หุ้น SPRC

กระทู้สนทนา
หุ้นฮ็อต!!: แฉ SPRC สูบปันผลออกก่อนขาย IPO กว่า 2.6 หมื่นลบ. ล่อรายย่อยปันผลครึ่งปีหลังทั้งที่ขาดทุน  

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย- -9 ธ.ค. 58 14:57 น.

  SPRC กลั่นน้ำตารายย่อย หลังเข้าเทรดต่ำจอง งานนี้ส่งสัญญาณไร้ดีมานด์ตั้งแต่ยกเลิกกรีนชู แต่ยังประกาศปลอบขวัญนักลงทุนด้วยปันผล 100% จากงวดครึ่งหลังปี 58 หลัง ชู dividend Yield สูงเกิน 7% ทั้งที่ยังไม่ชัวร์ว่าจะจ่ายได้หรือไม่ หลังงบไตรมาส 3 ยังขาดทุนกว่า 609 ล้านบาท ขณะที่ราคาน้ำมันขาลงกดความสามารถทำกำไร สืบค้นข้อมูลพบว่ามีการสูบเงินจ่ายปันผลผู้ถือหุ้นเดิมก่อน IPO ไปแล้วกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังต้องจับตาอนาคต SPRC จะยืนด้วยลำแข้งตัวเองในสนามการแข่งขันได้หรือไม่ หลังหมดสัญญาจัดหาและซื้อขายผลิตภัณฑ์จากเชฟรอนและปตท. นับแต่วันแรกที่หุ้นเข้าเทรด  
    
      บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC เป็นหุ้น IPO ตัวล่าสุดที่เข้ามาซื้อขายในกระดาน SET เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา ด้วยราคา IPO ที่ 9 บาท   แต่ทันทีที่เปิดการซื้อขาย ราคาร่วงต่ำกว่าจองทันที โดยปิดเทรดวันแรกที่ราคาโลว์ของวัน 8 บาท ต่ำกว่าจอง 11.11% จนกระทั่งล่าสุดในการซื้อขายวันนี้ แม้ราคาจะรีบาวน์เป็นบวกได้ แต่ก็อยู่ในระดับ 8.05-8.30 บาท ยังไม่พ้นราคาจอง  SPRC ประกอบธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน มีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบ 165,000 บาร์เรลต่อวัน โดยเป็นหนึ่งในโรงกลั่นที่อยู่ในแผนลดสัดส่วนการถือหุ้น ของ ปตท. (PTT) ทำให้หลังจากขาย IPO ปตท. ลดสัดส่วนถือหุ้นเหลือเพียง 5.41% และเชฟรอน เซาท์ เอเชีย โฮลดิ้ง พีทีอี ถือหุ้นใหญ่ราว 60% จากก่อน IPO ถือหุ้น 64%  โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ บล.ฟินันซ่า บล.ภัทร และ บล.บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA)  
     กระแสของ SPRC ส่อเค้าลางที่ไม่สดใส โดยเฉพาะต่อความเชื่อมั่นของรายย่อย ตั้งแต่ก่อนหุ้นเข้าเทรด หลังจากประกาศยกเลิกการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (กรีนชู) ในช่วงการเปิดจองให้นักลงทุนสถาบัน ทั้งๆ ที่ขายหุ้นให้รายย่อยจ่ายเงินไปแล้ว ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าหุ้นไม่เป็นที่ต้องการของตลาดมากพอ อย่างที่ FA คุยอวดไว้ในช่วงนำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุน  และคาดว่านี่จะเป็น 1 เหตุผลที่ทำให้ PTT ยังคงสัดส่วนการถือหุ้นใน SPRC อยู่ 5.41% จากแผนเดิมที่จะขายหุ้นออกทั้งหมด  ด้านผลการดำเนินงานของ SPRC ผันผวนไปตามราคาน้ำมัน โดยปี 56 มีกำไรสุทธิ 3.97 พันล้านบาท ส่วนปี 57 พลิกเป็นขาดทุนสุทธิ 6.36 พันล้านบาท   ส่วน 9 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิ 6.38 พันล้านบาท แต่ส่วนใหญ่เป็นกำไรจากครึ่งปีแรก เพราะไตรมาส 3/58 มีผลขาดทุนสุทธิถึง 609 ล้านบาท  ด้วยผลการดำเนินงานปี 57 ที่ยังขาดทุน ทำให้ SPRC ต้องเข้าเทรดด้วยเกณฑ์มาร์เก็ตแคป  
  
    อย่างไรก็ตามในช่วงนำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุน SPRC ประกาศจูงใจด้วยนโบายปันผลที่มากเป็นพิเศษถึง 95% ของกำไรสุทธิ ที่จะทำได้ในครึ่งหลังปี 58 จากนโยบายปันผล ไม่ต่ำกว่า 50% หลังหักภาระต่างๆ ตามที่กฏหมายกำหนด  คำถามคือ เฉพาะกำไรสุทธิไตรมาส 4/58 จะชดเชยกับขาดทุนจากราคาหุ้น IPO ได้หรือไม่ จากจำนวนหุ้นทั้งหมดหลัง IPO ที่ 4.33 พันล้านหุ้น และไตรมาส 3/58 ยังขาดทุนต่อหุ้นอยู่ 0.15 บาท   และเมื่อเจาะข้อมูลแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) กลับพบว่า SPRC มีการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งส่วนใหญ่คือ PTT และ เชฟรอน รวมกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ดังนี้  

    - การประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2555 และการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 ได้มีมติอนุมัติประกาศจ่ายเงินปันผลจำนวน 16,826.9 ล้านบาท โดยแบ่งจ่ายเป็นสามงวด โดยเงินปันผลงวดแรกจานวน 5,400 ล้านบาทจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2555 เงินปันผลงวดที่สองจำนวน 5,400 ล้านบาท จ่ายภายใน 10 วันหลังจากที่บริษัทฯ ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และเงินปันผลงวดสุดท้ายจำนวน 6,026.9 ล้านบาท จะจ่ายในวันที่ตรงกับ 120 วันนับจากวันแรกที่หุ้น ของบริษัทฯ เริ่มทาการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ   ทั้งนี้ เฉพาะผู้ถือหุ้นเดิมซึ่งมีชื่อปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 เท่านั้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลทั้งสามงวดนี้ โดยจำนวนเงินปันผลเกือบทั้งหมดนี้จะจ่ายให้แก่เชฟรอนและ บมจ. ปตท. โดยผู้ลงทุนที่จองซื้อหุ้น IPO จะไม่มีสิทธิได้รับเงินปันผลนี้แต่อย่างใด 

   -ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 และการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 มีมติอนุมัติให้มีการจ่ายเงินปันผล 1,922.6 ล้านบาท จากกำไรของบริษัทฯ ในปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำการจ่ายเงินปันผลไปเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2558  -ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 และการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 มีมติอนุมัติให้มีการจ่ายเงินปันผล จำนวนทั้งสิ้น 509.3 ล้านบาท จากกำไรสะสมของบริษัทฯ ซึ่งเกิดจากการนาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมาใช้เป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน (functional currency) ในปี 2556 หักกลบด้วยผลขาดทุนของบริษัทฯ ในปี 2557 โดยจ่ายเงินปันผลดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2558  

    - ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ในจำนวนทั้งสิ้นเท่ากับ 7,031.0 ล้านบาท สำหรับกำไรของบริษัทฯ งวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2558 โดยบริษัทฯ ได้ทำการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2558  จึงเป็นเหตุผลที่ SPRC ระบุว่า ผู้ที่ซื้อหุ้น IPO จะได้รับปันผลงวดครึ่งหลังของปีนี้เท่านั้น   "เราจะนำกำไรสุทธิครึ่งหลังปี 58 ปันผลให้กับผู้ถือหุ้นและผู้ที่ซื้อไอพีโอทั้งหมด 100% กำไรสุทธิครึ่งหลังปีนี้จะมากพอและสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างแน่นอน" นายวิชัย ชุณหสมบูรณ์ เจ้าหน้าที่บริหาร และผู้จัดการฝ่ายการเงินและการคลัง SPRC ยืนยัน  สอดคล้องกับที่ปรึกษาทางการเงิน บล.ภัทร ที่ระบุว่าเงินปันผลของ SPRC จะเป็นระดับจูงใจมากพอจะเข้าลงทุนเพราะเมื่อเทียบกับราคาหุ้นที่ร่วงลงไปในวันแรก ซึ่งคิดเป็นอัตราผลตอบแทนสูงกว่า 7%   แต่นักลงทุนต้องไม่ลืมว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/58 ที่ผ่านมา SPRC ขาดทุนสุทธิกว่า 609 ล้านบาท จากการขาดทุนสต็อกน้ำมัน ซึ่งหากราคาน้ำมันยังเป็นขาลงต่อไป ไตรมาส 4 อาจยังต้องลุ้นว่าจะทำกำไรได้หรือไม่   อีกสิ่งที่เป็นจุดขายของ SPRC ที่สร้างความหวังให้ผู้ลงทุนคือ ความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมซึ่งปีนี้ผู้บริหาร SPRC คาดว่าจะมีค่าการกลั่นเฉลี่ยสูงกว่าอุตสาหกรรม โดยคาดว่าปีนี้จะทำได้ราว 10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่โรงกลั่นอื่นทำได้เพียง 5-7 เหรียญ/บาร์เรล   แต่ต้องไม่ลืมว่า ค่าการกลั่นที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ส่วนหนึ่งมาจากการซัพพอร์ตจากผู้ถือหุ้นใหญ่โดยเฉพาะ PTT  ทำให้หลังจากนี้ ยังต้องจับตาว่า SPRC จะสามารถยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้หรือไม่ หากไร้การซัพพอร์ตจากผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะในไฟลิ่งระบุชัดเจนว่า สัญญาที่ทำกับ PTT และ เชฟรอน จะสิ้นสุดลง ทันทีที่หุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์  

    นั่นหมายความว่า ต่อจากนี้ไป SPRC จะซื้อน้ำมันดิบและขายผลิตภัณฑ์ให้กับ PTT และเชฟรอนในราคาที่สะท้อนราคาตลาดมากขึ้น  "ภาพรวมธุรกิจโรงกลั่นยังไม่ดีเพราะราคามันมีซัพพลายมากกว่าดีมานด์ส่วนเกิน ภาวะความต้องการใช้น้ำมันก็ยังต่ำ แนวโน้มราคาน้ำมันโลกยังมีโอกาสปรับตัวลง ซึ่งธุรกิจโรงกลั่นต้องระวังภาวะขาดทุนจากสต็อค ด้านในส่วนภาพรวมของค่าการกลั่นปีหน้าอาจจะลดลงมาเล็กน้อยจากปีนี้ แต่ก็ถือว่าดีกว่าปีก่อนๆ มาก" บล.ทรีนีตี้ วิเคราะห์  ขณะที่โครงการในอนาคตของ SPRC ระบุในไฟลิ่งว่า "ไม่มี" เงินที่ระดมทุนได้ราว 2.09 พันล้านบาท จากหุ้นเพิ่มทุน IPO จำนวน 1.43 พันล้านหุ้น จะใช้ชำระหนี้ และเป็นทุนหมุยเวียนเท่านั้น  ส่วนหุ้น IPO อีก 1.43 พันล้านหุ้น เป็นของ PTT ที่นำออกมาขาย รับเงินเข้ากระเป๋าไปกว่า 2 พันล้านบาท  ย้อนดูในอดีตที่ผ่านมา PTT เคยลดสัดส่วนการถือหุ้นใน BCP ทำให้ต้องดิ้นปรับตัว หาแหล่งน้ำมันดิบจากที่อื่น และต้องซื้อในราคาตลาด เพราะ PTT ไม่ซัพพอร์ตอีกต่อไป   ส่วน ESSO ที่บังเอิญมีราคาขายไอพีโอที่ 9 บาทเช่นกัน ก็เคยจ่ายปันผลในระดับสูงช่วงเข้าเทรดใหม่ๆ แต่สุดท้ายผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง ต้องเร่งหาพันธมิตรใหม่เข้ามาเสริมความเข้มแข็ง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ จนวันนี้ราคาบนกระดานก็ยังอยู่ที่ 5 บาท ต่ำจองเกือบเท่าตัว  SPRC นับว่าสร้างบาดแผลให้กับนักลงทุนรายย่อย ตั้งแต่ก่อนเข้าเทรด มาจนถึงหลังเข้าเทรดแล้วราคายังต่ำกว่าจอง ไตรมาส 4/58 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องทำกำไรให้ได้ เพื่อไม่ให้นักลงทุนรายย่อยต้องผิดหวังกับเงินปันผลที่ขายฝันเอาไว้อีก และนับว่าเป็นอีกหนึ่งบทเรียนของรายย่อยว่าต้องอ่าน "หนังสือชี้ชวน" ให้ละเอียด ก่อนซื้อหุ้น IPO


รายงาน   โดย เอกอนันต์ เสรีรัตนะชัย
เรียบเรียง โดย ดาริน  ปริญญากุล                  อีเมล์. darin@efinancethai.com
อนุมัติ    โดย พิมพ์รภัส ศิริไพรวัน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่