มาแล้วบทความ ดร.นิเวศน์ล่าสุด

กระทู้สนทนา
โลกในมุมมองของ Value Investor 5 ธันวาคม 2558
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เก็บเงินริมทาง

ช่วงปลายปี 2010 จนถึงต้นปี 2011 หรือเมื่อประมาณ 4-5 ปี มาแล้ว มีการพูดถึงประเด็นเรื่องการ “สืบทอด” ตำแหน่งของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ในเบิร์กไชร แฮททาเวย์ ค่อนข้างมากเนื่องจากบัฟเฟตต์ก็เริ่มแก่ตัวลงและไม่มีใครรู้ว่าใครจะมาแทนเขา หนึ่งใน “ตัวเลือก” ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงว่ามีโอกาสสูงสุดก็คือ David Sokol ผู้บริหารของบริษัท MidAmerican Energy Holding บริษัทลูกของเบิร์กไชร์ที่ดูแลเรื่องของการลงทุนในธุรกิจพลังงาน และยังเป็นผู้บริหารของ Netjets บริษัทให้บริการเช่าใช้เครื่องบินของบัฟเฟตต์ด้วย นอกจากการเป็นผู้บริหารของบริษัทลูกที่มีขนาดใหญ่โตมากแล้ว โซโคลยังมีบทบาทในเบิร์กไชร์มาก ดูเหมือนว่าเขาจะเป็น “มือขวา” คนหนึ่งของบัฟเฟตต์ในการที่เขามักจะนำเสนอบริษัทหรือกิจการต่าง ๆ ที่น่าสนใจให้บัฟเฟตต์พิจารณาซื้อ นอกจากนั้น เขายังช่วยบัฟเฟตต์แก้ปัญหาเวลาบริษัทลูก ๆ ในเครือมีปัญหาด้วย และที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ โซโคลเองนั้นเป็นคน “บ้านเดียวกัน” กับบัฟเฟตต์ คือ เป็นคนที่เกิดที่เมืองโอมาฮา รัฐเนบราสกา แถมเรียนจบมหาวิทยาลัยเดียวกับบัฟเฟตต์ ในมุมมองของคนท้องถิ่นแล้ว เขาก็เป็น “หนึ่ง” รอง ๆ จากบัฟเฟตต์ สถานที่สำคัญหลายแห่ง รวมถึงสนามกีฬาที่จัดประชุมผู้ถือหุ้นของเบิร์กไชร์ก็มีชื่อของเขาเข้าไปเกี่ยวข้อง เขาทำกิจกรรม บริจาคและช่วยเหลือสังคมอย่างกว้างขวางเป็นที่รักและชื่นชมทั่วไปในเมืองบ้านเกิด อายุเขาก็ยังไม่มากคือเพียง 56 ปี ดังนั้น อนาคตของเขานั้นดูเหมือนว่าจะ “โรยด้วยกลีบกุหลาบ”

แต่แล้วโดยที่ไม่มีใครคาดคิด เขาประกาศลาออกจากเบิร์กไชร์ในวันที่ 28 มีนาคม 2011 และต่อมาในเดือนเมษายนคณะกรรมการตรวจสอบของเบิร์กไชร์ก็ออกมาแถลงถึงผลการตรวจสอบที่แสดงว่าโซโคลมีความ “ไม่โปร่งใส” ในกรณีของการเทคโอเวอร์บริษัทผู้ผลิตน้ำมันหล่อลื่น Lubrizol ของเบิร์กไชร์ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ โซคอลนั้นซื้อหุ้นของ Lubrizol ก่อนที่จะนำเสนอดีลให้กับบัฟเฟตต์ จำนวนเงินที่เขาซื้อประมาณ 10 ล้านเหรียญ และเมื่อการเทคโอเวอร์เกิดขึ้น เขาทำกำไรได้ประมาณ 3 ล้านเหรียญ โซโคลแถลงแก้ว่าเขาเองได้บอกกับบัฟเฟตต์ก่อนแล้วว่าเขามีหุ้นและมีก่อนที่จะนำเสนอดีลเทคโอเวอร์กับบัฟเฟตต์ ดังนั้นเขาไม่ผิด บัฟเฟตต์เองในตอนแรกก็พูดทำนองว่า โซโคลไม่ได้ลาออกเพราะเรื่องนี้และเขาก็เชื่อว่าสิ่งที่โซโคลทำไม่น่าจะผิดกฎหมาย แต่ต่อมาภายหลัง บัฟเฟตต์ก็ยอมรับว่าเขาอาจจะไม่ได้สรุปหรือคิดเรื่องนี้ละเอียดพอ พูดง่าย ๆ บัฟเฟตต์เองก็คิดว่าโซโคลทำไม่ถูก อย่างไรก็ตามต่อมา กลต. ของสหรัฐก็เข้ามาตรวจสอบเรื่อง “การใช้ข้อมูลภายใน” ของโซโคลและก็สรุปว่าโซโคลไม่ผิด แต่ทุกอย่างก็จบลงแล้ว เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างบัฟเฟตต์กับโซโคล

ในวันประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของเบิร์กไชร์ปี 2011 บัฟเฟตต์พูดกับผู้ถือหุ้นว่าเขาทำผิดอย่างแรงที่ไม่ถามโซโคลเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น Lubrizol ที่อธิบายและแก้ตัวไม่ได้ เพราะสิ่งที่โซโคลทำนั้นละเมิดกฎของการปฎิบัติงานที่ดีของเบิร์กไชร์และเรื่องของการใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหุ้น บัฟเฟตต์ยังพูดอีกว่าเขาจะไม่มีวันเข้าใจเลยว่าทำไมโซโคลทำสิ่งที่เขาทำ เขาอธิบายไม่ได้ว่าทำไมโซโคลจึงไม่ปิดบังหรือใช้โนมินีเข้ามาซื้อหุ้น Lubrizol ถ้าเขาคิดว่าเขากำลังทำอะไรผิด เขาปล่อยข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของเขาอย่างเปิดเผย บัฟเฟตต์ยังพูดต่อว่า เขาไม่เข้าใจด้วยว่าทำไมชื่อเสียงของโซโคลจึงถูกทำลายไปด้วยเรื่องฉาวโฉ่ที่เกี่ยวกับเงินเพียง 3 ล้านเหรียญ ทั้ง ๆ ที่โซโคลเองนั้นเคยสมัครใจที่จะยกเงินค่าตอบแทนหรือโบนัสที่เขาควรจะได้จำนวนถึง 12.5 ล้านเหรียญให้กับเพื่อนร่วมงานคือ Greg Abel ที่บริษัท MidAmerican

ผมเองคิดว่าเรื่องการใช้ข้อมูลภายในเพื่อทำเงินนั้น มันคงจะเปรียบคล้าย ๆ กับการที่เราเดินไปตามทางเดินสาธารณะ แล้วเราไปเห็นเงินที่ตกหล่นอยู่ข้างทาง เราไม่รู้ว่าเป็นเงินของใคร และด้วย “สัญชาตญาณ” ซึ่งเป็นอารมณ์ที่อยู่ในมนุษย์ทุกคน เราก็จะเก็บ เงินที่ได้จากการเก็บของตกหล่นนั้น ถ้าจำได้ตอนเป็นเด็ก เราจะรู้สึกดีใจมากทั้ง ๆ ที่มันอาจจะเป็นแค่เหรียญหรือเงินไม่กี่บาท เพราะมันได้มาฟรี แทบไม่ต้องออกแรงเลย เรารู้สึกว่าเป็นความโชคดี เราไม่คิดว่าเราไป “โกง” ใคร เราไม่ได้ทำผิด และถ้ามีใครมาอ้างว่าเป็นเงินของเขา เราก็มักจะคืนเงินไป นี่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตาม “ธรรมชาติ” แต่ในตลาดหุ้นนั้น กฎเกณฑ์การซื้อขายหุ้นที่ห้ามไม่ให้ใช้ “ข้อมูลภายใน” ที่เรารู้แต่คนอื่นไม่รู้มาซื้อขายหุ้นก็เพื่อที่จะทำให้ตลาดนั้นมีความยุติธรรมสำหรับทุกคน ดังนั้น คนที่ทำและถูกจับได้ก็ผิด แต่ถ้าถามว่าคนที่ถูกตัดสินว่าผิดในเรื่องนี้หมายความว่าเขามีพฤติกรรม “โกง” เป็นนิสัยหรือไม่ ผมก็คิดว่าไม่ใช่ และก็คงต้องดูเป็นกรณี ๆ ไป ในกรณีของโซโคลนั้น ทางกฎหมายถือว่าไม่ผิดแม้ว่าทางเบิร์กไชร์จะ “รับไม่ได้” และสังคมเองก็ดูเหมือนว่าจะไม่ยอมรับคำอธิบายของโซโคล ในโลกยุคปัจจุบันนั้น ถ้าคุณเป็นคนดังและยิ่งใหญ่ แม้แต่สิ่งที่อาจจะเล็กน้อยหรือไม่จริง แต่ถ้ามีคำถามถึงความโปร่งใสหรือความมีธรรมาภิบาล คนก็จะไม่ยอมรับและ “แสดงออก” อย่างแรง นี่ก็คงเป็น “ธรรมชาติ” ของคนอีกเช่นกัน

วันที่มีข่าวเรื่อง Insider’s Trading ของโซโคล หุ้นเบิร์กไชร์ตกลงไป 2% ซึ่งต้องถือว่าหนักพอสมควรเนื่องจากเป็นหุ้นตัวใหญ่มากที่ไม่ใคร่ผันผวน แต่หลังจากนั้นเรื่องนี้ก็จางหายไป หุ้นเบิร์กไชร์ยังเหมือนเดิม ความ “น่าเชื่อถือ” ของเบิร์กไชร์ในด้านของ Governance ไม่ถูกกระทบ ถ้าจะถามว่ามีโอกาสที่จะเกิดกรณีแบบนี้อีกไหม ผมก็คิดว่ามี โดยเฉพาะปริมาณการซื้อขายหุ้นของผู้บริหารที่มีจำนวนมากทุกวันก็คงต้องมีบ้างที่จะเกิดความผิดพลาดทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ
ประเด็นสุดท้ายสำหรับนักลงทุนก็คือ เราจะทำอย่างไรถ้าเรามีหุ้นของบริษัทที่มีกรณีอินไซ้ด์ของผู้บริหารและในกรณีที่ยังไม่มีหุ้น หลายคนบอกว่าเราไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวกับหุ้นเหล่านั้นเลยเพราะ ผู้บริหารคง “ไว้ใจไม่ได้แล้ว” และถ้าวอเร็น บัฟเฟตต์ เจอแบบนี้เขาก็คงจะขายหุ้นทิ้งแน่นอน ตัวอย่างเช่นกรณีของหุ้นเทสโก้ที่เกิดกรณีอื้อฉาวแต่งบัญชีซึ่งทำให้บัฟเฟตต์ขายหุ้นเทสโก้ทิ้งหมด

สำหรับคำตอบนี้ ผมเองคิดว่าการพิจารณาเรื่องของธรรมาภิบาลหรือ CG นั้นเราคงจะต้องดูระดับของความเลวร้ายด้วย กรณีของเทสโก้นั้น ผมคิดว่าผู้บริหารตั้งใจและวางแผนที่จะหลอกลวงผู้ถือหุ้นและคนทั่วไปเกี่ยวกับบริษัทโดยตรงและทำมานาน ในกรณีแบบนี้เราก็คงยอมรับยาก เหนือสิ่งอื่นใด บัฟเฟตต์เองอาจจะขายหุ้นทิ้งเพราะพื้นฐานของกิจการมากกว่าเรื่อง CG ด้วยซ้ำ เนื่องจากเขาพบว่าผลการดำเนินงานของกิจการที่เขาคิดว่า OK นั้น จริง ๆ แย่กว่าที่รายงานมากเพราะคู่แข่งเด่นขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่เทสโก้แย่ลงหนัก

ในกรณีที่ยังไม่มีหุ้นอยู่ เราควรที่จะเข้าไปซื้อหรือไม่โดยเฉพาะถ้าราคาหุ้นร่วงลงมาก ? ในกรณีนี้ก็อีกเช่นกัน เราคงต้องดูเป็นกรณี ๆ ไป ถ้าเรื่องไม่เลวร้ายอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน หรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น “ครั้งเดียว” และน่าจะ “แก้ไขได้” เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีกฎ “ตายตัว” ว่าจะไม่เกี่ยวข้อง บัฟเฟตต์เองนั้น ครั้งหนึ่งก็เคยเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทอเมริกันเอ้กซเพรสซึ่งเกิดเรื่องอื้อฉาวกรณี “น้ำมันสลัด” ที่มีการโกงกันอย่างมโหฬาร แต่บัฟเฟตต์เห็นว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นร้ายแรงครั้งเดียวและแก้ไขได้ในขณะที่กิจการหลักของบริษัทยังดีและแข็งแกร่งมากแต่ราคาหุ้นตกลงไปมาก เขาเข้าไปซื้อหุ้นอเมริกันเอ้กซเพรสแบบ “ตีแตก” ด้วยเงินเกือบครึ่งพอร์ตและทำกำไรมหาศาลจนกลายเป็น “ตำนาน” มาจนถึงทุกวันนี้

บทเรียนสุดท้ายสำหรับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนของผมก็คือ ชื่อเสียงนั้นสร้างยากและส่วนใหญ่ใช้เวลาหลายสิบปี แต่เวลาที่มันถูกทำลายนั้น มักเกิดขึ้นภายในเวลาชั่วข้ามคืน ดังนั้น เราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง “โซนอันตราย” ทั้งหมด การซื้อขายหุ้นของบริษัทที่ตนเป็นผู้บริหารหรือมีความเกี่ยวข้องควรจะต้องเลิกหมด พูดแบบเปรียบเทียบก็คือต้อง “เลิกเก็บเงินริมทาง” อย่างสิ้นเชิง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ใครที่สงสัยว่าแกจะขาย CPALL รึป่าว คงได้คำตอบแล้วจากบทควาามนี้  ไม่เอาไม่พูด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่