พุทธในสำเนาทะเบียนบ้าน ทรรศนวิจารณ์ หนังอาบัติ

เห็นในสังคมโซเซียลกำลังวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง หนังอาบัติ อาบัติแปลว่า การต้อง การละเมิดศีล การอาบัติของพระมีหลายรูปแบบ อาบัติหนัก อาบัติเบา โทษก็แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้ละเมิด มีข้อปลีกย่อยออกไปอีก วินัยของพระพุทธเจ้าไม่ได้ตั้งมาเพื่อคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อความเรียบร้อยของคณะสงฆ์ ๒๕๖๐ มาแล้ว  แต่เน้นเจตนาและองค์ประกอบของสิ่งที่ล่วงละเมิดเป็นที่ตั้ง  ปัจจุบันเรามักจะเอาความคิดของทางโลก ไปตัดสินพระธรรมวินัยแทน เช่น เห็นพระดื่มเหล้า เราก็จะจับสึกทันที จริงๆ การดื่มเหล้า ยังไม่ถือว่าขาดจากความเป็นพระ

เห็นมีชาวพุทธบางส่วน ที่ไม่เข้าใจหลักศาสนาพุทธ ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ด่าพระบ้าง ด่าศาสนาบ้าง แต่ผมกลับคิดมุมกลับ  อาจจะถูกหรือไม่ถูกใจใครก็ได้ แต่ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่ง อยากจะสะท้อน “ชาวพุทธจะมีสักกี่คน ที่เป็นดอกบัวพ้นจากน้ำแล้ว มีวิจารณญาณในการแยกแยะ คนดี คนชั่ว ออกจากศาสนา”  

เพื่อให้การเปรียบเทียบ มีความชัดเจนมากขึ้น ผมขออนุญาตพาดพิง พี่น้องมุสลิมถูกสังคมโลก ประมาณว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ผมก็ไม่เคยเห็นผู้สร้างหนังมุสลิมคนไหน สร้างหนังให้มุสลิมเป็นผู้ก่อการร้าย ให้ศาสนาหรือศาสนิกในศาสนาตัวเองดูไม่ดี ต่อให้ภาพลักษณ์จะเป็นแบบนั้นก็ตาม เขาก็ไม่ทำ นับเป็นจุดแข็งของพี่น้องมุสลิมก็คือเขาให้ความสำคัญกับเรื่องเล็กๆน้อยๆ เมื่อหลายปีก่อน มี ส.ส.คนหนึ่ง เคยพูดในสภาว่า “จะเอาน้ำมันหมูไปโปรยลงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” จนถูกพี่น้องมุสลิมกดดันให้ลาออกจากความเป็น ส.ส. ลองมองย้อนกลับ หากเป็นชาวพุทธหล่ะ? มีศักยภาพเหมือนเขาหรือเปล่า คงต้องตอบว่า คงไม่มีอะไรเกิดขึ้นในก่อไผ่.... ผู้รู้เยอะเกินไป ไม่มีใครให้ความรู้ไปในแนวทางเดียวกัน แล้วแต่จะคิด

หากเป็นหนังที่เป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของศาสนาอิสลาม คิดดูเถอะ จะได้ฉาย ในประเทศไทยไหม  มุสลิมเขาคงปกป้องศาสนาของเขาสุดชีวิต ผมถือว่าเป็นจุดแข็งของพี่น้องมุสลิมนะ เพราะมุสลิมส่วนใหญ่เขาเข้าถึงคำสอนในศาสนาของเขา ไม่มีมุสลิมคนไหนหรอกที่ออกมาชี้นำสังคม แล้วบอกว่า “เขาสร้างหนังเพื่อสะท้อนให้เห็นความจริงด้านมืดของอิสลามอีกด้านหนึ่ง ให้คนดูใช้วิจารณญาณเอาเอง ทั้งๆที่นักแสดงหลัก ก็ไม่ได้นับถือพุทธ คนสร้างหนังเอง ก็ยังไม่เข้าใจหลักคำสอนของพุทธเลย ยังใช้ศัพท์เรียกเณรแทนพระ”

เนื้อเรื่องเน้นไปที่เยาวชน ลองมองบริบทสังคมเยาวชนในสังคมไทย ตอนนี้ เด็กมีการวิเคราะห์ แยกแยะชั่วดีแค่ไหน เด็กไทยบางส่วน ก็ยังติดเกมอยู่ ติดมือถือ เดินห้าง ความเคารพยำเกรงต่อพ่อแม่ ก็แทบไม่มี พ่อแม่สอนอะไร ก็เถียง แล้วจะให้เด็กมีวิจารญาณกับการดูหนังหรือ ในสังคมมีสิ่งดีงามเยอะแยะมากมายทำไมไม่เอาสิ่งดีๆ ที่มันสร้างสรรค์ มาสร้างเป็นแรงบันดาลใจ ให้เยาวชนอยากทำคุณงามความดี ทำไมต้องเอาของไม่ดีมาเป็นสื่อ เอาของดีๆมาเป็นสื่อบ้างไม่ได้หรือ การโปรโมทการท่องเที่ยว ทำไมไม่เอาสิ่งไม่ดีในสังคมไทยออกมาประชาสัมพันธ์ แล้วให้คนดู/ ฝรั่ง/ นักท่องเที่ยวแยกแยะเอาเอง ว่าควรไปหรือไม่ควรไป ก็เห็นเอาแต่สิ่งดีๆ สิ่งสวยงาม ออกมาอวดกัน

หากจะคิดว่าเป็นงานสร้างสรรค์ ก็ลองหันไปมองเพื่อนๆในศาสนาอื่นๆ เขามีแนวคิดแบบนี้บ้างไหม เอาจุดด่าง จุดดำในศาสนาตัวเอง บอกว่ากับคนทั้งโลกด้วยรอยยิ้ม นี่คือการส่งเสริมศาสนา ทุกศาสนามีจุดดำ แต่สิ่งที่เป็นจุดดำมากกว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลส ของคน  

โดยส่วนตัวผม ต่อให้บุคลากรในศาสนาจะเป็นอย่างไร ผมก็ยังคงเคารพศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้าเสมอ เพราะผมให้คำมั่นเอาไว้แล้ว พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ผมถือคติว่า “คำสอนในศาสนาทำให้คนบริสุทธิ์ ไม่ใช่คนทำให้ศาสนาบริสุทธิ์”

ปล.กรณียกศาสนาอิสลามมาเปรียบเทียบ เพื่อให้เห็นจุดแข็งและจุดเด่น ในการปกป้องศาสนาตัวเอง ไม่ได้มีเจตนาจะทำให้เสียภาพลักษณ์แต่อย่างใด ต้องขออภัย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่