[Loser Voice] เรื่องของ “เหล้าเบียร์” ต้องถาม “คนไทย” แล้วว่าอยากได้สังคมแบบไหน?

[Loser Voice] เรื่องของ “เหล้าเบียร์” ต้องถาม “คนไทย” แล้วว่าอยากได้สังคมแบบไหน?
.
.
By : TonyMao_NK51
E-Mail : tonymao_nk51@hotmail.com , tonymao.nk@gmail.com
Facebook Page : TonyMao_NK51
.
ท่าทางจะกลายเป็นเรื่องบานปลายเสียแล้วกับเรื่องของ “ดราม่าน้ำเมา” เริ่มจากการออกมาแฉของเถ้าแก่โรงเบียร์ยี่ห้อหนึ่ง กรณีโรงเบียร์อีกยี่ห้อแอบ “ลักไก่” ทำการตลาดด้วยการให้ดารา-คนดัง โพสต์ภาพตนเองในท่าถือขวดเบียร์ลงในอินสตราแกรม ซึ่งในตอนแรกดาราหลายคนออกมาปฏิเสธ กระทั่งมีการ “จับผิด” ได้บางอย่าง เช่น ดารากลุ่มหนึ่งโพสต์รูปในเวลาไล่เลี่ยกัน แน่นอนว่าลักษณะนี้จะให้สังคมเชื่อว่าตนไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ กับบรรดาโรงเบียร์ก็คงยาก และถึงวันนี้ก็มีคนดังถูกเรียกไปให้ข้อมูลแล้วนับสิบราย
.
ทว่าดูเหมือนเรื่องจะไม่จบเท่านั้น หลังจาก นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกมาให้ข่าวว่าไม่ใช่แค่คนดังเท่านั้น แต่รวมถึงคนธรรมดาทั่วไปที่โพสต์ภาพในลักษณะดังกล่าวด้วย ที่สำคัญ “เป็นความผิดทุกกรณี ไม่ว่าผู้โพสต์จะได้รับประโยชน์ตอบแทน หรือมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ก็ตาม” จนนำมาซึ่งการแสดงออกเชิงประชดประชันในโลกออนไลน์ เช่นการนำฉลากนมโรงเรียนบ้าง น้ำยาปรับผ้านุ่มบ้าง น้ำปลาบ้างมาห่อขวดเหล้า-กระป๋องเบียร์ หรือโพสต์รูปแอลกอฮอล์ล้างแผล ไม่เว้นแม้แต่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองบางคนก็เอากับเขาด้วย ล่าสุดที่กำลังเดือดอยู่ตอนนี้ คือการออกมา “ขู่” ของหมอสมานคนเดิม ว่าการจัด “ลานเบียร์” อันเป็นเทศกาลที่ทำกันมายาวนานช่วงฤดูหนาวเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
.
หลังคำประกาศดังกล่าว “ทายาทโรงเบียร์ราชสีห์” ปิติ ภิรมย์ภักดี ออกอาการ “ฉุนขาด” โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว ท้า “หมอสมาน” ให้มาจับได้เลย พร้อมทั้งจะจ้างดารา-คนดังมาร่วมกิจกรรมตามเดิม เพราะยืนยันว่าตนไม่ได้ทำอะไรผิด ถ้าผิดคงถูกสั่งปิดไปนานแล้ว และถ้าครั้งนี้ผิด จะแจ้งความกลับเจ้าหน้าที่ทุกรายที่ปล่อยให้ตนและโรงเบียร์เจ้าอื่นๆ จัดลานเบียร์มาตลอดด้วย
.
งานนี้ “เปิดหน้าแลก” กันเต็มๆ!!!
.
ในด้านกฎหมาย ผมคงไม่ขอตีความเองเพราะทั้งสองกรณีถือเป็น “เรื่องใหม่” ยังไม่เคยมีฎีกา หรือมีคำพิพากษาจากศาลออกมา และขณะนี้มีหลายคนออกมาให้ความเห็นทั้งที่ผิดและไม่ผิดอยู่มากแล้ว แต่ที่อยากจะชวนให้คิดกัน คือมุมมองในแง่สังคม เพราะการกำเนิดของกฎหมายก็มาจากบรรทัดฐานหรือค่านิยมของสังคมนั้นๆ ด้วย นั่นทำให้กฎหมายแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เช่นโลกมุสลิมบางประเทศมีกฎหมายบังคับให้สตรีต้องคลุมผม-คลุมหน้า และไม่มีเหล้าไม่มีเบียร์ขาย หรือบางประเทศทางตะวันตกที่ห้ามการสอนศาสนาในโรงเรียน หรือบางประเทศที่ไม่มีแนวคิดควบคุมยาสูบอย่างจริงจังเพราะคนที่นั่นสูบบุหรี่กันจนเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ฯลฯ
.
ต้องยอมรับว่ากฎหมายที่กำลังเป็นประเด็นตอนนี้คือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เขียนขึ้นมาบนฐานคิดที่ว่า “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นภัยร้ายทำลายสังคมอย่างรุนแรง” โดยระบุไว้ในเจตนารมณ์ท้ายกฎหมายว่า “เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไดก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุและอาชญากรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ” ซึ่งมิใช่แค่เรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างที่คนไทยคุ้นเคยกับคำขวัญ “เมาไม่ขับ-ดื่มไม่ขับ” เท่านั้น สิ่งเหล่านี้ปรากฏในคำเตือนของโฆษณาที่เกี่ยวกับบรรดาผู้ผลิตเหล้าเบียร์ยุคหลังๆ ที่ว่า “สุราทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อม” , “สุราทำให้ขาดสติและเสียชีวิต” ไปจนถึง “การดื่มสุราผิดศีล 5” โน่นเลยก็มี
.
ไม่ใช่แค่ “การดื่มสุราทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดลง” เหมือนที่คนไทยคุ้นเคยกันดีก่อนจะมีกฎหมายฉบับนี้!!!
.
ฉะนั้นเมื่อฐานคิดเป็นเช่นนี้ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมจึงมีการควบคุมอย่างเข้มงวดในทุกๆ ทาง ไล่ตั้งแต่การกำหนดให้บางสถานที่ห้ามดื่ม ทั้งที่ไม่เกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนนเลยก็ตาม เช่น สถานที่ราชการหรือสถานที่ทำงาน , การห้ามโฆษณาในทุกกรณี จากเดิมที่กำหนดให้โฆษณาได้ในช่วง 22.00-04.00 น. , การนำสาวงามมาส่งเสริมการขายในลักษณะ “สาวเชียร์เบียร์” ที่วันนี้แทบไม่ค่อยเห็นแล้ว และล่าสุดที่เป็นข่าวในขณะนี้ คือการโพสต์ภาพตนเองขณะถือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนสื่อออนไลน์ รวมถึงการจัดลานเบียร์
.
ซึ่งก็สอดประสานกับท่าทีขององค์กรอิสระผู้เป็นตัวตั้งตัวตีด้านการทำสงครามกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาอย่างต่อเนื่องอย่าง “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมคุณภาพ” (สสส.) ที่ครั้งหนึ่งพยายามผลักดันให้มีกฎหมายห้ามธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบให้การสนับสนุนกิจกรรมกีฬาทุกประเภท แต่ถูกคัดค้านอย่างหนักจากผู้เกี่ยวข้องในแวดวงกีฬา ถึงขนาดที่ “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ออกมาประกาศผ่านสื่อมวลชนเมื่อเดือน ก.พ.2558 ว่าถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น “ราชสีห์” หรือ “คชสาร” รวมถึงรัฐวิสาหกิจอย่างโรงงานยาสูบ วงการกีฬาก็ยากที่จะเดินไปสู่ความเป็นเลิศได้ พร้อมกับ “สวนกลับ” สสส. ว่ารับเงินจากภาษีเหล้าเบียร์ไปมาก แต่ไม่ได้นำมาช่วยเหลือวงการกีฬาเท่าที่ควร
.
“แลกคนละหมัด” กันอีกแล้ว!!!
.
และท่าที “แข็งกร้าว” เช่นนี้ของ นพ.สมานเองก็ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก หากยังจำกันได้ ปลายปี 2557 ก็เป็น นพ.สมานคนเดียวกัน ที่ออกมาเสนอให้ “ห้ามขายเหล้าเบียร์ช่วงปีใหม่และสงกรานต์” โดยระบุว่าช่วงดังกล่าวผู้คนดื่มสุราจนเมามายแล้วเกิดอุบัติเหตุมาก ท่ามกลางการคัดค้านจากหลายภาคส่วนเพราะอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว กระทั่งแนวคิดดังกล่าวถูกเบรกโดย “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวกับสื่อว่าให้ขายได้ ทั้งนี้ประชาชนแต่ละคนก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง และย้ำด้วยว่าหากดื่มก็ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ
.
นี่คือที่มาที่ไป คือประวัติศาสตร์ของกฎหมายดังกล่าว แน่นอนว่าหากไปดูเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ก็มีทั้งเสียงสนับสนุนที่ให้เหตุผลว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องทำให้ “การดื่มเครื่องดื่มมึนเมาไม่ใช่เรื่องปกติ” เพราะถึงไม่นับเรื่องดื่มแล้วขับรถไปชนผู้อื่นบาดเจ็บล้มตาย สุราเมรัยก็ยังก่อปัญหาอื่นๆ อีกมาก ไล่ตั้งแต่ความรุนแรงในครอบครัว , การเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากสุรา , การไม่มีเงินออมเพราะหมดเงินไปกับค่าเหล้าค่าเบียร์ , การดื่มจนเช้าไม่อยากตื่นไปทำงานจนบางรายไปขอซื้อใบแพทย์อันเป็นการเพาะนิสัยทุจริตอย่างหนึ่ง รวมถึงเหตุผล “คลาสสิก” อย่างเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ จึงไม่ควรปล่อยให้สุราอันเป็นสิ่งที่ผิดศีล 5 กลายเป็นเรื่องที่ขายและดื่มกันอย่างเสรี
.
บางคนในกลุ่มนี้คาดหวังว่าสักวันหนึ่ง “จำนวนนักดื่มจะเป็นศูนย์” จนธุรกิจเหล้าเบียร์ต้อง “เจ๊ง” เสียด้วยซ้ำไป!!!
.
ส่วนฝ่ายที่คัดค้านก็ให้เหตุผลว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ “ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย” เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ดื่มแล้วต้องขับขี่ยานพาหนะ , ไม่ใช่ทุกคนที่ดื่มแล้วคลุ้มคลั่งไปฆ่าไปทำร้ายผู้อื่นเหมือนคนเสพยาเสพติดที่มีฤทธิ์แรงอย่างยาบ้า , ไม่ใช่ทุกคนที่ดื่มแบบเมาหัวราน้ำงานการไม่ทำ และประเทศไทยไม่ได้บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติลงในรัฐธรรมนูญ คนกลุ่มนี้ยกตัวอย่างหลายประเทศที่โฆษณาเหล้าเบียร์กันอย่างเสรี บางประเทศคนก็หาดื่มกันง่ายๆ แต่กลับพบปัญหาคนเมาอาละวาด หรือเมาแล้วขับรถไปชนใครตายน้อยมาก เพราะ “กฎหมายเขาแรงจริง” ทั้งการกำหนดว่าอายุกว่าเท่าไรห้ามขาย-ห้ามดื่ม หรือผู้ที่ดื่มแล้วขับหากถูกจับได้โทษค่อนข้างหนัก ที่สำคัญบังคับใช้กันอย่างไม่เว้นหน้าอินทร์หน้าพรหม จะ “เซเลบ” หรือ “สามัญชน” ก็ไม่มีสองมาตรฐาน
.
ฉะนั้นสิ่งที่ควรทำคือไม่ใช่ “เหมารวมแทบทุกกรณี” แต่ควรไปจัดการกับ “นักดื่มกลุ่มเสี่ยง” อย่างเข้มงวดต่างหาก!!!
.
สัปดาห์นี้ก็อยากเปิดประเด็นถึงท่านผู้อ่านละครับ ว่าที่สุดแล้วท่านมองสังคมไทย ณ วันนี้เป็นแบบใด? เชื่อว่าคนที่ดื่มเหล้าเบียร์แล้วก่อปัญหากับสังคมเป็นคนส่วนใหญ่จนต้องห้ามกันหนักหน่วงขนาดนี้หรือไม่? หรือคิดว่าสุราเมรัยไม่ใช่เรื่องเลวร้ายถึงขั้นนั้น แต่เป็นพฤติกรรมของคนบางส่วนที่รัฐควรออกกฎหมายควบคุมเป็นเรื่องๆ ไป? เพราะแม้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเกิดในยุครัฐบาลเผด็จการ คมช. ( คมช. นะครับ ไม่ใช่ คสช. เห็นหลายคนแม้แต่สื่อหลักเองก็ยังอ้างกันผิดๆ ) ก็ตาม แต่ผมยังเชื่อว่ารัฐบาลไม่มาจากรัฐประหารหรือเลือกตั้ง คงไม่กล้าฝืนกระแสสังคมมากนัก
.
ดูอย่าง “ภาษีบ้านทุกหลัง" กับ “ซิงเกิลเกตเวย์” นั่นปะไร เจอเสียงสะท้อนจากมวลมหาประชาชนทุกสีทุกกลุ่มร่วมกันคัดค้าน แม้แต่รัฐมนตรีหรือกระทั่งนายกฯ ยังต้องยอมถอย ( ถึงจะถอยชั่วคราวก็เถอะ ซึ่งภาคประชาชนก็ยังวางใจไม่ได้ ต้องเฝ้าระวังกันต่อไป ) เรื่องเหล้าเบียร์ที่อยู่คู่คนไทย ( หรือแม้แต่คนทั่วโลก ) มาช้านานนี่ก็คงเช่นกัน อยู่ที่คนไทยแล้วว่าจะเอาแบบไหน? เข้มงวดเพียงใด? อย่างไร?
.
แล้วพบกันใหม่..สวัสดีครับ!!!
………………………………….







แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่