อึ้งคนไทยร้อยละ 5 ป่วยไวรัสตับอักเสบ แนะฉีดวัคซีนป้องกันก่อนติดเชื้อ

รศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี หัวหน้าสาขาวิชา โรคระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และอุปนายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย กล่าวในงานวันรักษ์ตับโลก “วายร้าย ไวรัสตับอักเสบบี” ว่า สถานการณ์ไวรัสตับอักเสบบีและซีทั่วโลกขณะนี้ มีผู้ป่วยเรื้อรังกว่า 500 ล้านคน จำนวนนี้กว่าร้อยละ 75 เป็นคนเอเชีย โดยเฉพาะจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในไทยคาดว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีประมาณร้อยละ 5 ของประชากร และช่วงอายุที่น่าเป็นห่วงคืออายุตั้งแต่ 20-25 ปีขึ้นไป เนื่องจากรัฐบาลมีวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีฉีดให้แก่เด็กแรกคลอดเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ซึ่งการฉีดวัคซีนสามารถช่วยป้องกันไวรัสตับอักเสบบีได้มากกว่า 95% และอยู่ได้ตลอดชีวิต ส่วนไวรัสตับอักเสบซีแม้จะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ไม่ใช่ไวรัสที่ติดกันได้โดยง่าย แต่จะติดผ่านการรับเลือด โดยเฉพาะผู้ที่เคยได้รับเลือดก่อนปี 2538 เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี ทั้งนี้ หากผู้ป่วยปล่อยให้เป็นไวรัสตับอักเสบบีและซีอย่างเรื้อรัง ตับจะถูกทำลายจนเกิดเป็นตับแข็งและโรคมะเร็งตับในที่สุด

รศ.นพ.ทวีศักดิ์กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีถือเป็นภัยเงียบ เนื่องจากเมื่อได้รับเชื้อแล้วจะไม่มีสัญญาณแสดงอาการ แม้ว่าจะเป็นแบบเรื้อรังและตับจะถูกทำลายไปมากถึง 5 ใน 6 ส่วน แต่ตับก็ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัว และไม่ไปพบแพทย์ ดังนั้น กว่าจะรู้ตัวก็มักเป็นระยะสุดท้ายแล้ว โดยมาเพราะมีอาการดีซ่าน ท้องมาน ขาบวม บางรายอาจมาด้วยอาการปวดท้องจากมะเร็งตับ ซึ่งหากเป็นในระยะนี้จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกประมาณ 3-6 เดือน ดังนั้น ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ควรได้รับการตรวจเลือด เพื่อติดตามการทำงานของตับอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย ในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีอาจใช้ยาต้านไวรัส
ฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือยารับประทาน ซึ่งมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพดี ในการรักษา ส่วนผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี ปัจจุบันสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาฉีดร่วมกับยารับประทาน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก    คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

Report : LIV Capsule
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่