การดื่มชาของจีนกับของอังกฤษอันไหนเป็นวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลความสำคัญต่อผู้คนในสังคมนั้น มีความซับซ้อนลึกซึ้ง มากกว่ากัน?

การดื่มชาของจีนกับของอังกฤษอันไหนเป็นวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลความสำคัญต่อผู้คนในสังคมนั้น มีความซับซ้อนลึกซึ้ง มากกว่ากัน?
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 2
ในจีน ชาได้กลายเป็นวัฒนธรรมพิเศษชนิดหนึ่งแล้ว ผู้คนถือการต้มน้ำชาและการชิมชาเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ท้องถิ่นต่าง ๆ ของจีนมีโรงน้ำชาหรือร้านน้ำชามากมาย ที่ถนนเฉียนเหมิน ซึ่งเป็นย่านคึกคักของกรุงปักกิ่งก็มีร้านน้ำชาโดยเฉพาะ ผู้คนสามารถดื่มชา กินอาหารพื้นเมืองและชมการแสดงต่าง ๆ เป็นวิธีพักผ่อนที่สบาย ในทางภาคใต้ของจีน นอกจากมีร้านน้ำชาและโรงน้ำชาแล้ว ยังมีเพิงน้ำชากลางแจ้ง ส่วนมากจะสร้างตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ นักท่องเที่ยวจะนั่งดื่มชาและชมวิวไปด้วย

การชงชาจีนนั้นมีหลายวิธี แต่วิธีที่น่าจะเป็นที่รู้จักมากที่สุด คงจะเป็นการชงแบบ "กงฟูฉา" (แต้จิ๋ว- "กังฮูเต้") ฝรั่งจะเรียกว่า Kung Fu Tea (กังฟูที) หรือถ้าแปลเป็นถ้อยคำแบบไทยๆ คงจะได้ความทำนองว่า "ชาประณีต" สำหรับคนไทยแล้วก็คงจะคุ้นเคยชิดใกล้กับการชงชาแบบนี้ ยิ่งคนที่มีเชื้อสายจีน อาจจะมีชุดน้ำชาอยู่ที่บ้าน โดยเฉพาะในหมู่คนจีนเชื้อสายเฉาโจว (แต้จิ๋ว) ซึ่งเชื่อกันว่า เฉาโจว (แต้จิ๋ว) เป็นแหล่งกำเนิดของชาประณีตนี้

ขั้นตอนการชงชาแบบประณีตมีดังนี้

1. ใช้ช้อนตักใบชาออกจากภาชนะบรรจุ

2. เทใบชาจากช้อนลงป้านชา

3. เทน้ำร้อนใส่ในป้าน (ขณะเทน้ำร้อนลงไป ควรยกให้สูง ให้น้ำร้อนกระแทกใบชา เพื่อให้ใบชาคลี่ตัวออก ตามหลัก "ชงสูง รินต่ำ" )

4. ใส่น้ำร้อนแล้ว รีบเทออกเลย น้ำแรกไม่นิยมดื่ม ถือว่าเป็นการล้างใบชา (เหมือนการซาวข้าว)

5. บางคนอาจจะถือโอกาสใช้น้ำนี้ล้างจอกไปด้วยเลย

6. ใช้คีมคีบ เพื่อลวกจอกแต่ละใบ

7. ใช้น้ำที่ลวกใบชาครั้งแรก เทลวกป้านด้านนอกเพื่อรักษาอุณหภูมิ

8. เมื่อลวกจอก ครบทุกใบแล้ว รินน้ำชง ขณะชงควรยกให้สูง เพื่อที่น้ำร้อนจะได้กระแทกใบชาให้คลี่ตัว (ชงสูง รินต่ำ)

9. ปิดฝาและควรใช้น้ำร้อนเทราดป้านชาด้านนอกเพื่อรักษาอุณหภูมิ และทิ้งไว้ชั่วอึดใจ (ประมาณ 45 วินาที - 1 นาที) [การเทน้ำร้อนราดป้านชา นอกจากเพื่อรักษาอุณหภูมิแล้ว ยังเป็นการจับเวลาด้วย คือ ถ้าน้ำร้อนที่ราดบนป้าน แห้งสนิทเมื่อใด ก็หมายถึง น้ำชาที่ชงนั้นได้ที่พร้อมรินเสิร์ฟแล้ว

10. เมื่อได้ที่แล้ว รินน้ำชาจากป้านโดยริน วน ทุกจอก ไม่ควรรินทีละจอก เพื่อให้น้ำชาทุกจอก รสชาติเหมือนกัน หากรินทีละจอก น้ำชาที่ได้จากจอกใบแรกอาจจะมีรสจืดสุด ส่วนน้ำชาจากจอกใบสุดท้าย ก็จะมีรสเข้มที่สุด และควรรินให้ต่ำ เพราะกลิ่นใบชาจะได้ไม่เจือจาง ไปกับอากาศ (ตามหลัก ชงสูง รินต่ำ)

11. เชิญเพื่อนร่วมก๊วนดื่ม

12. หยิบดื่มกันตามอัธยาศัย

13. การชงชารอบที่ 2 เป็นต้นไป ไม่จำเป็นต้องทำแบบขึ้นตอนเบื้องต้น เพราะว่าเพื่อนร่วมก๊วน บางท่านอาจจะยังดื่มชาไม่หมด ดังนั้นเมื่อชงชาได้ที่แล้วก็รินไว้ในเหยือกพักน้ำชา

14. เมื่อเพื่อนร่วมก๊วนคนไหนดื่มชาหมดแล้ว ก็รินเสิร์ฟ ให้เป็นรายคนไป (การรินชาพักไว้ในเหยือกพักชา น้ำชาที่ได้ จะมีรสชาติเท่ากัน จึงสามารถรินเสิร์ฟเป็นจอกๆ ได้)
        *ถึงตรงนี้ มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกอย่างหนึ่งคือ การรินชาเสิร์ฟรอบที่ 3 นั้น ควรให้เพื่อนร่วมก๊วนหรือแขกเป็นฝ่ายรินเอง เพราะมีภาษิตชาบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า "จอกแรกคือต้อนรับ , จอกสองคือสนทนาพาที , จอกสามคือส่งผู้มาเยือน" นั่นก็คือ ถ้าเราเสิร์ฟชาจอกที่สามให้แขก ก็แสดงว่าเรากำลังจะไล่เขากลับบ้าน ส่วนรอบต่อจากนี้ เราสามารถรินเสิร์ฟแขกได้ตามปกติ*

ที่มา
http://www.vcharkarn.com/varticle/44131
ความคิดเห็นที่ 7
ชาฝรั่งเน้นการผสมผสานกลิ่นหรือรสครับ ดังนั้นในด้านความหลากหลายของรสชาติแล้วมีความหลากหลายมาก แต่ไม่ค่อนเน้นเรื่องการชงสักเท่าไหร่ หรือก็คือเติมน้ำร้อนใส่กา เอาชาลงไปต้มให้ได้ที่แล้วเอาใบชาออกก็เรียบร้อยเลย แต่ถ้าจะดูถูกว่าเป็นของกระจอกก็ไม่ได้เหมือนกัน ถึงจะเป็นน้องใหม่กว่าชาวบ้าน แต่เดี๋ยวนี้มีชาฝรั่งสูตรต่างๆเกิดขึ้นมาเยอะมาก ดังนั้นถึงจะไม่ใช่คอคนรักชาแต่ถ้าให้มาลองดื่มชาฝรั่งแบบต่างๆไปเรื่อยๆยังไงก็ต้องเจอตัวที่ถูกใจเข้า

ส่วนชาญี่ปุ่นถึงจะมีอยู่หลายชนิดหลายพันธุ์ แต่รสชาติไม่หลากหลายเท่ากับของฝรั่งหรือของจีนครับ... แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารสชาติจะเหมือนกันหมด ชาญี่ปุ่นมักจะใช้กรรมวิธีการผลิตหรือขั้นตอนในการชงที่ซับซ้อนในการให้ได้รสชาติที่แตกต่าง เคยได้ไปรู้พูดคุยกับเจ้าของไร่มาเลยทีเดียว เขาบอกว่าแค่เก็บชาชนิดเดียวกันมาคนละฤดูก็ทำให้รสชาติต่างกันออกไปได้แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องจริงเพราะคาเฟอินของชาแต่ละฤดูจะต่างกันมาก แต่ถ้าเทียบกับชาฝรั่งที่มีทั้งการบ่มกลิ่น การนำดอกไม้มาผสม การเอาชาแต่ล่ะแบบมารวมกัน ชาญี่ปุ่นยังขาดความหลากหลายในส่วนนี้ (แต่ในปัญจุบันได้มีชาหลายๆยี่ห้อ ทั้งในญี่ปุ่นเองและของประเทศอื่นที่เอาชาเขียวไปผสมให้ได้รสชาติใหม่ๆขึ้นมาแล้ว) ถ้าให้เทียบกันจริงๆ ชาญี่ปุ่นก็เหมือนกับไวน์แดงครับ คือใช้องุ่นเหมือนกัน แต่เลือกที่พันธุ์องุ่น พื้นที่เพาะปลูก ฤดูการ เอามาบ่มเป็นไวน์ที่แต่ละเจ้าก็มีเทคนิคต่างกันออกไปแต่ยังมีแกนแท้เหมือนกัน ก็เลยเป็นสิ่งที่มีทั้งเสน่ห์และความเป็นศิลปะ

ส่วนชาจีนเนื่องจากธรรมเนียมทางประวัติศาตร์ของแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน รายละเอียดจริงๆแล้วจึงเยอะมากครับ... บ้านไหนมีชุดชงชาที่กาใบเล็กๆและมีภาชนะใบใหญ่รองข้างล่างน่าจะเข้าใจดี ประเภทชาจีนก็จะมีแบ่งเป็นชาคอ ชากลิ่น ชารส การผลิตชาก็จะแบ่งเป็นลักษณะต่างๆไปอีกทั้งบ่มหรือไม่บ่ม หรือบ่มช่วงเวลาเดียวกับบ่มต่อไปได้เองตามอายุชา การดื่มชาจะแข่งตามฤดูไม่เหมือนกันอย่างช่วงอากาศแห้งเขาจะให้ดื่มชาดอกไม้เพื่อความชุ่มชื้น ช่วงร้อนจะให้ดื่มพวกชาคอเพื่อคลายความร้อนทำให้กระชุ่มกระชวย การใช้กาจะใช้คนละใบตามประเภทของชาแต่ละชนิด ดินที่นำมาปั้นกาก็มีผลกับรสชาติ การใส่ใบชาลงไปในกาที่ต้องแบ่งสัดส่วนว่าก้นใส่เศษหรือผงใบส่วนด้านบนเลือกใส่ใบ การรินให้แขกที่จะรินให้เฉพาะสองจอกแรกเพราะจอกที่สามจะเป็นการเชิญกลับ ดังนั้นการดื่มชาของจีนจึงมีทั้งเรื่องของธรรมเนียมปฏิบัติ การเสพรสชาติ และการแพทย์โบราณเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยครับ
ความคิดเห็นที่ 1
ของจีนไม่น่ามีอะไรมากครับ หนักสุดคือของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเขาถือเรื่องเกียรติ และพิธีชงชาเป็นพิธีที่มีเกียรติอย่างหนึ่ง

มีพิธีชงชา เข้าใจว่าเป็นประเพณีต้อนรับเลย ที่สำคัญเลย วิธีการชงตั้งแต่การจัดวางห้อง ทำเลที่ตั้งโต๊ะชงชา การวนถ้วยชา วิธีการยื่นถ้วยชา และวิธีการยกชาดื่ม มันมีหลักการเป็นข้อๆ ละเอียดยิบ



พิธีชงชา 茶道(Sadou) หรือ 茶の湯 (Cha no yu) นี้เป็นพิธีการดื่มชาเขียวญี่ปุ่นแท้ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ผู้ให้กำเนิดพิธีชงชาที่เป็นแบบแผนอย่างในปัจจุบันนั้นคือ ท่าน เซ็นโนะริคิว (Sen no rikyu) ปรัชญาหรือหัวใจหลักในพิธีชงชาซึ่งมาจากลัทธิเซนซึ่งประกอบไปด้วย
1.和(wa) หมายถึง ความสงบ สันติ
2.敬(kei) หมายถึง ความเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน
3.清(sei) หมายถึง ความสะอาด บริสุทธิ์
4.寂(jakku) หมายถึง ความเงียบสงบ

ขั้นตอนพิธีชงชาแบบญี่ปุ่นแท้ ๆ
1.เจ้าของบ้านนั่งชมสวนซึ่งอยู่หน้าห้องชงชาเพื่อสงบจิตใจและทำสมาธิก่อนที่จะถึงเวลาของพิธีชงชา ตามหลักปรัชญาสงบ สันติเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
2.ทุกคนเข้าห้องพิธีชงชา ผ่านทางเข้าที่เป็นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ เป็นเหมือนการบ่งบอกความเท่าเทียมกันผ่านการก้มลอดช่องทางเข้าห้องพิธีชงชา
3.ภายในห้องพิธีชงชา จะใช้เสื่อทาทามิ มีช่องเล็ก ๆ สำหรับกาต้มน้ำ และประดับไปด้วยภาพวาดญี่ปุ่น หรือต้นไม้เล็ก  ๆ แสดงถึงความเรียบง่าย ให้ผู้มาเยือนได้พินิจถึงปรัชญาและได้ชื่นชมในความสวยงาม
4.ผู้มาเยือนจะนั่งอยู่ตรงข้ามผู้ชงชาหรือที่เรียกว่า ฮันโต และเลือกหยิบขนมโดยใช้ไม้ที่เรียกว่า โยจิ วางลงบนกระดาษที่ใช้รองขนม เรียกว่า ไคชิ และรับประทานให้หมดก่อนที่ชาจะเสิร์ฟ โดยฮันโตจะเริ่มต้มน้ำในกาน้ำร้อน
5.ฮันโตจะนำไม้ไผ่ซึ่งเป็นช้อนขนาดเล็ก (chashaku)ตักชาเขียวญี่ปุ่นแท้ หรือมัทฉะ ใส่ลงในถ้วยชา ใส่น้ำร้อนอุณหภูมิ 70-80 องศา ถ้ามากกว่านี้จะทำให้ชาขาดซึ่งกลิ่นหอม แล้วคนให้ชาละลายและแตกฟองเป็นจังหวะด้วย ชะเซน (chasen) และนำชาที่ชงเสร็จแล้ววางไว้หน้าผู้มาเยือน
6.ผู้มาเยือนหรือแขกยกถ้วยชาด้วยมือขวาวางไว้บนมือซ้าย หมุนถ้วยชาเข้าหาตัวเพื่อพินิจความสวยงามของถ้วยชา และเป็นการให้เกียรติเจ้าของบ้านในการจิบชาคนละด้านกัน เมื่อดื่มเสร็จแล้วให้มือเช็ดขอบถ้วยชา และใช้ไคชิหรือกระดาษรองขนมในการเช็ดมือ

จะเห็นได้ว่าในพิธีชงชานั้นจะเต็มไปด้วยการให้เกียรติซึ่งกันและกัน และให้เห็นอกเห็นใจซึ่งกันละกัน ซึ่งคนญึ่ปุ่นเวลาจะทำอะไรจะนึกถึงผู้อื่นเสมอ ๆ ทำให้เค้าไม่กล่าที่จะทำผิดหรือทำสิ่งที่นอกเหนือจากระเบียบปฏิบัติเพราะจะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ในประเทศไทยเวลาเราสอนหรือสอบใบขับขี่จะมีคำสอนที่บอกกันว่า “ขับรถห้ามประมาท” แต่ในการสอบใบขับขี่ของคนญี่ปุ่นจะมีคำสอนที่ยึดกันมาก ๆ เลยคือ “ความปลอดภัยของผู้อื่นคือความปลอดภัยของเรา” คือถ้าเราขับรถให้ทุก ๆ คนปลอดภัย เมื่อเราไปเดินบนท้องถนน หรือสัญจรด้วยจักรยานเราก็จะปลอดภัย เปรียบเทียบได้กับปรัชญาหรือนัยยะต่าง ๆ ในพิธีชงชาชาเขียวญี่ปุ่นแท้ที่ให้เกียรติและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเสมอ ๆ จึงไม่แปลกใจเลยที่คนญี่ปุ่นจะมีระเบียบและวินัยอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้

Credit : Jinglebelltour
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่