ทำไม ตระกูล ณ น่าน ณ พะเยา ถึงถูกล้างตระกูล ?

ตามนั้นเลยครับ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 10
หืม...ใครโดนฆ่าล้างตระกูลครับ

ถ้าเป็นเหตุการกบฏเงี้ยว ยืนยันว่าราชสกุลผู้ครองนครแพร่ ไม่ได้ถูกประหารชีวิตซักคน อย่าให้ข้อมูลมั่วครับ
- เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ หนีไปอยู่กับเจ้านครหลวงพระบาง ขอความอารักขาจากข้าหลวงฝรั่งเศส สยามจึงปลดออกจากการเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พร้อมทั้งยกเลิกสถานะการเป็นประเทศราชของเมืองแพร่ (เป็นเมืองที่สองในประวัติศาสตร์ ต่อจากเวียงจันทน์)
- พระมหาเทวีแม่เจ้าบัวไหล ถูกริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และถูกกักบริเวณที่กรุงเทพ
- พระไชยสงคราม ราชบุตรเขยเจ้าหลวงแพร่ ต้องโทษจำคุก ๗ ปี
- เจ้าน้อยไชยลังกา อนุชาเจ้าหลวงแพร่ ต้องโทษจำคุก ๓ ปี
- เจ้าน้อยพุ่ม ต้องโทษจำคุก ๕ ปี
- เจ้าน้อยสวน ถูกปลดจากตำแหน่งผู้พิพากษา จำคุก ๓ ปี
- เจ้าราชบุตร (เจ้าน้อยยอดฟ้า) พระราชบุตรเขยเจ้าหลวงแพร่ ถูกลดยศและให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการสนับสนุนกบฏเงี้ยว (โทษเบามาก) ความจริงต้องถูกถอดยศเป็นไพร่ แต่เนื่องจากเจ้าราชบุตรเป็นโอรสพระเจ้าน่านสุริยพงษ์ผริตเดช สยามจึงถนอมน้ำใจเมืองน่าน โดยลงโทษเพียงลดยศลงมาเป็นเจ้าราชดนัยเมืองน่านแทน
- เจ้าบุรีรัตน์ น้องเขยเจ้าหลวงแพร่ ไม่โดนลงโทษ เพียงแต่ถูกภาคทัณฑ์และงดสิทธิสำหรับเจ้านายประเทศราชเล็กน้อย
- เจ้าวิไชยราชา (เจ้าหนานขัติย์) เจ้าวังซ้าย (เจ้าหนานมหาจักร) เจ้าสุริยะ (เจ้าน้อยมหาอินทร์) ถูกภาคทัณฑ์
- แต่ในขณะที่ข้าหลวงเข้าจับกุมและสอบสวน ก็มีเจ้านายและขุนนางบางคนชิงฆ่าตัวตายก่อน คือ เจ้าหญิงเวียงชื่นพระธิดาเจ้าหลวงและเจ้าราชวงศ์(เจ้าน้อยบุญศรี) พระสวามี ดื่มยาพิษฆ่าตัวตายในคุ้ม พระยาชนะผูกคอตายในคุก

ความจริงนั้น การก่อกบฏเงี้ยว มีหลักฐานชัดเจนว่า เจ้านายเมืองแพร่ให้การสนับสนุนและรู้เห็นเป็นใจกับผู้ก่อการ อย่างเจ้าไชยสงครามก็เป็นตัวการเกณฑ์เทเสบียงในเมืองมาส่งให้พวกกบฏ และตัวหัวหน้ากบฏเองอย่างสล่าโปไชย พะกาหม่อง และพญายอด ก็ยังเป็นคนของเจ้าหลวงแพร่ (รวมทั้งเป็นคนของเจ้าหลวงลำปางด้วย) และการกระทำของพวกกบฏก็อุกอาจและรุนแรงมาก กล่าวคือ พวกกบฏได้บุกเข้าเมืองแพร่ยึดโรงพักและไปรษณีย์ สังหารข้าราชการที่ประจำการอยู่นั้น จากนั้นก็นำคนเข้าบุกจวนพระยาไชยบูรณ์ และหลวงวิมล ข้าหลวงสยามประจำเมืองแพร่ แล้วนำตัวพระยาไชยบูรณ์ออกมาตัดหัว เข้ายึดคลังหลวงนำเงินออกมาแจกจ่ายกันจำนวน ๓๙,๐๐๐ บาท จากนั้นบุกเข้าไปปล่อยนักโทษเพื่อนำมาเสริมกำลังแล้วจึงแยกย้ายกันออกเป็นกลุ่มๆเพื่อไล่ฆ่าฟันข้าราชการสยามและคนสยามที่พบเห็น จากนั้นพวกกบฏก็มาประชุมกันที่เค้าสนามหลวงเมืองแพร่ประกาศคืนอำนาจให้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ และแบ่งกำลังเข้าตีเมืองลำปางและลำพูน

แต่เมื่อกองทัพเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ยกมาถึงมาตีกบฏมาถึงเมืองแพร่ เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ได้ชิงหลบหนีออกจากแพร่ไปอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง เมื่อปราบปรามกบฏเงี้ยวจนราบคาบ และเกิดการสอบสวนข้อเท็จจริงซึ่งพบว่าเจ้านายเมืองแพร่ให้การสนับสนุนกบฏ ซึ่งโทษจากการกระทำจะต้องมีถึงประหารชีวิต แต่เจ้านายเมืองแพร่ก็รับโทษจำคุกเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น
ความคิดเห็นที่ 11
ขอขยายความเรื่องนามสกุลที่มี "ณ" ให้เข้าใจกันก่อน
หลายคนมักเข้าใจว่า เจ้าเมืองหรือเชื้อสายเจ้าเมืองหรือเจ้าผู้ครองนครในสมัยก่อนจะต้องได้รับนามสกุล ณ ตามด้วยชื่อเมือง ประกอบหรือต่อท้าย ทุกๆเมือง ความจริงไม่ใช่แบบนั้น

การมีนามสกุล ณ เป็นกรณีพิเศษที่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แก่ผู้สืบเชื้อสายเจ้าเมือง "บางเมือง" เท่านั้น (คนละกรณีกับราชสกุลอันสืบเชื้อสายจากพระราชวงศ์จักรี ที่จะต้องต่อท้ายด้วย ณ อยุธยา เป็นปฐมอยู่แล้ว) นามสกุลที่มี ณ ประกอบนามสกุลได้ จะต้องเป็นนามสกุลที่ทรงมีพระบรมราชานุญาตเท่านั้น ซึ่งใครเอาไปตั้งเองมีโทษตามประกาศพระบรมราชโองการ (แต่ปัจจุบันก็มีบางตระกูลที่ตั้งนามสกุลตัวเองให้มี ณ โดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต...) ซึ่งในรัชกาลที่ ๖ พระราชทานให้เพียงสกุล ดังนี้

หัวเมืองล้านนา
๑. ณ เชียงใหม่ พระราชทานให้ เจ้าแก้วนวรัฐ  เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๙
๒. ณ ลำปาง พระราชทานให้ เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ ๑๓
๓. ณ ลำพูน พระราชทานให้ เจ้าจักรคำขจร เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ ๑๐
๔. ณ น่าน พระราชทานให้ เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๖๔

หัวเมืองอีสาน
๑. ณ จัมปาศักดิ์ พระราชทานให้ เจ้าศักดิ์ประสิทธิ์ (เจ้าเบง) สืบสาย พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร (เจ้าหน่อกษัตริย์) ปฐมกษัตริย์อาณาจักรจำปาศักดิ์
๒. ณ อุบล พระราชทานให้ พระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ) กรมการเมืองอุบล สืบสาย พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เจ้าเมืองคนแรก
๓. ณ หนองคาย พระราชทานให้ พระยาวุฒาธิคุณ (แพ) ผู้ว่าการเมืองหนองคาย สืบสาย พระปทุมเทวาภิบาล (ท้าวสุวอ) เจ้าเมืองคนแรก
๔. ณ กาฬสินธุ์ พระราชทานให้ พระยาไชยสุนทร (เก) ผู้ว่าการเมืองกาฬสินธุ์ สืบสาย พระยาไชยสุนทร(เจ้าโสมพะมิตร์) เจ้าเมืองคนแรก
๕. ณ ร้อยเอ็จ พระราชทานให้ พระยาขัติยะวงศา (เหลา) ผู้ว่าการเมืองร้อยเอ็ด สืบสาย พระยาขัติยะวงศา (เจ้าสุทน) เจ้าเมืองคนแรก
๖. ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม พระราชทานให้ พระเจริญราชเดช (อุ่น) ผู้ว่าการเมืองมหาสารคาม สืบสาย พระเจริญราชเดช (กวด) เจ้าเมืองคนแรก
๗. พรหมสาขา ณ สกลนคร พระราชทานให้ พระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) ผู้ว่าการเมืองสกลนคร สืบสาย พระบรมราชา (พรหมา) เจ้าเมือง


หัวเมืองปักษ์ใต้
๑. ณ นคร พระราชทานให้ เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม) สืบสาย เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย)
   - (สกุลย่อย) โกมารกุล ณ นคร พระราชทานให้ พระยาไชยยศสมบัติ (เฉลิม) สืบสายมาทาง เจ้าพระยามหาศิริธรรม (น้อยเมือง)
๒. ณ สงขลา พระราชทานให้ พระยาพฤกษาภิรมย์ (ฑิตย์) สืบสาย เจ้าพระยาสงขลา (เยี่ยง แซ่เหงา) เจ้าเมืองสงขลา
๓. ณ ระนอง พระราชทานให้ พระยารัตนเศรษฐี (ยู่หงี แซ่คอ) สืบเชื้อสาย  พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (ซู้เจียง แซ่คอ)  เจ้าเมืองระนอง
๔. ณ ตะกั่วทุ่ง พระราชทานให้ หลวงราชภักดี (หร่าย) สืบสาย พระยาโลหะภูมิพิสัย เจ้าเมืองตะกั่วป่า
๕. รัตนดิลก ณ ภูเก็ต พระราชทานให้ หลวงวรเทพภักดี (เดช) สืบสาย  พระภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (แก้ว)
๖. ณ ถลาง พระราชทานให้ พระยาสุนทราทรธุรกิจ (หมี)  สืบสาย พระยาถลาง (ฤกษ์)
   - (สกุลย่อย) ประทีป ณ ถลาง พระราชทานให้ หลวงราชอาณัติ (กล่อม) ผู้พิพากษาศาลจังหวัดตะกั่วป่า
๗. ณ พัทลุง พระราชทานให้ หลวงวิบูลย์บุรขันฑ์ (นพ) สืบสาย พระยาพัทลุง (ขุน)
   - (สกุลย่อย)  สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง พระราชทานให้ มหาดเล็กสำรองสมบุญ

หัวเมืองภาคกลาง
๑. ณ มโนรม พระราชทานให้  หลวงวินิจสารา (ดวง)  สืบสาย  ผู้ว่าราชการเมืองมโนรม
๒. ณ วิเชียร พระราชทานให้ พระยาประเสริฐสงคราม (ใจ)  สืบสาย ผู้ว่าราชการเมืองวิเชียรบุรี (เพชรบูรณ์)

ตั้งตามถิ่นฐานเดิมของบรรพบุรุษ
๑. ณ บางช้าง พระราชทานให้  หลวงขจรเนาวรัฐ (หลำ)  สืบสาย  เจ้าคุณแก้ว พระน้องนางเธอพระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๑ มีถิ่นฐานเดิมที่บางช้าง
๒. ณ ป้อมเพชร์ พระราชทานให้  พระยาเพชร์ชฎ (ขำ) มีถิ่นฐานเดิมที่ป้อมเพชร์ เมืองกรุงเก่า
๓. ณ มหาไชย พระราชทานให้  พระยาเทพทวาราวดี (สาย)   สืบสาย  พระยานรนารถภักดี ถิ่นฐานเดิมอยู่ที่ตำบลมหาไชย
๔. สุนทรกุล ณ ชลบุรี พระราชทานให้ หม่อมหลวงจาบ สืบสาย  กรมขุนสุนทรภูเบศร์ พระนามเดิมว่าเรืองหรือจีนเรือง เดิมเป็นชาวเมืองชลบุรี  

พิเศษ
ณ พิศนุโลก พระราชทานให้ หม่อมคัทริน พระชายาในกรมหลวงพิศนุโลกประชานารถ ภายหลังเปลี่ยนเป็น จักรพงศ์

อนึ่ง ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงมีพระบรมราชานุญาต ให้ใช้ ณ ต่อท้ายสกุลผู้สืบเชื้อสายแต่เจ้าพระยากำแหงสงคราม (ทองอิน) เจ้าเมืองนครราชสีมา สองสกุลคือ "ณ ราชสีมา" และ "อินทรกำแหง ณ ราชสีมา"

จะเห็นว่า นามสกุลที่ใช้ ณ ประกอบนามสกุล มีจำนวนจำกัด และไม่ได้อนุญาตให้ใช้กับนามสกุลเจ้าเมืองหรือผู้ครองนครทุกเมือง บางเมืองจะพระราชทานนามสกุลอื่นให้แต่ไม่ให้มี ณ ต่อท้าย เช่น สกุลเจ้าเมืองมุกดาหาร พระราชทานว่า จันทรสาขา, สกุลเจ้าเมืองยโสธร พระราชทานว่า จิตตะยโศธร เป็นต้น

การมี ณ ประกอบนามสกุลนั้นๆ จึงต้องเป็นกรณีพิเศษจริงๆ และต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเท่านั้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่