ริชาร์ด เกียร์ กับพระพุทธศาสนา



เกือบ 30 ปีแล้วที่ดาราดังของฮอลลีวูด “ริชาร์ด เกียร์” เข้ามาสู่ร่มเงาของพระพุทธศาสนา ซึ่งพระเอกหนุ่มย้ำว่าเป็นหลักการที่เชื่อถือได้อย่างแน่นอน เพราะเขาได้พิสูจน์ด้วยการศึกษาและปฏิบัติอย่างจริงจังตลอดเวลาที่ผ่านมา “ศาสนาพุทธ เป็นแนวทางที่ผมค้นพบว่าเชื่อถือได้อย่างเต็มที่ เป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณ” เกียร์กล่าว

• สู่การเป็นพุทธศาสนิกชน

ริชาร์ด เกียร์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้มารู้จักพุทธศาสนา และกลายมาเป็นพุทธศาสนิกชน ว่า

“มีอยู่ 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อได้อ่านธรรมะ และครั้งที่ 2 เมื่อได้เจอพระอาจารย์ แต่ก่อนหน้านั้น ผมเคยศึกษาปรัชญาในมหาวิทยาลัยมาก่อน ผมรู้จักธรรมะของศาสนา พุทธเป็นครั้งแรกตอนอายุ 20 กว่าๆ ตอนนั้นผมก็เหมือน กับคนหนุ่มทั่วไป ที่ไม่ค่อยมีความสุขในชีวิต ผมไม่รู้ว่ามันเป็นความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายหรือเปล่า แต่มันขาดความสุขจริงๆ และมักมีคำถามทำนองว่า “ทำไมต้องเป็นอย่างนั้นด้วย” เกิดขึ้นเสมอ บางครั้งดึกแล้วผมยังออกไปตามร้านหนังสือ อ่านเกือบทุกประเภท และหนังสือที่มีอิทธิพลต่อผมมากที่สุดคือ หนังสือพุทธศาสนาแบบ ทิเบต ของอีแวนส์-เวนทซ์ (Evans-Wentz)
ในหนังสือพูดถึงเรื่องความว่างเปล่า ครั้งแรกผมศึกษา เรื่องเซน ผมจำได้ว่าเดินทางไปแอลเอ เพื่อเข้าโปรแกรมทำสมาธิแบบเซน เป็นเวลา 3 วัน ผมเตรียมตัวก่อนไปเป็นเดือน ฝึกยืดขา เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาในการทำสมาธิ ครูคนแรกของผมคือ ซาซากิ โรชิ ซึ่งทั้งดุและใจดีในเวลาเดียวกัน ตอนนั้นผมเพิ่งเริ่มหัดใหม่ ไม่รู้อะไรเลย ผมรู้สึกไม่แน่ใจ แต่ในส่วนลึก ก็ต้องการเรียนรู้จริงๆ ครั้งนั้นผมรู้สึกมีประสบการณ์ที่ดีและถือเป็นส่วนสำคัญสำหรับผม ในการเดินเข้าสู่เส้นทางพุทธศาสนา”

• ฝึกฝนปฏิบัติธรรม เพื่อสร้างโพธิจิต

พระเอกหนุ่มมักหาโอกาสปลีกวิเวกและศึกษาธรรมที่ทิเบตเป็นระยะๆ เขามีความสุขกับการใช้ชีวิตที่นั่น ซึ่งแตกต่างจากชีวิตในฮอลลีวูดโดยสิ้นเชิง เขาเล่าว่ามีเพียงห้องนอนเรียบง่าย และใช้ห้องน้ำรวม น้ำใช้มีจำกัด ไม่มีโทรทัศน์ หรือเครื่องปรับอากาศ หรือแม้แต่หนังสือพิมพ์ เกียร์บอกว่าเหล่านี้ไม่ใช่เป็นการทรมานตัวเอง แต่เป็นเวลาที่เขาจะได้ผ่อนคลาย ได้ทำสมาธิ ได้ปลดปล่อย

“พระอาจารย์ของผมส่วนมากมาจากโรงเรียนเกลุกปะ ของพุทธทิเบต ซึ่งท่านได้สอนในเรื่องความรู้สึกนึกคิด สติปัญญา และการค้นหาความจริง โดยใช้ภาษาง่ายๆ ใช้หลักเหตุและผล และเทคนิคต่างๆในการทำสมาธิ มันจะค่อยๆทำให้ใจของเราเริ่มคุ้นเคยกับการมองสิ่งต่างๆในอีกรูปแบบหนึ่ง
ผมรู้สึกอยู่เสมอว่า "การปฏิบัติธรรมคือการใช้ชีวิตจริง ผมจำได้ว่า เมื่อผมเริ่มทำสมาธิตอนอายุ 24 ปี เพื่อแสวงหาคำตอบให้ชีวิต ครั้งหนึ่งผมซุกตัวอยู่ในอพาร์ตเมนต์เล็กๆเป็นเดือนๆ พยายามฝึกไทชิและนั่งสมาธิ ผมมีความรู้สึกแน่ใจว่า ผมอยู่ในสมาธิตลอดเวลา ไม่เคยหลุดออกมา แม้เวลาจะผ่านมานาน แต่ผมก็ยังมีความรู้สึกเช่นนั้นอยู่ มาถึงตอนนี้ผมสามารถนำมันมาใช้กับโลกภายนอกได้ โดยการฝึกมากขึ้น เฝ้ามองใจของ ตัวเอง พยายามสร้างโพธิจิต(จิตรู้แจ้ง)ให้เกิดขึ้นในใจ”

ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ถล่มตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 45 นั้น เกียร์ให้สัมภาษณ์ว่ากำลังศึกษา และปฏิบัติธรรมอยู่ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ เขาได้ให้มุมมองในเรื่องนี้ว่า

“เราต้องคิดว่าบรรดาผู้ก่อการร้ายนั้นได้ก่อความเลว ร้ายให้กับชีวิตภายหน้าของพวกเขาไว้แล้ว เรียกว่าสร้างกรรมชั่ว และเราจะต้องมองให้กว้างไกลว่า เราทุกคนต่าง เกี่ยวโยงกับการกระทำครั้งนี้เช่นกัน” และยังย้ำว่า “เราต้องให้ความรักและเมตตากับทุกคน ไม่เว้นแม้พวกที่ก่อการร้าย ถ้าเราทั้งหลายสามารถที่จะมองพวกผู้ก่อการร้าย ด้วยความคิดว่า เขาเหล่านั้นคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา ยาที่จะรักษาพวกเขาได้ก็คือ ความรักและเมตตานั้นเอง ไม่มีอะไรจะดีกว่านั้นอีกแล้ว”

เกียร์ทำสมาธิเป็นประจำทุกวัน “เป็นสิ่งที่ช่วยให้ผมเกิดแรงจูงใจในแต่ละวัน” เขาพูด และบอกต่อไปว่าการทำสมาธิของเขา คือ “การทลายกำแพงของอัตตาลง ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนตัวตนของคุณให้เป็นอีกคนหนึ่ง และเมื่อคุณได้เรียนรู้การเข้าถึงธรรมชาติของตัวตน คุณจะเริ่มเข้าใจว่าแบบแผนชีวิตของคุณเป็นอย่างไร และอะไรทำให้คุณตกอยู่ในสภาวะสับสน ผิดหวัง ไม่เป็นสุข ดังนั้น คุณก็จะรู้ว่า ทำไมมันถึงเกิดขึ้น และจะหา ทางหลุดจากตรงนั้นได้อย่างไร เพื่อที่จะเดินหน้าต่อไป”

ดาราดังย้ำถึงเป้าหมายสูงสุดในการทำสมาธิว่า “เพื่อที่เราจะได้มีความสุขมากขึ้น คือช่วยทำให้สภาพทางอารมณ์และจิตใจดีขึ้น มันเป็นแนวทางปฏิบัติที่จะพาพวกเราผ่านพ้นความทุกข์ มุ่งหน้าสู่ความสุข แต่เป็นเพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ชีวิตจึงดูวุ่นวายสับสนทุกครั้งไป การอ่านใจตนเอง ก็คือ มองที่ตัวเราเองและเข้าใจจิตวิญญาณ ความเกลียดจะกลายเป็นความรักและนั่นเป็นหนทางที่ผมกำลังปฏิบัติอยู่”

• ก้าวเป็นศิษย์เอก ‘ทะไล ลามะ’

เกียร์เล่าว่าเขาเป็นสานุศิษย์ขององค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณแห่งทิเบต มาตั้งแต่ปี 1982 และเขามักจะเดินทางไปที่ธรรมศาลา ในอินเดีย ซึ่งเป็นตั้งของรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่น เพื่อพบกับองค์ทะไล ลามะ การพบกันในครั้งแรกที่ธรรมศาลานั้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของเขาอย่างสมบูรณ์

“มันเหมือนรักแรกพบฉันใดฉันนั้น ผมรู้สึกได้ถึงความเชื่อมั่นและความสงบในทันที มันยากมากที่คุณจะพบคนคนหนึ่งที่มีความต้องการเพียงสิ่งเดียว คือ ให้คุณมีความสุข และท่านรู้หนทางนำไปสู่สุข เมื่อคุณปฏิบัติตามด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว คุณจะพบความสุขในที่สุด คุณอาจต้องเวียนว่ายตายเกิดหลายครั้งเพื่อที่จะบรรลุถึงจุดนั้น แต่รับรองว่าคุณจะพบความสุขได้แน่

เมื่อเจอกันครั้งแรก เราคุยกัน และท่านก็พูดขึ้นว่า “โอ.. คุณเป็นนักแสดงหรือ” ท่านหยุดคิดพักหนึ่งและพูด ต่อไปว่า “เมื่อคุณแสดงบทโกรธ คุณต้องรู้สึกโกรธจริงๆหรือเปล่า และถ้าเล่นบทเศร้า ต้องรู้สึกเศร้าจริงๆมั้ย เมื่อร้องไห้ ต้องร้องจริงๆหรือเปล่า” ผมตอบท่านว่า นักแสดง ต้องอยู่ในอารมณ์นั้นจริงๆ จึงจะแสดงได้สมบทบาทองค์ทะไล ลามะจ้องตาผมและหัวเราะ แท้จริงแล้ว ท่านหัวเราะความคิดที่ผมเชื่อว่าอารมณ์เป็นเรื่องจริง และผมต้องพยายามเชื่อว่ามีอารมณ์โกรธ เกลียด เศร้า เจ็บปวด และทุกข์

ปัจจุบันผมมาหาท่านที่นี่บ่อยมาก และยังรู้สึกเหมือน ครั้งแรกที่ได้พบท่าน ยังรู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้เจอ ผมมีเรื่อง ราวมากมายที่จะบอกท่าน และถึงตอนนี้ ท่านเริ่มชินแล้ว ท่านเป็นคนที่จับจุดเก่ง และจะให้คำแนะนำได้เป็นอย่างดี เพราะทุกคนที่มาหาท่าน เพราะต้องการหาทางคลายทุกข์
ผมคิดว่า เมื่อคุณได้สัมผัสท่าน จะมีผลต่อตัวตนของคุณเกือบทุกด้าน ความรู้สึกนึกคิดของคุณจะเปลี่ยนแปลงไป”

• บนวิถีแห่ง “โพธิสัตว์”

ในโลกมายา เกียร์ได้ชื่อว่าเป็นดาราเจ้าบทบาท เป็นพระเอกโรแมนติกแห่งฮอลลีวูด เป็น 1 ใน 50 บุคคลหน้าตาดีที่สุดในโลก และเป็นผู้ชายเซ็กซี่ที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ ของนิตยสาร People ฯลฯ

แต่ในเส้นทางธรรม นักแสดงหนุ่มใหญ่วัย 60 ปีเศษคนนี้ ได้รับการเรียกขานเป็น “อเมริกัน โพธิสัตว์” อันเนื่อง มาจากการทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เพราะในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนั้น สอนให้ทุกคนบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ (หมายถึงผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า) เพื่อช่วยปลดเปลื้องทุกข์ของสัตว์โลก เพื่อให้เข้าถึงความเป็นพุทธะ เพราะทุกคนสามารถบรรลุโพธิภาวะได้ เนื่องจากมี “โพธิจิต” คือจิตที่จะบรรลุโพธิได้อยู่ในตัวเอง

เกียร์เล่าว่า ในปี 1978 เขาได้ค้นพบเส้นทางที่นำไปสู่การทำงานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างจริงจัง

“หลังเสร็จสิ้นภารกิจจากงานเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองคานส์ ผมได้เดินทางไปที่อินเดียและเนปาล ขณะที่ผมอยู่บริเวณเทือกเขาหิมาลัย นอกเมืองโพคารา ผมเดินไปเจอหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แถวนั้นไม่มีรถสักคัน ผมเห็นป้ายเขียนด้วยลายมือว่า “ผู้อพยพชาวทิเบต” ผมจึงเดินตามไปเรื่อยๆ และเหมือนหลุดเข้ามาอยู่ในอีกโลกหนึ่ง จะเรียกว่าเป็นดินแดนหลังเส้นขอบฟ้าก็ได้ คนที่นี่มีความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างจากคนทั่วไปที่ผมเคยพบปะ เวลาพวกเขาคิดและพูดจะเป็นในนามของส่วนรวม ไม่ใช่เฉพาะตน เมื่อพวกเขาพูดถึงเรื่องความรู้สึกนึกคิดของเขา ก็จะชี้นิ้วมาที่หัวใจของตัวเอง”
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับพระเอกหนุ่มในตอนนั้นก็คือ

“มีหลายครั้งที่เมื่อคุณเดินผ่านเข้าประตูหรือเข้าไปในหุบเขา หรือเมื่อคุณเจอหน้าภรรยา และคุณก็คิดในใจว่า “ผมกลับถึงบ้านแล้ว” นี่แหละเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวผม”

ประสบการณ์ดังกล่าว เป็นแรงจูงใจให้เขาหันมาเป็นผู้สนับสนุนในนามของผู้ลี้ภัยชาวทิเบต และอีก 2 ปีต่อมา คือปี 1980 เขาเริ่มคิดว่าต้องจัดการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ

• จากความคิดสู่การปฏิบัติ

ดังนั้น ต่อมาเกียร์จึงได้เป็นประธานก่อตั้ง “Tibet House” ในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นองค์กร NGO ที่ปกป้องคุ้มครองวัฒนธรรมทิเบต เขาได้สนับสนุน “Survival International” องค์กรสากลที่ให้ความช่วยเหลือชนกลุ่มน้อย อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี
นอกจากนี้ยังสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนในอเมริกา กลางและในโคโซโว จัดตั้งมูลนิธิเกียร์ ในปี 1991 ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และมูลนิธิ Healing the Divide ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ช่วยเหลือชุมชนทั้งในและนอกประเทศ เกี่ยวกับปัญหาทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น การรณรงค์เรื่อง HIV/AIDS โดยเขาได้บริจาคเงินนับล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังช่วยรณรงค์หาเงินบริจาคเข้าองค์กรเหล่านี้อีกมากมาย

พระเอกหนุ่มใหญ่บอกว่า “ถ้าคนเหล่านี้ไม่มีที่ดินอาศัยทำมาหากิน พวกเขาก็จะไม่เหลืออะไรเลย เมื่อคุณสูญเสียแผ่นดินเกิด ก็เท่ากับคุณสูญเสียวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม นั่นคือ คุณสูญเสียความเป็นตัวตนของคุณเอง มันเป็นหน้าที่ของประเทศร่ำรวย ที่ต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา โลกใบนี้จะอยู่ไม่ได้ ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ศาสนาใด ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับคน 1 คน จะแพร่กระจายไปยังคนอื่นๆทั่วโลก”

แต่จริงๆแล้ว เกียร์บอกว่า เมื่อปี 2005 บิดาของเขาได้นำบทความที่เขาเคยเขียนไว้เมื่อตอนอายุ 18 ปี เกี่ยวกับการไม่ใช้ความรุนแรง ให้เขาอ่าน เขาจึงแน่ใจว่า เมล็ดพันธุ์ด้านมนุษยธรรม ถูกปลูกฝังในตัวเขา ก่อนที่จะเดินทางไปเนปาลเสียอีก

• ได้รับยกย่องจากเพื่อนๆ และผู้คนในวงการบันเทิง

เกียร์ทำงานด้านมนุษยธรรมมาถึงปัจจุบันก็ 29 ปีแล้ว เขาได้พบวิธีสร้างสมดุลระหว่าง “ชีวิตที่เป็นเปลือกนอก” คืองานการแสดง และ “ชีวิตที่เป็นแก่นใน” นั่นคือการพัฒนาจิตวิญญาณและความต้องการช่วยเหลือเพื่อน มนุษย์

ด้วยการรณรงค์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในเรื่องสิทธิมนุษยชน การปฏิรูปเรือนจำ การให้ความรู้เรื่อง HIV/AIDS และการเป็นกระบอกเสียงให้ผู้อพยพชาวทิเบต ทำให้เกียร์ได้รับรางวัล “Marian Anderson Award” (Marian Anderson นักร้องชื่อดังของอเมริกา เป็นผู้ก่อตั้งรางวัลนี้ โดยใช้ความมีชื่อเสียงของเธอช่วยเหลือสังคม) ประจำปีที่ 9 ในปี 2007 และได้รับการสดุดียกย่องจากเพื่อนฝูงและผู้คนในวงการบันเทิง
ไดแอน เลน นักแสดงหญิงที่เล่นหนังคู่กับเกียร์หลายเรื่องกล่าวว่า “สิ่งที่ฉันรักมากที่สุดในตัวริชาร์ดก็คือ เขาเป็นคนที่รักษาคำพูด และทำตามนั้นจริงๆ บ่อยครั้งที่บุคคลที่มีชื่อเสียงทำงานด้านมนุษยธรรม เพื่อผลประยชน์ของตัวเอง แต่สำหรับริชาร์ดแล้ว เขาไม่เคยคำนึงถึงตัวเอง”
ทั้งนี้เพราะเมื่อครั้งที่มีการประกาศรางวัลออสการ์ปี 1993 ท่ามกลางสายตาของผู้ชมนับล้านๆคู่ ริชาร์ด เกียร์ ได้ใช้เวทีนี้แสดงความคิดเห็นต่อต้านจีน พร้อมกับเรียกร้องความรักและสัจธรรมให้กับชาวทิเบต จนกระทั่งถูกแบนจากพิธีแจกรางวัลในครั้งนั้น

cr:https://www.facebook.com/disabilityfarm?fref=photo
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่