... กินมากจนหมดอ่าว ...

ชื่อของหอยชักตีนนั้น หลายๆ คนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อหอยชนิดนี้ แต่นักท่องเที่ยวที่ไปจังหวัดกระบี่ หากไม่ได้ลิ้มลองหอยชนิดนี้แล้ว ถือว่ามาไม่ถึงจังหวัดกระบี่ จากในอดีต หอยชนิดนี้ที่ยังไม่เป็นที่คุ้นหู และนิยมของนักบริโภคต่างถิ่น ราคาซื้อ-ขายอยู่เพียงแค่หลักไม่กี่สิบบาท แต่ปัจจุบันทำให้ราคาทะยานขึ้นไปเกิน 200 บาทแล้ว

จนทำให้หอยชนิดนี้อยู่ในช่วงของการถูกล่าอย่างหนัก เนื่องจากรสชาติอร่อย และถูกปาก จนทำให้การจริญเติบโตไม่ทันกับความต้องการในตลาด ทำให้ต้องมีการรณรงค์ให้กินหอยขนาดตัวที่ใหญ่เกิน 6 ซม. เท่านั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประชากรของหอยชนิดนี้ให้กลับมามีมากเหมือนในอดีตอีกครั้ง



ถามก่อนกิน“หอยชักตีน” l โอฬาร สุขเกษม


หอยชักตีนกินแล้วอร่อยมากๆ ใครไปกระบี่ต้องสั่งมากิน ความนิยมตอนนี้กลายเป็นเมนูหลักที่ต้องสั่ง ทำให้ราคาขายหอยชักตีนสดที่ตลาดพื้นบ้านอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ ตกกิโลกรัมละ 200 บาท ขณะที่เมื่อ 2 ปีที่แล้วขายแค่กิโลกรัมละ 60 บาท มีร้านอาหาต่างถิ่น ประกาศล่าหอยผ่านทางสื่อออนไลน์บอก “มีใครขายโปรดติดต่อด้วย เคยกินแล้วอร่อยมาก อยากสั่งมาขาย” แต่ก่อนสั่ง…ผมว่า…ต้องถามก่อนนะครับว่า “ตัวโตแค่ไหน” ขนาดยาวกี่เซนติเมตรถ้าไม่ถึง 6 เซ็นฯห้ามสั่งมากินนะครับ….อันตราย !!!

ตอนนี้หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดกระบี่ได้รณรงค์อย่างหนัก ปิดประกาศไปทั่ว “เล็กกว่า 6 เซนติเมตร ไม่จับ ไม่ขาย ไม่ซื้อ ไม่กิน หอยชักตีน เพราะมีขนาดไม่เหมาะสม” ซึ่งเป็นการร่วมรณรงค์จาก 6 หน่วยงานประกอบด้วยมูลนิธิเอ็นไลฟ กรมประมง สภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) กองทุนการประมงญี่ปุ่น และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

หอยชักตีน (Wing Shell) หรือ หอยสังข์กระโดด (ชื่อพระราชทาน) รูปร่างคล้ายหอยสังข์แต่ตัวเล็กกว่า เปลือกหอยสีน้ำตาลปนขาว ปลายขาของหอยจะสีน้ำตาลเข้ม ลักษณะคล้ายเล็บยาว ชาวบ้านเรียกว่า “ตีน” ซึ่งตีนนี้จะเห็นยากหากต้มไม่เป็น เพราะตีนหอยจะหดเมื่อโดนน้ำร้อน วิธีการที่จะต้มและเห็นตีนหอยนั้นทำไม่ยาก วิธีการทำก็คือ ให้เลือกหอยที่ยังสดไปแช่ทิ้งไว้ให้คลายโคลนโดยใช้น้ำเค็มแช่ พร้อมกับตำพริกขี้หนูสดใส่ไปประมาณ 2-8 เม็ด ขึ้นอยู่ขนาดภาชนะที่แช่  และปล่อยไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นเทน้ำทิ้งแล้วล้างโดยคนหนหลายๆ ครั้ง ค่อยเติมน้ำสะอาดลงไปแค่ท่วมหอย จากนั้นนำไปต้มได้ แล้วจะเห็นตีนหอยค่อยๆ ยื่นออกมา เมื่อได้กลิ่นหอมก็ให้ยกลงจากเตาเลย  เพราะต้มนานเกินไปตัวหอยจะดึงออกจากเปลือกยากมาก

หอยชักตีนพบเห็นได้ทั่วไปในจังหวัด กระบี่ ตรัง ภูเก็ต พังงา สตูล จันทบุรี ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช บริเวณชายฝั่งทะเลที่มีพื้นทะเลเป็นดินทรายปนโคลน และมีหญ้าทะเล ระยะห่างจากฝั่งประมาณ 50-1,000 เมตร ระดับน้ำลึกที่สุดประมาณ 55 เมตร หอยวัยอ่อนจะล่องลอยอยู่ในน้ำทะเลและจะกินแพลงก์ตอนพืชเป็นอาหาร หรือสาหร่ายเซลล์เดียวจำพวกไดอะตอม    แต่เมื่อโตแล้วความยาวประมาณ 1 เซนติเมตรจะทิ้งตัวเริ่มมาหากินอาหารตามพื้นทะเล โดยกินพวกเนื้อปลา และซากสัตว์ ได้แก่ ปลา หอย กุ้งที่ตายแล้ว (detritus) โดยจะยื่นงวงยาว (proboscis) ออกมาจากช่องปากซึ่งอยู่ระหว่างคู่หนวดไปดูดอาหารเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารเพื่อย่อยและดูดซึมไปใช้ต่อไป

แม่หอยชักตีน 1 ตัว จะออกไข่แพร่พันธุ์ได้มากถึง 80,000 ฟอง แต่โอกาสที่จะรอดชีวิตและทิ้งตัวลงหากินตามพื้นทะเลเหลือเพียง 5 % เท่านั้น เมื่อตัวโตขนาดนี้หรือราว 1 เซนติเมตรศัตรูตามธรรมชาติไม่มีเพราะเปลือกแข็งแล้ว จะมามีศัตรูธรรมชาติก็เมื่อตัวโตและยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร และศัตรูที่สำคัญของหอยชนิดนี้ก็คือ มนุษย์นั่นเอง เพราะจะถูกประมงพื้นบ้านคราดเอามาขาย ซึ่งตอนนี้ถูกห้ามใช้วิธีคราดหอยเพื่อเก็บแล้ว แต่ให้เดินเก็บหรือดำน้ำหาได้เป็นตัวๆ ไป เพราะสามารถเลือกจับตัวโตๆ ได้ วิธีการจับหอยแบบนี้ถึงจะทำให้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์มีชีวิตอยู่รอดต่อไปแบบยั่งยืนไม่สูญพันธุ์ได้

ที่จังหวัดกระบี่นั้นเป็นแหล่งที่พบหอยชักตีนมากในประเทศไทย เพราะชายฝั่งส่วนใหญ่เป็นหาดทรายโคลน มีเกาะมากถึง 130 เกาะ กระจัดกระจายคล้ายแนวขนานชายฝั่ง โดยปรกติคลื่นไม่แรงมาก ทั้งความเค็มของน้ำทะเลและอุณหภูมิของน้ำทะเลเหมาะแก่การอยู่อาศัย      หอยชักตีนเป็นสัตว์ที่แยกเพศผู้และเพศเมียชัดเจนไม่แปลงเพศในภายหลัง และชอบออกหากินตอนกลางคืน โดยในเวลาปกติจะฝังตัวอยู่ใต้ทรายปนโคลนที่พื้นทะเล

ที่มา : ถามก่อนกิน“หอยชักตีน” l โอฬาร สุขเกษม http://www.thansettakij.com/2015/10/19/14191
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่