วิถีแห่งโคลง...

“วิถีแห่งโคลง...”
        
        โคลงสี่สุภาพ เป็นโคลงชนิดหนึ่งที่กวีนิยมแต่งมากที่สุด ด้วยเสน่ห์ของการบังคับวรรณยุกต์เอกโทอันเป็นมรดกของภาษาไทยที่ลงตัวที่สุด คำว่า "สุภาพ" หรือ "เสาวภาพ" หมายถึงคำที่มิได้มีรูปวรรณยุกต์        
        โคลงเป็นคำประพันธ์ที่มีได้เฉพาะในภาษาตระกูลไทย – ลาว  เนื่องจากฉันทลักษณ์โคลงบังคับให้มีวรรณยุกต์เอกหรือโทในตำแหน่งที่กำหนด  ซึ่งก็มีแต่คำในภาษาตระกูลไทย – ลาวเท่านั้น   ที่มีการใช้วรรณยุกต์อันเป็นลักษณะที่เข้ากันได้กับฉันทลักษณ์โคลง

          วรรณยุกต์เปรียบได้กับโน้ตดนตรี  เพราะทำให้เกิดเสียงสูง – ต่ำในท่วงทำนองการอ่าน  หากผู้ประพันธ์บรรจุคำลงในกรอบฉันทลักษณ์โคลงแล้ว  กรอบนั้นจะทำหน้าที่เสมือนกับตัวกำกับจังหวะ  ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างจังหวะ  และทำนองเป็นบทเพลงขึ้นมา  ดังนั้นผู้ประพันธ์โคลงจึงไม่ต่างไปจากผู้ประพันธ์เพลงเท่าใดนัก  ข้อแตกต่างระหว่างโคลงกับเพลงก็คือ  โคลงมีจังหวะการอ่านคำกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว  ผู้ประพันธ์ต้องใส่ท่วงทำนองลงในกระสวนจังหวะนั้นให้ได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน  จึงจะเป็นโคลงหรือเพลงที่ไพเราะขึ้นมาได้  ขณะที่ผู้ประพันธ์เพลงมีอิสระมากกว่า    เพราะเขาสามารถสร้างท่วงทำนองและจังหวะของตนขึ้นมาได้นั่นเอง

           ที่ต้องยกเปรียบเทียบการเขียนโคลงไว้ว่าเหมือนกับการเขียนเพลงนี้  ก็เพื่อให้นักโคลงฝึกหัดให้เห็นความสำคัญของเสียงคำ  แล้วกลับไปทบทวนเรื่องไตรยางค์  หมายถึงอักษรสามหมู่ อันมีอักษรสูง กลาง  และต่ำ  ตลอดการผันวรรณยุกต์ของอักษรเหล่านั้นว่าผันวรรณยุกต์ใดแล้วได้เสียงใด  นักโคลงควรเป็นผู้แม่นในเรื่อเสียงคำพอ ๆ กับคีตกวีแม่นในเสียงของโน้ตเพลง   ยิ่งไปกว่านั้นนักโคลงควรเป็นผู้มีหูในทางดนตรีด้วย  เพราะเขาจะต้องรู้ว่าเพลงหรือโคลงที่เขาประพันธ์ขึ้นมานั่นมีท่วงทำนองเป็นอย่างไร  หากเป็นไปได้  นักโคลงควรต้องอ่านโคลงด้วยทำนองเสนาะ  เนื่องจากการอ่านโคลงแบบทำนองเสนาะ  ให้อรรถรสมากกว่าการอ่านอย่างร้อยแก้ว  คำบางคำเมื่ออ่านอย่างร้อยแก้วก็ดูลื่นไหลดี  แต่พอขับโคลงเป็นทำนองเสนาะกลับขัดหูยิ่งนัก

              ต้นกำเนิดของโคลงเชื่อกันว่ามาจากคำประพันธ์พื้นบ้านทางภาคเหนือ – อีสาน   แล้วพัฒนาต่อมาจนเป็นโคลงประเภทต่าง ๆ ซึ่งมีมากมายหลายแบบในปัจจุบัน  ในขั้นต้นนี้จะขอแนะนำเฉพาะเรื่องโคลงสี่สุภาพ  อันเป็นชนิดของโคลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุด  เพื่อให้ผู้ต้องการฝึกหัดโคลงได้เรียนรู้ไว้เป็นพื้นฐาน  ก่อนที่จะทำความรู้จักกับโคลงชนิดอื่นในขั้นต่อไป

              โคลงสี่สุภาพที่ประพันธ์โดยกวีในสมัยต่าง ๆ มีรูปแบบแตกต่างกัน  รูปแบบของโคลงสี่สุภาพที่นำมาใช้ในสมัยปัจจุบันนิยมใช้กันมากที่สุด  ดังนั้นเมื่อทราบแล้วว่าโคลงสี่สุภาพมีมากกว่า 1 รูปแบบ  หากผู้ฝึกหัดเห็นโคลงใดไม่เหมือนกับที่อธิบายไว้ในนี้นั้น  ก็ไม่ได้หมายความว่าโคลงนั้นประพันธ์ผิดรูปแบบฉันทลักษณ์ไป

                ปกติการเรียนลักษณะคำประพันธ์  ผู้เรียนจำเป็นต้องเรียนรู้ลักษณะผังของคำประพันธ์ไว้ด้วย   ทั้งนี้เพื่อให้ภาพตำแหน่งของคำและสัมผัส  ติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้เรียน  อันเป็นการป้องกันความผิดเพี้ยนของการใส่คำเอก  คำโท   ลงในตำแหน่งของโคลง  และการหลงลืมสัมผัสในขณะที่ประพันธ์โคลง
                 ** ในโคลงหนึ่งบทมี 30 คำ แบ่งเป็น 4 บาท 3 บาทแรกบาทละ 7 คำ บาทที่ 4มี 9 คำ แต่ละบาทแบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 5 คำ วรรคหลัง 2 คำ เว้นบาทสุดท้าย วรรคหลัง 4 คำ มีคำสร้อยได้ในบาทที่ 1, 3, 4
    
                **ส่งสัมผัสจากคำที่ 7 บาทแรกไปยังคำที่ 5 ในบาทที่ 2 และ 3 กับคำสุดท้ายบาทที่ 2 ไปยังคำที่ 5 ของบาทที่ 4  บังคับเอก 7 แห่ง โท 4 แห่ง

                  **ดังผังตัวอย่างข้างล่างนี้


                      
**ขอยกตัวอย่างบทที่มาจากโคลงนิราศนรินทร์ และลิลิตพระลอ ที่เอกโทครบตรงตำแหน่งให้ดู

๏ จากมามาลิ่วล้ำ                   ลำบาง
บางยี่เรือราพราง                    พี่พร้อง
เรือแผงช่วยพานาง                 เมียงม่าน   มานา
บางบ่รับคำคล้อง                    คล่าวน้ำตาคลอ ๚ะ
— นิราศนรินทร์


๏ เสียงลือเสียงเล่าอ้าง            อันใด  พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร                ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล                 ลืมตื่น  ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้า                      อย่าได้ถามเผือ ๚ะ
— ลิลิตพระลอ


      **บทนี้เป็นของข้าพเจ้า เมื่อเริ่มหัดเขียน เอก 7 โท 4 ตามผัง

๏ ฝนระรินชุ่มชื้น                   ยามสาย  
หอมกลิ่นดินปนทราย             ชื่นล้ำ
ไยตัวพี่เหงากาย                   หดหู่  
ขาดคู่คอยหนุนค้ำ                 ช่างช้ำชีวิน ๚ะ

     **การใช้คำตายแทนคำเอก  ถ้าหาคำเอกไม่ได้ก็อนุโลมให้ใช้คำตายมาใส่แทน   คำตายคือคำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นในมาตราแม่ กก, กด, กบ (จำง่ายๆว่า  ก บ ด) ซึ่งไม่มีรูปวรรณยุกต์ เช่นคำว่า รัก,โปรด, ทราบ  เป็นต้น ดังโคลงตัวอย่างจากโคลงนิราศนรินทร์
      
๏ นางนวลจับแมกไม้              นางนวล
นวลนุชแนบเรียมควร              คู่แคล้ว
เบญจวรรณจับวัลย์พวน           พันโอบ  ไม้แม่
แลว่าวัลย์กรแก้ว                    กอดอ้อมเอววัลย์ ๚ะ

     **การใช้คำสร้อยโคลง หรือ คำสร้อยซึ่งใช้ต่อท้ายโคลงสี่สุภาพในบาทที่ 1 และบาทที่ 3 นั้น จะใช้ต่อเมื่อเนื้อความในบาท หรือวรรคขาดความหมายหรือเนื้อความยังไม่สมบูรณ์ หากได้ใจความอยู่แล้วไม่ต้องใส่ เพราะจะทำให้โคลงเกิดการ "รกสร้อย"         สร้อยโคลงมักนิยมใช้คำที่มีความหมายได้เพียงคำเดียว ส่วนอีกคำจะเป็นสร้อยที่ไม่มีความหมาย  เช่น  นางเอย   ใจแฮ  นุชเฮย  เปรียบนา  ดังกล่าวแล้ว ดังนั้นสร้อยโคลงที่ใช้คำที่มีความหมายทั้งสองคำ ซึ่งเรียกกันว่า "สร้อยเจตนัง" คือสร้อยที่ใช้ตามใจ  ซึ่งไม่ควรใช้ในงานกวีนิพนธ์ที่เป็นพิธีการ ตลอดจนไม่นิยมกันในการแต่งโคลงโดยทั่วไป

    **คำสร้อยที่นิยมใช้กันมีอยู่ 18 คำ

1.    พ่อ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล
2.    แม่ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล หรือเป็นคำร้องเรียก
3.    พี่ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล อาจใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 หรือบุรุษที่ 2 ก็ได้
4.    เลย ใช้ในความหมายเชิงปฏิเสธ
5.    เทอญ มีความหมายเชิงขอให้มี หรือ ขอให้เป็น
6.    นา มีความหมายว่าดังนั้น เช่นนั้น
7.    นอ มีความหมายเช่นเดียวกับคำอุทานว่า หนอ หรือ นั่นเอง
8.    บารนี สร้อยคำนี้นิยมใช้มากในลิลิตพระลอ มีความหมายว่า ดังนี้ เช่นนี้
9.    รา มีความหมายว่า เถอะ เถิด
10.    ฤๅ มีความหมายเชิงถาม เหมือนกับคำว่า หรือ
11.    เนอ มีความหมายว่า ดังนั้น เช่นนั้น
12.    ฮา มีความหมายเข่นเดียวกับคำสร้อย นา
13.    แล มีความหมายว่า อย่างนั้น เป็นเช่นนั้น
14.    ก็ดี มีความหมายทำนองเดียวกับ ฉันใดก็ฉันนั้น
15.    แฮ มีความหมายว่า เป็นอย่างนั้นนั่นเอง ทำนองเดียวกับคำสร้อยแล
16.    อา ไม่มีความหมายแน่ชัด แต่จะวางไว้หลังคำร้องเรียกให้ครบพยางค์ เช่น พ่ออา แม่อา พี่อา หรือเป็นคำออกเสียงพูดในเชิงรำพึงด้วยวิตกกังวล
17.    เอย ใช้เมื่ออยู่หลังคำร้องเรียกเหมือนคำว่าเอ๋ยในคำประพันธ์อื่น หรือวางไว้ให้คำครบตามบังคับ
18.    เฮย ใช้เน้นความเห็นคล้อยตามข้อความที่กล่าวหน้าสร้อยคำนั้น เฮย มาจากคำเขมรว่า "เหย" แปลว่า "แล้ว"

ส่วน "สร้อยเจตนัง" นั้นคือสร้อยที่มีความหมาย หรือใช้ตามใจตน ซึ่งไม่ควรใช้ในงานกวีนิพนธ์ที่เป็นพิธีการ

    **ตัวอย่างเช่น
"หายเห็นประเหลนุช      นอนเงื่อง งงง่วง" โคลงนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย
"พวกไทยไล่ตามเพลิง    เผาจุด ฉางฮือ" โคลงภาพพระราชพงศาวดาร
"ลัทธิท่านเคร่งเขมง       เมืองท่าน ถือฮอ" โคลงภาพฤๅษีดัดตน


    **ตัวอย่างการใช้คำสร้อยในลิลิตตะเลงพ่าย

๏ บัดดลวลาหกชื้อ                    ชระอับ  อยู่แฮ
แห่งทิศพายัพยล                       เยือกฟ้า
มลักแลกะลายกระลับ                  ลิวล่ง   ไปเฮย
เผยผ่องภาณุเมศจ้า                    แจ่มแจ้งแสงฉาน ๚ะ

         **หวังว่าคงมีประโยชน์กับมิตรรักนักโคลงไม่มากก็น้อยดังโคลงโลกนิติว่าไว้

๏ ความรู้ดูยิ่งล้ำ                           สินทรัพย์
คิดค่าควรเมืองนับ                        ยิ่งไซร้
เพราะเหตุจักอยู่กับ                       กายอาต  มานา
โจรจักเบียนบ่ได้                           เร่งรู้เรียนเอา ๚ะ

    —โคลงโลกนิติ
พระนิพนธ์สมเด็จฯกรมพระยาเดชาดิศร


๏ โองการลิขิตฟ้า                    เฟือนสวรรค์
ฤาจักเทียบตนสรรค์                  เสกสร้าง
เพียรเพ่งพิริยะอัน                     อุกฤษฏ์
สานสืบโศลกสล้าง                   แล่นเวิ้งวรรณศิลป์ ๚ะ

—วัคคุวัท
                                                
**ขอขอบพระคุณข้อมูลจากอินเตอร์เน็ท  และครูอาจารย์ของข้าพเจ้า
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่