำของมนุษย์ซับซ้อนมากกว่านี้  ความซับซ้อนของการกระที่ว่านี้ทำให้เราๆ ท่านๆ ตัดสินใจไม่ถูกว่านั่นดี  นั่นชั่ว ?  ผมจะพยายามอธิบายหลักในวงกว้างไว้ตรงนี้(พยายามให้สั้นที่สุดครับ)  

กระทำบางอย่างที่ไม่สามารถตัดสินได้เด็ดขาดทันทีว่านั่นคือความดีเป็นการกระทำของคนดี ?  เนื่องด้วยเป็นการกระทำที่ซับซ้อนและเข้าใจยาก  ซึ่งผมจึงขอเสนอ “เกณฑ์การตัดสิน” ไว้สองข้อ  นั่นก็คือเกณฑ์การตัดสินหลัก  และเกณฑ์การตัดสินรอง  ทั้งสองเกณฑ์จะไม่ขัดแย้งกันเลย   คือเราจะเอาเกณฑ์หลักเข้าไปตัดสินการกระทำก่อน  ถ้าไม่แน่ใจก็ให้เอาเกณฑ์การตัดสินรองเข้าไปเสริม


เกณฑ์การตัดสินหลัก
ก็คือดูที่ “เจตนา” ว่าการกระทำนั้นอยู่บน โลภ โกรธ หลง อย่างไร?   จากนั้นก็ให้ดูที่ “ผล” ของการกระทำนั้นๆ ว่ายังประโยชน์ เกื้อกูล ต่อชีวิตและจิตใจของตนและคนอื่นอย่างไร?

เกณฑ์การตัดสินรอง
เป็นเกณฑ์การตัดสินหลังจากที่การกระทำนั้นได้สำเร็จไปแล้ว   และเราจะมาดูผลกระทบจาการกระทำต่างๆ โดยอาศัยหลักพิจารณาตามนี้
1. มโนธรรม  คือมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นๆ ได้หรือไม่
2. การกระทำนั้นๆ วิญญูชน  ผู้รู้  และนักปราชญ์เห็นด้วย  ชื่นชม  และติดเตียนอย่างไร?   ซึ่งตรงนี้หมายถึง “กฏหมาย” ด้วย  เพราะกฏหมายเป็นข้อบัญญัติที่ได้ตกลงและเห็นพร้อมต้องกันของผู้รู้  นักปราชญ์ และวิญญูชน  ดังนั้นการกระทำใดๆ ที่ผิดกฏหมายตั้งแต่กฏหมายธรรมดาไปจนถึงกฏหมายรัฐธรรมนูญ  ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับความดี  คือไม่ใช่คนดีแน่นอน
3. พิจารณาลักษณะผลของการกระทำนั้นๆ ต่อตนเองและผู้อื่นว่า  เบียดเบียนตนเอง  เบียดเบียนผู้อื่น  ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนอย่างไร?  เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นในภาครวมอย่างไร?



สรุป  การตัดสินการกระทำใดๆ ว่าดีหรือชั่วให้ดูที่เจตนาและผลของการกระทำนั้นๆ....เพื่อนๆ สมาชิกลองเอากฏเกณฑ์หลักและรองของผมไปวางทาบการกระทำของกลุ่มการเมืองแต่ละฝ่ายกันดู  แล้วตัดสินเอาเอง

ปล.  ถ้าชอบหรือไม่ชอบกด ถุกใจ หรือขำกลิ้งตามสบาย  ขออย่ากดโหวตก็พอ..   ผมเขียนเท่าที่จะคิดได้ (นอนไม่หลับ)   ขอให้ใช้วันเสาร์อาทิตย์ให้คุ้มค่าครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 12
เรื่องของ ความดี ความชั่ว เรื่องของ กรรม (การกระทำ) เป็นเรื่องละเอียดอ่อน หาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ยาก
แต่เคยอ่านในหนังสือ "หลวงพ่อตอบปัญหา"  พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)

ก็เลยนำมาใช้ตอบคำถามนักเรียน เมื่อโดนตั้งคำถามเรื่อง "ความดี" เพื่อให้เด็ก ๆ เข้าใจได้ง่ายขึ้น

ความดี คือ กรรม (การกระทำใด ๆ) ที่ทำแล้ว....
๑.  เรา (ตัวเราเอง) ไม่เดือดร้อน ขุ่นมัว
๒. เขา (ผู้อื่น) ไม่เดือดร้อน ขุ่นมัว
๓. สังคม (ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่) ไม่เดือดร้อน วุ่นวาย สูญเสีย

ผิดที่ข้อใด ข้อหนึ่ง ก็ไม่ถือว่า เป็น ความดีโดยสมบูรณ์ค่ะ
เหมือนจะง่าย แต่ก็ไม่ใช่จะทำได้โดยง่ายนะคะ .... แต่ก็คงไม่ยาก ถ้า..พยายามจะทำ

ไม่ว่าจะเป็น "กฎ"  หรือ  "เกณฑ์"  หากมนุษย์เรามุ่งแต่ข้อที่ ๑ เป็นสำคัญ ละเลยข้อที่  ๒  และ  ๓  ก็คงหาความสงบไม่ได้
ก็คงสอนได้เพียงเท่านี้ เพราะจะให้ละเอียด ลึกซึ้งเข้าถึงแก่นของธรรมมะ บางครั้งก็เป็นเรื่องที่เด็ก ๆ เบื่อหน่ายที่จะทำความเข้าใจ
ยึดหลักที่ "พอจะทำได้" และพยามยามที่จะทำ คงจะดีกว่าในกลุ่มวัยรุ่น วัยร้อนนะคะ

แต่ต้องไม่ลืมว่า "แบบอย่างที่ดี ดีกว่าการสอน"  สังคมยุคปัจจุบันนี้ มี "ตัวอย่างดี" ให้เด็ก ๆ มากแค่ไหน
ก็เป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง คนในครอบครัว และครู ที่จะให้คำแนะนำอย่างเหมาะสม และ "ถูกทาง" ค่ะ

ขอแชร์ความรู้สึก ในแง่มุมของ "ความเป็นครู"  แค่นั้นค่ะ  แง่มุมอื่น ๆ  มิบังอาจ  5555555
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่