กฟภ.ดึงอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ดัน'พัทยา'นำร่องสมาร์ทกริด


กฟภ.ดึงอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ดัน'พัทยา'นำร่องสมาร์ทกริด
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

          ปัญหาคลาสสิกระดับตำนานของการผลิตไฟฟ้าที่ตามไม่ทันความต้องการใช้ซึ่งเติบโตแบบก้าวกระโดดตามพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง และมีช่วงพีคโหลดที่ทำให้การไฟฟ้าจำเป็นต้องระดมทุกสรรพกำลังเพื่อเตรียมพร้อมระบบรองรับจุดพีคที่อาจเกิดขึ้นในช่วง ระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

          :นำร่องสานแผนชาติ
          นายพงศกร ยุทธโกวิท รองผู้อำนวยการ วางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. เล่าว่า ที่ผ่านมาวิธีแก้ปัญหากระแสไฟไม่เพียงพอจะใช้การรณรงค์ปิดไฟในช่วงที่ใช้งานมาก เช่น วันเอิร์ธเดย์ หรือรณรงค์ที่จะทำได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่เคยแก้ไขปัญหาจากสาเหตุ ซึ่งก็คือ  การตรวจสอบพฤติกรรมการใช้งานไฟฟ้าที่แท้จริงทำให้ยากต่อการวางแผน

          ทั้งนี้ทำให้รัฐบาลประกาศเป้าหมายที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้กระแสไฟอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการลองผิดลองถูกในการหาวิธีปรับปรุงการใช้ไฟฟ้า พร้อมกับตั้งเป้าติดตั้งระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือสมาร์ท กริดให้ได้ภายในปี 2565

          นายพงศกร บอกว่า กฟภ.เป็น รัฐวิสาหกิจแรกๆ ในธุรกิจระบบสาธารณูปโภคที่นำไอเดียของ "อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือไอโอที" มาใช้กับระบบไฟฟ้า และได้เริ่มเดินหน้าโครงการ "สมาร์ท กริด" ซึ่งเป็นโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าในระดับภูมิภาค

          โครงการดังกล่าว เป็นไปตามแผนพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ เตรียมนำร่องในพื้นที่เมืองพัทยา ระหว่างปี 2558-2561 หลังได้รับอนุมัติงบประมาณสำหรับโครงการนำร่องจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือน ธ.ค.2557 จำนวน 1,069 ล้านบาท

          ขณะนี้อยู่ระหว่างการประกวดราคาหาผู้ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าที่ตามแผนคือ ต้องเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นระบบใหม่มีเซ็นเซอร์ติดตั้งสำหรับส่งข้อมูลเข้ามาที่ระบบของการไฟฟ้าราว 1.2 แสนมิเตอร์ และพัฒนาระบบเซิร์ฟเวอร์ของ กฟภ.สำหรับการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และวางแผนการใช้ไฟฟ้าตามบ้าน

          "แผนดังกล่าวเป็นการดำเนินงานตามโรดแมพของ กฟภ.ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทสมาร์ทกริดระดับชาติปีนี้ เพื่อปรับปรุงคุณภาพการให้บริการไฟฟ้าแก่ประชาชน และการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนการผลักดันการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งได้เริ่มวางแผนมาตั้งแต่ 2554 เพื่อทำแผนและริเริ่มโครงการนำร่อง ผ่าน 3 กลยุทธ์ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และแผนธุรกิจที่ชัดเจน"

          :ปรับไอโอทีใช้ระดับครัวเรือน
          โครงการนำร่องสมาร์ท กริด ของ กฟภ.ที่พัทยา ยังเป็นการต่อยอดการใช้เทคโนโลยี "ออโตเมติก มิเตอร์ รีดดิ้ง หรือเอเอ็มอาร์"  ซึ่งเป็นอุปกรณ์อ่านค่าไฟฟ้าที่ใช้สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ใช้กระแสไฟมากกว่า 100 กิโลโวลต์ แอมป์ ขึ้นไป เพื่อให้ระบบรายงานการใช้ไฟฟ้าแบบละเอียดสำหรับการวางแผนประหยัดไฟฟ้าได้

          นายพงศกร บอกว่า กฟภ.ให้บริการ เอเอ็มอาร์กับบริษัทใหญ่ๆ แล้วกว่า 8-9  หมื่นราย แต่สำหรับรายย่อย หรือผู้ใช้งานตามบ้านยังไม่มีเทคโนโลยีที่เข้าไปวัดการใช้งานไฟฟ้าประจำวันได้ ทำให้เมื่อเกิดปัญหากระแสไฟตก หรือไฟไม่พอใช้ ลูกค้าจะต้องโทรแจ้งการไฟฟ้า หรือสอบถามข้อมูลเอง ขณะที่การไฟฟ้าเองก็ไม่มีระบบตรวจสอบข้อมูลการ ใช้ไฟย้อนหลังทำให้การหาสาเหตุนาน

          การนำ "สมาร์ท กริด" เข้ามาใช้จะช่วยตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าว ด้วยการปรับปรุงระบบข้อมูลของการไฟฟ้า และการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่มิเตอร์ไฟฟ้าตามบ้านเพื่อให้ระบบสามารถรายงานผลการใช้ไฟฟ้ากลับไปยังฐานข้อมูลของการไฟฟ้าได้อัตโนมัติ ซึ่งก็จะเป็นคอนเซปต์ของ "อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์" ที่อุปกรณ์สามารถสื่อสารข้อมูลได้อัตโนมัติ

          "ไอโอที สามารถนำมาพัฒนาใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ปรับปรุงการให้บริการ แต่ไม่ใช่แค่การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือ ความปลอดภัยของข้อมูลด้วย และแก้ปัญหาเดิมๆ ของการไฟฟ้าที่ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังได้ เพราะทุกอย่างเป็นแบบแมนวลที่ใช้คนเดินไปอ่านค่าจากมิเตอร์ ส่วนผู้ใช้ก็ต้องโทรแจ้งถามปัญหากับการไฟฟ้าเมื่อไฟตก หรือดับ"

          :ประหยัดให้ถูกจุด
          นายพงศกร ยังบอกว่า โครงการนำร่องดังกล่าวถือเป็นการนำเทคโนโลยีไอซีทีเข้ามาใช้ในระบบไฟฟ้า ซึ่งหลักๆ จะรวบรวมข้อมูลการใช้ไฟ แรงดันไฟ และข้อมูลการใช้ไฟในแต่ละช่วงเวลาที่จะทำให้วางแผนการใช้ไฟได้เหมาะสม

          จากเดิมที่จะประเมินได้แค่ช่วงพีค ที่คนจะใช้ไฟมาก 2 ช่วงเวลาคือ  13.30-15.00 น. และอีกช่วงคือ 18.30 น. เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลให้ผู้ใช้รับทราบและสามารถควบคุมการใช้ไฟภายในบ้านได้ตรงจุดมากขึ้น

          ขณะที่ฝั่งของซัพพลาย หรือผู้ผลิตกระแสไฟก็สามารถวางแผนผลิตได้แม่นยำมากขึ้น ไม่ต้องผลิตไว้เกินความต้องการให้เสียงบประมาณ และสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาด้านพลังงาน ซึ่งมีแนวโน้มว่าแหล่งผลิตอาจจะผลิตได้ไม่ทันตามความต้องการ

          โดยหลังจากติดตั้งมิเตอร์ใหม่ที่คาดว่าจะครอบคลุมทั่วพื้นที่เมืองพัทยาภายในปีหน้า และเริ่มดำเนินการระบบใหม่อย่างเต็มรูปแบบในปีถัดไปแล้ว ก็จะนำข้อมูลที่ได้เสนอต่อรัฐ เพื่อพิจารณาปรับใช้กับระบบมิเตอร์ไฟฟ้าทั่วประเทศ

          นอกจากนี้ กฟภ. ยังมีแผนจะ ต่อยอดการนำข้อมูลที่ได้มาเพื่อสื่อสารกับ ผู้ใช้ หรือให้ผู้ใช้งานสามารถเรียกดูข้อมูลการใช้กระแสไฟในแต่ละวันได้จากอุปกรณ์สื่อสารของตัวเอง เช่น แอพพลิเคชั่น  หรือเว็บ พอร์ทัล

          :คว้ารางวัลไอดีซี
          นายพงศกรบอกว่า โครงการนำร่องครั้งนี้ยังได้รับรางวัลโครงการความคิดริเริ่มเพื่อสนับสนุนสมาร์ทซิตี้ (Top Smart City Initiatives Competition) จากบริษัทวิจัยไอดีซี เอเอเชีย แปซิฟิกที่มองว่าโครงการ ดังกล่าวเป็นแนวคิดริเริ่มที่โดดเด่นมากในการบริหารจัดการระบบส่ง-จ่ายไฟฟ้า  ซึ่งเป็นหนึ่งในหน้าที่การให้บริการสาธารณะ  14 ประเภทของสมาร์ทซิตี้ และเป็นต้นแบบ ที่จะได้นำไปปรับใช้กับโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะทั่วประเทศ

          ปัจจุบัน กฟภ.ให้บริการไฟฟ้าให้กับผู้ใช้งานทั่วภูมิภาคครอบคลุม 74 จังหวัดทั่วไทย ยกเว้นกรุงเทพ, นนทบุรี และสมุทรปราการ หรือ 98% ของพื้นที่ทั่วไทย จำนวน 17.7 ล้านมิเตอร์

ขอขอบคุณแหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 (หน้า 8)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่