จากสเตตัสดราม่าสู่ผู้ป่วยจิตเวช ก่อนอายุ 20

กระทู้คำถาม
วันนี้ได้คุยกับเพื่อนคนนึงถึงปัญหาความรักที่เค้ากำลังเจอ ซึ่งปัญหาคือความไม่เข้าใจกันระหว่างเค้ากับแฟน ทั้งคู่เป็นเพื่อนของเราตั้งแต่สมัยประถมแต่เพิ่งมาคบกันได้ไม่ถึงเดือน ตัวเราสนิทกับฝ่ายชายมากกว่า และแน่นอนฝ่ายที่เข้ามาปรึกษาก็คือฝ่ายชาย สิ่งที่เค้าไม่เข้าใจในตัวฝ่ายหญิงคือการ 'ตั้งสเตตัสดราม่า' ไม่ว่าจะเป็นการแชร์quote โพสเพลง บ่น ทั้งๆที่ไม่มีเหตุการณ์สะเทือนใจอะไรให้ตั้งเลย

โชคดีที่เราผ่านจุดนั้นมาแล้ว ก็เลยให้คำปรึกษาเพื่อนได้อย่างเต็มที่ และเรื่องนี้ก็สะกิดให้เราลองเลื่อนดูบนหน้า Feed ใน facebook, twitter และพบว่าบนนั้นยังมีอีกหลายคนที่ใช้พื้นที่ social media เป็นที่ระบายความในใจทั้งสุข เศร้า timeline ของบางคนถึงกับหม่นไปด้วยสำนวนความรู้สึกที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านตัวหนังสือ หลายคนอาจถูกรำคาญจากการเขียนแบบนั้น แต่ก็มีอีกหลายคนได้รับความเป็นห่วงและกำลังเยอะแยะมากมาย

เราก็เคยเป็นแบบนั้น หลายสเตตัสของเราพิมพ์กับน้ำตามาแล้วนับไม่ถ้วน อัพรูปร้องไห้ลงไอจีก็เคยทำมาแล้ว จนเพื่อนตั้งฉายาให้ว่าดราม่าควีน ตั้งแต่อายุ 15 เราเริ่มมีความหมองอยู่ในใจ ปัญหารุมมากมายทั้งพ่อเสีย เลิกกับแฟน แม่สนิทกับแฟนเก่ามากกว่า เพิ่งสอบเทียบเข้ามหาลัยติด ไม่ได้เป็นหลีด แอบชอบรุ่นพี่แล้วอกหัก... ถึงแม้ภายนอกเราจะร่าเริง ตลก ยิ้มตลอด แต่เราจะเศร้าเมื่ออยู่คนเดียวมาตลอด ตอนนั้นเราไม่เคยคิดว่ามีคนรักเราจริงๆตั้งแต่พ่อเสีย เรารู้สึกว่าเรายืนอยู่บนโลกนี้ยากมาก ไม่เคยเป็นจุดเด่น ไม่เคยถูกให้ความสำคัญ ทั้งๆที่มีเพื่อนเยอะและครอบครัวรักกันดี

และตั้งแต่รู้จักกับ social media อาวุธดราม่าก็พร้อมมือเสมอ เราบันทึกความเศร้า ความหม่นทั้งหลายแหล่ลงสเตตัส ผ่านเนื้อเพลง ผ่าน quote จาก tumblr ผ่านข้อความของตัวเอง และอีกมากมาย.. ไม่นานมานี้ timehop เพิ่งทำให้เรารู้ตัวว่าเราไม่เคยมีสเตตัสที่ positive เลย

ช่วงปี 2 ขึ้น ปี 3 โตขึ้นมาหน่อย เราเริ่มลืมปัญหาเหล่านั้น มีชีวิตที่เป็นของตัวเองมากขึ้น ได้คบกับแฟนคนปัจจุบัน แต่นิสัย(หรือจะเรียกว่าสันดาน) การตั้งสเตตัสบ่น เขียน quote โพสเพลง ของเราก็ยังไม่หายซะทีเดียว ถึงมันจะเป็นแค่การบ่นเบาๆ แต่ก็กระทบใจเป้าหมายของเราไม่น้อย และมักจะทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่แทบทุกครั้ง โชคดีที่แฟนเป็นคนใจเย็น คอยพยายามใช้ไม้แข็งไม้อ่อนเกลี้ยกล่อมให้เราค่อยๆเลิกแจกปัญหาสู่สายตาประชาชีซะที
เราหยุดตั้งสเตตัสก็จริง แต่สิ่งที่เผยออกมาคืออาการที่เราเป็นมาตลอดโดยไม่รู้ตัว..

จากที่เคยระบายออก public เราจำเป็นต้องใช้เหตุผลระงับอารมณ์ตัวเอง เราเลยได้รู้ตัวว่าเราไม่สามารถควบคุมความอึดอัดในใจได้โดยไม่มีพื้นที่ระบาย และเราอยู่ในจุดที่ไม่สามารถควบคุมความคิดของตัวเองให้เป็นบวกได้โดยไม่มีคำปลอบใจจากคนอื่น เราเริ่มเป็นคนเก็บกดและอึดอัด ร้องไห้กับแฟนบ่อยๆ จนเค้าก็ห่างไปพอสมควร.. ความอึดอัดเริ่มกลายเป็นความเครียดฝังลึก ออกอาการทางร่างกาย ปวดหัว คลื่นไส้ และจากการ search google แล้ว นี่คือเวลาที่ต้องไปหาจิตแพทย์แล้ว!

กล้าๆกลัวๆ.. เราเริ่มที่โรงพยาบาลมนารมณ์ โรงพยาบาลจิตเวชล้วนๆ เราเดินเข้าไปเหมือนคนไม่เป็นอะไร ร่าเริงยิ้มแย้มให้พี่พยาบาล จนกระทั้งได้เจอหน้าหมอ หลังจบคำถาม 'มีอะไรจะเล่าให้หมอฟังมั้ยคะ?' น้ำตาก็พรั่งพรูออกมาไม่รู้ตัว ปัญหาที่ก่อตัวมาตั้งแต่อายุ 15 ก็ทะลักทะลายออกมาให้หมอฟัง หมอไม่ได้บอกว่าเราเป็นโรคเครียด โรคซึมเศร้า หรืออะไร แค่เคมีในสมองไม่ลงตัว หมอจะให้ยาวิเศษคอยควบคุมเคมีในสมองปรับฮอร์โมนให้เราเลิกเศร้าก็ละกันนน ซึ่งมันแปลว่าอะไรเราก็ไม่ค่อยเข้าใจ ด้วยความที่ค่าใช้จ่ายสูงเหลื้อเกิน เราเลยปรึกษากับแฟนว่าเรายังไม่กินยาดีกว่า แผงละตั้งสองพันแล้วต้องกินทุกวัน จ่ายทุกเดือน ลองเอาคำแนะนำจากหมอเรื่องการปรับทัศนคติมาใช้ดูเผื่อจะดีขึ้น

และมันก็ดีขึ้น... แค่ช่วงนึง

จนสุดท้ายเราต้องยอมทานยาที่หมอให้มาจนได้ ยาแรงจนคลื่นไส้ทุกวันในช่วงแรกๆ แต่หลังจากนั้นเราก็เริ่มหยุดความคิดลบๆของเราได้มากขึ้น จนแทบจะไม่มีอีก

แต่ด้วยความที่ยาตัวเดิมมันง่วงจนเราต้องนอนวันละ 9 ชั่วโมง++ เราเลยตัดสินใจเปลี่ยนโรงพยาบาล เปลี่ยนหมอ เปลี่ยนยา จนทุกอย่างลงตัว หมอคนใหม่ใช้วิธี 'จิตบำบัด' ให้เราได้ปรึกษาเรื่องต่างๆ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ และเรียนรู้ที่จะมองโลกในด้านดีมากขึ้น

ทุกวันนี้ facebook เราไม่มีเรื่องเศร้าอีกเลย ถึงชีวิตจริงเราจะมีขึ้นมีลง มันก็กลายเป็นเรื่องปกติ และสิ่งที่เราเรียนรู้จาก step ชีวิตครั้งนี้มีหลายอย่าง:

------------------ ถ้าขี้เกียจอ่านข้างบน มาอ่านตรงนี้ก็ได้ -----------------

1. การไปหาจิตแพทย์ไม่จำเป็นต้องเป็น โรคจิตเสมอไป.. หลายคนคิดว่าคนที่ไปหาจิตแพทย์ หรือเป็นผู้ป่วยจิตเวชนั้นหมายถึงการเป็นโรคจิตรุนแรง แต่จริงๆแล้วจิตแพทย์ไม่ได้มีหน้าที่รักษาคนเป็นโรคซึมเศร้า, ไบโพล่า, OCD, หรือโรคทางจิตดังๆอย่างเดียว แต่จิตแพทย์มีไว้เยียวยาจิตใจทุกๆคนให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพที่สุด เพียงแค่เรามีความเครียด ความเศร้า จนกระทบชีวิตประจำวันหรือไม่สามารถควบคุมความคิดให้เป็นบวกได้ เราก็ไปปรึกษาจิตแพทย์ได้แล้ว

2. ในโลก social media มีคนหลายประเภท เหตุผลที่คนๆนึงเขียนสเตตัสมีหลายอย่าง เช่น อยากให้เป้าหมายคนหนึ่งได้เห็น อยากระบายเพราะไม่มีที่ระบาย หรืออาจแค่เรียกร้องความสนใจก็ได้ แต่ไม่ว่าเหตุผลนั้นคืออะไร เราไม่สามารถตัดสินคนๆนึงจากความรำคาญที่เรามีต่อสเตตัสของเค้าได้ เราไม่มีทางรู้ว่าเค้าผ่านอะไรมาบ้างก่อนตั้งสเตตัสนั้นๆ หากเป็นไปได้ กำลังใจและความเห็นใจอาจเป็นสิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องการมากที่สุด วันนึงเค้าจะคิดได้และหยุดพฤติกรรมนั้นเอง นี่คือคำแนะนำจากคนที่ได้รับการรักษามาจนหายดีแล้วค่ะ

3. ในฐานะคนที่เคยตั้งสเตตัสดราม่าระดับปรมจารย์ เราพบว่าการระบายรื่องส่วนตัวลง public space ไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีเสมอไป ด้วยความที่ social media เป็นพื้นที่สาธารณะ ทุกๆคนมีสิทธิออกความเห็นต่อกันและกัน สเตตัสของเราอาจสื่อให้เค้าเห็นว่าเราเป็นคนมีปัญหา ความอดทนต่ำ หยาบคาย คิดลบ หรืออื่นๆได้อีกมากมาย เพื่อภาพลักษณ์ตัวเอง ย้ายทุกอย่างไปเขียนในไดอารี่ส่วนตัวก็อาจจะดีกว่า สำหรับเราที่กำลังจะเรียนจบ เราควรทำให้ timeline ของเรา positive เข้าไว้ ไม่แน่ friend ใน facebook เราซักคนอาจเป็นคนที่สัมภาษณ์เราเข้าทำงานก็ได้..
เพิ่มเติมอีกอย่าง เราพบว่าการตั้งสเตตัสดราม่าเหมือนเป็นการบันทึกอารมณ์รุนแรงของเราอย่างถาวร ถึงแม้เราเขียนแล้วเราจะลบไป คำพูดนั้นอาจถูก memorize ในความทรงจำของใครไปแล้ว เพราะฉะนั้น ก่อนจะดราม่าลองคิดดีๆว่าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ชั่ววูบหรือเราต้องการความช่วยเหลือจริงๆ

4. เราพบว่าการรักตัวเองและตามใจตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าทำอะไรแล้วมีความสุขก็ทำได้เลย อยากซื้ออะไร ซื้อ อยากกินอะไร กิน ตราบใดที่สิ่งๆนั้นไม่ทำร้ายใครและไม่นำความลำบากกลับสู่ตัวเราในอนาคต.. แต่ยังไงก็ตามการรักตัวเองไม่ได้หมายถึงการเห็นแก่ตัวนะคะ หากเราพบว่าปัญหาในชีวิตเราเกิดขึ้นจากคนอื่น ความเข้าใจและการยอมกันเล็กๆน้อยๆก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน แม้ skill การทำความเข้าใจสภาพจิตใจและความคิดของคนอื่นจะ develop ยากมากๆก็ตาม



ขอขอบคุณ happyspecies
เครดิตบทความต้นฉบับจาก = https://storylog.co/story/55c3669679e9efb5618fe2bc
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่