[บทวิจารณ์"Waterfall The Musical"] เมื่อ 'บี้' และบันเทิงไทย ยังห่างไกลจากบรอดเวย์?

ตอนนี้ละครเวที Waterfall The Musical หรือข้างหลังภาพ เวอร์ชั่นอเมริกันออกแสดงรอบปฐมทัศน์เป็นที่เรียบร้อย และนี่เป็นหนึ่งบทความจากนักวิจารณ์นามว่า ลิลลี่ บี.ดี.เจนเซ่น ซึ่งเธอได้ไปดูในรอบปฐมทัศน์ของละครเวทีเรื่องนี้ และออกมาพูดถึงละครเวทีเรื่องนี้ไว้ตามนี้

Credit : http://prachatai.org/journal/2015/11/62223



กระแสวงการบันเทิงไทย “โกอินเตอร์” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานพอสมควร แล้วก็มีข่าวฮือฮาให้กับแฟนๆ ชาวไทยได้ตื่นเต้นกันบ้างเป็นครั้งคราว ถึงแม้ว่าจะไม่มีความคืบหน้าเป็นชิ้นเป็นอัน ที่แสดงให้เห็นว่าวงการบันเทิงไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติจริงๆ

กระทั่งล่าสุด ก็มีคณะละครไทยมาเล่นที่โรงละครเวทีใกล้ๆ บ้านเพื่อนฉันที่แอลเอ จริงๆ ถ้าจะเขียนหัวข้อเกี่ยวกับแวดวงบันเทิงไทยกับกระแสโกอินเตอร์ โอ้ยมีเรื่องให้ฉันเขียนมากมาย จาระไนภายในคอลัมน์เดียวก็เห็นจะไม่จบ ดังนั้นฉันขอหยิบยกเอาเรื่องราวของคณะละครไทยคณะนี้ มาเป็นประเด็นตัวอย่าง เล่าให้คุณผู้อ่านฟังถึงการ “โกอินเตอร์” ของวงการบันเทิงไทยก็แล้วกันนะ

คณะละครที่ว่ามาเล่นละครเพลง หลายๆ คนก็อาจจะเคยได้ยินชื่อละครเรื่องนี้มาบ้างแล้ว เนื่องจากว่ามีการโปรโมทโฆษณากันขนานใหญ่ในประเทศไทยเรา ผ่านเครือข่ายทีวีช่องต่างๆ ของบริษัทผู้จัดสร้าง ละครเรื่องดังว่าก็คือ Waterfall the Musical หรือ อเมริกันเวอร์ชั่นที่อวตารมาจากละครเพลงเรื่อง ข้างหลังภาพ เดอะมิวสิคัล นั่นเอง ถึงขนาดที่ว่าสื่อสิ่งพิมพ์ไทยอย่าง Post Today ถึงขนาดจั่วหัวไว้ว่า “บอย & บี้ โกบรอดเวย์”

อย่างที่หลายๆ คนทราบ ละครเวทีทั้งสองเวอร์ชั่นนี้ล้วนแต่ได้รับการรังสรรค์โดยคณะละครบริษัท ซีเนริโอ ภายใต้การนำกำกับดูแลของผู้สร้างละครเวทีไทยตัวแม่อย่าง คุณบอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ

สำหรับละครเรื่อง Waterfall the Musical (ข้างหลังภาพ เดอะมิวสิคัล อเมริกันเวอร์ชั่น) นี้ เป็นการร่วมทุนร่วมแรงกันระหว่าง ซีเนริโอ กับ Jack Dalgleish ผู้จัดที่มีชื่อเสียงและคร่ำหวอดในวงการละครเวทีและภาพยนตร์ของอเมริกา นอกจากนี้ทีมผู้จัดยังได้ Richard Maltby มาเป็นผู้เขียนบทและคำร้อง ร่วมกับ David Shire ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์ดนตรี ทั้ง Maltby และ Shire นั้นนับได้ว่าเป็นหนึ่งในบรรดาผู้แต่งเพลงที่มีชื่อเสียงก้องวงการละครบรอดเวย์เลยทีเดียว เพราะทั้งคู่ถือได้ว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังของคำร้อง และดนตรี ในละครบรอดเวย์ที่เปิดทำการแสดงมายาวนานแล้วมากกว่า 25 ปี อย่าง Miss Saigon ส่วนตัวคุณบอยเอง ก็ยังควบตำแหน่งผู้กำกับด้วย โดยมีผู้กำกับร่วมและผู้ออกแบบท่าเต้นคือ Dan Knechtges ซึ่งก็คร่ำหวอดในวงการบรอดเวย์มานานเช่นกัน

เรียกได้ว่าถ้าดูจากดีกรี และความเป๊ะทางสายเลือดการละครของทีมงานและนักแสดงแล้ว ซึ่งรวมถึง คุณบี้ สุกฤษฎิ์ (แสดงเป็นนพพร) คุณ Emily Padgett (แสดงเป็นแคเธอรีน หรือคุณหญิงกีรติในเวอร์ชั่นที่อเมริกา) และคุณ Thom Sesma (แสดงเป็นท่านเจ้าคุณอธิการบดี) ก็นับได้ว่าเป็นคณะละครที่คับคั่งไปด้วยคนดังๆ หลายๆ คนที่ได้รับฟังเรื่องราวของละครเวทีฉบับนี้ ผ่านการโฆษณาต่างๆ แว๊ปแรกก็คงจะตื่นเต้นเหมือนๆ กับฉัน

(2)


ทว่าการณ์กลับเป็นเช่นนั้นเสมอไปไม่ เมื่อการแสดงรอบ previews จบลงไป และรอบปฐมทัศน์ได้เปิดการแสดงไปแล้ว บรรดาสื่อบันเทิงต่างๆ ทั้งไทยและเทศ ก็ได้ตีพิมพ์บทวิจารณ์ละครเวที Waterfall the Musical ตามธรรมเนียม เสียงวิจารณ์นั้นก็มีมากมายหลากหลาย จากทั้งนักวิจารณ์มืออาชีพและมือสมัครเล่น

เป็นที่น่าสังเกตว่า หนังสือพิมพ์ภาษาไทยท้องถิ่น ที่ต่างก็ได้ลงโฆษณาให้กับ ละครเวที Waterfall the Musical กันอย่างเอิกเริก เกรียวกราว หลายฉบับได้ลงโฆษณาแบบเต็มหน้า มีทั้งสี ทั้งขาวดำ ราวกับว่าเป็นละครเชิดชูชาติกันเลยทีเดียว บรรดาบรรณาธิการ คงจะแฮปปี้กันถ้วนหน้าเพราะน่าจะได้ค่าโฆษณาโขอยู่ ก็ยังได้ลงข่าวต่อเนื่องหลังจากละครเปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์ไปแล้ว บางฉบับก็ได้มีการลงรูปภาพในวันแสดงที่ผู้สื่อข่าวของตนได้เข้าไปร่วมชมด้วย รวมถึงความพยายามอย่างที่สุดที่ต้องการให้คนไทยในแอลเอเข้าชมการแสดงกันมากๆ ถึงขนาดมีความพยายามจัดให้มีรอบคนไทยโดยเ​ฉพาะ และมีเบอร์โทรศัพท์ให้ชาวไทยโทรเข้ามาซื้อตั๋วได้โดยเฉพาะ

ในทางตรงกันข้าม สื่อหลักทั้งหลายในแอลเอ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง LA Times และ LA Weekly หรือสื่อกระแสหลักในแวดวงบันเทิงอย่าง the Hollywood Reporter และ Variety ต่างก็ให้ Waterfall the Musical สอบตกกันอย่างเป็นเอกฉันท์

ประเด็นที่ฉันอยากจะนำเสนอก็คือ ในเมื่อมีความพยายามอย่างแรงกล้าของบรรดาผู้สร้าง ผู้จัด ผู้กำกับ นักแสดง ฯลฯ จากประเทศไทย ที่อยากจะก้าวล้ำออกนอกเขตขัณฑสีมาเสียเหลือเกิน แต่ทำไมฟีดแบค หรือกระแสตอบรับจากนานาชาติ จากต่างประเทศ ถึงแผ่วเบา กระทั่งกลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่คนไทยรักชาติบางคนอาจจะทนฟังไม่ได้ จริงๆ แล้วประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ซับซ้อนมาก เขียนรอบเดียวไม่จบ

และที่จริงประเด็นนี้ยังรวมไปถึงนักแสดงไทยอีกมากหน้าหลายตาที่อยากจะ “เกิด” ในแวดวงฮอลลีวู้ด แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังเกิดไม่ได้สักที เอาเป็นว่าเรื่องราวของนักแสดงในประเด็นนี้ ฉันขอเอาเก็บไปเขียนในบทความต่อๆ ไปก็แล้วกัน

สำหรับคอลัมน์นี้ ก่อนอื่นฉันอยากให้ลองพิจารณาความเห็นของนักวิจารณ์มืออาชีพ ประเภทเกจิอาจารย์ของแวดวงละครเวทีในอเมริกากันดู ว่าเขาวิพากษ์ Waterfall the Musical กันอย่างไร สรุปสั้นๆ ก็ประมาณนี้

ในด้านบวก แม้จะมีคนเห็นผิดแผกไปบ้าง แต่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องกันว่า ฉากละครอลังการงานสร้างมาก ก็สมแล้วกับแบรนด์ซีเนริโอ ที่มี “บอย” ถกลเกียรติ วีรวรรณเป็นหัวหอก งานนี้ฉากต้องสวยไว้ก่อน ถึงไหนถึงกัน จ่ายไม่อั้น หนึ่งในฉากอลังการก็คือฉากน้ำตก ที่คู่รัก นพพรกับแคเธอรีน เต้นระบำคู่กันในลำธาร

ในด้านลบ ซึ่งปรากฏว่ามีมากกว่าด้านบวก ข้อสรุปที่ได้จากนักวิจารณ์มืออาชีพ ที่ต่างก็วิพากษ์ได้ตรงกันคือ ละครดำเนินเรื่องได้อย่างน่าเบื่อ ไม่มีออริจินัลลิตี้ หรือความริเริ่มใหม่ๆ ไม่มีอะไรดึงดูดใจ ไม่มีความต่อเนื่อง พล๊อตเรื่องก็เหมือนเป็นการทำซ้ำ คือดึงเอาเนื้อเรื่องที่พบได้ดาษดื่นทั่วไปนำมาใช้ อีกทั้งดนตรีและเนื้อร้องก็แสนจะธรรมดา ไม่มีเพลงไหน ท่อนไหน ให้จำได้ติดใจ เป็นส่วนหนึ่งที่แย่ที่สุดของละครเพลงเวอร์ชั่นนี้ ส่วนคาแร็กเตอร์ของตัวละครไม่เด่น ตัวละครเอกอย่างนพพรนั้นไม่มีความน่าสนใจเอาซะเลย แถมบางครั้งยังดูออกจะตลกๆ ทำให้ความสำคัญของนพพรที่เป็นตัวเองนั้นลดน้อยลงไปถนัดตา

ส่วนนักแสดงนั้นเล่า แม้บางคนจะบอกว่า บี้ สุกฤษฎิ์ “เล่นได้น่ารัก” (Charles McNulty นักวิจารณ์จาก LA Times ถึงขนาดชมว่า handsomely endearing) แต่ในด้านทักษะทางการแสดงนั้น ยังต้องปรับปรุงอีกมาก และเมื่อประกอบกับบทละครที่ไม่ดี ก็เข้าใจได้ว่าการแสดงเพื่อให้ดึงดูดใจผู้ชมนั้นยาก ทว่านักวิจารณ์ทั้งสี่ ก็ยังเห็นว่าฝีไม้ลายมือของนักแสดงนำอย่าง บี้ สุกฤษฎิ์ และ Emily Piget ยังไม่ถึงขั้น อีกทั้งการร้องเพลงของบี้นั้นก็ยังโหยหวนด้วยเสียงแหลมบางอันน่ารำคาญ

เขียนวิจารณ์กันออกมาขนาดนี้ นับว่าเสียหน้าทีมโปรโมทละครของไทยมาก เพราะได้ไปโฆษณาไว้ใหญ่โตว่า บี้ สุกฤษฎิ์ เป็นซุปตาร์คนหนึ่งบนฟากฟ้าบันเทิงไทย ดีไม่ดี ฝรั่งเขาจะคิดว่า ซุปตาร์ของไทย มีความสามารถในการร้องรำทำเพลงและการแสดงได้แค่นี้น่ะหรือ ?
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่