เจาะลึกวิธีอ่าน spec ของฟิล์มกรองแสง ทำอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการตลาด !!!

ธุรกิจฟิล์มกรองแสงบ้านเราเป็นธุรกิจใหญ่ บางครั้งผู้บริโภคอย่างเราๆทั่วๆไป  มักเข้าใจเรื่องการอ่านค่าของฟิล์มกรองแสงแบบผิดๆ
วันนี้ผมจะมาเจาะลึกวิธีการอ่านค่าเบื่องต้นของฟิล์มกรองแสง ที่บริษัทฟิล์มกรองแสงส่วนใหญ่ ไม่เคยบอกคุณ!!  

ฟิล์มกรองแสงมีหลายประเภท หลายยี่ห้อ ซึ่งในโบรชัวในแต่ละยี่ห้อ ก็จะมีค่าต่างๆเขียนไว้อย่างมากมาย
เรามาดูค่าเบื้องต้นพื้นฐานของฟิล์มกรองแสงกันก่อนดีกว่า



1.ค่าการป้องกันรังสี UV ( UV Rejection , UVR ) โดยปกติแล้ว  ฟิล์มกรองแสงทุกประเภท ทุกยี่ห้อ ไม่ว่าจะถูกสุดถึงแพงสุด จะสามารถป้องกันรังสี UV ได้มากกว่า 99% อยู่แล้ว ถือเป็นคุณสมบัติทั่วไปของฟิล์มกรองแสง (ซึ่งไม่ใช่คุณสมบัติพิเศษแต่อย่างไร) แต่ถามว่าฟิล์มกรองแสงที่ป้องกันรังสีUV99% แล้วจะช่วยลดความร้อนได้มากหรือไม่? ตอบได้เลยว่า ลดได้น้อยมาก เพราะในแสงอาทิตย์จะมีรังสีUV อยู่แค่ 3%เท่านั้น ถ้าอยากได้ฟิล์มกรองแสงที่มีคุณสมบัติการลดความร้อน ให้ดูที่ค่าการลดความร้อนจะดีกว่าครับ

2.ค่าแสงสว่างส่องผ่าน ( Visible Light Transmission , VLT ) เป็นค่าที่บ่งบอกว่าฟิล์มกรองแสงนี้ยอมให้แสงส่องผ่านมากน้อยแค่ไหน ถ้ายิ่งแสงส่องผ่านมาก ฟิล์มก็จะยิ่งมีความใสมาก และความร้อนก็จะผ่านเข้ามามากด้วยเช่นกัน (รังสีจากดวงอาทิตย์ทั้งหมด 44%เป็นแสงสว่าง)
ว่าง่ายๆถ้าฟิล์มคุณภาพเดียวกัน ยิ่งมืด ก็จะยิ่งกันความร้อนได้ดีด้วย
เพราะฉะนั้นการเปรียบเทียบค่าลดความร้อนรวมของฟิล์มกรองแสงใดๆ ควรจะเปรียบเทียบจากฟิล์มที่มีความเข้ม (VLT) เท่ากัน
การเทียบความร้อนระหว่าง ฟิล์มใสกับฟิล์มดำ  มันเหมือนการเอารถจักรยานมาแข่งกับรถยนต์ครับ
ต่อให้คุณปั่นจักรยานเก่งยังไง สุดท้ายคุณก็แพ้รถยนต์อยู่ดี
นั่นเป็นสาเหตุที่ว่า ฟิล์มดำราคาถูกๆ สามารถลดความร้อนรวม ได้เท่ากับฟิล์มใสที่ราคาแพงมากๆ
นั่นเป็นเพราะธรรมชาติของฟิล์มกรองแสงด้วย มันสู้กันไม่ได้
นั่นเป็นอีกเหตุผลนึงที่ทำให้เราต้องพิจารณาค่าการกันความร้อนจากรังสีอินฟราเรต(IRR)ควบคู่กันไปด้วยครับ


การเรียกฟิล์มกรองแสงความเข้ม 40 60 80 นั้น เป็นเรียกความเข้มของฟิล์มกรองแสงที่ผิด (ผิดมานานละแต่ก็ยังเรียกอยู่)
ความจริงแล้ว
ฟิล์มเข้ม 80 คือฟิล์มที่ยอมให้แสงส่องผ่าน ( VLT ) ได้ประมาณ 5 %
ฟิล์มเข้ม 60 คือฟิล์มที่ยอมให้แสงส่องผ่าน ( VLT ) ได้ประมาณ 20 %
ฟิล์มเข้ม 40 คือฟิล์มที่ยอมให้แสงส่องผ่าน ( VLT ) ได้ประมาณ 40-50 %
ถ้าใสกว่านี้โดยทั่วไปก็จะเรียกว่าฟิล์มใส แสงส่องผ่าน ประมาณ 70%

3.ค่าการลดความร้อนจากรังสีอินฟราเรด  (Infrared Rejection , IRR) รังสีอินฟราเรดหรือบางทีก็เรียกว่ารังสีความร้อน  ซึ่งรังสีอินฟราเรดนั้นมีอยู่ 53% ของรังสีจากแสงอาทิตย์ ยิ่งลดได้มากเท่าไรก็ยิ่งดี ซึ่งฟิล์มที่กันร้อนได้ดี ควรจะกันรังสีอินฟราเรดได้มากกว่า 80% ขึ้นไปครับ
( ส่วนมากฟิล์มดำหรือฟิล์มฉาบโลหะที่กันอินฟราเรตได้น้อยกว่า80%มักจะไม่เขียนบอกใน spec แต่จะเน้นค่ากันความร้อนรวมมากกว่า เพราะฟิล์มทึบ ค่ากันความร้อนรวมจะสูง )
ถึงอย่างไรก็ตาม ฟิล์มที่กันรังสีอินฟราเรตได้ 99% ก็ไม่ได้หมายความว่าฟิล์มนั้นติดแล้วจะไม่ร้อนเลย
อย่างที่พูดๆไปต้องดูความเข้มของฟิล์มกรองแสงประกอบกันด้วย
โดยส่วนมากบริษัทที่เน้นขายฟิล์มใส  จะเน้นการกันความร้อนจากรังสีอินฟราเรดเป็นหลักครับ  
เพราะค่าลดความร้อนรวมของฟิล์มใสนั้นต่อให้ดีขนาดไหน ส่วนมากจะไม่เกิน 60%  สู้ฟิล์มดำราคาถูกๆไม่ได้

4.ค่าการลดความร้อนรวม หรือค่าลดความร้อนจากแสงแดด (Total Solar Energy Rejection , TSER ) เป็นค่าการลดความร้อนที่นำค่าการลดความร้อนจากรังสีUV,แสงสว่างส่องผ่าน,รังสีอินฟราเรด ทั้งหมด3 อย่างมารวมกัน  
ซึ่งค่าการลดความร้อนรวมนี้  มีวิธีการคิดหลายมาตรฐาน !!!!
ส่วนตัวจึงไม่แนะนำให้ใช้ค่านี้จากฟิล์มหลายๆยี่ห้อมาเทียบกัน (เทียบได้บ้าง แต่ต้องเป็นบางยี่ห้อเท่านั้น อยากรู้หลังไมค์ละกันครับ)
เพราะฟิล์มกรองที่ลดความร้อนรวมได้ 60%บางยี่ห้อ ยังกันความร้อนได้ดีกว่าฟิล์มที่ลดความร้อนรวมได้ 80% ของบางยี่ห้อเสียอีก !!!

5.ค่าแสงสะท้อน (Visible Light reflectance , VLR)  เป็นค่าที่บ่งบอกถึงว่าฟิล์มกรองแสงนี้มีความเงามากน้อยเท่าไร ยิ่ง%การสะท้อนแสงมาก ทำให้ฟิล์มมีลักษณะมันวาวมากคล้ายๆกับกระจก   สำหรับอาคารบางแห่งรวมทั้งรถยนต์ จึงมีข้อห้ามไม่ให้ติดฟิล์มกรองแสงที่มีการสะท้อนมากๆ เพราะจะทำให้แสงสะท้อนไปเข้าตาคนอื่นได้ครับ  ถ้าฟิล์มสะท้อนแสงมากส่งผลให้ฟิล์มกันร้อนได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่