ในช่วงเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์บูมมาก ๆ อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ผมมักได้ยินหรือได้รับรู้ถึงความกระตือรือร้น-และความกังวลของคนสองกลุ่มที่อยู่ในตลาดหุ้น-หรือกำลังจะเข้ามาในตลาดหุ้น เกี่ยวกับว่า เขาควรจะซื้อหรือเข้ามาซื้อหุ้นได้หรือยัง? นี่เป็นคำถามข้อแรกโดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือนักลงทุนที่ไม่ได้ทุ่มเทนักกับการลงทุนแต่รู้สึกว่าการลงทุนในหุ้นในช่วงนี้น่าจะมีโอกาสทำกำไรหรือสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าการฝากเงิน และอีกคำถามหนึ่งก็คือ เขาควรจะขายหุ้นได้แล้วหรือยัง? นี่ก็มักเป็นคำถามโดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนมือเก่าหรือคนที่ทุ่มเทกับการลงทุนที่อาจจะมองว่าราคาหุ้นในตลาดได้ปรับตัวขึ้นมาสูงและเร็วมาก พวกเขากลัวว่าราคาหุ้นจะสูงเกินพื้นฐาน ดังนั้น เขาควรจะขายหุ้นไปก่อนหรือไม่ก่อนที่มันจะตกลงมาและทำให้ผลกำไรหรือความมั่งคั่งของเขาลดลงไปมาก ในการตอบคำถามของคนสองกลุ่มในสถานการณ์หรือภาวะตลาดเดียวกัน แต่คำถามกลับเป็นตรงกันข้าม ผมอยากจะบอกดังนี้
ข้อแรก เราควรจะซื้อหุ้นไหม? คำตอบของผมก็คือ ในการซื้อหุ้นนั้น หลักการแบบ VI ก็คือ เราต้องพอจะมีไอเดียหรือประเมินได้ว่า “มูลค่าพื้นฐาน” ของบริษัทหรือหุ้นตัวนั้นควรจะเป็นเท่าไร เมื่อได้แล้ว เราก็มาดูว่า “ราคา” ของหุ้นตัวนั้นเป็นเท่าไร จุดที่เราจะซื้อก็คือ ราคาหุ้นจะต้องต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน และในกรณีที่เราไม่ใคร่มั่นใจว่าเราคำนวณหรือประมาณมูลค่าพื้นฐานได้ถูกต้อง เนื่องจากว่าเรายังไม่มีความสามารถมากนักหรือกิจการของบริษัทไม่ใคร่สม่ำเสมอ เราก็จะต้องซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าของบริษัทมากขึ้น โดยส่วนต่างที่ว่านี้ก็คือ “Margin of Safety” ซึ่งต้องมีเพื่อความปลอดภัยในกรณีที่มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น
การหา “มูลค่าพื้นฐาน” นั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก ในทางปฏิบัตินักวิเคราะห์จึงหาตัวเลขที่ง่าย ๆ มาใช้ ตัวเลขยอดนิยมตัวหนึ่งก็คือค่า PE หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้นต่อปีของบริษัท วิธีก็คือ ดูว่ากำไรต่อหุ้นในปีที่ผ่านมาหรือใน 4 ไตรมาศที่ผ่านมาเป็นเท่าไร เสร็จแล้วก็คูณด้วยตัวเลขตัวหนึ่ง เช่น 15 เท่า ก็จะได้ “ราคาพื้นฐาน” ต่อหุ้น ตัวเลข 15 นั้นอาจจะมาจากค่า PE เฉลี่ยของหุ้นตัวนั้นในอดีต หรืออาจจะมาจากค่า PE ของอุตสาหกรรมของหุ้นตัวนั้น หรืออาจจะอ้างอิงจากค่า PE ของตลาดหลักทรัพย์ที่อยู่ที่ประมาณ 18 เท่าในช่วงนี้ และนี่ก็จะจบประเด็นว่าเราควรจะซื้อหุ้นหรือไม่
ข้อที่สองที่ผมอยากจะพูดถึงมากกว่าก็คือ กฎเกณฑ์ในการขายหุ้น ซึ่งสำหรับ VI หลายคนนั้นอาจจะมองว่ามันควรจะเป็นเกณฑ์เดียวกับการซื้อหุ้น นั่นก็คือ ถ้าราคาหุ้นเกินหรือสูงกว่ามูลค่าหรือราคาพื้นฐาน เราก็ควรจะขายหุ้นทิ้ง คือถ้าคุณไม่ซื้อซึ่งจะทำให้คุณต้องถือมัน มันก็จะต้องถูกขายออกไป แต่นี่ไม่ใช่วิธีการของ “VI ในตำนาน” หลาย ๆ คน ที่ดูเหมือนว่าการขายหุ้นอาจจะมีกฎเกณฑ์อีกแบบหนึ่ง และต่อไปนี้ก็คือสิ่งที่ผมรวบรวมมาเพื่อให้พิจารณา
ข้อแรกก็คือ เราควรขายหุ้นถ้าเรา “คิดผิด” ซึ่งนี่อาจจะไม่เกี่ยวกับราคาหรือมูลค่าพื้นฐานของหุ้นเลยก็ได้ ตัวอย่างเช่น เราคิดว่าบริษัทนั้นเป็นกิจการที่ “โตเร็ว” ต่อมาเราพบว่ายอดขายหรือกำไรที่เห็นนั้นไม่ได้มาจากธุรกิจปกติแต่เป็นยอดขายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว แบบนี้ เราอาจจะขายหุ้นทิ้งเลย หรืออาจจะต้องวิเคราะห์ใหม่ซึ่งอาจจะทำให้เราพบว่ามันไม่คุ้มค่าที่จะถือไว้
ข้อสอง พื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปหลังจากที่เราถือหุ้นมาระยะหนึ่ง นี่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของราคาหุ้นที่จะขึ้นหรือลง แต่เป็นเรื่องที่ว่าพื้นฐานหรือการดำเนินงานหรือความเข้มแข็งของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง อาจจะเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมหรือเกิดจากคู่แข่งที่เข้มแข็งกว่าเข้ามาแย่งชิงลูกค้าและเริ่มได้เปรียบในการแข่งขัน ถ้าเป็นแบบนี้ การขายหุ้นก็มักเป็นทางเลือกที่ดีแม้ว่าอาจจะต้องขายในราคาที่ลดลงไปมากหรือแม้แต่ขายขาดทุน
ข้อสาม มีหุ้นหรือทางเลือกอื่นที่คุ้มค่ากว่าหุ้นที่เราถือไว้อย่างชัดเจนและเราไม่มีเงินสดในการลงทุน ในกรณีนี้เราอาจจะตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่เพื่อไปซื้อหุ้นตัวใหม่ อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้เราจะต้องมั่นใจมากว่าหุ้นตัวใหม่นั้นดีกว่าหุ้นบางตัวที่เราถือไว้จริง ๆ เนื่องจากโดยปกติแล้ว ความเข้าใจของเราในหุ้นตัวใหม่มักจะน้อยกว่าหุ้นที่เราถืออยู่ การขายหุ้นในกรณีนี้เองมักจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของมูลค่าพื้นฐานหรือราคาหุ้น นั่นคือ มันอาจจะยังเป็นหุ้น Value อยู่ เพียงแต่ว่าเราไปเจอหุ้นที่ดีมี Value มากกว่ามากเท่านั้น
ข้อสี่ หุ้นที่เราถืออยู่นั้น มีราคาสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานไปมากอย่างเห็นได้ชัด นี่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นเป็น “กระทิงดุ” อย่างในช่วงนี้ หรืออาจจะเกิดขึ้นได้กับหุ้นขนาดเล็กที่มีแรงเก็งกำไรเข้ามาสูงหรือมีการ “ปั่นหุ้น” ตัวนั้นทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเกินพื้นฐานมากอย่างไม่ต้องสงสัย ในกรณีแบบนี้ เราก็ควรจะขายทิ้ง และก็หวังว่าจะกลับเข้าไปซื้อใหม่ได้ในราคาที่ต่ำลงเมื่อตลาดตกลงมาหรือเมื่อการเก็งกำไรหรือการปั่นหุ้นนั้นหมดไป เกณฑ์ข้อนี้น่าจะเป็นข้อเดียวที่การตัดสินใจขายหุ้นนั้น อิงอยู่กับราคาหุ้นตัวนั้นในตลาด หัวใจสำคัญก็คือ เราต้องเห็นว่ามันมีสถานการณ์สองอย่างนั่นก็คือ ตลาดหลักทรัพย์ใกล้เป็นฟองสบู่ หรือไม่ก็ปริมาณการซื้อขายหุ้นตัวนั้นสูงลิ่วมีการซื้อขายเกินวันละ 4-5% ของ Market Cap. ติดต่อกันนาน บางวันอาจจะหลายสิบเปอร์เซ็นต์
ข้อสุดท้ายก็คือ ในบางครั้งหุ้นตัวที่เราถืออยู่อาจจะมีราคาเพิ่มขึ้นมากจนมันมีมูลค่าสูงเกินไปในพอร์ตโฟลิโอของเรา ในกรณีนี้ เราอาจจะรู้สึกว่ามันเสี่ยงเกินไปถ้าเกิดอะไรขึ้น ยกตัวอย่างเช่นเราไม่อยากให้หุ้นตัวไหนใหญ่เกิน 30% ของพอร์ต และเกิดมีหุ้นตัวหนึ่งซึ่งเราอาจจะซื้อมาครั้งแรกเท่ากับ 10% ของพอร์ต แต่ราคามันเพิ่มขึ้นเร็วและมากกว่าหุ้นตัวอื่นจนทำให้มันเป็น 35% แบบนี้เราก็อาจจะขายไป 5% ให้เหลือเพียง 30% เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปก็คือ การขายหุ้นนั้นอาจจะมีเกณฑ์ที่แตกต่างจากการซื้อหุ้น เหตุผลใหญ่น่าจะเกิดจากการที่เราไม่สามารถที่จะประเมินมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นได้อย่างแม่นยำทำให้เราไม่รู้ว่าหุ้นนั้นมีราคาสูงกว่าพื้นฐานที่แท้จริงหรือไม่-ยกเว้นในบางกรณีที่ตัวเลขและสัญญาณทุกอย่างชัดเจน ในกรณีของวอเร็น บัฟเฟตต์เองนั้น จะเห็นว่าเขาขายหุ้นน้อยมาก เคยมีครั้งหนึ่งที่เขาซื้อหุ้นน้ำมันแห่งชาติของจีนและขายไปเนื่องจากราคาหุ้นขึ้นไปสูงมากจนเขาต้องขายไปนั่นคือการขายในกรณีข้อสี่ เขาขายหุ้นของบริษัทการบินแห่งหนึ่งไปเพราะเขา “คิดผิด” ตามข้อหนึ่ง ตั้งแต่นั้นเขาไม่เคยสนใจหุ้นการบินอีกเลยเพราะเขาคิดว่ามันเป็นธุรกิจที่ “ลำบากมาก” รวมถึงกิจการสิ่งทอของเบิร์กไชร์ที่เขาบอกว่าคิดผิดที่ไปซื้อ หุ้นที่พื้นฐานเปลี่ยนไปตามข้อสองของบัฟเฟตต์น่าจะมีเหมือนกันถ้าผมเข้าใจไม่ผิดอาจจะรวมถึงกิจการรองเท้าที่บัฟเฟตต์เคยซื้อ ในข้อสามนั้น ดูเหมือนว่าบัฟเฟตต์จะมีเงินสดใหม่ ๆ เข้ามาลงทุนตลอดเวลา ดังนั้น เขาแทบไม่ต้องขายหุ้นเพื่อหาเงินสดมาลงทุนในหุ้นตัวใหม่เลย และในข้อสุดท้ายเรื่องของขนาดของหุ้นนั้น บัฟเฟตต์เองเคยซื้อหุ้นอเมริกันเอ็กซ์เพรสเกือบ 50% ของพอร์ต แต่ผมก็จำไม่ได้ว่าเขาต้องขายออกไปเพื่อลดขนาดของมันลงหรือไม่เมื่อหุ้นปรับตัวขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น เขาก็ไม่เคยมีปัญหาว่าหุ้นตัวไหนจะใหญ่เกินไปเนื่องจากพอร์ตของเขาใหญ่โตมหาศาล ส่วนตัวผมเองนั้น เท่าที่จำได้ก็ดูเหมือนว่าจะยึดเกณฑ์การขายหุ้น 5 ข้อดังกล่าวพอสมควรโดยเฉพาะในช่วงหลัง ๆ ที่เน้นลงทุนหุ้นแนว “ซุปเปอร์สต็อก”
คลิกไปแหล่งที่มา THaiVI
จะขายหุ้นเมื่อไร ?
ในช่วงเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์บูมมาก ๆ อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ผมมักได้ยินหรือได้รับรู้ถึงความกระตือรือร้น-และความกังวลของคนสองกลุ่มที่อยู่ในตลาดหุ้น-หรือกำลังจะเข้ามาในตลาดหุ้น เกี่ยวกับว่า เขาควรจะซื้อหรือเข้ามาซื้อหุ้นได้หรือยัง? นี่เป็นคำถามข้อแรกโดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือนักลงทุนที่ไม่ได้ทุ่มเทนักกับการลงทุนแต่รู้สึกว่าการลงทุนในหุ้นในช่วงนี้น่าจะมีโอกาสทำกำไรหรือสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าการฝากเงิน และอีกคำถามหนึ่งก็คือ เขาควรจะขายหุ้นได้แล้วหรือยัง? นี่ก็มักเป็นคำถามโดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนมือเก่าหรือคนที่ทุ่มเทกับการลงทุนที่อาจจะมองว่าราคาหุ้นในตลาดได้ปรับตัวขึ้นมาสูงและเร็วมาก พวกเขากลัวว่าราคาหุ้นจะสูงเกินพื้นฐาน ดังนั้น เขาควรจะขายหุ้นไปก่อนหรือไม่ก่อนที่มันจะตกลงมาและทำให้ผลกำไรหรือความมั่งคั่งของเขาลดลงไปมาก ในการตอบคำถามของคนสองกลุ่มในสถานการณ์หรือภาวะตลาดเดียวกัน แต่คำถามกลับเป็นตรงกันข้าม ผมอยากจะบอกดังนี้
ข้อแรก เราควรจะซื้อหุ้นไหม? คำตอบของผมก็คือ ในการซื้อหุ้นนั้น หลักการแบบ VI ก็คือ เราต้องพอจะมีไอเดียหรือประเมินได้ว่า “มูลค่าพื้นฐาน” ของบริษัทหรือหุ้นตัวนั้นควรจะเป็นเท่าไร เมื่อได้แล้ว เราก็มาดูว่า “ราคา” ของหุ้นตัวนั้นเป็นเท่าไร จุดที่เราจะซื้อก็คือ ราคาหุ้นจะต้องต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน และในกรณีที่เราไม่ใคร่มั่นใจว่าเราคำนวณหรือประมาณมูลค่าพื้นฐานได้ถูกต้อง เนื่องจากว่าเรายังไม่มีความสามารถมากนักหรือกิจการของบริษัทไม่ใคร่สม่ำเสมอ เราก็จะต้องซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าของบริษัทมากขึ้น โดยส่วนต่างที่ว่านี้ก็คือ “Margin of Safety” ซึ่งต้องมีเพื่อความปลอดภัยในกรณีที่มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น
การหา “มูลค่าพื้นฐาน” นั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก ในทางปฏิบัตินักวิเคราะห์จึงหาตัวเลขที่ง่าย ๆ มาใช้ ตัวเลขยอดนิยมตัวหนึ่งก็คือค่า PE หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้นต่อปีของบริษัท วิธีก็คือ ดูว่ากำไรต่อหุ้นในปีที่ผ่านมาหรือใน 4 ไตรมาศที่ผ่านมาเป็นเท่าไร เสร็จแล้วก็คูณด้วยตัวเลขตัวหนึ่ง เช่น 15 เท่า ก็จะได้ “ราคาพื้นฐาน” ต่อหุ้น ตัวเลข 15 นั้นอาจจะมาจากค่า PE เฉลี่ยของหุ้นตัวนั้นในอดีต หรืออาจจะมาจากค่า PE ของอุตสาหกรรมของหุ้นตัวนั้น หรืออาจจะอ้างอิงจากค่า PE ของตลาดหลักทรัพย์ที่อยู่ที่ประมาณ 18 เท่าในช่วงนี้ และนี่ก็จะจบประเด็นว่าเราควรจะซื้อหุ้นหรือไม่
ข้อที่สองที่ผมอยากจะพูดถึงมากกว่าก็คือ กฎเกณฑ์ในการขายหุ้น ซึ่งสำหรับ VI หลายคนนั้นอาจจะมองว่ามันควรจะเป็นเกณฑ์เดียวกับการซื้อหุ้น นั่นก็คือ ถ้าราคาหุ้นเกินหรือสูงกว่ามูลค่าหรือราคาพื้นฐาน เราก็ควรจะขายหุ้นทิ้ง คือถ้าคุณไม่ซื้อซึ่งจะทำให้คุณต้องถือมัน มันก็จะต้องถูกขายออกไป แต่นี่ไม่ใช่วิธีการของ “VI ในตำนาน” หลาย ๆ คน ที่ดูเหมือนว่าการขายหุ้นอาจจะมีกฎเกณฑ์อีกแบบหนึ่ง และต่อไปนี้ก็คือสิ่งที่ผมรวบรวมมาเพื่อให้พิจารณา
ข้อแรกก็คือ เราควรขายหุ้นถ้าเรา “คิดผิด” ซึ่งนี่อาจจะไม่เกี่ยวกับราคาหรือมูลค่าพื้นฐานของหุ้นเลยก็ได้ ตัวอย่างเช่น เราคิดว่าบริษัทนั้นเป็นกิจการที่ “โตเร็ว” ต่อมาเราพบว่ายอดขายหรือกำไรที่เห็นนั้นไม่ได้มาจากธุรกิจปกติแต่เป็นยอดขายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว แบบนี้ เราอาจจะขายหุ้นทิ้งเลย หรืออาจจะต้องวิเคราะห์ใหม่ซึ่งอาจจะทำให้เราพบว่ามันไม่คุ้มค่าที่จะถือไว้
ข้อสอง พื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปหลังจากที่เราถือหุ้นมาระยะหนึ่ง นี่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของราคาหุ้นที่จะขึ้นหรือลง แต่เป็นเรื่องที่ว่าพื้นฐานหรือการดำเนินงานหรือความเข้มแข็งของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง อาจจะเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมหรือเกิดจากคู่แข่งที่เข้มแข็งกว่าเข้ามาแย่งชิงลูกค้าและเริ่มได้เปรียบในการแข่งขัน ถ้าเป็นแบบนี้ การขายหุ้นก็มักเป็นทางเลือกที่ดีแม้ว่าอาจจะต้องขายในราคาที่ลดลงไปมากหรือแม้แต่ขายขาดทุน
ข้อสาม มีหุ้นหรือทางเลือกอื่นที่คุ้มค่ากว่าหุ้นที่เราถือไว้อย่างชัดเจนและเราไม่มีเงินสดในการลงทุน ในกรณีนี้เราอาจจะตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่เพื่อไปซื้อหุ้นตัวใหม่ อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้เราจะต้องมั่นใจมากว่าหุ้นตัวใหม่นั้นดีกว่าหุ้นบางตัวที่เราถือไว้จริง ๆ เนื่องจากโดยปกติแล้ว ความเข้าใจของเราในหุ้นตัวใหม่มักจะน้อยกว่าหุ้นที่เราถืออยู่ การขายหุ้นในกรณีนี้เองมักจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของมูลค่าพื้นฐานหรือราคาหุ้น นั่นคือ มันอาจจะยังเป็นหุ้น Value อยู่ เพียงแต่ว่าเราไปเจอหุ้นที่ดีมี Value มากกว่ามากเท่านั้น
ข้อสี่ หุ้นที่เราถืออยู่นั้น มีราคาสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานไปมากอย่างเห็นได้ชัด นี่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นเป็น “กระทิงดุ” อย่างในช่วงนี้ หรืออาจจะเกิดขึ้นได้กับหุ้นขนาดเล็กที่มีแรงเก็งกำไรเข้ามาสูงหรือมีการ “ปั่นหุ้น” ตัวนั้นทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเกินพื้นฐานมากอย่างไม่ต้องสงสัย ในกรณีแบบนี้ เราก็ควรจะขายทิ้ง และก็หวังว่าจะกลับเข้าไปซื้อใหม่ได้ในราคาที่ต่ำลงเมื่อตลาดตกลงมาหรือเมื่อการเก็งกำไรหรือการปั่นหุ้นนั้นหมดไป เกณฑ์ข้อนี้น่าจะเป็นข้อเดียวที่การตัดสินใจขายหุ้นนั้น อิงอยู่กับราคาหุ้นตัวนั้นในตลาด หัวใจสำคัญก็คือ เราต้องเห็นว่ามันมีสถานการณ์สองอย่างนั่นก็คือ ตลาดหลักทรัพย์ใกล้เป็นฟองสบู่ หรือไม่ก็ปริมาณการซื้อขายหุ้นตัวนั้นสูงลิ่วมีการซื้อขายเกินวันละ 4-5% ของ Market Cap. ติดต่อกันนาน บางวันอาจจะหลายสิบเปอร์เซ็นต์
ข้อสุดท้ายก็คือ ในบางครั้งหุ้นตัวที่เราถืออยู่อาจจะมีราคาเพิ่มขึ้นมากจนมันมีมูลค่าสูงเกินไปในพอร์ตโฟลิโอของเรา ในกรณีนี้ เราอาจจะรู้สึกว่ามันเสี่ยงเกินไปถ้าเกิดอะไรขึ้น ยกตัวอย่างเช่นเราไม่อยากให้หุ้นตัวไหนใหญ่เกิน 30% ของพอร์ต และเกิดมีหุ้นตัวหนึ่งซึ่งเราอาจจะซื้อมาครั้งแรกเท่ากับ 10% ของพอร์ต แต่ราคามันเพิ่มขึ้นเร็วและมากกว่าหุ้นตัวอื่นจนทำให้มันเป็น 35% แบบนี้เราก็อาจจะขายไป 5% ให้เหลือเพียง 30% เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปก็คือ การขายหุ้นนั้นอาจจะมีเกณฑ์ที่แตกต่างจากการซื้อหุ้น เหตุผลใหญ่น่าจะเกิดจากการที่เราไม่สามารถที่จะประเมินมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นได้อย่างแม่นยำทำให้เราไม่รู้ว่าหุ้นนั้นมีราคาสูงกว่าพื้นฐานที่แท้จริงหรือไม่-ยกเว้นในบางกรณีที่ตัวเลขและสัญญาณทุกอย่างชัดเจน ในกรณีของวอเร็น บัฟเฟตต์เองนั้น จะเห็นว่าเขาขายหุ้นน้อยมาก เคยมีครั้งหนึ่งที่เขาซื้อหุ้นน้ำมันแห่งชาติของจีนและขายไปเนื่องจากราคาหุ้นขึ้นไปสูงมากจนเขาต้องขายไปนั่นคือการขายในกรณีข้อสี่ เขาขายหุ้นของบริษัทการบินแห่งหนึ่งไปเพราะเขา “คิดผิด” ตามข้อหนึ่ง ตั้งแต่นั้นเขาไม่เคยสนใจหุ้นการบินอีกเลยเพราะเขาคิดว่ามันเป็นธุรกิจที่ “ลำบากมาก” รวมถึงกิจการสิ่งทอของเบิร์กไชร์ที่เขาบอกว่าคิดผิดที่ไปซื้อ หุ้นที่พื้นฐานเปลี่ยนไปตามข้อสองของบัฟเฟตต์น่าจะมีเหมือนกันถ้าผมเข้าใจไม่ผิดอาจจะรวมถึงกิจการรองเท้าที่บัฟเฟตต์เคยซื้อ ในข้อสามนั้น ดูเหมือนว่าบัฟเฟตต์จะมีเงินสดใหม่ ๆ เข้ามาลงทุนตลอดเวลา ดังนั้น เขาแทบไม่ต้องขายหุ้นเพื่อหาเงินสดมาลงทุนในหุ้นตัวใหม่เลย และในข้อสุดท้ายเรื่องของขนาดของหุ้นนั้น บัฟเฟตต์เองเคยซื้อหุ้นอเมริกันเอ็กซ์เพรสเกือบ 50% ของพอร์ต แต่ผมก็จำไม่ได้ว่าเขาต้องขายออกไปเพื่อลดขนาดของมันลงหรือไม่เมื่อหุ้นปรับตัวขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น เขาก็ไม่เคยมีปัญหาว่าหุ้นตัวไหนจะใหญ่เกินไปเนื่องจากพอร์ตของเขาใหญ่โตมหาศาล ส่วนตัวผมเองนั้น เท่าที่จำได้ก็ดูเหมือนว่าจะยึดเกณฑ์การขายหุ้น 5 ข้อดังกล่าวพอสมควรโดยเฉพาะในช่วงหลัง ๆ ที่เน้นลงทุนหุ้นแนว “ซุปเปอร์สต็อก”
คลิกไปแหล่งที่มา THaiVI