คำโทษในโคลงสี่สุภาพ

อันโคลงที่ดี กวีเก่าท่านชี้ เอกโทโทษมา อย่าใส่ให้มาก ไม่ยากคิดหา อาจดูเหมือนว่า มักง่ายเกินไป

อัน การประดิษฐ์ร้อย          เรียงคำ
โคลง แบ่งบังคับกำ           กับไว้
ที่ จุดเหล่านั้นนำ               วรรณยุกต์ ใส่นา
ดี ก็ทำเพื่อให้                   ออกถ้อยงดงาม

กวี เอกเคยแนะไว้             นำดี
เก่าเมื่อจินดามณี               ถูกใช้
ท่าน บอกกล่าวอาจมี         แปลงแบบ
ชี้ บอกเอกโทไซร้             เพื่อผู้ทำตาม

เอก เจ็ดตำแหน่งนี้            กำหนด
โท สี่ในทุกบท                 แบ่งสร้าง
โทษ เกิดเมื่อคำหมด        จึงเปลี่ยน แผลงนา
มา ใส่ครบอาจอ้าง            ว่าได้เป็นโคลง

อย่า ใช้คำโทษนั้น            เกลื่อนกลาด
ใส่ เมื่อมีคำขาด               ย่อมได้
ให้ เพียงเทียบอีกอาจ       ดูแปลก
มาก ดาษดื่นอาจให้          หมดสิ้นอารมณ์

ไม่ จำเป็นไม่ต้อง             เทียบเสียง
ยาก อ่านคำโทษเคียง      รูปแท้
คิด ศัพท์ใช่มีเพียง           แบบหนึ่ง
หา เอกยากอย่าแก้           จักใช้คำตาย

อาจ เป็นเหตุให้ปราชญ์     กล่าวถึง
ดู แปลกคำคะนึง              นึกไว้
เหมือน กับรีบเร่งจึง          แต่งโทษ ใส่เอย
ว่า รูปศัพท์มากไซร้          กลับร้างคลังคำ

มัก เอาเร็วเข้าว่า              แต่งทำ
ง่าย เพราะวรรณยุกต์นำ    เปลี่ยนบ้าง
เกิน ความคิดใส่คำ           โทษหมด
ไป อาจถูกแอบอ้าง          ว่าไร้ปัญญา
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่