(บทความ)ประเทศไทยในอดีต ข้อแตกต่างระหว่างกฎหมายบนหลักนิติธรรมกับกฎหมายบนหลักนิติวิธี

.
    ในอดีตประเทศไทย เคยเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยบกพร่องมาแล้วหลายครั้ง ครั้งที่เลวร้ายและเป็นที่จดจำของคนไทย ก็ไม่มียุคไหนเกินช่วงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร สองจอมพลผู้สร้างความเจ็บปวดให้กับระบบการปกครองประชาธิปไตยอย่างที่คนไทยไม่มีวันลืมเลือน

    ในช่วงที่จอมพลทั้งสองนายนี้เรืองอำนาจ ต่างก็ยังคงไว้ซึ่งคำว่า ระบอประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองของประเทศไทย เพราะยังปกครองประเทศภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ แต่หากพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า  ช่วงสมัยของจอมพลทั้งสองนี้ที่คนภายหลังเรียกว่าเป็น ยุคมืดของประชาธิปไตย ก็เพราะว่า ทั้งสองจอมพล เลือกใช้หลักนิติวิธีมาแทนหลักนิติธรรม ในการออกกฎหมาย และบังคับใช้

หลักนิติธรรมและหลักนิติวิธี คืออะไร..?
แตกต่างกันตรงไหน..?

บทความนี้มีคำตอบให้

    ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นจะมุ่งเน้นที่หลักนิติธรรม (the rule of law) แต่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ หรือแม้แต่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่บกพร่องจะใช้หลักนิติวิธี (the rule by law) ซึ่งได้แก่ การใช้กฎหมาย เป็นเครื่องมือ เพื่อความชอบธรรมและ เป็นข้ออ้าง ทั้งๆ ที่กฎหมายที่ออกมานั้นเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรม (the rule of law)

ลักษณะของกฎหมายบนหลักนิติธรรม

     หลักนิติธรรม หรือ the rule of law เริ่มต้นจากการออกกฎหมายนั้นจะต้องเป็นกฎหมายที่โดยเจตนารมณ์และโดยลายลักษณ์อักษรเพื่อประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมอย่างถ้วนหน้า มีความเป็นสากลไม่เลือกปฏิบัติ และการออกกฎหมายนั้นจะต้องออกโดยสถาบันที่มีอำนาจ  ซึ่งในระบบการปกครองด้วยประชาธิปไตยนั้นได้แก่สถาบันที่มีตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ในประเทศไทยสถาบันที่ว่านี้คือสภาผู้แทนราษฎร
      
     ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายโดยหลักนิติธรรมจะต้องมีกระบวนการที่มีความชอบธรรม เสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ มีกลไกที่จะถ่วงดุลป้องกันไม่ให้การลุแก่อำนาจ
      
    ผู้บังคับใช้กฎหมายด้วยหลักนิติธรรมหรือผู้นำกฎหมายไปใช้ จะต้องมีความรู้ในกฎหมายนั้นๆ อย่างแท้จริง มิใช่ตีความโดยไม่มีความกระจ่างทั้งในเจตนารมณ์และในลายลักษณ์อักษร นอกจากนั้นจะต้องมีจิตใจที่เป็นกลาง มีจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ผู้ใช้กฎหมายซึ่งเป็นผู้ตีความกฎหมายถ้าหากขาดความรู้หรือขาดจริยธรรม มีการตีความกฎหมายในลักษณะตะแบงแบบศรีธนญชัย ถึงแม้กฎหมายจะมีการตรากฎหมายอย่างถูกต้องและเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคนส่วนใหญ่ แต่ถ้าการตีความนั้นตีความผิดพลาดหรือมีอคติ ก็จะทำให้หลักนิติธรรม (the rule of law) ถูกกระทบได้
      
    ในส่วนที่สี่ กระบวนการบังคับกฎหมายนั้นจะต้องมีกระบวนการยุติธรรม (due process of law) ซึ่งหมายความว่าในกรณีที่มีผู้ละเมิดนั้นจะต้องมีกระบวนการสืบสวน สอบสวน จับกุม ฟ้องร้อง โดยตำรวจหรืออัยการ และต้องพิจารณาโดยศาลซึ่งจะต้องมีทนายคอยแก้ต่าง ปลอดจากการข่มขู่คุกคาม กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องประกันหลักนิติธรรม (the rule of law) ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายส่วนหนึ่ง ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวมานี้คือสิ่งที่เรียกว่าหลักนิติธรรม (the rule of law)

ลักษณะของกฎหมายบนหลักนิติวิธี

    ในส่วนของหลักนิติวิธี (the rule by law) คือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือและเป็นข้ออ้าง โดยกลุ่มบุคคลที่กุมอำนาจรัฐ ลักษณะของ the rule by law ก็คือการก้าวจากการใช้อำนาจโดยคน (the rule by men) โดยคนซึ่งมีอำนาจเด็ดขาดสั่งการในลักษณะที่เป็นกฎหมายในตัวมีคำสั่งอะไรออกมาก็จะกลายเป็นกฎหมายทันที มาเป็นการปกครองบริหารโดยการออกกฎหมาย แต่กฎหมายที่ออกนั้นจะไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม (the rule of law) ซึ่งจะมีลักษณะดังต่อไปนี้คือ
      
    กฎหมายที่จะนำมาใช้โดยฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐนั้นจะตราโดยคณะกลุ่มบุคคลกลุ่มเล็กๆ หลังการยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จโดยการใช้กำลังและออกกฎหมายสั้นๆ น้อยมาตรา เช่น ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้น มีเพียง 20 มาตรา และในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร หลังการยึดอำนาจมีเพียง 23 มาตรา และมีอยู่มาตราหนึ่งคือมาตรา 17 ในกรณีของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และมาตรา 17 ของจอมพลถนอม กิตติขจร ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งการโดยเด็ดขาด ซึ่งมีการสั่งให้ประหารชีวิตผู้กระทำความผิดที่ถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ การวางเพลิง การค้ายาเสพติด เป็นต้น นี่คือลักษณะของ the rule by law เพราะกฎหมายดังกล่าวตราขึ้นโดยกระบวนการที่ไม่มีตัวแทนของประชาชนมีส่วนร่วม
      
    อีกกรณีหนึ่งคือ การตรากฎหมายนั้นอาจตราขึ้นโดยสภานิติบัญญัติซึ่งมาจากการแต่งตั้งตามอำเภอใจหลังการได้อำนาจรัฐโดยการใช้กำลังทำการรัฐประหาร สภานิติบัญญัตินั้นก็คือเครื่องมือของผู้ที่ต้องการใช้หลักนิติวิธี (the rule by law) โดยอ้างได้ว่าเป็นกฎหมายที่ตราโดยสภานิติบัญญัติ ทั้งๆ ที่สภาดังกล่าวมาจากการแต่งตั้งของตน ในกรณีเช่นนี้ก็คือ the rule by law หรือหลักนิติวิธี
      
    ในแง่เนื้อหา กฎหมายที่ตราขึ้นมานั้นเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น ห้ามไม่ให้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ ห้ามไม่ให้ประชาชนชุมนุมเกินกว่าห้าคน ห้ามมิให้ประชาชนออกนอกบ้านโดยมีการกำหนดระยะเวลา ฯลฯ การออกกฎหมายเช่นนี้ในตัวของกฎหมายเองเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรม (the rule of law) เพราะข้ออ้างที่จะยกเว้นหลักนิติธรรมนั้นไม่มีน้ำหนักพอในหลายกรณี ดังนั้น ภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ กระบวนการออกกฎหมายก็ดี ตัวกฎหมายเองก็ดี ล้วนแล้วแต่ขัดหลักนิติธรรม (the rule of law) ทั้งสิ้น
      
    กระบวนการยุติธรรมและการบังคับกฎหมายในระบอบการปกครองที่ใช้หลักนิติวิธี (the rule by law) นั้น ย่อมขัดกับหลักนิติธรรม (the rule of law) ตัวอย่างเช่น การจับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอันธพาลไปกักขังโดยไม่มีโอกาสได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมเป็นเวลาหลายปี ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพทางร่างกาย และละเมิดสิทธิขึ้นมูลฐานของประชาชน การสั่งประหารชีวิตโดยไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาโดยศาล เพื่อแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาดโดยใช้มาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการปกครองบริหารที่ใช้หลักนิติวิธี (the rule by law) ซึ่งย่อมจะแตกต่างจากการปกครองที่ใช้หลักนิติธรรม (the rule of law)
      
    การตีความกฎหมายในลักษณะตะแบง อคติ เป็นฝักเป็นฝ่าย โดยขาดจริยธรรมแห่งวิชาชีพกฎหมาย ละเมิดต่อหลักนิติปรัชญา เป็นตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้หลักนิติวิธี (the rule by law) ผู้ซึ่งตีความตะแบงกฎหมายโดยยึดลายลักษณ์อักษร มองข้ามเจตนารมณ์และไม่นำหลักจริยธรรมมาพิจารณา ก็คือการใช้หลักนิติวิธี (the rule by law) นั่นเอง นักกฎหมายที่พยายามเสนอแนะการใช้กฎหมายให้กับผู้ดำรงตำแหน่งบริหารเพื่อออกกฎหมาย เพื่อวางนโยบาย เพื่อกระทำการในสิ่งที่ไม่ชอบธรรม โดยไม่คำนึงถึงจริยธรรม ก็คือผู้ส่งเสริมการใช้หลักนิติวิธี (the rule by law) บุคคลเหล่านี้ไม่ใช่นักกฎหมาย (lawyer) แต่เป็นนักเทคนิคทางกฎหมาย (legal technician) บุคคลเช่นนี้ไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นนักกฎหมาย เป็นผู้รู้กฎหมายเพื่อใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือและรับใช้ผู้มีอำนาจ

     แต่ที่สุดแล้วทั้งสองจอมพล ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ในอำนาจได้ เพราะประชาชนไม่ยอมรับหลักการที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ปราศจากความเท่าเทียมของหลักกฎหมายนิติวิธี โดยจารึกและตราหน้าสองจอมพลนี้ให้เป็น ทรราช ตราบจนทุกวันนี้

นิติวิธี และ นิติธรรมเป็นอย่างไร สำหรับผู้ที่ร่ำเรียนกฎหมายมาคงเข้าใจกันดี
ถึงคนที่ไม่เคยเรียนสายนี้มาก่อน ก็คงเห็นภาพและแยกแยะได้จากบทความชิ้นนี้



ปล.ผมเขียนถึงในเหตุการณ์ในครั้งอดีต และเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้น มิได้เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ในปัจจุบันแต่อย่างไร  กะทู้นี้จึงไม่ได้มีเนื้อหาส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และไม่ขัดต่อประกาศ คสช ฉบับที่ 97. ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญดังนี้
    (1) ข้อความอันเป็นเท็จ หรือที่ส่งไปในทางหมิ่นประมาท หรือสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
    (2) ข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ รวมทั้งหมิ่นประมาทบุคคลอื่น
    (3) การวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
    (4) ข้อมูลเสียง ภาพ วีดิทัศน์ ความลับของการปฏิบัติงานของหน่วยราชการต่างๆ
    (5) ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร
    (6) การชักชวน ซ่องสุม ให้มีการรวมกลุ่มก่อการอันเกิดการต่อต้านเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
    (7) การขู่จะประทุษร้ายหรือทำร้ายบุคคล อันนำไปสู่ความตื่นตระหนก หวาดกลัวแก่ประชาชน

    และผมยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของเว็บบอร์ดแห่งนี้ทุกประการ ซึ่งถ้าที่สุดแล้ว wm หรือฝ่ายกฎหมายเห็นว่ากะทู้นี้เข้าข่ายผิดกฎหมาย แล้วลบกะทู้ แต่กรุณาชี้แจ้งให้กระผมทราบด้วย ว่าผิดกฎหมายมาตราใด หรือขัดกับประกาศ คสช.ฉบับไหน เพราะตัวผมเองก็ไม่ได้ศึกษากฎหมายอย่างลึกซึ้งจนเข้าใจในทุกมาตรา แต่ก็ศึกษาหาความรู้เรื่องนี้ด้วยตัวเองตลอดมา และถ้าหากท่านชี้แจงว่า ลบกะทู้นี้เพราะผิดกฎหมายในมาตราใด ผมจะได้เข้าใจมากขึ้น และปฏิบัติตัวในอยู่ในของเขตของกฎหมาย และกฎระเบียบของเว็บไซต์

ขอบคุณครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่